"ข้อกล่าวหา" ที่หมายต่อวิกฤตกลับเป็นโอกาสให้สังคมแสวงหาความจริงกระจ่างชัดยิ่งขึ้น วิถีสมานฉันท์ใน "นานาสังวาส" ทำให้เราได้รับรู้ พระเมตตาธิคุณ และ พระปัญญาธิคุณ ล้นพ้น อันหาที่เปรียบมิได้
บทสัมภาษณ์สมณะโพธิรักษ์
โดยอาจารย์สมาน ศรีงาม ในรายการธรรมะชำระใจ
# ปมเงื่อนของการจัดงานวิสาขะซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๒๒ พ.ค. ๔๘ นี้ ดูแล้วก็เป็นการทำงานเพื่อสามัคคี โดยท่านนายกฯ เป็นผู้ดำริขึ้น และมอบหมายให้ พลตรีจำลอง ศรีเมือง มีบทบาท เป็นผู้ประสานงาน ให้เกิดการร่วมส่วนกัน อย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะในประเทศ ร่วมทั้งต่างประเทศด้วย เพื่อให้เป็นวิสาขะ International หรือวิสาขบูชา ระดับสากล เช่นเดียวกับ สหประชาชาติ รับรองว่า วันวิสาขบูชาของเรา เป็นวันสากลของโลกไปแล้ว ทีนี้มันเกิดความขัดแย้ง ว่ามีมหาเถรสมาคม ต้องไม่มีสันติอโศก เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร และจะเป็นอย่างไรต่อไป
*** เรื่องนี้เป็นปมปัญหาอยู่ตรงว่า ถ้าสันติ-อโศกเข้าไปร่วมจัดงานวิสาขบูชาด้วย ทางโน้นถือว่าไม่ได้ เพราะทางโน้น ยืนยัน ตลอดเวลาว่าได้บัพพาชนียกรรมพวกสันติอโศกแล้ว บัพพาชนียกรรม หมายความว่า ได้ขับไล่ออกจากหมู่ ออกจากสงฆ์ มหาเถรสมาคมแล้ว ท่านใช้คำนี้ยืนยัน เพราะฉะนั้น จะไปร่วมในงานนี้ ถือว่าไม่ได้ ที่จริงแล้ว ประเด็นที่ควรพูด มันพูดกัน ได้ง่ายๆ ในนัยหนึ่งก่อน ก่อนจะไปพูดถึง บัพพาชนียกรรมพวกอาตมา ซึ่งจะมาร่วมรายการอะไรไม่ได้เลย ก็ควรจะวินิจฉัย ง่ายๆ งานวิสาขบูชา ที่จะจัดกันนี่ เป็นงานอะไร เป็นงานสังฆกรรม หรือ งานเทศกาล
# โดยดำริของนายกฯ โดยพลตรีจำลอง มาดำเนินการนั้นมันจะหนักไปในทางเทศกาล
*** มันเป็นงานเทศกาลโดยตรง ไม่ใช่งานสังฆกรรม
# สังฆกรรมเป็นอย่างไร
*** สังฆกรรมเป็นงานเฉพาะกลุ่มสงฆ์ ทำเฉพาะกิจของสงฆ์ในเรื่องธรรมวินัย ที่สงฆ์จะทำกันเอง
เช่น การบวช เป็นต้น เป็นเรื่องภายในของสงฆ์เท่านั้น แต่งานฉลองวิสาขบูชา เป็นงานเทศกาล
ทั่วไป เพราะฉะนั้น ถ้าเอาประเด็นที่บอกว่า เอาสันติอโศกเข้าไปร่วมไม่ได้ เพราะบัพพาชนียกรรม
กันมาแล้ว อาตมาว่า ฟังไม่ค่อยขึ้นเลยนะ แต่เอาเถอะ ก็แสดง ให้เห็นว่า ท่านไม่อยากให้ร่วม
จะด้วยกรณีใดๆ จะสังฆกรรมไม่สังฆกรรม จะมาร่วมเทศกาล ฉันไม่เอาทั้งนั้น คล้ายๆ
อย่างนี้ ก็ไม่เป็นไร เราเองเราเข้าใจ อาตมาเข้าใจ ในจิตใจ ท่านทั้งหลาย ตามที่ท่านแสดงออก
โดยที่ไม่เสแสร้งด้วย
# ท่านว่ามันผิดธรรมผิดวินัย
*** แต่อย่างที่อาตมาตอบแล้ว โดยธรรมโดยวินัยยิ่งไม่มีปัญหา เพราะนี่เป็นงานเทศกาล
ไม่ใช่งานสังฆกรรม มาร่วมได้
# ตีความคนละแบบกัน
*** เอาละจบกัน แต่เรื่องที่ให้อาตมาพูดไม่ใช่เจตนาเพื่อเอาชนะคะคาน มาพูดเพื่อว่าคนนั้นถูกคนนี้ถูก
หรือมาพูด เพื่อข่มเบ่ง ให้เกิดกรณีไม่ดี อาตมา ก็อยากจะพูด ความจริง สู่กันฟัง
ที่พูดว่าจะรวมได้หรือไม่ได้ในงานวิสาขบูชานี้ ถ้าโดยธรรมวินัยแล้ว ไม่มีปัญหา
หรือแม้ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว แม้ว่าในงานวิสาขบูชา สงฆ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สงฆ์ธรรมยุต
ก็ตาม สงฆ์มหานิกาย ก็ตาม ไปร่วมงานนั้นอยู่แล้ว แม้เป็นสงฆ์สันติอโศกก็ตาม
# สงฆ์จากต่างประเทศก็ไปร่วมได้
*** ใช่ ถ้าเผื่อว่าในงานเทศกาลนี่แหละ พอวันวิสาขบูชา ๒๒ พ.ค. เกิดมีใครอยากทำสังฆกรรมอะไรขึ้นมาในวันนั้นก็ตาม
ที่ทางก็มีเยอะแยะที่จะไปจัดสังฆกรรมกันได้ มันมีทั้งสถานที่ อาคารเกิดกลุ่มไหนจะไปจัดสังฆกรรม
ซึ่งเป็นเรื่องสงฆ์เท่านั้น ก็ไปจัดทำกันในสถานที่นั้นก็ทำได้ ทีนี้มาพูดประเด็นบัพพาชนียกรรม
# มันเป็นอย่างไร ที่มาที่ไป
*** บัพพาชนียกรรม เป็นเรื่องของสังฆกรรมแท้ ของธรรมวินัย เป็นของสงฆ์ บัพพาชนียกรรม
แปลง่ายๆ ก็คือ การกระทำ ของสงฆ์ เพื่อที่จะขับไล่สงฆ์หรือภิกษุ หรืออะไรก็แล้วแต่
ออกจากหมู่ ทีนี้ท่านบอกว่า ได้บัพพาชนียกรรมพวกอาตมา ออกจากหมู่มาแล้วก็จริง ท่านทำในปี
พ.ศ.๒๕๓๒ ทีนี้ท่านทำบัพพาชนียกรรมอาตมา ขออภัย ที่อาตมาต้องพูด ความจริง อย่าหาว่าไปว่า
มหาเถรสมาคมทำผิด อาตมารายงานความจริง เพราะอาตมา ยอมมาตลอดอยู่แล้ว ซึ่งอาตมาก็รู้ว่า
ทำผิดกันมา ตั้งแต่ต้น อาตมาก็ท้วงแล้ว แต่ทางมหาเถรสมาคม ก็ไม่ฟัง
# แล้วมันผิดอย่างไร พระเดชพระคุณ
*** ที่ว่าผิดก็เพราะว่าอาตมาได้กระทำนานาสังวาสกับสงฆ์มหาเถรสมาคมมาแล้ว
# ก่อนหน้านั้นหรือครับ
*** ก่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ มาจนถึง พ.ศ.๒๕๓๒ จึงมาบัพพาชนียกรรมอาตมา ซึ่งทำไม่ได้
# บัพพาชนียกรรมแตกต่างจากนานาสังวาสอย่างไร
*** แตกต่างกัน บัพพาชนียกรรมเป็นการขับสงฆ์หรือขับผู้ใดที่เห็นว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้
เป็นการขับออกที่ฟังแล้วน่ากลัว แต่นานาสังวาสไม่ใช่เรื่องการขับ แต่เป็นเรื่องการจัดการ
ให้แยกกัน ซึ่งนานาสังวาส เป็นพระปัญญาธิคุณ ของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นวิธีที่ให้สิทธิและอิสระ
ของความเป็นมนุษย์ อย่างสูงสุด
# ถือว่าเป็นสุดยอดประชาธิปไตยเลย
*** ใช่ เป็นสุดยอดแห่งอิสระ สุดยอดแห่งสิทธิมนุษยชน สุดยอดแห่งกรรมวิธีที่เลิศยอด
สมัยนี้ยังตามพระพุทธเจ้าไม่ทันเลย
# มันสุดยอดอย่างไร พระเดชพระคุณ
*** มันสุดยอดก็คือว่า นานาสังวาสเป็นเรื่องการประนีประนอม ไม่ใช่เรื่องรุนแรง
ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย
# หมายความว่ามันเกิดความเห็นไม่ตรงกัน เกิดขัดแย้งกันขึ้น
มันแตกต่างอะไรบ้าง
*** มันแตกต่างกันด้วยกรรม ด้วยอุเทศ ท่านบอกว่าการอยู่ร่วมกันแล้วแต่เกิดการร่วมกันไม่ได้
เพราะกรรมต่างกัน นานา แปลว่าต่างกัน ไม่เหมือนกัน ส่วนสังวาส แปลว่า ธรรมะอันร่วมกัน
มีธรรมะร่วมกัน แต่มันต่างกันแล้ว นานาสังวาส มีธรรมะ อันร่วมกัน คือเราก็เป็นสงฆ์ด้วย
เป็นภิกษุของพระพุทธเจ้า เหมือนกัน แต่เกิดมีความเห็น ต่างกันแล้ว มีความเชื่อ
ต่างกันแล้ว
# ปัจจุบันนี้ก็มีทางวิทยาศาสตร์ สังคมเขาเรียกว่าเอกภาพของความแตกต่าง
(unity of diversity)
*** ถูกแล้วอันนี้คล้ายกันเลย แต่ของพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติมาก่อน ๒๕๐๐ กว่าปี แล้ว
# นานาแต่ก็สังวาส อันนั้นก็บอกว่าเป็นเอกภาพ Unity แต่ก็แตกต่าง
diversity แต่ก็เป็นอันเดียวกันโดยอนุโลม
*** ใช่ พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งในเรื่องนี้มาตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว
# อันนี้เป็นปรัชญาของลัทธิประชาธิปไตย
*** ใช่ เป็นของพระพุทธเจ้า ยอดเยี่ยมมาแต่ก่อนแล้ว นานาสังวาสซึ่งก็ยังร่วมกันได้อยู่
แต่ที่แตกต่างก็ไปทำกันคนละหมู่
# แต่ว่าอยู่รวมกันได้
*** อยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่แตกกัน ไม่ใช่นิกาย ไม่ใช่สังฆเภท ไม่ใช่ขับออกจากหมู่
หรือไม่ใช่การพรหมทัณฑ์
# อย่างนี้ก็ยังถือว่าอยู่ร่วมกัน
*** ใช่ อยู่รวมกัน และก็ประสานจุดที่ประสานกันได้ จุดที่ประสานไม่ได้ เพราะว่าจุดนี้ต้องเฉพาะหมู่เฉพาะกลุ่ม
เช่น จะรับเข้าหมู่ จะทำพิธีบวช สังฆกรรมอย่างนี้ก็ของใครของมัน หรือแม้แต่ ในหลักของ
นานาสังวาส ผู้ที่เป็นนานาสังวาส กันแล้ว ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายโน้นจะมาโจทท้วงฝ่ายนี้
จะมาคัดค้านฝ่ายนี้ไม่ได้ เช่นนี้เป็นต้นทำไม่ได้
# พอประกาศนานาสังวาสไปแล้ว มันก็เป็นนานาสังวาสแล้ว ประกาศกันแล้วว่าต่างความคิด ต่างกรรม ต่างอุเทศ ศีลไม่เสมอสมานกันแล้ว คือ มีความเห็นไม่เหมือนกัน แสดงว่าพอประกาศนานาสังวาสแล้วก็ยอมรับความแตกต่าง เคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน ไม่ไปว่ากัน
*** ด้วยธรรมะมันเลี่ยงไม่ออก เราบอกอันนี้ถูกอันนี้ผิด เมื่อเราอธิบายธรรมะว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิดนะ แน่นอน ถ้าผิดไปตก อีกฝ่ายหนึ่ง เขาเป็นอย่างนี้ เราว่าอย่างนี้ มันก็เหมือน ไปว่านั่นแหละ โดยธรรมชาติ มันเลี่ยงไม่ออกหรอก แต่เอาเถอะ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่คนไม่เข้าใจก็ถือสา และก็ติดยึด ว่ากันไป ว่ากันมา อะไรอยู่อย่างนั้นแหละ ผู้ที่เข้าใจได้แล้ว ไม่มีปัญหา อาตมาไม่มีปัญหาหรอก ทางโน้นจะว่าอาตมา อาตมาก็เข้าใจ เพราะมันไม่เหมือนกัน จะไม่ให้เขาว่าอะไรได้ยังไง เช่น ว่าผิด ประหลาด ไม่เหมือนเขา ก็ถูกแล้ว
# แต่พระเดชพระคุณเป็นผู้เริ่มต้นก่อนใช่ไหมครับ เรื่องประกาศตนเป็นนานาสังวาส
*** ใช่ เขาเรียกนานาสังวาส เหตุที่ทำให้เกิดนานาสังวาสเกิดได้ ๒ แบบ หนึ่ง คือ
เราขอแยกเป็นนานาสังวาสเอง หรือ เราขอแยก จากหมู่เอง สอง สงฆ์หมู่ใหญ่ บอกให้เราแยกไป
# แต่ก็ยังเป็นนานาสังวาส หมายความว่าพระพุทธเจ้าต้องการไม่ให้แตกแยกกันนั่นเอง
ต้องการรักษาเอกภาพ
*** เป็นสุดยอดแห่งการประนีประนอม
# ไม่ใช่ทุบกันลงไปเลย นานาสังวาสแสดงว่าท่านโพธิรักษ์
ต้องการจะรักษาเอกภาพไว้ ไม่ให้แตกแยกกัน จึงขอประกาศนานาสังวาสก่อน ไม่ให้เป็นนิกาย
ไม่ให้เป็นสังฆเภท
*** ใช่ และท่านก็มาลงโทษว่าอาตมาทำสังฆเภท อาตมาทำแค่นานาสังวาส ทุกวันนี้ก็มาว่าอาตมาเป็นนิกาย
ทำนิกาย นี่เป็น อนันตริยกรรมนะ ผู้ใดทำให้เกิด แยกนิกาย เป็นสังฆเภท เรียกว่า
อนันตริยกรรม บาปมากทีเดียว
# ทีนี้คำที่ว่าทำให้เกิดนิกายเป็นสังฆเภท เป็นอย่างไรครับ
ช่วยบอกลักษณะหรือหลักการด้วยครับ
*** เรียกว่าไม่ดูดำดูดีกันเลย ไม่ร่วมกันเลย ไม่มีอะไรประสาน ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างแยก
ตีแตก แตกกันไปเลย จากกันไปเลย แต่นานาสังวาส ไม่ได้จากกันทีเดียว มันมีความแตกต่างกัน
"นานา" แปลว่าต่างกัน ไม่ใช่ "เภท" แปลว่า แตกหัก
# หมายความว่าอันหนึ่งแยกออกไปอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง เรียกว่านิกาย
แต่อันหนึ่งแยกแบบยังเป็นเอกภาพกันอยู่ หมายความว่ายังอยู่ร่วมกันนั่นแหละ ไม่ได้แยกเป็นอีกอันหนึ่ง
ทีนี้เวลาจะทำสังฆกรรม ก็ต้องดูซึ่งก็มีเงื่อนไขเหมือนกัน
*** สังฆกรรมบางอย่างก็ร่วมกันได้ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว เช่น ลงปาติโมกข์เป็นสังฆกรรม
เราใช้ศีลปาติโมกข์เดียวกันเลย ถ้าเป็นพระบริสุทธิ์ ทั้งสองฝ่าย และมาถึงวาระ ที่จะฟัง
ปาติโมกข์ร่วมกัน ตรวจสอบปาติโมกข์ด้วยกัน เพราะมันเป็น อันเดียวกัน ฉบับเดียวกัน
อันนี้ร่วมกันได้ แต่พระที่ร่วมปาติโมกข์ต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ศีลก็ร่วมกันได้ มาปาติโมกข์
เพื่อตรวจสอบ ปาติโมกข์ด้วยกัน เท่านั้นเอง และหลายๆ อย่างที่มีปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ
แต่สังฆกรรมหลักๆ ก็ร่วมกันไม่ได้ เช่น พิธีบวช จะรับเข้าหมู่อย่างนี้เป็นต้น
# การปกครองของสงฆ์ กับการปกครองของบ้านเมือง ในด้านปัญหาการปกครอง
เมื่อประกาศนานาสังวาสแล้ว การปกครอง ต้องแยกมาโดยเด็ดขาด หรืออย่างไร
*** ถ้าพูดถึงเรื่องการปกครองของศาสนา พระพุทธเจ้าท่านเป็นนักปกครองที่สุดยอด เยี่ยมยอด
เป็นการปกครอง ที่ไม่ปกครอง เป็นการปกครองโดยสัจธรรม เพราะว่าท่าน ไม่ได้ตั้งผู้ใดผู้หนึ่งขึ้น
เป็นตัวใหญ่ที่สุด ไม่ให้มีกฎ มาบังคับ อย่างโน้น อย่างนี้ เป็นการกดขี่ ปกครองด้วยธรรมะ
ไม่ได้ปกครองด้วยบุคคล ท่านจึงให้ธรรมะเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น ทุกคน ทำตามธรรมะ และใช้หลักเกณฑ์ตามธรรมวินัย
เป็นหมู่ เพราะฉะนั้น สังฆกรรมที่มีบทบัญญัติไว้ว่า หมู่นี้ต้องใช้สงฆ์ ๔ รูปขึ้นไปรับผิดชอบทำกิจ
จึงจะทำการนี้สำเร็จ ก็ต้องมีครบองค์สงฆ์ การครบองค์สงฆ์ ก็จะต้อง ไม่มีสงฆ์ที่เป็น
นานาสังวาส หรือเป็นนิกายเข้ามาร่วม ต้องเป็นสงฆ์หมู่เดียวกัน ถ้าไม่ใช่หมู่เดียวกัน
ก็วินัยวิบัติ ใช้ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น จะใช้สงฆ์ ๔ ใช้สงฆ์ ๕ ใช้สงฆ์ ๑๐ ใช้สงฆ์
๒๐ อะไรก็ตามแต่ ท่านจะมีบัญญัติของท่าน สำหรับสังฆกรรมแต่ละอย่าง
# ปมเงื่อนของปัญหาทั้งหมดอยู่ตรงไหนครับ
*** อยู่ที่ศรัทธาและปัญญาของคน ศรัทธา คือ ความเชื่อ ปัญญา คือ ความเห็น หรือความเข้าใจ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้เข้าใจว่า อย่างนี้ดี เชื่อมั่นศรัทธาเลยว่าดี จิตวิญญาณ
ของคนก็เชื่อ มันมีภูมิมีปัญญา มีความเห็น มีทิฐิอย่างนี้ ก็ต้องยึดอันนี้ อันนี้แหละเป็นเรื่องที่เราไปบังคับกันไม่ได้
เป็นสิทธิมนุษยชน หรือเป็นความสุดวิสัยของมนุษย์ เมื่อมัน สุดวิสัยแล้ว ท่านจึงมีนานาสังวาส
นานาสังวาสก็คือ เมื่อความเห็นของคนสองคนมันต่างกันจริงๆ เลย มันเป็นศรัทธา และปัญญาแต่ละฝ่าย
มันเป็นวิสัยที่สุดวิสัยแล้ว เพราะฉะนั้นก็อยู่ด้วยกันก็แล้วกัน ก็ต่างคนต่างทำ
ตามเชื่อ ตามที่ตัวเอง รอบรู้ไปก็แล้วกัน นี่คือหลักของนานาสังวาส ทีนี้ประชาชนจะทำอย่างไร
อันนี้ พระนาง โคตมี ทูลถาม พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ให้ประชาชน ใครก็ตาม
ให้ไปฟังธรรมทั้งสองฝ่าย ตัดสินเอาเอง ด้วยอิสรเสรีภาพ ฟังฝ่ายไหน เห็นว่า เป็นธรรมวาทีอันนี้ดีถูก
อันนี้ไม่ดีไม่ถูก ก็เลือกเอา หรือบางคน อาจฟังฝ่ายนี้ ว่าดีว่าถูก ก็เอาฝ่ายนี้
อันนี้เป็นสิทธิเสรีภาพ สุดยอด ในนานาสังวาส พระพุทธเจ้าตรัสไว้
# พระพุทธเจ้า ไม่ตัดสินเองหรือครับ โดยวางหลักให้ตัดสิน
*** จริงๆ แล้วเป็นสุดยอดแห่งปัญญาธิคุณ เป็นความกรุณาสุดยอดของความกรุณาของพระพุทธเจ้า
ที่บัญญัติหลักนี้ไว้ให้ ตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว คิดดูซิ ถ้าไม่บัญญัติหลักนี้ไว้
ให้ จริงๆ เหตุที่เกิดเรื่องนานาสังวาส เป็นเรื่องเล็กๆ พระพุทธเจ้า จะทำ หรือจะตัดสินก็ได้
ต้นเหตุของเรื่องก็คือ พระไปเข้าห้องน้ำ พอใช้เสร็จแล้วไม่คว่ำ มีน้ำชำระ เหลือค้างไว้ในภาชนะ
เท่านั้นเอง พระอีกรูปหนึ่งท้วงขึ้นมา เรื่องเกิดบานปลาย เกิดสับสน ถกกันเรื่องอาบัติหรือไม่อาบัติ
ต่างคนต่างยึด ถกเถียง กันใหญ่ แค่นี้เองคือต้นเหตุ พระพุทธเจ้าก็เลย เอาต้นเหตุนี้แหละ
มาเป็นเหตุที่จะบัญญัติหลักการนานาสังวาส ซึ่งอาตมา ถือว่า เป็นหลักการ อันยิ่งใหญ่
แห่งมนุษย์ เป็นทางออกสุดท้าย ของมนุษย์ เมื่อเกิดความเชื่อและความเห็นต่างกัน
เมื่อเกิดศรัทธา และปัญญาต่างกัน เป็นวิสัยของมนุษย์สุดวิสัยแล้ว ก็ให้ใช้หลักนี้
นี่คือต้นเหตุที่มา เพราะจริงๆ แล้วเรื่อง แค่นั้น พระพุทธเจ้า
จะตัดสินก็ได้ แต่ท่านไม่ตัดสิน เป็นพระเจตนา ของพระพุทธเจ้าแท้ๆ ที่ทรงตั้งหลัก
นานาสังวาส นี้ไว้ให้สงฆ์ และมนุษยชาติ จะได้ใช้ในอนาคตมาจนถึง ทุกวันนี้
- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -