คำแถลงจากสมณะโพธิรักษ์ (๒)


แม้จะนานมาจนกาลป่านนี้แล้ว อาตมา (สมณะโพธิรักษ์) และสันติอโศก ก็ยังถูกทั้งพระ ทั้งฆราวาส องค์เล็กองค์ใหญ่ทั้งหลาย กล่าวหา มาตลอด ตั้งแต่ต้น จนถึงทุกวันนี้ ว่าเป็น "ผู้ผิด" อยู่ไม่สร่างซา ทั้งๆที่ท่านทั้งหลาย ต่างก็ล้วนได้เรียนได้รู้ ธรรมวินัย มาอย่างดีกันทั้งนั้นๆ

อาตมายอมรับว่า อาตมาและสันติอโศก เป็น "ผู้แพ้" แต่ขออภัยเถิด ที่เราต้องขอยืนยันว่า เราไม่ใช่ "ผู้ผิด"

อาตมาขออนุญาตพูดบ้างเถิด อย่าหาว่าแก้ตัวเลย... เนื่องจากเกิดกรณีย่ำยี "สันติอโศก" ซ้ำซากขึ้นอีกแล้ว ซัดเราหนักไม่ยั้งมือ จากผู้ ยังยึดมั่น ถือมั่นว่า "อโศกเป็นผู้ผิด อโศกไม่มีความรู้ในธรรมวินัย อโศกไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัย ที่มีในพระไตรปิฎก"

โดยได้รื้อฟื้นเรื่องเก่า ขึ้นมากล่าวหาซ้ำซากว่า สมณะโพธิรักษ์และสันติอโศก เป็น "ผู้ผิด" เฉพาะ อย่างยิ่ง คำกล่าวหาที่นำมาอ้าง กับสังคม อยู่ในขณะที่กำลัง มีเรื่องขัดแย้งกัน ช่วงเวลานี้ ก็คือ ประเด็นที่ว่า "บัพพาชนียกรรม" เราแล้ว ซึ่งทางมหาเถรสมาคม ยืนยันว่า ได้กระทำ หรือได้ทำการขับไล่ "สันติอโศก" ออกจาก "มหาเถรสมาคม" แล้ว เป็นที่ถูกต้อง ตามธรรมวินัย ตามมารยาทที่ดี

แต่เราขอยืนยันอีกว่า ทางมหาเถรสมาคมกระทำ "บัพพาชนียกรรม" เราคราครั้งนั้น (เมื่อพ.ศ.๒๕๓๒) ผิดธรรมวินัย สังฆกรรมนั้น จึงไม่มีผลบังคับ ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะ แม้จะมี คณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคม กระทำสังฆกรรม "บัพพาชนียกรรม" อย่างมีพฤติกรรมจริง ก็ตาม แต่ทำผิดธรรมวินัยหลายแง่ การกระทำ ของมหาเถรสมาคมจึง "โมฆะ" ไม่เป็นอันทำ หรือไม่มีผลบังคับ หรือใช้ไม่ได้

ชัดๆก็คือ ทำไปเสียเปล่า ไม่มีผลบังคับ นั่นเอง แต่ท่านก็ใช้บังคับเรา "ผู้แพ้" ที่ไร้อำนาจ ไร้ปากเสียง จนได้ ดังที่เห็นๆกันอยู่

อธิบายความกันให้ชัด และละเอียดขึ้นอีกหน่อย ก็คือ ทางหมู่มหาเถรสมาคมนั้น เป็นหมู่ใหญ่ ท่านได้ทำพิธี กระทำการ "ขับอาตมา และคณะสันติอโศก ออกจากหมู่ใหญ่ หรือออกจาก หมู่สงฆ์ที่ชื่อว่า มหาเถรสมาคม" เรียกการกระทำนี้ว่า "บัพพาชนียกรรม" ซึ่งแปลว่า "การขับออกจากหมู่" ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่ง ของธรรมวินัย

ท่านได้ทำจริงๆ แต่ทำหลังจากที่..อาตมากับคณะ ได้กระทำการประกาศตน ต่อคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม สำเร็จเป็น "นานาสังวาส" ก่อนที่ทางมหาเถรสมาคม จะทำ "บัพพาชนียกรรม" กับเราเสียอีก ตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ [มหาเถรสมาคม "บัพพาชนียกรรม" อาตมากับสันติอโศก ในพ.ศ. ๒๕๓๒]

เมื่ออาตมากับคณะสงฆ์ชาวอโศก เป็น "นานาสังวาส" กับมหาเถรสมาคม สำเร็จโดยสังฆกรรม ไปเรียบร้อยแล้ว ถูกต้องตามธรรมวินัย มหาเถรสมาคม ก็ไม่สามารถ จะมาทำ "บัพพาชนียกรรม" เราได้ แม้จะขืนทำกันจนได้ ก็ "โมฆะ" ทำไปเสียเปล่า ไม่มีผลบังคับ หรือ ใช้ไม่ได้ แน่นอน

เพราะตามธรรมวินัย เมื่อภิกษุเป็น "นานาสังวาส" กันแล้ว สงฆ์ต่างคณะ ย่อมไม่สามารถ เป็นผู้คัดค้าน -เป็นผู้ประท้วง (ปฏิกโกสนา) ในท่ามกลางสงฆ์ได้ พระไตรปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๑๙๓ บ่งชี้ไว้ชัดเจน

แต่มหาเถรสมาคม ก็ยังขืนทำ "บัพพาชนียกรรม" อาตมากับคณะ อยู่นั่นแหละ และยืนยันว่า อาตมา กับคณะเป็น "นานาสังวาส" ไม่ได้

มหาเถรสมาคม ไม่พยายามพูดภาษาที่เป็น "ธรรมวินัย" กับเรา ทั้งๆที่การกระทำของเรา คือ "การทำตนเป็น นานาสังวาสด้วยตนเอง" ตามธรรมวินัย ที่ว่าด้วย "ภูมิของ นานาสังวาส ๒ ประการ" (พระไตรปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๒๔๐) เราก็ประกาศต่อสงฆ์แล้วจริง พร้อมทั้งมี ลายลักษณ์อักษรยืนยัน มอบให้แก่เจ้าคณะอำเภอ แล้วท่านก็นำส่งขึ้นไป ถึงระดับสูง จนเป็นที่ รับทราบ กันถ้วนทั่วอีกด้วยซ้ำ ซึ่งตาม ธรรมวินัยนั้น เพียงแต่ ประกาศขอแยกเป็น "นานาสังวาส" ด้วยวาจาแค่นั้น ไม่ต้องถึงกับ แถลงการณ์เป็น ลายลักษณ์อักษร ก็แยกตน เป็น "นานาสังวาส" สำเร็จแล้ว

ทั้งๆที่ทางมหาเถรสมาคม ท่านก็ยอมรับเป็นอันดี ในช่วงที่ท่านได้รับหนังสือ ประกาศขอแยกตนเป็น "นานาสังวาส" นั้นว่า อาตมา กับคณะ ได้ประกาศแยกตัว ไม่ขึ้นต่อการปกครอง คณะสงฆ์ไทย (หรือ มหาเถรสมาคม นั่นเอง) อย่างเปิดเผย ท่ามกลางสงฆ์ เกือบ ๒๐๐ รูป กลางศาลา วัดหนองกระทุ่ม เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ต่อหน้าพระสังฆาธิการ หลายรูป ในหนังสือ ปกาสนียกรรม ก็พิมพ์ รายละเอียด เอกสารพวกนี้ไว้ ครบทั้งหมด เพียงแต่ท่านทำที เบี่ยงเบนไปเป็นว่า นั่น.. "ไม่ใช่ การประกาศตนเป็น นานาสังวาส" ซึ่งเป็นการ "เล่นแง่" กันเท่านั้นเอง

คณะสงฆ์สันติอโศก ได้ปฏิบัติตามธรรมวินัยแล้ว อย่างถูกต้อง นั่นคือ ได้ประกาศตนเองเป็น "นานาสังวาส" กับคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ต่อหน้า ที่ประชุมสงฆ์ ถึง ๑๘๐ รูป อันมีเจ้าคณะอำเภอ เป็นประธานสงฆ์อยู่พร้อม ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ซึ่งเจ้าคณะอำเภอ ก็ได้รายงาน การประกาศตนเองเป็น "นานาสังวาส" ของคณะสงฆ์สันติอโศก นี้ ต่อคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม รับทราบตามระเบียบ ซึ่งมีหลักฐาน เป็นลายลักษณ์อักษร ของผู้ว่าราชการจังหวัด (นายคล้าย จิตพิทักษ์) ถึงอธิบดี กรมการศาสนา ยืนยันความจริงนี้ (หนังสือ ที่ นฐ. 23/13430 วันที่ 10 กันยายน 2518) และคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม ก็ได้รับ ซับทราบ ยอมรับความจริง ในความเป็น "นานาสังวาส" นี้แล้วด้วย ตามที่ได้แสดงออก ในหนังสือ จากกรมการศาสนา ที่มีไปถึง ผู้อำนวยการ ฝ่ายการเดินรถ การรถไฟ เมื่อ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ซึ่งมีลายลักษณ์อักษร ยืนยันว่า "...กรมการศาสนา ได้นำเรื่องเสนอ มหาเถรสมาคม พิจารณาแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย ตามเหตุผลที่ กรมการศาสนา เสนอว่า เนื่องจาก ในปัจจุบันนี้ พระภิกษุ สามเณร ในสำนักสันติอโศก มิได้ขึ้นอยู่ในปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ และไม่ได้อยู่ ในความอุปการะ ของทางราชการ ...." (หนังสือจาก กรมการศาสนา ที่ ศธ. ๐๔๐๗/๘๕๓๗)

ตามธรรมวินัย เมื่อสงฆ์เป็น นานาสังวาสกันแล้ว ทั้งสองฝ่าย ต่างก็ปฏิบัติกันไป ตามความเห็น และยึดถือ ที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ ก็คือ สงฆ์ฝ่ายหนึ่งไปฟ้องร้อง ชำระความผิด หรือ อธิกรณ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ถ้าฝ่ายใด ไปอธิกรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายนั้นต้องอาบัติ และอธิกรณ์นั้นเป็น โมฆะ การตัดสินความนั้น ไม่เป็นอันทำ ใช้ไม่ได้ ไม่มีผลบังคับ

แต่ทางคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม ก็ได้ "กระทำ" กับคณะสงฆ์สันติอโศก ถึงขั้น "อนุวาทาธิกรณ์" หมายความว่า คณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม ได้โจทหรือฟ้องร้อง กล่าวหา สันติอโศก แล้วก็ตั้ง คณะพิจารณา ตัดสินความกัน นี่ก็เป็นการกระทำของ คณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม ซึ่งที่จริง ตามธรรมวินัย "กระทำไม่ได้"

และอีกอย่าง การทำสังฆกรรม ตัดสินความคดีของสันติอโศก มหาเถรสมาคม ก็เอาสงฆ์ทั้งฝ่ายธรรมยุต ทั้งสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็น สงฆ์ ๒ ฝ่าย หรือ ๒ นิกาย มาร่วมกัน พิจารณา คดีของสันติอโศก ซึ่งผิด ธรรมวินัย ทำไม่ได้ แม้ทำก็ ไม่เป็นอันทำ ไม่มีผลบังคับ โมฆะ ใช้ไม่ได้ (วินัยวิบัติ ในประเด็น "คณปูรกะ" ) แถมที่คณะการกสงฆ์ ทำการวินิจฉัย ตัดสินความอาตมา ก็ไม่เป็น "สัมมุขาวินัย" คือ พิจารณาความ ลับหลังจำเลย เพราะไม่ได้แจ้งจำเลย ไม่ได้เรียกจำเลย คือ อาตมากับสงฆ์สันติอโศก เข้าไปนั่งอยู่ในที่ พิจารณาความ ร่วมรับรู้ รับฟัง ร่วมให้การ แต่อย่างใดเลย สงฆ์มหาเถรสมาคม "กระทำ" เอาตามอำเภอใจ ดังกล่าวนี้จริงทั้งสิ้น

กระนั้นก็ตาม คณะสันติอโศก ก็อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ได้ดื้อดึงดัน ยอมในสิ่งที่ยอมเสียสละได้ ซึ่งก็พยายาม ที่จะไม่ให้เสียธรรม แม้ที่สุด ยอมขึ้นศาล ยอมเปลี่ยนสภาพ หลายอย่าง แต่ที่ไม่ยอม ก็คือ ไม่ยอมสละ สมณเพศ ยังขอยืนยัน ความเป็นสมณะ ตามธรรมวินัย อยู่ตลอดเวลา

และการต้องแพ้คดีความ ในศาลยุติธรรมทางโลกนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมวินัยเลย เป็นเรื่องของกฎหมาย ข้อกฎหมาย ที่ไม่ใช่บัญญัติ ของพระพุทธเจ้า บางข้อ ขัดแย้งกับ ของพระพุทธเจ้า ศาลไม่มีสิทธิ์ตัดสิน ความผิดทางธรรมวินัยใดๆ ตัดสินได้แต่เฉพาะ ในแง่ กฎหมาย ที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อบัญญัติ ของพระพุทธเจ้า ในพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ นี้ มาตรา ๑๘ ก็ว่าไว้ว่า ถ้าบัญญัติใด ขัดกับธรรมวินัย ก็เป็นอันใช้ไม่ได้ ต้องให้ยึดธรรมวินัย เป็นหลักด้วยซ้ำ แต่เราก็เล็กจิ๋วเกินไป ที่จะบังอาจ ถึงขั้น ไปแย้ง ไปชำระข้อกฎหมายเหล่านี้

เพราะเหตุฉะนี้ ผู้ที่ไม่เข้าใจในความลึกซึ้ง ของธรรมวินัย จึงหลงเข้าใจผิดไปได้ อย่างผิวเผินว่า คณะสงฆ์ สันติอโศก แพ้คดีในศาล ของฆราวาสทางโลก ซึ่งที่จริง ไม่ใช่ทางธรรมนั้น คณะสงฆ์สันติอโศก ก็ต้องขาดจากความเป็น "สงฆ์" ไม่เป็น "สมณะ" ไปด้วย ทั้งๆที่ประเด็นของ ข้อกฎหมาย ที่สมณะโพธิรักษ์ ถูกฟ้องร้องนั้น ประเด็นของข้อกฎหมาย มันมีเชิงย้อนให้ชวนงง ว่า ทางมหาเถรสมาคม มีมติสั่งให้ สมณะโพธิรักษ์ สละสมณเพศ ถ้าไม่สละสมณเพศ ก็ผิดกฎหมาย

ชัดๆในประเด็น ก็คือ ถ้าไม่"สึก" นั่นคือ "ผิดกฎหมาย"

และแล้ว สมณะโพธิรักษ์ ไม่ยอมสละสมณเพศ ยืนยันครองความเป็นสมณเพศ ตลอดมา ไม่ยอม "สึก" นั่นเอง นั่นก็หมายความว่า สมณะโพธิรักษ์ ก็ยังคงเป็นสงฆ์ ยังมีความเป็น สมณเพศอยู่ และก็เพราะ ยังคงครอง ความเป็นสมณเพศ ยังเป็นภิกษุเป็นสมณะ อยู่นี่แหละ จึงได้ผิดกฎหมาย มาตรา ๒๗ ที่ว่า สั่งให้สึก ถ้าไม่สึก ก็ผิดกฎหมายข้อนี้ แต่ในทางธรรมวินัย ก็ยังคงไม่ได้สละสมณเพศ อยู่นั่นเอง จึงยังคง เป็นภิกษุ

ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ชัดๆ ว่า เมื่อไม่"สึก" ก็ยังคงครองเพศสมณะ เป็นพระ เป็นสงฆ์ อยู่อย่างเดิม ตามธรรมวินัย ใช่ไหม? เพราะผู้พิพากษา เป็นฆราวาส จะมาตัดสินคดี อันเป็นธรรมวินัย ของพระ ของสงฆ์ ย่อมไม่ได้แน่นอน เป็นฆราวาสจะมีสิทธิ์เข้าไปทำ "สังฆกรรม" ตัดสินธรรมวินัยได้อย่างไร? การตัดสิน ธรรมวินัย เป็น "สังฆกรรม" ผู้พิพากษา ยังมีศีล ไม่เท่ากับภิกษุ ไม่มีฐานะเป็นภิกษุ ย่อมตัดสิน ธรรมวินัยไม่ได้ ก็ขนาดภิกษุแท้ๆ ผู้จะเข้าร่วมคณะ ตัดสินคดี ทางธรรมวินัยนั้น ต้องเป็นภิกษุที่ บริสุทธิ์ศีล อีกด้วยซ้ำ จึงจะร่วมคณะตัดสิน ทางธรรมวินัยได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นภิกษุ แต่ต่างนิกาย หรือ นานาสังวาส ก็ยังร่วมตัดสิน ไม่ได้เลย ดังนั้น ฆราวาสจึงหมดสิทธิ์ ที่จะตัดสินธรรมวินัย เด็ดขาด แม้ทำ ก็โมฆะ ใช้ไม่ได้ ไม่มีผลบังคับ ตัดสินไปก็สูญเปล่า เพราะมันไม่ถูกเรื่อง ผิดธรรมผิดวินัย ผิดฝาผิดตัว

ส่วนทางกฎหมาย อาตมากับคณะ ก็ยอมทุกอย่าง ไม่ได้ขัดขืนใดๆ เมื่อตัดสิน ในข้อกฎหมายว่า "ผิด" ต้องโทษ ก็รับโทษไปตาม ข้อกฎหมายแล้ว ซึ่งทางศาล ให้รอลงอาญา ๒ ปี ให้มีการคุมประพฤติ เราก็ทำ ตามศาลสั่ง จนครบทุกอย่าง ทุกวันนี้ ก็ผ่านไปเรียบร้อย หมดแล้ว

ทางธรรมวินัยนั้น อาตมากับสงฆ์สันติอโศก ไม่ได้มีความผิด ถึงขั้นปาราชิก ไม่ได้เคยถูกเรียก ไปสอบสวน "อธิกรณ์" ดังที่กล่าวลือ หรือที่ตู่ว่า อาตมามีความผิด ถึงขั้นปาราชิก อาตมากับคณะ ไม่ได้มีความผิดใดๆ ตามธรรมวินัย ที่จะต้องถึงกับให้สึก แม้ข้อเดียว แม้แต่ลักษณะ ๑๑ ประการ ที่มีบัญญัติไว้ ในพระวินัย (พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๑๒๕-๑๓๒) ว่า ไม่พึงให้บวช ที่บวชแล้ว มารู้ภายหลัง ก็ต้องให้สึก (เช่น กะเทย คนลักเพศ คนฆ่ามารดา เป็นต้น) ในคณะสงฆ์สันติอโศกเรา ก็ไม่มี นอกจากถูกใส่ความ หรือ ถูกกล่าวหา ไปต่าง อาตมากับสงฆ์สันติอโศก จึงคงเป็นสงฆ์ เป็นพระอยู่

แต่ผู้กล่าวหาก็หาความ ตู่อาตมากับคณะ ไปได้นานาสารพัด จึงทำให้ ผู้ไม่เข้าใจถ่องแท้ เข้าใจผิดว่า สงฆ์สันติอโศก ไม่ได้เป็นพระ เป็นสงฆ์แล้ว เพราะแพ้คดี ทางกฎหมาย นี่คือความสับสน ของผู้ที่ไม่ชัด ไม่คม ไม่ลึก ในส่วนที่เป็น ทั้งกฎหมาย และ ทั้งธรรมวินัย

คดีทางธรรมวินัยนั้น สำเร็จผลได้ด้วยสงฆ์ ส่วนคดีทางกฎหมาย สำเร็จผลได้ด้วยฆราวาส ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

มันคนละคดี คนละผล คนละเหตุกัน

คดีทางธรรมวินัย ที่สงฆ์กระทำกับอาตมาไปนั้น อาตมาก็ชี้แจง และยืนยันหลักฐาน ไปแล้วว่า "โมฆะ" ใช้การไม่ได้ จะปกาสนียกรรม อาตมากับคณะ อย่างไร จะปัพพาชนียกรรม อาตมากับคณะ กี่ครั้ง ก็ไม่เป็นผล บังคับใช้ไม่ไดเพราะกระทำภายหลัง ที่อาตมา กับคณะ สันติอโศกเป็น "นานาสังวาส" สำเร็จแล้ว ถูกต้องตามธรรมวินัย

ส่วนคดีทางกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ฆราวาส ก็ได้กระทำไปแล้ว เป็นผลแล้ว เราก็แพ้ รับโทษ ทุกประการแล้ว และจบไปแล้ว เราก็ยอม ทำตามกฎหมาย ทุกอย่าง ไม่ได้ดื้อดึงดัน ดังที่ มีผู้ใส่ความเราเลย

ยิ่งกว่านั้น มีการกล่าวหาว่า คณะสงฆ์สันติอโศกเป็น "นิกาย" ซ้ำเสียอีก ทั้งๆที่คณะสงฆ์ สันติอโศก ยืนยัน และปฏิบัติตนแค่ "นานาสังวาส" ตามธรรมวินัย ตลอดมา อยู่ตราบเท่า ทุกวันนี้ ผู้ที่ "กระทำ" ให้เกิด แตกแยกกัน จนเกินเรื่อง เกินสัจธรรมไปนั้น จึงมิใช่ "การกระทำ" ของคณะสงฆ์สันติอโศก

สงฆ์สันติอโศก "กระทำตนเอง" ให้เป็นแค่ "นานาสังวาส" ตามธรรมวินัย

สันติอโศก ไม่ได้เป็น "นิกาย" เป็นแค่ "นานาสังวาส" เท่านั้นจริงๆ แต่ก็ "ถูกเหตุการณ์ และถูกกระทำ" ให้เกิดแตกแยก (เภท) จนกระทั่ง ประชาชน ที่ไม่รู้ลึกซึ้ง ในหลักธรรมวินัย เข้าใจผิดไปว่า สันติอโศกเป็น "นิกาย" คนก็หลงผิดไปว่า สันติอโศกเป็น "ผู้กระทำตน" เป็น "นิกาย" แต่จริงๆแล้ว สงฆ์สันติอโศกเป็น "ผู้ถูกกระทำ" ให้เข้าใจผิดไปแท้ๆ ทั้งๆ ที่สงฆ์สันติอโศก "กระทำตนเป็นนานาสังวาส ด้วยตน" ตามธรรมวินัย เท่านั้น ไม่ได้ปฏิบัติผิดไปจาก "นานาสังวาส" เลย

ส่วนผู้ที่พยายามกลบเกลื่อน ไม่ให้เป็น "นานาสังวาส" ตามธรรมวินัย ก็เป็นจริงของผู้ที่ "กระทำ" (กรรม) จริงนั้นๆ คือ เลี่ยง หรือ บิดเบือน ธรรมวินัย เมื่อทำให้เกิด การเข้าใจผิด จนกลายเป็นแตกแยก ถึงขั้น "นิกาย" มันก็ยิ่งผิดเข้าข่าย "สังฆเภท" ไปเลย ผู้ทำ ก็บาปถึงขั้น อนันตริยกรรม ตามสัจจะแห่งกรรม อย่าพยายามกันนัก

เพราะตามความจริง คณะสงฆ์สันติอโศกเพียง "ทำตนเอง" เป็นนานาสังวาส ตามวิธีของการเป็น นานาสังวาส ในข้อที่ ๑ จาก พระไตรปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๒๔๐ บอกไว้ชัดว่า ภูมิของนานาสังวาส มีอยู่ ๒ คือ

๑. ภิกษุทำตนเป็นนานาสังวาสด้วยตน
๒. สงฆ์พร้อมเพรียงกันยกภิกษุนั้น (เป็นนานาสังวาส)

ดังนั้น การทำตนเองเป็น "นานาสังวาส" นี้ ไม่ผิดธรรมวินัยใดๆเลย พระพุทธเจ้า ทรงอนุญาต ให้ทำได้ เมื่อเกิด กรณีขัดแย้งกัน จนถึงขีด ถึงขั้น ตามที่เป็นจริง วินัยข้อนี้ เป็นทางออก ประเด็นหนึ่ง ของสังคมมนุษย์ อันเป็นสุดยอด แห่งพระปัญญาธิคุณ ของพระพุทธองค์ โดยแท้

"นานาสังวาส" ความหมายง่ายๆก็คือ เป็นพุทธร่วมกัน แต่มี "ความแตกต่างกัน (นานา)" ยังไม่ถึงขั้น "แตกแยกกัน (เภท) เป็นนิกาย" ซึ่งมี "กรรม" ต่างกัน มี "อุเทศ" ต่างกัน มี "ศีล" ไม่เสมอสมานกัน ถึงขั้น ร่วมกันยากแล้ว เพราะต่างก็มีความเชื่อ (ศรัทธา) และความเห็น (ปัญญา) ตามสิทธิมนุษยชน ไม่เหมือนกัน จริงๆ

มี "กรรม" ต่างกัน ก็คือ มีการกระทำแตกต่างกันไปแล้ว เช่น พฤติกรรมต่างกัน พิธีกรรมต่างกัน กิจกรรมต่างกัน

มี "อุเทศ" ต่างกัน คือ คำสอนคำอธิบายธรรมะ ไม่ไปทางเดียวกัน ยกหัวข้อธรรม ข้อเดียวกัน แต่อธิบาย ความหมาย แตกต่างกัน

มี "ศีลไม่เสมอสมานกัน" คือ ศีลข้อเดียวกัน แต่ปฏิบัติไม่เหมือนกันแล้ว เช่น ศีลข้อที่ว่า ไม่รับเงินทอง ไม่มีเงินทอง ไม่สะสมเงินทอง เป็นของตน ฝ่ายหนึ่งรับอยู่ สะสมอยู่ ใช้อยู่ โดยมีข้ออ้างไปต่างๆ แต่อีก ฝ่ายหนึ่งไม่รับ ไม่สะสม ไม่ใช้ หรือศีลข้อที่ว่า ให้เว้นขาด การรดน้ำมนต์ ฝ่ายหนึ่งถือว่า รดน้ำมนต์ไม่ผิด ก็รดน้ำมนต์อยู่ แต่อีกฝ่ายถือว่าผิด ไม่รดน้ำมนต์ หรือศีลข้อที่ว่า ให้เว้นขาด การบูชา ด้วยไฟ โดยใช้ สิ่งที่จุดเป็นเปลว หรือเป็นควัน ทุกวันนี้ใช้ธูปและเทียน ฝ่ายหนึ่งถือว่าไม่ผิด ก็บูชาด้วยไฟ โดยใช้ธูป ใช้เทียน จุดไฟอยู่ แต่อีกฝ่ายถือว่าผิด จึงไม่บูชาด้วยไฟเลย ไม่ว่าจะใช้อะไรเป็นเชื้อไฟ เป็นต้น หรือ ฝ่ายหนึ่งไม่นับว่า จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล เป็นศีล ที่ภิกษุจะต้อง ยึดถือปฏิบัติ สำคัญกันแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ยังนับว่า จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล เป็นศีลที่ภิกษุ จะต้อง ยึดถือปฏิบัติ สำคัญยิ่งด้วยซ้ำ ก็ยึดถือปฏิบัติกัน เคร่งครัดอยู่

ดังนั้น เมื่อขัดแย้งกันถึงขีดถึงขั้น เหตุการณ์ก็ย่อมเป็นไป สุดท้ายแห่งความสุดวิสัย เพราะต่างฝ่าย ต่างก็มีศรัทธา-เชื่อ และ ต่างก็มี ปัญญา-เห็น ตามศรัทธา และ ปัญญา ของแต่ละฝ่ายจริงๆ ซึ่งเกิดได้ เป็นได้ อันเป็นวิสัยมนุษย์ ก็ต้องจบด้วย หลักธรรมวินัยสุดวิเศษ ของพระพุทธเจ้า

นั่นคือ นานาสังวาส นี่เอง เป็นข้อยุติเหตุการณ์จริงนั้นๆ ซึ่งเป็นหลักการ ที่ให้สิทธิ และ อิสระสุดยอด

แต่ผู้ไม่เข้าใจในธรรมวินัยดีพอ ก็จะนับจะถือเอาความต่างที่ "ต่างกัน-ไม่เหมือนกัน" (นานา) จริงๆนี้ เป็น การแตกแยก (เภท) ถึงขั้น "นิกาย" ยิ่งผู้รู้หลัก ธรรมวินัยดี ก็ไม่ช่วยกัน ทำความเข้าใจ ให้ผู้ยังไม่รู้ เข้าใจถูกต้องด้วย แถมกลับกระทำ และพูดบอกว่า สันติอโศก เป็น "นิกาย" ให้ผู้ไม่รู้ เชื่อผิด ซ้ำเข้าไปอีก ก็แน่นอน ผู้ไม่รู้ก็ต้องเชื่อ ตามคนที่เขาเชื่อว่า "เป็นผู้รู้" บอกและชวน ให้เข้าใจผิดนั้นๆ แน่นอน

"กรรม" คือ อาการที่เกิดในตัวคน ทั้งทางกาย วาจา แม้แต่ใจที่มีอาการจริง มีจริงที่ใคร ก็ของคนนั้น

ขอยืนยันว่า "สันติอโศก" ไม่ใช่ "นิกาย" ตามธรรมวินัยโดยแท้ "สันติอโศก" เป็นแค่ "นานาสังวาส" เท่านั้น


 

"สังวาส" คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ อันมีการศึกษา (ศีล-สมาธิ-ปัญญา) เสมอกัน มีการทำ สังฆกรรม และ การชี้แจงร่วมกัน

"นานาสังวาส" จึงหมายความว่า ความแตกต่าง ในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ อันเป็น ความหลากหลาย ในพุทธศาสนา ที่มีเอกภาพ ในระดับหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่อง "นานาสังวาส" นี้ ศึกษาได้จากวินัยมุข เล่ม ๓ กัณฑ์ที่ ๓๒ จากพระไตรปิฎก เล่ม ๔ เล่ม ๕ เล่ม ๖ เล่ม ๘ จากพระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๑ เรื่อง ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

 

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -