ลึกๆ ในคดีสันติอโศก - โดย เป็นกลาง -


กรณีปัญหาสันติอโศก โดยเฉพาะคดีที่พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ และสมณะชาวอโศก ซึ่งถูกกล่าวหา และดำเนินคดี จนศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามกฎหมายนั้น ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ ในทางประวัติศาสตร์ ของวงการ พระพุทธศาสนา ได้เหตุการณ์หนึ่ง แม้ศาลสถิตยุติธรรม จะมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่พ่อท่าน และสมณะชาวอโศก ก็ยังปฏิบัติตน ตามแนวคำสอน ขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเผยแพร่ธรรมะ ตามแนวความเชื่อของตนต่อไป โดยไม่ขัดต่อ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี ของประชาชน อันเป็นการใช้สิทธิ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว คณะของชาวอโศก กลับได้รับการยอมรับ จากสังคมมากยิ่งขึ้น เช่น ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรม และเรียนรู้ ตามโครงการ พักชำระหนี้ของเกษตรกร จัดการอบรม ค่ายผู้นำเยาวชน คนสร้างชาติ ค่ายสัจธรรมชีวิต โดยมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนา คุณภาพชีวิต ของคนให้ดีขึ้น จนมีผลให้ ผู้ผ่านการอบรม สามารถลด ละ เลิกอบายมุข ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิด ประสิทธิผล อีกทั้งยังสามารถ เชื่อมประสานกับทางการ และชุมชนอื่น ได้เป็นอย่างดี ย่อมชวนให้สงสัยว่า หากพ่อท่าน และสมณะชาวอโศก เป็นพระที่ไม่แท้ หรือพระปลอมแล้ว เหตุใดพระเหล่านั้น จึงสามารถสร้างคุณค่า และความเจริญ ให้แก่คน ชุมชน และสังคมได้ จึงเป็นเรื่องที่ จะต้องติดตาม รับรู้ข้อเท็จจริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ของปัญหา ทิฐิความเห็น ที่แตกต่าง การดำเนินคดี ข้อต่อสู้ เหตุผล ตามคำพิพากษา พระธรรมวินัย ตลอดจน ข้อสังเกต แล้วใช้ปัญญา อันปราศจากอคติ ไตร่ตรอง ตรวจสอบ และตัดสินด้วยตน อันอาจทำให้ ผู้ซึ่งยังไม่รู้ ได้รู้ กระจ่างแจ้ง เห็นจริงสัจจะ ช่วยบรรเทา ความสงสัย หรือความไม่รู้ได้ ส่วนผู้ใดที่ กระจ่างแจ้งความจริงแล้ว จักได้พิจารณา เห็นความไม่เที่ยง ของโลก สมมติ ว่าเป็นเช่นนี้แหละ (ตถตา)

ประกาศแยกตัวออกจากมหาเถรสมาคม นานาสังวาส และการสมานสังวาส ปกติการกระทำของบุคคล กลุ่ม หรือคณะ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง แก้ไข จำยอม หรือลาออกก็ตาม ย่อมจะมีเหตุผล ประกอบด้วยเสมอ ขึ้นอยู่กับว่า เหตุผลนั้นเพียงพอ น่ารับฟังเพียงใด เช่นเดียวกับพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ และคณะสงฆ์ ชาวอโศก ซึ่งได้ประกาศ ลาออก จากการปกครอง ของมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ก็ย่อมมีที่มาที่ไป

กล่าวคือ หลังจากที่พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ได้เข้ารับการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ได้รับฉายาว่า "พระรัก โพธิรักขิโต" โดยมี พระราชวรคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พ่อท่านได้ดำรงสมณเพศ และปฏิบัติตามกฎ ระเบียบของวัด โดยทำกิจวัตรต่างๆ เป็นอย่างดี มีความรู้ ความสามารถ จนพระอุปัชฌาย์ ให้แสดงพระธรรมเทศนา ขณะที่มีพรรษาเพียง พรรษาแรก ซึ่งพระอุปัชฌาย์ ได้กราบเรียน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พระผู้ใหญ่ ให้ทราบอยู่เสมอว่า ขณะที่พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ จำพรรษาที่ วัดอโศการามนั้น ได้ทำกิจวัตรทุกอย่าง ร่วมกับ ภิกษุสามเณร ทั้งหลายด้วยดี ต่อมา เริ่มมีผู้เลื่อมใสศรัทธา ตามแนวทาง และปฏิปทา ที่พ่อท่านปฏิบัติ โดยมีทั้งพระภิกษุ จากธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย รวมทั้งฆราวาส ที่เป็นอุบาสก และอุบาสิกา คณะเหล่านั้น ต้องการร่วมศึกษา และขอให้พ่อท่าน ไปอบรม บรรยายธรรม และพาปฏิบัติ กรรมฐาน ที่แดนอโศก ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม พ่อท่านจึงได้ไปขออนุญาต ต่อพระอุปัชฌาย์ แต่ไม่ได้รับอนุญาต เพราะมีพระ จากมหานิกาย ร่วมอยู่ด้วย แต่ถ้าประสงค์จะไป และอยู่ร่วมกับพระสงฆ์ ฝ่ายมหานิกาย จะต้องคืนใบสุทธิ พ่อท่านตกลง จะคืนใบสุทธิ ทว่าขอเดินทางไปที่ แดนอโศก วัดหนองกระทุ่ม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมก่อน

ขณะไปที่วัดหนองกระทุ่ม พ่อท่านได้เล่าเรื่องข้อขัดข้อง ที่จะมาปฏิบัติธรรม กันที่แดนอโศก ให้พระครูสถิตวุฒิคุณ ซึ่งเป็น พระอุปัชฌาย์ อยู่วัดหนองกระทุ่มฟัง ท่านก็บอกว่า ปัญหานี้ แก้ได้ไม่ยากอะไร ก็สวดญัตติ เข้าเป็นพระภิกษุ ในฝ่ายมหานิกาย เสียก็จบ พ่อท่านจึงเข้าพิธี สวดญัตติ เป็นพระมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ แต่ยังมีใบสุทธิ ๒ ใบ หลังจากนั้น เกือบเดือน พ่อท่านจึงได้นำ ใบสุทธิฝ่ายธรรมยุต ไปคืนท่านเจ้าคุณ วัดอโศการาม

แล้วพ่อท่านก็พา ผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใส ไปร่วมปฏิบัติธรรม ที่แดนอโศก โดยที่นั่น มีพระภิกษุ และสามเณร จากทั้งสองนิกาย ร่วมอยู่ด้วย ที่พ่อท่านมีความเห็น จะต้องเอื้อเฟื้อธรรมนั้น เพราะเห็นว่า ศาสนาพุทธและธรรมวินัย เป็นเรื่องสากล ผู้ใดสนใจ ศึกษาปฏิบัติ จนเกิดมรรคผล ก็เป็นความเจริญ น่ายินดี เกิดจริง เป็นจริง ของผู้นั้นๆ การลดละ เลิกอกุศล กิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่ได้เป็นหลักที่มีเฉพาะ ในคณะสงฆ์ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่หากเป็นเป้าหมายของ ผู้หวังถึงฝั่ง พระนิพพาน จึงไม่ควร จะต้องแยกฝ่าย อันแสดงถึง ความเป็นผู้มี จิตใจคับแคบ ไม่เอื้อเฟื้อธรรม และเมื่อพิจารณา ย้อนกลับไป สมัยพุทธกาล จะพบว่าพระภิกษุ ในสมัยของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีเพียงหนึ่งเดียว คือ "สมณะศากยบุตร" หรือ "โคตมะโคตร" เมื่อพิจารณาถึงเจตนา ประโยชน์ที่จักได้รับ และ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งใช้บังคับ ในขณะนั้น ซึ่งไม่มีข้อห้าม ไม่ให้พระภิกษุ ทั้งสองนิกาย ศึกษาและปฏิบัติธรรม ร่วมกันแล้ว พ่อท่าน จึงได้นำพาหมู่กลุ่ม ร่วมสมานสังวาส ปฏิบัติธรรม ตามแนวทางที่เห็นว่า ถูกตรงตามคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยยึดหลัก "สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘" ซึ่งเป็นทางแห่ง การพ้นทุกข์ และพาคณะ ประกาศสัจธรรม มาจนถึงทุกวันนี้ เชื่อเหลือเกินว่า หากพ่อท่าน ไม่โดนห้าม ในการที่จะต้อง ร่วมปฏิบัติธรรม กับพระสงฆ์ จากมหานิกายแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใด ที่จะต้อง คืนใบสุทธิ ให้แก่อุปัชฌาย์ และมาสวดญัตติ เข้าเป็นพระสงฆ์ ในฝ่ายมหานิกายอีกครั้ง เลยดูเหมือน ว่าพ่อท่าน เป็นพระสงฆ์ ทั้งธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย ในตัวท่านเอง ซึ่งที่จริงย่อมเป็นเช่นนั้นไม่ได้

ภายหลังจากเริ่มแยกตัว ออกมาปฏิบัติธรรม ภายใต้การนำของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ซึ่งพาเอาจริง และปฏิบัติให้ถูกตรง ตามธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้า ตรัสสอนไว้ ในพระไตรปิฎก อันทำให้วัตรปฏิบัติ ของพ่อท่าน และคณะ แตกต่างจาก พระสงฆ์ ในมหาเถรสมาคม เช่น ชาวอโศก ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่กินอาหารมังสวิรัติ พระภิกษุชาวอโศก ไม่ใช้เงินใช้ทอง ฉันอาหาร วันละหนึ่งมื้อ (ไม่มีน้ำปานะ) ไม่ใช้ย่าม ไม่ใช้ร่ม ไม่สวมรองเท้า ไม่ใบ้หวย ไม่รดน้ำมนต์ ไม่แจกเครื่องรางของขลัง ไม่บูชาไฟ ไม่เล่นเดรัจฉานวิชา และอื่นๆ อีก ทำให้ถูกเพ่งเล็งว่าอวดดี ทั้งที่ทำให้ถูกต้อง ตามศีล ตามวินัย จนถูกกลั่นแกล้ง จากฝ่ายอื่น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ แนวคำสอนของพ่อท่าน ไปกระทบ กระเทือน ต่อวัตรปฏิบัติ ของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงกีดกัน ห้ามพ่อท่าน และ คณะชาวอโศก เผยแพร่ประกาศสัจธรรม ตามความเชื่อของตน เมื่อพ่อท่านและคณะ ได้พิจารณาถึงสัจจะ ที่จะต้องเป็น ต้องมี และผลจากการปฏิบัต ิตามธรรมวินัย ที่แตกต่างกัน ของสงฆ์ ทั้งสองฝ่าย ซึ่งทำให้ ไม่อาจจะร่วม ทำสังฆกรรมกันได้ เพราะเป็นนานาสังวาส กับพระภิกษุสงฆ์อื่น นอกจากนั้น ยังพบปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ กล่าวคือ เมื่อมีผู้คนเลื่อมใส จะเข้ามาบวช เจ้าคณะอำเภอ ก็ห้ามอุปัชฌาย์ พระครูสถิตวุฒิคุณ ไม่ให้บวช ให้ชาวอโศก หรือผู้ที่บวช เป็นพระแล้ว จะสอบนักธรรมตรี -โท -เอก ตามธรรมเนียมบ้าง ก็กีดกัน ห้ามไม่ให้สอบ ห้ามออกเผยแพร่ธรรมะ หากยินยอม ให้ออกเผยแพร่ ก็ขู่จะปลดอุปัชฌาย์ ผู้บวชให้พ่อท่าน ออกคำสั่งห้าม ไม่ให้ออกเดินจาริก เผยแพร่ธรรมะ และให้เปลี่ยนจีวร เป็นสีเหลือง ซึ่งพ่อท่าน ไม่ยอมเปลี่ยน เพราะเห็นว่า ผิดพระวินัย มหาวรรค จีวรขันธกะ ข้อ ๑๖๙ ซึ่งภิกษุทรงจีวร สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีดำ สีแสด สีชมพู ประชาชนพากันเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนา ว่าเหมือนพวก คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม พระพุทธองค์ จึงทรงบัญญัติ ไม่ให้ใช้จีวรสีต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ผู้ใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ

เมื่อถึงกาละอันควร วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ พ่อท่าน และ คณะสงฆ์ ซึ่งมีพระภิกษุ จำนวน ๒๑ รูป และสามเณร จำนวน ๒ รูป ได้ประกาศท่ามกลาง การประชุมสงฆ์ ที่วัดหนองกระทุ่ม ขอแยกเป็น นานาสังวาส ลาออกจากการปกครอง ของมหาเถรสมาคม เป็นคณะสงฆ์ชาวอโศก ขอปกครองตนเอง ตามหลักพระธรรมวินัย อันเป็นความแตกต่าง ประการต่อมา โดยภายหลัง ถูกฟ้องเป็นคดี พ่อท่านและสมณะ ได้ยกเรื่อง นานาสังวาส ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ประการหนึ่ง จึงต้องมา พิจารณาเหตุผล ตามคำพิพากษา ประกอบหลักธรรมวินัยต่อไป

"นานาสังวาส" เป็นหลักการที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หยั่งรู้วิสัยของมนุษย์ว่า ปัญญา หรือความเข้าใจ ของมนุษย์ มีไม่เท่ากัน จึงย่อมจะเกิดความแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับปัญญา ของผู้นั้น ๆ ที่มีที่เป็น และเกิดจริง เมื่อทุกฝ่าย ต่างก็ต้องการความจริง และคิดว่าของตนถูก พระพุทธองค์ จึงให้ผู้นั้น ได้พิสูจน์โดยการปฏิบัติ ตามทิฐิ ความเห็นของตน ไม่ไปบังคับ ให้เขาต้องเห็นตามด้วย หรือปฏิบัติตาม เมื่อส่วนที่แตกต่างกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรรม อุเทศ ศีล ที่ต่างคน ต่างยึดมั่นถือมั่น สุดวิสัยที่จะมาร่วมกันได้ จึงให้ต่างคน ต่างทำไป สุดท้าย ผลจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ทางใดจะดีสุด ลึกซึ้งกว่ากันแท้ โดยภิกษุหรือคนเหล่านั้น ยังอยู่ในศาสนาพุทธ (สังวาส) เดียวกันอยู่ แต่ปฏิบัติต่างกัน เทียบได้กับ หลักเกณฑ์ทางโลก เสรีประชาธิปไตย เรื่อง "ปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชน" ที่รัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง กับแนวทาง ในการดำเนินชีวิต กิจกรรม หรือพิธีกรรมใด ๆ ของบุคคล หรือกลุ่มคน ซึ่งการเกิดของ "นานาสังวาส" นั้นเกิดได้ ๒ ประการ คือ (พระไตรปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๒๔๐)

๑. ภิกษุ หรือหมู่ภิกษุ ทำตนเป็นนาวาสังวาสด้วยตน เป็นเรื่องที่ภิกษุ หรือคณะนั้น ได้กระทำ โดยมีเจตนาให้เห็น ความต่าง เพราะเชื่อว่า ของตนถูกกว่า ดีกว่า อย่างจริงใจ ถึงขั้นมีกรรม (การกระทำ, วัตรปฏิบัติ, พิธีกรรม) อุเทศ (การชี้แจงจากหัวข้อธรรม ที่ยกขึ้นแสดง) สิกขา (อธิศีล สิกขา -อธิจิตสิกขา -อธิปัญญาสิกขา) ไม่เหมือนกัน ไม่เสมอสมานกัน หรือถึงขั้นประกาศตน ขอแยกเป็น "นานาสังวาส" ด้วยตนเอง

๒. หมู่คณะพร้อมเพรียงกัน ยกคนผู้นั้นเป็น "นานาสังวาส" โดยหมู่ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ความแตกต่างนั้น จะพาให้หมู่ เสียหาย แม้หมู่ได้พยายามปรับแก้ ทิฐิของผู้นั้น ให้ถูก ตามที่หมู่ เชื่อว่าดีว่าถูกแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ยอม ยังยืนหยัด ตามแนวคิดเดิม หมู่คณะจึงได้ประกาศ ให้คนผู้นั้นเป็น "นานาสังวาส" กับหมู่คณะ

เมื่อเป็นนานาสังวาสกันแล้ว แต่ละฝ่าย ก็แยกกันประพฤติปฏิบัติ ตามแนวความคิด ความเห็นของตน ทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถ ทำสังฆกรรมร่วมกันได้ เช่น ลงทำปาฏิโมกข์ ร่วมกันตัดสินความ หรือชำระอธิกรณ์ หรือหากทำไปแล้ว การนั้นย่อม ใช้ไม่ได้ ถือเป็นโมฆะ หากผู้ใดกระทำไป ถือว่าเป็นความผิด ต้องอาบัติ

โดยหลักการนี้ ในคดีที่พ่อท่าน และสมณะ สิกขมาตุ ถูกฟ้องว่า แต่งกายเลียนแบบ สามเณร หรือภิกษุ ในพุทธศาสนา ศาลอุทธรณ์ ได้นำมาวินิจฉัย สรุปได้ว่า "ในวันที่พ่อท่าน และคณะ ประกาศลาออก จากการปกครอง ของมหาเถรสมาคม พ่อท่านยังเป็นภิกษุ ในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีมหาเถรสมาคม ปกครองดูแล ตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๘ และ ๒๐ หากพ่อท่าน ไม่ประสงค์ ที่จะอยู่ในความปกครองของ มหาเถรสมาคม พ่อท่านจะต้องลาสิกขา ออกไปก่อน จากนั้นจะไปนับถือ หรือบวชในนิกายของศาสนาใด หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อของตน ก็ย่อมทำได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แต่ข้อเท็จจริง ปรากฏว่า พ่อท่าน ยังไม่ได้ลาสิกขา ถือว่ายังเป็นภิกษุ ในคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายมหานิกาย จึงต้องปฏิบัติตาม กฎหมายคณะสงฆ์ไทย คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และ กฎมหาเถรสมาคม ที่ออกมา เมื่อพ่อท่าน ได้บวชให้แก่ สมณะชาวอโศกอื่นอีก ทุกรูป โดยทำหน้าที่เป็น พระผู้นำเข้าหมู่ และเป็นพระผู้ใหญ่ ในการบวช รวมทั้งเป็นผู้ มอบเครื่องแต่งกาย และอัฐบริขาร ให้แก่สมณะ ที่บวชทุกรูป โดยไม่ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ตามกฎ มหาเถรสมาคม การบวชของ สมณะชาวอโศก จึงเป็นการบวชโดยมิชอบ ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) สำหรับ การบวชของสมณะที่อ้างว่า เป็นการบวชตามวิธี ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา โดยมีคณะสงฆ์ ชาวอโศก เป็นผู้บวชให้นั้น เมื่อพ่อท่านยังถือว่า เป็นภิกษุสงฆ์ไทย ฝ่ายมหานิกาย ร่วมเป็น องค์ประชุมอยู่ด้วย จึงเป็นนานาสังวาส ถือว่า มีภิกษุอื่น อยู่ในสีมา สังฆกรรมดังกล่าว เป็นปริสวิบัติ การบวชของ สมณะชาวอโศก เป็นกรรมที่ใช้ไม่ได้ ถือว่า ไม่มีการบวช จึงไม่เป็นภิกษุ ในศาสนาพุทธ

ในวงการสงฆ์นั้น เมื่อเกิดข้อขัดแย้ง หรือทิฏฐิความเห็น อันแตกต่าง ตลอดจน การละเมิด พระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมี หลักเกณฑ์ วิธีการ การพิจารณา และการตัดสิน ปรับโทษอาบัติ เอาแก่ภิกษุนั้น ตามที่กำหนดไว้ ในพระธรรมวินัย แต่เนื่องจาก กาละสมัย เปลี่ยนแปลงไป จึงอาจมีกฎหมาย ในทางโลก ที่ฆราวาสบัญญัติ เข้ามาเกี่ยวข้อง ใช้กับพระภิกษุได้ ในประเทศไทย มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ใช้บังคับแก่พระภิกษุ ในประเทศไทย แต่หากบางเรื่อง กฎหมายบ้านเมือง ที่ออกมาใช้บังคับ ตัดรอน หรือขัดแย้ง กับพระธรรมวินัยแล้ว กฎหมาย จะให้ถือเอา พระธรรมวินัย เป็นใหญ่ หากบางเรื่อง กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้เลย ก็ยิ่งจะต้องสืบค้น เอาจาก พระธรรมวินัยก่อน หากไม่มี จึงต้องมาใช้หลัก การตีความ ไม่ว่าจะเป็นการตีความ ตามลายลักษณ์อักษร หรือเป็นการตีความ ตามเจตนารมณ์ก็ตาม เห็นได้ว่า พระธรรมวินัย เป็นหลักสำคัญ มีศักดิ์เทียบได้กับ รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด อันกฎหมายในลำดับรอง จะขัด หรือแย้งมิได้ จากคำวินิจฉัยดังกล่าว แสดงว่า ศาลได้ยอมรับ "การเกิด และผลของความเป็น "นานาสังวาส" ซึ่งเป็นหลัก ที่ปรากฏ ในพระธรรมวินัย ดังที่กล่าวในตอนต้นแล้ว [การบวชตามวิธี ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา โดยมีคณะสงฆ์ ชาวอโศก เป็นผู้บวชให้นั้น ยังถือว่า พ่อท่านเป็น ภิกษุสงฆ์ไทย ฝ่ายมหานิกาย ร่วมเป็น องค์ประชุมอยู่ด้วย จึงเป็น นานาสังวาส ถือว่า มีภิกษุอื่น อยู่ในสีมา สังฆกรรมดังกล่าวเป็น ปริสวิบัติ (ผลของความเป็น นานาสังวาส) การบวชของ สมณะชาวอโศก เป็นกรรมที่ใช้ไม่ได้ ถือว่า ไม่มีการบวช] นอกจากนั้น ยังเท่ากับ เป็นการยอมรับ ข้อเท็จจริงอีกว่า มีคณะสงฆ์ชาวอโศก อีกคณะหนึ่งอยู่ด้วย (คณะสงฆ์ชาวอโศก เป็นผู้บวชให้ แต่ถือว่าพ่อท่าน เป็นภิกษุสงฆ์ไทย ฝ่ายมหานิกาย ร่วมเป็นองค์ประชุมอยู่) หาใช่มีเพียง คณะสงฆ์ ฝ่ายมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงน่าจะถือว่า การที่คณะสงฆ์ ชาวอโศก ได้ประกาศแยกตัว ออกจากการปกครองของ มหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ เป็นการประกาศ ความเป็นนานาสังวาส ด้วยวิธีการ ภิกษุ หรือหมู่ภิกษุ ทำตนเป็น นานาสังวาสด้วยตน ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งตรงกับที่ พระธรรมมหาวีรานุวัตร หรือ พระสุเมธาธิบดี เบิกความ ในระหว่าง พิจารณาคดีว่า คณะสงฆ์ชาวอโศก เป็นนานาสังวาส กับคณะสงฆ์ไทย ทั้งฝ่าย ธรรมยุตินิกาย และ มหานิกาย

ด้วยความเคารพ ท่านคงลืมไปว่า พ่อท่าน คือผู้นำพา คณะสงฆ์ชาวอโศก ประกาศแยกตัวเอง ออกมาพร้อมกัน กับสงฆ์อีก ๒๐ รูป ย่อมถือเป็นหนึ่ง ในคณะสงฆ์ชาวอโศก และได้มาอยู่ร่วมกัน อย่างสมานฉันท์ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ เสมอสมานกัน มีศีลเสมอกัน ย่อมทำให้มี ความเท่าเทียมกัน ในความเป็นสงฆ์ และสงฆ์ทั้ง ๒๑ รูปที่แยกออกมา พร้อมกันนั้น ต่างก็เป็น ภิกษุสมบูรณ์แล้ว จากคณะสงฆ์ไทย เพราะล้วนเป็นผู้ได้รับ การอุปสมบท จากคณะสงฆ์ไทยแล้วทั้งสิ้น ก่อนจะลา ออกมาเป็น นานาสังวาส ดังนั้น การบวชของสมณะชาวอโศก จึงไม่เป็นการกระทำที่เป็น นานาสังวาส ตามที่ได้วินิจฉัย จึงไม่เป็น ปริสวิบัติ และสามารถใช้ได้ (ปริสสมบัติ) โดยการบวชนั้น คณะสงฆ์ชาวอโศก บวชถูกต้อง ครบสมบัติ ๔ ประการ ของการบวช แบบวิธี ญัตติจตุตถกรรม อุปสัมปทา ประกอบด้วย

๑. วัตถุสมบัติ คือ ตัวผู้ขอบวช ถ้าบวชเป็นพระภิกษุ จะต้องเป็นชาย อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่เป็นกระเทย หรือไม่วิบัติ ตามธรรมวินัยอีก ๑๑ อย่าง
๒. กรรมวาจาสมบัติ ได้แก่ถ้อยคำที่เป็นตัวบท ที่ใช้ในสังฆกรรม คือ ญัตติที่ข้อเสนอ ในการขอบวช เพื่อขอความเห็นชอบ ของสงฆ์ ว่าเห็นชอบให้บวช หรือไม่
๓. สีมาสมบัติ คือ เขตทำสังฆกรรมของสงฆ์ ต้องเป็นสถานที่ถูกต้อง ตามพุทธบัญญัติ ในพระวินัย และ
๔. ปริสสมบัติ คือ ความสมบูรณ์ที่ประชุม ซึ่งมีองค์ประชุมถูกต้อง ถ้าเป็นในท้องที่เจริญ ที่เรียกว่า มัชฌิมชนบทประเทศ จะต้อง ประกอบด้วยสงฆ์ ๑๐ รูปขึ้นไป ส่วนท้องที่ห่างไกล ก็จะใช้สงฆ์ ที่ประกอบด้วย พระภิกษุ ๕ รูป

ซึ่งพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เบิกความรับว่า การบวชจะสำเร็จ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสงฆ์ มิได้ขึ้นอยู่กับ อุปัชฌาย ส่วนพระอุปัชฌาย์นั้น คือ ผู้นำผู้ที่จะบวช เข้าเสนอต่อสงฆ์ อุปัชฌาย์ จะมีความบกพร่องในส่วนตัว ด้วยประการใดๆ ก็ตาม ไม่มีผล ทำให้การบวชไม่สำเร็จ หากอุปัชฌาย์ จะบกพร่อง ก็ไปปลงอาบัติ สำหรับอุปัชฌาย์เอง หรือรับทัณฑ์ ตามธรรมวินัย เฉพาะตน

เมื่อสมณะชาวอโศก ได้ทำการบวชถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย สงฆ์รับเข้าหมู่ สำเร็จแล้ว ความเป็นภิกษุ ย่อมมี และเกิดขึ้น ไม่จำต้องผ่าน กระบวนการยอมรับใดๆ อีก และไม่อาจจะหักล้าง ความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นได้ จึงเชื่อว่า สมณะชาวอโศก ที่ผ่านการบวชด้วยวิธี ญัตติจตุตถกรรม อุปสัมปทา ตามที่องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทาน อนุญาตนั้น เป็นพระภิกษุโดยชอบ ด้วยธรรมวินัย และเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ย่อมมีสิทธิ นุ่งห่มจีวร และออกบิณฑบาต ได้โดยชอบ เมื่อสมณะชาวอโศก เป็นพระภิกษุโดยชอบ ตามธรรมวินัยแล้ว การจะเป็นพระภิกษุ ที่ถูกต้อง ตามกฎของ มหาเถรสมาคม หรือไม่นั้น ก็ไม่ทำให้สมณะ ของชาวอโศก ไม่เป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาไปได้

เพราะฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยทำนองเดียวกัน ตามกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งออกตามความ ในพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ว่า การบวช หรือบรรพชา จะต้องมี พระอุปัชฌาย์ แต่พ่อท่าน ไม่เคยได้รับ การแต่งตั้ง ให้เป็นพระอุปัชฌาย์มาก่อน เมื่อทำการบวชให้แก่ สมณะชาวอโศก จึงเป็นการบวช ที่ไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงไม่มีผลหักล้าง ความเป็นพระภิกษุ ตามพระธรรมวินัยได้ ย่อมเป็นชาวพุทธ และมีสิทธิ นับถือศาสนาพุทธ ได้โดยชอบ ซึ่งที่มา และเหตุผลต่างๆนั้น ล้วนมาจาก พระธรรมวินัย อันอยู่ใน พระไตรปิฎก ทั้งสิ้น

การที่ศาลชั้นต้น เห็นว่า การบวชของสมณะชาวอโศก จะถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย หรือไม่นั้น เป็นเรื่องการแปล พระไตรปิฎก ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษา แสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของทิฏฐิ และความเห็น ที่แตกต่างกัน อย่างชัดเจน เพราะประเด็นเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ กลับนำหลักการบวช และ นานาสังวาส ในพระไตรปิฎก มาแปล และตีความ ใช้ในกรณีดังกล่าว กับการบวชของ สมณะชาวอโศก และน่าเสียดาย ที่ปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกา ไม่ได้วินิจฉัย ข้อเท็จจริงให้ใหม่ โดยท่านเห็นว่า ฎีกาของพ่อท่าน และสมณะ เป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกา ในปัญหา ข้อเท็จจริง จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริง ตามที่ศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยมาแล้ว จากพยานหลักฐาน ในสำนวน ซึ่งหมายความว่า ประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยมาอย่างไร ศาลฎีกา จำต้องถือตาม มิเช่นนั้น ศาลฎีกา คงจักได้วินิจฉัย ให้เป็นบรรทัดฐานสืบไป

อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เกี่ยวกับการลาออก จากมหาเถรสมาคม ของพ่อท่านว่า การประกาศลาออก จากการปกครอง ของมหาเถรสมาคมนั้น พ่อท่านยังเป็นภิกษุ ในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีมหาเถรสมาคม ปกครองดูแล ตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๘ และ ๒๐ หากไม่ประสงค์ที่จะอยู่ ในความปกครองของ มหาเถรสมาคม พ่อท่านจะต้อง ลาสิกขาออกไปก่อน จากนั้น จะไปนับถือ หรือบวช ในนิกายของศาสนาใด หรือปฏิบัติ พิธีกรรม ตามความเชื่อของตน ก็ย่อมทำได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แต่เมื่อยังไม่ได้ลาสิกขา จึงถือว่า ยังเป็นภิกษุ ในคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายมหานิกาย เห็นว่า หากถือการลาสิกขาเป็นเกณฑ์ จึงจะสามารถลาออกได้นั้น คงจะต้องพิจารณาว่า ขณะดังกล่าว พ่อท่าน เป็นพระภิกษุสงฆ์ไทย นิกายใด เพราะพ่อท่าน ไม่ได้ลาสิกขา จากสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ก่อนที่จะมาสวดญัตติ เข้าเป็นสงฆ์ ฝ่ายมหานิกายเช่นกัน แล้วพ่อท่านจะยังเป็น พระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย ในบรรพชิตรูปเดียว กระนั้นหรือ? ดังนั้น เมื่อพ่อท่าน ลาออกมาเป็น นานาสังวาส กันแล้ว ก็ย่อมไม่ใช่ภิกษุ ในคณะสงฆ์ไทย

นอกจากนั้น เมื่อนำข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๑ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เกลี้ยกล่อม จนพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ตกลงที่จะคืนสู่ คณะสงฆ์ไทย ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๑ แต่ฝ่ายคณะ ผู้มาทำการตกลงไม่ยอมรับ เช่นนี้แล้ว ควรจะถือว่า พ่อท่านยังเป็นคณะสงฆ์ไทยอยู่ กระนั้นหรือ? และ หากท่านมีเมตตา แปลพระไตรปิฎก เรื่อง หลักนานาสังวาส และผล มาใช้กับกรณีนี้ น่าจะถือได้ว่า การกระทำของพ่อท่าน ดังกล่าว ย่อมชื่อว่า ภิกษุ หรือหมู่ภิกษุ ทำตนเป็น "นาวาสังวาส" ด้วยตนสำเร็จแล้ว โดยมีเจตนาให้เห็น ความต่าง ตามที่ได้อธิบาย มาแล้วตอนต้น ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะศาลอุทธรณ์ ก็ได้รับว่า มีคณะสงฆ์ชาวอโศก เป็นอีกคณะหนึ่ง ต่างหาก การจะให้ท่านลาสิกขานั้น ท่านคงไม่ยอม กระทำเป็นแน่ เพราะการลาสิกขา คือ การไม่ต้องการ ที่จะดำรงตน อยู่ในสมณเพศต่อไป แต่พ่อท่านและคณะ ไม่เคยมีความคิดเช่นนั้น จึงเลือกกระทำการประกาศ ความเป็น "นานาสังวาส" ซึ่งง่ายกว่า ตรงกว่า และเป็นหลักที่ พระธรรมวินัยรับรอง เปรียบเหมือนกับ ข้าราชการ เมื่อต้องการ ที่จะย้ายสังกัด หน่วยงาน เพราะไม่ต้องการ ที่จะอยู่ในกรม กระทรวงนั้นต่อไป ก็หาจำต้องลาออก จากการเป็น ข้าราชการก่อนไม่ เพียงแต่ทำเรื่อง โยกย้าย ผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย และตามลำดับสายงาน การบังคับบัญชา ฉันใด กรณีของพ่อท่าน และคณะสงฆ์ ชาวอโศก ก็ฉันนั้น

ซึ่งการแสดงเจตนาของพ่อท่าน และคณะดังกล่าว นอกจากจะชัดแจ้งแล้ว ทางมหาเถรสมาคม ยังได้รับทราบ ซึ่งก็ไม่ได้คัดค้าน เพราะทราบดีว่า ตามธรรมและวินัยนั้น สามารถทำได้ แต่เมื่อได้ทำการแยกตัว ไปปกครองกันเอง ต่างหากแล้ว คณะสงฆ์ชาวอโศก ก็ไม่สมควร ที่จะได้รับสิทธิ เทียบเท่ากับคณะสงฆ์ ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ของมหาเถรสมาคม ดังเห็นได้จาก มหาเถรสมาคม และกรมการศาสนา ได้เสนอ และมีมติว่า พระภิกษุ และสามเณร ในสำนักสันติอโศก มิได้อยู่ในความปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และไม่อยู่ในความอุปการะ ของทางราชการ ตามหนังสือของ กรมการศาสนา ที่ ศธ. ๐๔๐๗/๘๕๓๗ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๕ เรื่อง การซื้อตั๋ว รถไฟ ลดราคา ของภิกษุสามเณร จากสำนักสันติอโศก ถึงผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ ไม่ให้มีสิทธิ ลดราคา ค่าโดยสารรถไฟ เช่นเดียวกับ พระภิกษุ สามเณร ที่อยู่ในปกครองของ คณะสงฆ์ไทย แม้หนังสือดังกล่าว จะเป็นหนังสือที่ ฝ่ายการเดินรถ มีหนังสือหารือไป เพื่อสอบถามว่า ควรให้สิทธิ ลดค่าโดยสาร แก่ภิกษุสามเณร จากสำนักสันติอโศกหรือไม่ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณา หน่วยงานที่ตอบข้อหารือ คือ มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นส่วนราชการ ที่ดูแลกิจการของ พระภิกษุ ในประเทศไทย ทั้งหมด ย่อมจะได้พิจารณา อย่างละเอียด รอบคอบแล้ว จึงได้มีมติออกมาว่า "พระภิกษุ และสามเณร ในสำนักสันติอโศก มิได้อยู่ในความปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕" จากนั้น จึงค่อยก้าวล่วง ไปพิจารณาว่า ควรให้สิทธิ ได้รับการลดค่าโดยสาร หรือไม่ ซึ่งขณะนั้น ก็ยังไม่ปรากฏว่า พ่อท่าน และพระภิกษุ จำนวน ๒๑ รูป สามเณร จำนวน ๒ รูป ที่ร่วมประกาศ ลาออกจาก มหาเถรสมาคม ได้ลาสิกขา จากการเป็น พระภิกษุสงฆ์ ในมหานิกาย แต่อย่างใด นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาหนังสือที่ พระครูปราการลักษณาภิบาล เจ้าคณะอำเภอ กำแพงแสน แจ้งไปยังนายอำเภอ กำแพงแสน เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ ภายหลังจาก พ่อท่านและคณะ ได้ประกาศ ลาออกแล้ว มีใจความว่า "คณะสงฆ์แดนอโศก ได้ประกาศ แยกตัวออกจาก การปกครองคณะสงฆ์ ทุกระดับชั้น การปกครอง โดยกล่าวว่า จะปกครองตนเอง ตามธรรมวินัย ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติ ตามระเบียบการปกครอง คณะสงฆ์ไทย ทุกประการ ดังนั้น คณะสงฆ์ อำเภอกำแพงแสน จึงให้ออกไปเสียจากสังกัด โดยมิได้สังกัดวัดใด วัดหนึ่งตามประสงค์ ตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๘ ต่อแต่นี้ไปคณะสงฆ์แดนอโศก ก็เป็นอยู่โดยเอกสิทธิ์ และไม่อยู่ ในความรับผิดชอบ คณะสงฆ์กำแพงแสน อีกต่อไป" เมื่อเจ้าคณะอำเภอ ซึ่งเป็น ผู้ที่รับผิดชอบ โดยตรง ได้แสดงเจตนาเช่นนี้ ก็ยิ่งเป็นการสำทับ ได้เป็นอย่างดี ถึงหลักการของ ความเป็น นานาสังวาส ให้แน่ชัดลงไปอีก โดยหมู่คณะ (มหาเถรสมาคม) พร้อมเพรียงกัน ยกหมู่คณะ (คณะสงฆ์ชาวอโศก) ผู้นั้นเป็น "นานาสังวาส" เมื่อเป็นนานาสังวาสแล้ว ก็ย่อมเกิดและเป็นจริง โดยสภาพเอง หาจำต้องมีกฎหมาย มารองรับไม่ การที่วินิจฉัยว่า ไม่มีกฎหมายรับรอง ให้ทำเช่นนั้นได้ ก็เป็นเรื่องของกฎหมาย ที่ไม่สามารถไปถึง เมื่อไม่มี ก็จำต้องพิจารณา เอาจาก พระธรรมวินัย ดังที่พระพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ ในมหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ ข้อ ๑๔๑ ว่า "ธรรมและวินัยใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไป แห่งเรา" จึงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เกินกว่า ที่จะเอากฎหมาย มาพิจารณา และตัดสิน

แม้กรณีปัญหาสันติอโศก จะเกิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยคณะสงฆ์ชาวอโศก ประกาศแยกตัว จากการปกครอง ของมหาเถรสมาคม ทำตนเป็น "นาวาสังวาส" ด้วยตน และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ หมู่คณะ (มหาเถรสมาคม) พร้อมเพรียงกัน ยกหมู่คณะ (คณะสงฆ์สันติอโศก) เป็น "นานาสังวาส" ก็ตาม แต่ก็ไม่มีปัญหา หรือความไม่สงบเรียบร้อยใดๆ เกิดขึ้นจาก การกระทำ ของคณะสงฆ์ชาวอโศก จะมีก็แต่จำนวนคนที่ศรัทธา เข้ามาศึกษา และร่วมปฏิบัติ ตามแนวทางของชาวอโศก มากขึ้นเรื่อย ๆ

ได้มีการพยายามแก้ไขปัญหา กันอย่างสันติ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๑ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เกลี้ยกล่อม จนพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ตกลงที่จะคืนสู่คณะสงฆ์ ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๑ แต่ฝ่ายคณะผู้มาทำการตกลง ไม่ยอมรับ ปัญหา ที่สั่งสมมาโดยตลอด ไม่สามารถที่หา จุดที่ลงตัวตัดสิน ยอมรับกันได้ จนเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๒ มหาเถรสมาคม จึงใช้อำนาจตามกฎหมาย มีคำสั่งให้พ่อท่าน พระรัก โพธิรักขิโต หรือ พระโพธิรักษ์ สละสมณเพศ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพียง ๑ วัน พ่อท่าน ในฐานะ ตัวแทนชาวอโศก กับ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมตกลงเจรจา เพื่อเห็นแก่ ความสงบสุข เรียบร้อย ของชาติบ้านเมือง และพระพุทธศาสนา คณะสันติอโศก ยินยอมเปลี่ยนรูปแบบ การแต่งกาย จากพระภิกษุสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาคณะสงฆ์ไทย เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช้คำเรียกตัวเองว่า พระ ภิกษุ นักบวช นักพรต อีกต่อไป ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๒ เวลา ๑๖ นาฬิกา แต่แทนที่ปัญหาดังกล่าว จะจบลงด้วยดี กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยได้ความ จากคำให้สัมภาษณ์ ของพระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกรรมการ ในมหาเถรสมาคม ให้สัมภาษณ์ว่า เกี่ยวกับกรณี ดังกล่าวว่า "ที่ประชุม(มหาเถรสมาคม) ไม่ได้พิจารณาถึงข้อตกลง ระหว่างนายชัยภักดิ์ กับพระโพธิรักษ์เลย เพราะข้อตกลง ดังกล่าว มหาเถรสมาคม ไม่รับฟังอยู่แล้ว คิดว่าคงเป็น อุบายของ กระทรวงศึกษาธิการมากกว่า เพราะเจตนาของ มหาเถรสมาคม ต้องการให้โพธิรักษ์ สึกอย่างเดียว" ซึ่งพณฯ ท่านชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ได้ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า "ได้นำข้อตกลง ที่ทำไว้กับ พระโพธิรักษ์ ไปชี้แจงในที่ประชุม มหาเถรสมาคมแล้ว แต่ที่ประชุม ไม่ยอมรับข้อตกลง ที่ตนเอง ทำไว้กับ พระโพธิรักษ์ เพราะเห็นว่า ยังไม่ถือว่าสึก จนกว่าจะมีการกล่าวคำว่าสึก เสียก่อน..." แต่พ่อท่าน ก็ไม่ยอมเปล่งวาจาว่า สึก ตามที่อีกฝ่ายต้องการ โดยเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๒ พ่อท่านกล่าวตอบ นายเสนาะ พ่วงภิญโญ ซึ่งถามพ่อท่านว่า ท่านพ้น จากการเป็นสมณเพศ แล้วหรือยัง พ่อท่านกล่าวเพียงว่า "อาตมา ไม่ขอตอบใดๆ"

ซึ่งหากพิจารณาเนื้อหาของคำตอบ ของพ่อท่านแล้ว เป็นคำตอบที่ลงตัว และลึกซึ้งสุด เนื่องจาก หากตอบว่า พ้นแล้ว ก็ย่อมเป็นการ ไม่ตรงกับความจริง และเป็นบาป เพราะท่านยังไม่ได้สึก แต่หากกล่าวว่า ยัง ก็จะถูกมองว่า ท่านเป็นฝ่าย ที่ดื้อดึง เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้ปัญหา ไม่รู้จบ ส่วนใคร จะนำคำพูดนั้น ไปตีความ ก็เป็นเรื่องของผู้นั้น ซึ่งทางมหาเถรสมาคม คาดว่า คงจักได้รับ คำตอบเช่นนั้น เป็นแน่

วันเดียวกันนั้น นายเสนาะ พ่วงภิญโญ จึงได้ไปแจ้งความ ดำเนินคดีกับพ่อท่าน และ สมณะ ที่สถานีตำรวจ นครบาลลาดพร้าว และได้มีการเจรจา เพื่อขอให้พ่อท่านสึกอีก แต่พ่อท่าน ก็ยังไม่ยอม ทางการ จึงขอให้พ่อท่าน เปลี่ยนมาครองชุดสีขาว เพื่อไม่ให้เป็นการแต่งกาย เลียนแบบพระภิกษุ ซึ่งพ่อท่านก็ยอม และได้ถูก ดำเนินคดี และถูกฟ้องศาล จนมีคำพิพากษาว่า ท่านไม่ยอม สละสมณเพศ ตามคำสั่งของ มหาเถรสมาคม

เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพ่อท่านแล้ว พบว่าท่านได้ถูกดำเนินการ โดยมิชอบ และไม่ได้รับ ความเป็นธรรม หลายประการ - การไม่ได้รับแจ้ง ข้อกล่าวหา และ ร่วมสอบ ข้อเท็จจริงโดยชอบ ปกติไม่ว่าจะเป็นคดี ที่มีผู้กระทำความผิด หรือ ในหน่วยงาน ทางราชการ ที่มีการร้องเรียน ว่าส่อไปในทางทุจริต ไม่ว่าพยานหลักฐาน จะชัดเจน หรือพยานจะชัดแจ้ง เพียงพอ หรือไม่ เพียงใด เมื่อมีการร้องเรียน กล่าวหาว่า มีผู้กระทำความผิด ก็ต้องมีการแจ้ง ข้อกล่าวหา ให้ผู้นั้นทราบด้วย อย่างน้อย ผู้นั้นจักได้ทราบว่า ตนถูกกล่าวหาอย่างไร และเป็นความจริง หรือไม่ แม้ในสมัยพุทธกาล เวลาที่มี ผู้กล่าวหา ว่าพระภิกษุของ พระสมณโคดม กระทำการที่ไม่สมควร เป็นที่น่าติเตียน น่าละอาย พระพุทธองค์ก็จะเรียก ภิกษุนั้นมาพบ และตรัสถามว่า เธอได้กระทำ อย่างที่เขา กล่าวหาหรือไม่ หากท่านเหล่านั้นทำจริง ท่านก็จะยอมรับ อันเป็นหลักการ สอบสวน ทั่วๆ ไป และมีบัญญัติอยู่ ในพระธรรมวินัยด้วย คือ หลักสัมมุขาวินัย แต่สำหรับ พ่อท่านแล้ว แม้แต่ข้อกล่าวหา ก็ยังไม่มีสิทธิทราบ เพราะไม่เคยเรียกท่าน ไปสอบถาม หรือให้การ หรือนำพยาน เข้าสืบหักล้าง เมื่อต้องการ จะทำให้ถูกต้อง ตามระบบ และกระบวนการ ของกฎหมาย ก็ไม่ควรจะละเลย สิทธิมนุษยชน ในเรื่องนี้เลย หากท่านมีโอกาส วิถีทาง ในการที่จะ นำไปแก้ปัญหา ย่อมจะเปิดกว้าง มิฉะนั้น จะถูกมองว่า เป็นเผด็จการได้ และคงมองได้เช่นกันว่า กระบวนการ สอบสวนดังกล่าว ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย - การไม่ได้รับโอกาสจากรัฐ ในการเสนอข่าว อย่างเป็นธรรม ภายหลังจาก มีการเสนอข่าว เผยแพร่สู่สังคมแล้ว ทางการก็ให้งด การเสนอข่าว ทุกกรณี ที่เกี่ยวข้องกับ สันติอโศก อ้างว่าเกรงจะ กระทบกระเทือน ต่อความมั่นคง ทางศาสนา เชื่อว่าหากปัญหานี้ เกิดในยุคปัจจุบัน สังคมคงได้รับรู้ข้อเท็จจริง โดยไม่โดน ปิดหู ปิดตา เช่นอย่างแต่ก่อน เป็นแน่

- การไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ ไปสู่การปฏิบัติ อย่างจริงจังและจริงใจ จากกรณีที่ได้ ทำความตกลงกับ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ โดยการเปลี่ยน เครื่องแต่งกาย คำนำหน้า และทำบัตรประจำตัว ประชาชนแล้ว แต่ก็เหมือน ถูกทางการหลอกลวง เพราะสุดท้าย พ่อท่านและคณะ ต้องถูกดำเนินคดีโดยรัฐ ตามกระบวนการ ของกฎหมาย ทั้งที่ปัญหาสามารถ ที่จะประนีประนอมกันได้ ตามหลักของ พระธรรมวินัย และ พ่อท่านกับคณะ ก็ยอมแล้วยอมอีก ยอมสละหลายสิ่ง หลายอย่าง แทบจะสิ้นศักดิ์ศรี อันคนพึงมี กับเขาบ้าง ปานใดๆ ท่านก็ไม่จบลงได้

- ศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พ่อท่าน และสมณะถูกฟ้อง พิจารณาโดยใช้หลัก นานาสังวาส วินิจฉัยว่า การบวชของคณะสงฆ์ ชาวอโศก ซึ่งมีพ่อท่าน ร่วมอยู่ด้วยเป็น ปริสวิบัติ เพราะมีภิกษุสงฆ์ ที่เป็นมหานิกาย (พ่อท่าน) และคณะสงฆ์ชาวอโศก เป็นองค์ประชุม สังฆกรรม จึงเป็นกรรม ที่ใช้ไม่ได้ แต่ในการประชุมของ คณะการกสงฆ์ การประชุม ปกาสนียกรรม กระทำ ทั้งการพิจารณา ความผิด อันเป็น "อธิกรณ์" กระทำทั้ง บัพพาชนียกรรมด้วย และมติของ มหาเถรสมาคม ของพระภิกษุ หรือสามเณร ซึ่งมีทั้งมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย อันเป็นคณะสงฆ์ไทย และเป็น นานาสังวาส กับคณะสงฆ์ ชาวอโศก โดยการกระทำ ดังกล่าว ต่อพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ น่าจะถือว่า เป็นการกระทำของสงฆ์ อันเป็นสังฆกรรม แน่นอน กลับสามารถ ใช้บังคับได้ ไม่เป็นวิบัติ ไม่เป็นโมฆะ ทั้งที่ขัดหลักของความเป็น นานาสังวาส อย่างชัดเจน โดยวินิจฉัยว่า การที่มหาเถรสมาคม วินิจฉัยความผิด และสั่งให้สละสมณเพศ มิใช่การทำสังฆกรรมของภิกษุ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ตามบทบัญญัติ ของกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อดังกล่าว เป็นทิฐิ และ ความเห็นอย่างหนึ่ง เมื่อเอากฎหมาย เป็นที่ตั้ง ซึ่งต่างจาก ความเห็น อีกด้านหนึ่ง เมื่อเอาพระธรรมวินัย เป็นที่ตั้งว่า สังฆกรรม คือ การกระทำใดๆของสงฆ์ อันมีผลเป็น การกระทบ กระเทือน หรือเกี่ยวข้องกับ ความเป็นภิกษุ สามเณร ไม่ว่าทางใด ซึ่งเชื่อว่า การตีความเช่นนี้ ก็ไม่น่าจะผิดหลัก พระธรรมวินัย เช่นกัน แต่เพราะท่านเชื่อ พยานโจทก์เป็นหลัก หากได้คำนึงถึง สิทธิและเสรีภาพ ของจำเลย ผู้ถูกล่าวหาแล้ว อย่างน้อย ยังอาจยกประโยชน์ แห่งความสงสัย ให้แก่จำเลยได้

- ข้อต่อสู้ของพ่อท่าน มักจะไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และข้อเท็จจริง มักจะโน้มให้เป็นไป ในทางที่ เสียเปรียบ หลายประการ เช่น ถูกวินิจฉัยว่า "พ่อท่านได้อวดอ้างตน แทบทุกครั้ง ที่แสดงธรรม จึงเป็นการประพฤติล่วง พระธรรมวินัย เป็นอาจิณ" เห็นว่า คำว่า "แทบทุกครั้ง" นั้นจะมีน้ำหนัก ค่อนไปในทาง เกือบทุกครั้ง ซึ่งหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะหลักฐาน ที่คณะกรรมการ การกสงฆ์ รวบรวมมา มีไม่กี่ครั้ง และทุกครั้งที่รวบรวมมา ย่อมแน่นอน จะต้องมีเรื่องที่พ่อท่าน ถูกกล่าวหา แต่ก็ไม่เคย นำไปตรวจสอบ เปรียบเทียบ กับการแสดงธรรมครั้งอื่น ว่าเป็นอย่างที่ ถูกกล่าวหา หรือไม่ อีกทั้งเมื่อเทียบกับจำนวนครั้ง ที่พ่อท่าน ได้แสดงแล้ว นับว่ามีน้อยกว่ามาก และบางครั้ง ก็เป็นเรื่องที่ พยานของโจทก์ ไปสอบถามเอง หาได้มีสาเถยยะจิต ที่จะไปอวดอ้าง จนไม่รู้จัก กาละอันควร นอกจากนั้น เรื่องที่ท่านถูกล่าวหาว่า อวดอุตริมนุสธรรม อันเป็น อนุสาสนีปาฏิหาริย์นั้น มีคำวินิจฉัยว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ การสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ว่า ควรประพฤติ ปฏิบัติอย่างไร ให้ได้ผล ในสิกขา ๓ ประเภท ในฌาน ๔ ในวิชชา ๘ แล้วเชื่อว่า การแสดง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ การสั่งสอนความจริง ให้เห็นจริง ให้นำไปปฏิบัติได้ผล หลุดพ้นจริง เป็นอัศจรรย์ หาใช่อวดอ้างว่าผู้พูด หรือผู้สอน เป็นผู้บรรลุคุณธรรมวิเศษ แต่พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ท่านให้ความหมาย ที่จะเกิดผล ในการปฏิบัติ อย่างจริงแท้ ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนที่มีประสิทธิภาพ พาให้ลดกิเลส จนดับได้สนิท อย่างถูกตัวตน พาให้ไปสู่นิพพานได้จริง พาให้เจริญ เป็นอาริยบุคคลจริง เข้าข่ายโลกุตระ

ด้วยความเคารพ นอกจากเป็นเรื่องทิฐิความเห็น ในการตีความ พระธรรมวินัยแล้ว คำว่า "อวด" เป็นคำที่แสดง ค่อนไปในเชิงของ ความอยากอวด อยากโชว์ จึงทำให้คำนี้ ถูกสื่อไปในทางที่ ไม่ค่อยดี แต่หากจะตีความว่า แสดง บอกอุตริมนุสธรรมแล้ว น้ำหนักของคำ จะลดลงไปได้เยอะมาก ในการเทศน์ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานนั้น ย่อมอาจจะมีบ้าง ที่จะต้องกล่าว และแสดงความจริง ซึ่งผู้ที่จะกล่าวหรือแสดง ก็จะต้องรู้ว่า สิ่งที่ตนพูดนั้น ตนมีจริง หรือไม่ ถึงได้พูดไป ซึ่งนั่นเป็นเรื่อง "ปัจจังตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ" เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน คนอื่นไม่สามารถ จะเข้าไปล่วงรู้ได้ หากไม่มีจริง ผู้ที่กล่าว หรือแสดงนั้น ย่อมจะต้องได้รับผล ตามวิบากกรรม ที่ตนแสดงอยู่แล้ว หากเปรียบเทียบกับ อาจารย์สอน มหาวิทยาลัย สอนลูกศิษย์ของตน เขาควรจะต้องสอน เฉพาะวิชาความรู้ เรื่องที่อาจารย์ จะจบจากที่ไหน ทำงานที่ไหน ได้รับเงินเดือน เท่าไหร่ อันเป็นเรื่องส่วนตัวนั้น ก็ไม่ควรจะต้อง บอกกล่าวเลยหรือ เพราะไม่เกี่ยวกับวิชา แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะศิษย์ ไม่เกิดแรงจูงใจ ไม่ยอมรับนับถือ เพราะไม่รู้ว่า อาจารย์เก่งจริงหรือเปล่า และหากเป็นอย่าง อาจารย์แล้ว จะดีไหม ถ้าหากอาจารย์คนนั้น ไม่มีความรู้แต่ไปสอน ก็ย่อมไม่ได้รับ การยอมรับ ว่าเป็นอาจารย์ ซึ่งการสอนของอาจารย์นั้น จะเป็นเครื่อง ที่บอกศิษย์เอง หากอาจารย์ เอาแต่อวดว่า ตนเรียนจบ มาจากไหน โดยไม่สอนเนื้อหาเลย ศิษย์ผู้มีปัญญา ย่อมจะดูออกเองว่า เขาควรเป็น อาจารย์เราต่อไป หรือไม่ หากศิษย์ไปถาม อาจารย์ผู้นั้นว่า ท่านเรียนจบอะไรมา ดีไหม แต่อาจารย์ ไม่ยอมบอก หรือบอกไม่ได้ ลองคิดดูว่า ศิษย์คนนั้น จะเลื่อมใสศรัทธา หรือไม่ อย่างไร แล้วยิ่งเป็น ธรรมวิเศษ ของพระอาริยะ ต่างๆ แล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะจับต้องไม่ได้ ต้องเรียนรู้ด้วยจิต ตัวอย่างที่ยกมา เมื่อพิจารณาแล้ว ย่อมไม่ต่างกัน และที่ได้วินิจฉัยว่า "การโอ้อวดตน ยังมีลักษณะ เป็นการยกตน ที่สุภาพชนทั่วไป ถือกันว่าเป็นกริยา ที่ไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีพระราชสมภพ ในราชกุลวงศ์ อันเป็นกษัตริย์ สุขุมาลชาติ จะทรงสั่งสอน หรือมีพระพุทธานุญาต ให้พระภิกษุแสดงกิริยามารยาท ไม่เหมาะสม โดยการอวดตน แก่บุคคลอื่น" นั่นก็เป็นทิฐิ ความเห็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณา พระธรรมวินัยแล้ว พบในบางพระสูตร เช่น พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ ข้อ ๓๔ ปสาทสูตร ความว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเท้าก็ดี ๒ เท้าก็ดี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูป หรือไม่มีรูปก็ดี มีสัญญา หรือไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ก็ดี มีประมาณเท่าใด ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมกล่าวว่า เป็นผู้เลิศกว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น"

พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๐๑ วรัญชสูตร ความว่า "ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่ นเฬรุยักษ์สิงสถิต ใกล้กรุงเวรัญชา ครั้งนั้น เวรัญชพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระสมณโคดม ไม่ไหว้ไม่ลุกรับ พวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ หากข้อนี้เป็นเช่นนั้นจริง ย่อมไม่สมควรเลยฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราไม่เล็งเห็น บุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่าตถาคต พึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญ บุคคลใด ด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้น ก็จะพึงขาดตกไปฯ"

และ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ ข้อ ๕๑๓ โพธิราชกุมารสูตร ความว่า "ดูกรราชกุมาร อุปกาชีวก ได้พบอาตมภาพ ผู้เดินทางไกล ที่ระหว่างแม่น้ำคยา และไม้โพธิ์ต่อกัน แล้วได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ดูกรผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวพรรณ ของท่าน บริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร ดูกรราชกุมาร เมื่ออุปกาชีว กล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพ ได้กล่าวตอบ อุปกาชีวก ด้วยคาถาว่า เราเป็นผู้ครอบงำ ธรรมทั้งปวง เป็นผู้รู้ธรรมทั้งปวง อันตัณหา และทิฏฐิ ไม่ติดแล้วในธรรมทั้งปวง เป็นผู้ละธรรมทั้งปวง น้อมไปในธรรม เป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว รู้แล้วด้วยปัญญา อันยิ่งเอง จะพึงเจาะจงใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนผู้เช่นกับด้วยเรา ก็ไม่มี บุคคลผู้เปรียบด้วยเรา ไม่มีในโลก กับทั้ง เทวโลก เพราะเราเป็น พระอรหันต์ในโลก เป็นศาสดา ไม่มีศาสดาอื่น ยิ่งขึ้นไปกว่า เราผู้เดียว ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้เย็น เป็นผู้ดับสนิทแล้ว เราจะไปยังเมืองกาสี เพื่อจะยังธรรมจักร ให้เป็นไป เมื่อสัตว์โลกเป็นผู้มืด เราได้ตีกลอง ประกาศ อมตธรรมแล้ว อุปกาชีวกถามว่า ดูกรผู้มีอายุ ท่านปฏิญาณว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นหรือ อาตมภาพ ตอบว่า ชนทั้งหลาย ผู้ถึงธรรม ที่สิ้นตัณหา เช่นเราแหละ ชื่อว่าเป็นผู้ชนะบาปธรรม ทั้งหลาย อันเราชนะแล้ว เหตุนั้นแหละ อุปกะ เราจึงว่า ผู้ชนะ ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพ กล่าวอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวก กล่าวว่า พึงเป็นให้พอเถิดท่าน สั่นศีรษะ แลบลิ้น แล้วหลีกไปคนละทาง"

ขนาดได้เจอพระพุทธเจ้า และท่านก็บอกว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ อุปกาชีวก ก็ยังไม่เชื่อ และ ยอมรับนับถือ ซึ่งก็เป็นเรื่องของ อุปกชีวกเอง ที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อก็ได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บังคับ ให้ท่านต้องเชื่อ ที่ยกมากล่าวเช่นนี้ ไม่ได้มีเจตนา จะนำพระพุทธเจ้า มาเปรียบเทียบกับ กรณีนี้ เพราะพระพุทธองค์ เป็นผู้เลิศกว่าใคร ในโลกอยู่แล้ว เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า พระธรรมวินัย เป็นเรื่องที่มี ความลึกซึ้ง (คัมภีรา) เห็นตามได้ยาก (ทุทฺทสา) รู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) ดังนั้น การจะนำเอา หลักของ ตรรกะ เหตุผล ที่ยอดเยี่ยมเพียงใด มาอธิบายสนับสนุน หรือหักล้างนั้น อาจไม่ตรงกับ หลักสัจจะ ที่แท้จริงได้ และเรื่องที่วินิจฉัยว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า พระอรหันต์ คือ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุด ในพระพุทธศาสนา หรือ ผู้บรรลุนิพพาน คือความดับสนิท แห่งกองกิเลส และกองทุกข์ ไม่เวียนว่ายตายเกิด การที่พ่อท่านแสดงธรรม ว่าเป็น พระอรหันต์ สามารถเกิดอีกได้ จึงเป็นการทำให้ พระธรรม วินัยวิปริต และวิปริตจาก พระธรรมวินัยนั้น ชาวพุทธส่วนใหญ่ ที่ได้ศึกษา เล่าเรียนกันมา จะมีทิฐิความเห็นเช่นนั้น โดยเข้าใจทำนองว่า เมื่อกิเลส ตายเกลี้ยงแล้ว จะเกิดมาอีกทำไม แต่เมื่อตรวจสอบจาก พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ ข้อ ๑๙๘ ยมกสูตร ว่าด้วยพระขีณาสพ (พระอรหันต์) ตายแล้วสูญ หรือไม่ ความว่า
"สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนคร สาวัตถี. ก็โดยสมัยนั้น แล ยมกภิกษุ เกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ (พระอรหันต์) เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก. ภิกษุหลายรูป ได้ฟังแล้วว่า ได้ยินว่า ยมกภิกษุ เกิดทิฏฐิ อันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก. ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันเข้าไปหา ท่านยมกภิกษุ ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัย กับท่านยมกภิกษุ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัย ชวนให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว จึงถาม ท่านยมกภิกษุว่า ดูกรท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า เรารู้ว่าทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก จริงหรือ? ท่านยมกะกล่าวว่า อย่างนั้น อาวุโส.

ภิกษุทั้งหลาย. ดูกรอาวุโส ยมกะ ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค เพราะการกล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาค ไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

ท่านยมกะเมื่อถูกภิกษุเหล่านั้น กล่าวแม้อย่างนี้ ยังขืนกล่าวถือทิฏฐิ อันชั่วช้านั้น อย่างหนักแน่น อย่างนั้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก. ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่อาจ เพื่อจะยังท่านยมกะ ให้ถอนทิฏฐิ อันชั่วช้านั้นได้ จึงลุกจากอาสนะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร จนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่าน พระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านสารีบุตร ยมกภิกษ ุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ขอโอกาส นิมนต์ท่านพระสารีบุตร ไปหายมกภิกษุถึงที่อยู่ เพื่ออนุเคราะห์เถิด. ท่านพระสารีบุตร รับนิมนต์โดยดุษณีภาพ. [แล้วพระสารีบุตร ก็ได้ไปช่วยอนุเคราะห์ สอนพระยมกะ จนกลับทิฏฐิได้ และบรรลุธรรม เป็นที่สุด]

ดังนั้น หากผู้ใด ที่มีความเห็นเช่นเดียวกับ พระยมกะว่า พระอรหันต์ จะไม่เวียนว่ายตายเกิด ย่อมถือว่า เป็นผู้มีทิฐิอันชั่วช้า จะเห็นว่า ต่างไปจากที่ชาวพุทธ ทั้งหลายเข้าใจ แล้วที่ชาวพุทธ ทั้งหลาย เข้าใจเช่นนั้นมาตลอด จะถือว่า วิปริตจาก ธรรมวินัย หรือไม่ เหตุผลที่ได้ยกขึ้นมากล่าว และอ้างอิง เพื่อให้เห็นว่า พ่อท่านไม่ได้บัญญัติ สิ่งใหม่ขึ้นมา จากที่มีอยู่แล้วเลย กลับทำให้ ถูกตรงด้วย แต่กลับถูกตู่ว่า ทำให้พระธรรมวินัยวิปริต หรือวิปริตจากธรรมวินัย

แต่เรื่องทุกอย่างก็จบแล้ว เมื่อศาลพิพากษาว่า พ่อท่านมีความผิดที่ ไม่ได้สละสมณเพศ ตามคำสั่งของ มหาเถรสมาคม เท่ากับว่า พ่อท่านยังเป็น พระภิกษุ ในพุทธศาสนาอยู่ต่อไป

การเป็นภิกษุโดยชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยกฎมหาเถรสมาคม และชอบด้วย พระธรรมวินัย
การอุปสมบท ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือชอบด้วย กฎมหาเถรสมาคม หากไม่ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานอนุญาตไว้แล้ว ย่อมไม่อาจถือเป็น พระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา แน่นอน กฎมหาเถรสมาคม ที่ใช้ในการอุปสมบท กุลบุตร ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นไปตามหลัก ที่ปรากฏ ในพระธรรมวินัย แต่ก็แน่นอน อีกนั่นแหละว่า หากการอุปสมบทใด ได้ดำเนินการครบถ้วน ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมสำเร็จ เป็นภิกษุได้ด้วยธรรมวินัย หาจำต้องมีกฎหมาย หรือ กฎมหาเถรสมาคม รองรับไม่ มิเช่นนั้น จะเป็นว่า กฎหมาย หรือ กฎมหาเถรสมาคม ได้บัญญัติสิ่งอื่น เพิ่มเติมขึ้นมา จากธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว

ในสมัยพุทธกาล มีการบวช ๓ ประเภท คือ
๑. การบวชแบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นการบวชที่ พระพุทธเจ้า บวชให้ ด้วยพระองค์เอง
๒. การบวชแบบ ติสรณคมนูปสัมปทา เป็นการบวชที่พระพุทธเจ้า อนุญาตให้ภิกษุสาวกบวชให้
๓. การบวชแบบ ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา เป็นการบวชโดยสงฆ์

การบวชแบบที่ ๑ และแบบที่ ๒ เป็นการบวช แรกตั้งคณะสงฆ์ ซึ่งยังมีพระภิกษุไม่มาก เมื่อพระภิกษุ มากขึ้น พระพุทธเจ้า ทรงให้บวชแบบที่ ๓ หยุดการบวชแบบ ๒ วิธีแรก ปัจจุบันจึงเหลือ การบวชแบบที่ ๓ เพียงแบบเดียว แต่คงการบวชแบบที่ ๒ ที่ใช้ในการบวชสามเณร เรียกว่า ติสรณคมนปัพพัชชา ซึ่งการบวช จะสมบูรณ์นั้น ได้กล่าวมาแล้วว่า จะต้องสมบูรณ์ ด้วยสมบัติ ๔ ประการ คือ วัตถุสมบัติ กรรมวาจาสมบัติ สีมาสมบัติ และปริสสมบัติ โดยคณะสงฆ์ ชาวอโศก ยืนยันว่าได้ บวชถูกต้องตามหลักทั้ง ๔ ทุกประการ จึงเป็นพระภิกษุที่ชอบ ตามพระธรรมวินัย แม้ไม่ถูกต้อง ตามกฎที่ มหาเถรสมาคม บัญญัติขึ้น เพราะไม่มีพระอุปัชฌาย์ ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก มหาเถรสมาคม ดังที่พระเทพเวที (พระพรหมคุณาภรณ์) ได้เบิกความรับ ระหว่างพิจารณาว่า การบวชจะสำเร็จ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสงฆ์ มิได้ขึ้นอยู่กับอุปัชฌายหากบวช แม้จะไม่มี อุปัชฌาย์ สงฆ์ที่บวชให้ มีความผิด แต่ก็ไม่ได้ไปทำลาย ความสมบูรณ์ ของการบวช หรือความสำเร็จ แห่งสงฆ์นั้น แต่จะไปลงโทษ เอากับสงฆ์ ที่ทำการบวชให้แทน ส่วนจะลงโทษสงฆ์กลุ่มนั้น อย่างไร ล้วนอยู่ในดุลยพินิจ ของผู้ปกครอง แต่ละคราวไป ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัย ซึ่งวินิจฉัยว่า พระชาวอโศกทุกรูป ที่พ่อท่านพระโพธิรักษ์ บวชให้ เมื่อพ่อท่าน ไม่เคยได้รับ การแต่งตั้ง ให้เป็น พระอุปัชฌาย์มาก่อน ที่จะทำการบวชได้ จึงเป็นการบวช ที่ไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ จึงไม่ใช่ภิกษุในศาสนา ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะความจริง สมณะอโศกทุกรูป ที่ได้รับการบวช ก็สำเร็จ โดย คณะสงฆ์ชาวอโศกแล้ว ซึ่งถูกต้องธรรมวินัย โดยชอบแล้ว สงฆ์ชาวอโศก เป็นนานาสังวาส มาเรียบร้อยแล้ว มหาเถรสมาคม ไม่ต้องมาตั้ง อุปัชาฌาย์ให้ สงฆ์ชาวอโศก ต้องมีอุปัชฌาย์เอง แน่นอน ส่วนการตั้งอุปัชฌาย์ ของมหาเถรสมาคมนั้น ก็เป็นเรื่องที่ บัญญัติกันขึ้นเอง เติมมาทีหลัง หาทำลายความเป็นสงฆ์ ที่สมบูรณ์ ให้กลับกลายเป็น ไม่สมบูรณ์ได้ไม่

เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ใดเป็นภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ตามธรรมวินัย ย่อมมีสิทธิ นุ่งห่มจีวร และ ออกบิณฑบาตได้ อันเป็น ข้อวัตรปฏิบัติทั่วไป สำหรับเพศบรรพชิต ผู้ไม่มีเงินทอง ลาภ สักการะ เมื่อเป็นภิกษุสงฆ์โดยชอบ และปฏิบัติตาม ธรรมวินัยแล้ว กฎหมายย่อมจะต้อง ให้ความคุ้มครอง และรับรองว่า การกระทำนั้นไม่ผิด เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ หาใช่ต้องมากำจัด ทำลายล้าง อันเป็นการกระทบถึง สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับ บัญญัติรับรองไว้ หาไม่แล้ว การบวชที่จะได้รับ การรับรองตามกฎหมาย และธรรมวินัย อันจะเป็นภิกษุ ในศาสนาพุทธได้นั้น จะต้องเป็นไป ตามกฎ มหาเถรสมาคมกำหนด เท่ากับเหมารวมไปว่า พระภิกษุอื่นๆ เช่น พระรามัญนิกาย ของมอญ พระลามะของธิเบต หรือ พระภิกษุ ในนิกายอื่นๆ ทั้งหลาย ซึ่งไม่ได้บวชตาม กฎมหาเถรสมาคม ไม่ใช่พระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาไป

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ มุ่งถึงผู้กระทำความผิด ซึ่งแต่งกายเลียนแบบ สามเณร หรือ พระภิกษุ ในพุทธศาสนา ก็เพื่อจะแสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น ออกเรี่ยไร หาเงินทอง มาให้แก่ตนเอง หรือบริวาร โดยมิได้ผ่านขั้นตอน ของการบวช อยู่ดีๆ ก็เอาจีวร มาสวมใส่ หาได้มีเจตนา ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ตามหลักของศาสนา เพื่อลดละ เลิก กิเลส ตัณหา และอวิชชา ให้เกิดความหลุดพ้นไม่ แต่การบวชของ พระชาวอโศก ล้วนเป็นไป ตามพระธรรมวินัย มิใช่เพียงเอาจีวร สบง หรือสังฆาฏ ิมาห่มสวมทับ เท่านั้น เมื่อบวชแล้ว ก็ตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติธรรม อย่างเคร่งครัด ไม่ได้หลอกลวงผู้ใด เจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่มุ่งประสงค์ลงโทษ จึงไม่น่า จะหมายถึง พ่อท่าน และ สมณะ ชาวอโศก เพราะได้ผ่านการบวช โดยชอบ และไม่ได้แสดงออก ให้บุคคลทั่วไป โดยมีเจตนา เพื่อจะแสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย แต่อย่างใดเลย

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า พ่อท่าน วิปริตจากพระธรรมวินัย หรือทำให้พระธรรมวินัย วิปริตนั้น ก็เป็นเรื่องของ การกล่าวหา เพราะเห็นว่า ท่านเห็นไม่ตรงกับ เรื่องที่เขาเรียน เขาเชื่อถือ และปฏิบัติมา หากลองไตร่ตรอง พิจารณา และมองอย่าง เป็นกลางว่า ความเป็นจริง ในสังคมไทยเรา มีความแตกต่าง ในการปฏิบัติ มากน้อยแค่ไหน บ้างก็เพ่งลูกแก้ว จนบรรลุ ไปเมืองนิพพานได้ บ้างก็อยู่ในป่า เพ่งเพียรภาวนา บ้างก็นั่งสมาธิ หลับตาภาวนา บ้างก็ยุบหนอ - พองหนอ บ้างก็บูชา เครื่องรางของขลัง บ้างก็ออกธุดงค์ แต่ก็ยังสามารถประสาน อยู่ด้วยกันได้ ความเห็นที่กล่าวหา ดังกล่าว หาเป็นความจริง เสมอไป เพราะพ่อท่าน ยืนยันว่า สิ่งที่ท่านสอน และ นำพาปฏิบัตินั้น คือ สัจธรรมความจริง ที่สามารถตรวจสอบ พิสูจน์ได้จาก พระไตรปิฎก และผลอันเกิดจาก การปฏิบัติตน ของผู้นั้นๆ หาได้มีการบิดเบือนใดๆ ทั้งสิ้น หากไม่เชื่อ ยินดีให้มาพิสูจน์ ได้ทุกเวลา

ปัญหากรณีสันติอโศกนั้น หากได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา จะพบว่าบางครั้ง ณ เวลาหนึ่ง คนจะยังไม่เชื่อ และอาจจะ ดูถูกเหยียดหยาม เพราะยังไม่อาจพิสูจน์ได้ เหมือนเช่น กาลิเลโอ นักดาราศาสตร์ ผู้หญิ่งใหญ่ของโลก ค้นพบว่า โลกกลม กลับถูกกล่าวหาว่า บิดเบือนความจริง ที่เคยนับถือกันมา และถูกเกลียดชัง ภายหลังจากได้เสียชีวิตแล้ว จึงมีการพิสูจน์ และยอมรับ ว่าโลกกลม ต่างยกย่องสรรเสริญ หรือ โสเครติส นักปรัชญาเมธี หรือพระเยซู ก็เช่นเดียวกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่า โลกมักจะยึดสิ่งที่เป็นอยู่ คุ้นเคยอยู่ ทำอยู่ ใกล้ชิดอยู่ เป็นความจริงเสมอ โดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์ ค้นหาความจริง หรือ ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็สรุปเอาตาม ทิฐิของตน ไม่อยากจะให้เชื่อว่า กรณีสันติอโศก เป็นเช่นนั้น แต่หลายคน อาจมีความเห็นว่า เมื่อมองจากฝ่ายเรา ก็ย่อมจะต้องมีทิฐ ิโน้มเอียงเข้าข้างตัวเอง เป็นธรรมดา แต่เราเองเชื่อว่า สัจธรรมที่แท้ ย่อมทนทาน ต่อการพิสูจน์

ปัญหาสันติอโศก ไม่ใช่เป็นปัญหาแรก ที่เกิดขึ้น สำหรับพุทธศาสนา ในประเทศไทย จากบทความพิเศษ ปัญหาพุทธศาสนา ยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ฉบับวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๒ มีรายละเอียด ที่น่าศึกษาว่า

"....นับแต่สมัยสุโขทัย ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี คณะสงฆ์ไทย มีเพียงหนึ่งเดียว คือ สยามวงศ์ ไม่แบ่งแยก ออกเป็นนิกายอื่นใดอีก และไม่มี ผู้ใดตั้งตนเป็น "ศาสดา" แยกตัวออกมา ตั้งนิกายใหม่ ต่อมา พ.ศ.๒๓๗๒ พระวชิรญาณ (เจ้าฟ้ามงกุฎ หรือสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งออกผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ทรงเล็งเห็นความ หย่อนยาน ของพระสงฆ์สมัยนั้น ต่อมา ทรงทราบข่าว พระรามัญรูปหนึ่ง เชี่ยวชาญทางวินัยปิฎก และทั้งปฏิบัติเคร่งครัด จึงเสด็จ ย้ายไปประทับ ที่วัดสมอราย และปฏิบัติ อย่างพระรามัญรูปนั้น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ทรงตั้งตนเป็น อุปัชฌาย์ ตั้งระเบียบ ของนิกายธรรมยุต ขึ้นที่วัดบวรวิเวศ ฯ" ปัญหาที่เกิดขึ้น มีลักษณะ คล้ายคลึงกัน แต่จุดจบของปัญหา กลับแตกต่างกัน

ข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่ได้วิเคราะห์มา จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของความเห็น หรือทิฐิ ที่แตกต่างกัน อย่างแท้จริง ไม่ควรจะต้อง ชี้ผิดหรือถูก ในทางกฎหมาย เพราะไม่ใช่เรื่องของ การทุจริต หรือการมีเจตนา เถยยะจิตเป็นโจร เหมือนการกระทำ ความผิดอาญาทั่วไป เช่น คดีลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ข่มขืนกระทำชำเรา ปลอมเอกสาร ยักยอกทรัพย์ หรือปลอมตัว แต่งกายเป็นนักบวช พระภิกษุ สามเณร ในพระพุทธศาสนา แล้วออกมาเรี่ยไร เงินทอง อันเป็นการแสวงหา ประโยชน์โดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ที่กฎหมายจะต้อง เข้ามาเกี่ยวข้อง และจัดการกับ ผู้ที่กระทำ ซึ่งเป็นเรื่อง ที่ชอบด้วยเหตุผล และตรงตามสัจธรรม ของหลัก "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" แต่ในคดีที่สมณะชาวอโศก ถูกศาลพิพากษาว่า มีความผิด ฐานแต่งกาย เลียนแบบ พระภิกษุสามเณร ในพระพุทธศาสนา โดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่น หลงเชื่อว่า เป็นภิกษุ หรือสามเณร ในศาสนาพุทธ โดยการกระทำ ที่ถูกกล่าวหา ดังกล่าวนั้น จะต้องมีเจตนา เพื่อให้บุคคลอื่น หลงเชื่อว่าเป็นภิกษุ หรือสามเณร ในศาสนาพุทธด้วย

จึงมีข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า หากมีผู้หลงเชื่อว่า พ่อท่านและสมณะชาวอโศก เป็นภิกษุ หรือสามเณร ในศาสนาพุทธจริงแล้ว ผลจะเป็นเช่นไร เพราะการที่พ่อท่าน และสมณะชาวอโศก ต่างอุทิศตน ออกบวช สู่เพศบรรพชิตนั้น จะต้องทิ้งทรัพย์สิน ทุกชนิด บ้านช่องเรือนชาน สละออกให้หมด แม้มีที่ดิน ก็ต้องสละถึงขั้น โอนโฉนดให้ผู้อื่น ไปเรียบร้อย หากเป็นสามี ภริยากัน ก็จะต้องหย่าขาด จากกันก่อน และประพฤติตนตามรอย องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ พากเพียร ผู้เลี้ยงง่าย ไม่ใช้หรือสะสม เงินทอง ต่างมีเป้าหมาย เพื่อแสวงหา ความหลุดพ้น ชำระล้างกิเลส เพื่อให้ถึงฝั่ง พระนิพพาน หากผู้ใด ที่พบเห็นแล้ว ไม่ยังให้เกิดศรัทธาน่าเลื่อมใส หรือ กลับเสื่อมศรัทธา มากไปกว่าเดิม ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว ของผู้นั้นๆ เพราะเรื่อง ความเชื่อ ความนับถือนั้น ไม่อาจบังคับ ให้เห็นตามกันได้ โดยพ่อท่าน และสมณะชาวอโศก ก็คงไม่มีความคิด ที่จะบังคับ ให้ผู้นั้นเชื่อ หรือศรัทธาเช่นกัน แต่ถ้าหากผู้ใด เมื่อพบเห็นแล้วยังศรัทธา ให้เกิดแก่ตน ติดตามฟังธรรม และนำไป ประพฤติปฏิบัต ิก็จะเป็นผู้สำรวม ในอินทรีย์ ถือศีล อย่างมีมรรคมีผล กินอาหารมังสวิรัติ ลดละ เลิก อบายมุข ไปตามลำดับ ดำรงชีพ ตามหลัก สัมมาอาริยมรรค มีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทาง แห่งการพ้นทุกข์ ให้เกิดประโยชน์สูง-ประหยัดสุด ประโยชน์ตน และ ประโยชน์ท่าน ตามภูมิ และฐานะ ของผู้นั้นๆ ที่มีที่เป็น จนผู้นั้นรู้แจ้ง และเห็นจริง ก็อาจจะเดินตามรอย ของพ่อท่าน และ สมณะ ชาวอโศก ทิ้งชีวิตคฤหัสถ์ และออกบำเพ็ญเพียร อย่างอนาคาริกชน ก็เป็นเรื่องที่จริง สำหรับผู้นั้นๆ ที่จะเกิดมี และเป็นได้ ตามสัจจะของตน

จึงมาถึงบทสรุปว่า หากผู้ใดที่หลงเชื่อ และปฏิบัติตามคำสอน ของพ่อท่าน และ สมณะชาวอโศกแล้ว นับได้ว่าเป็น ความเจริญน่ายินดี แก่ผู้นั้น ที่ได้รู้จัก และพบเห็น สมณะ ผู้เป็น "อัตถิ สมณพราหมณา สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจ โลกัง ปรัญจ โลกัง สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวเทนตีติ" อันคือ ผู้ได้พบเห็น สมณพราหมณ์ ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้า ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกแล้ว

อันทำให้ผู้นั้นได้พ้น มิจฉาทิฐิ ข้อที่ ๑๐ ได้แล้ว ฉะนั้น./

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -