คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า -
ไยเสรีภาพในการนับถือศาสนา สันติอโศกยังหาไม่เจอ?


ศาสนาเป็นสากล
ไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง
ที่จะหวง หรือครอบครอง
เป็นของตนเพียงผู้เดียวได้

นับเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมาทันที เมื่อท่านนายกฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร เปิดประเด็นเสรีภาพ ในการนับถือ ศาสนา ตามมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญ ปรากฏทั้ง เสียงคัดค้าน และถล่มทลาย สวนออกมา อย่างทันที ทันควัน จากฝ่ายที่ผูกขาดพุทธศาสนา ให้มีได้เฉพาะที่ตนเองเชื่อถือเท่านั้น ก็คงไม่ต่างอะไรกับ การผูกขาด ความเชื่อถือในเรื่อง โลกกลม โลกแบน แต่ในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ การปิดกั้นความคิดของคน ให้เป็นไปตาม ความเชื่อของตน หรือกลุ่มของตน คงทำได้ยากแล้ว เพราะประชาคมโลก ในบรรดาอารยประเทศ ต่างเห็น ร่วมกันว่า มนุษย์ควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐาน ในการมีเสรีภาพ ทางความคิด ความเชื่อ หรือการนับถือศาสนา ตามความศรัทธาของตนได้

แม้ประเทศไทยจะได้เข้าร่วมปฏิญญาสากล และมีทั้งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพ ในการนับถือ ศาสนาก็ตาม แต่ไยคณะสงฆ์ ชาวอโศก จึงไม่สามารถอ้าง รัฐธรรมนูญ ที่ให้เสรีภาพ ในการนับถือศาสนา ตามมาตรานี้ได้ เพื่อความกระจ่าง ในเรื่องนี้ จึงขออนุญาต ย้อนรอยในอดีต เพื่อนำบทวิเคราะห์ ของท่าน ที่เคารพ ต่อความยุติธรรม ในโลกนี้ ท่านหนึ่ง มานำเสนอ หลากหลายมุมมอง ด้วยความเคารพต่อศาลสูง อย่างยิ่ง

โดยทั่วไปย่อมเป็นที่รับรู้กันว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพโดยบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา หรือลัทธิใดๆ รวมทั้งประกอบ พิธีกรรม ตามความเชื่อถือ ศรัทธาของตน เพราะเป็นสิทธิ ที่มีอยู่ ตามธรรมชาติของบุคคล ซึ่งประเด็นสิทธิ และเสรีภาพ ในการนับถือศาสนา ตามความเชื่อถือ ศรัทธาดังกล่าว เป็นข้อต่อสู้หนึ่ง ในหลายประเด็น ที่พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ และ สมณะชาวอโศก ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ในการถูกกล่าวหาฟ้องร้อง และดำเนินคดี เพราะเห็นว่า เป็นสิทธิมนุษยชน ขั้นพื้นฐาน ที่นานาอารยประเทศ ได้ให้ความสำคัญ และรับรองว่า เป็นหนึ่งในสิทธิหลายประการ ของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์อันพึงมี ประชาคมโลก โดยองค์การสหประชาชาติ ร่วมกับชาติสมาชิก จึงได้ร่วมกันประกาศ ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ ๑๘ ว่า "บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพ ที่จะเปลี่ยนศาสนา หรือ ความเชื่อถือ และเสรีภาพ ที่จะแสดงให้ศาสนา หรือความเชื่อถือประจักษ์ ในรูปของการสั่งสอน การปฏิบัติกิจ ความเคารพสักการบูชา สวดมนต์ และการถือปฏิบัติพิธีกรรม ไม่ว่าโดยลำพังตนเอง หรือร่วมกับ ผู้อื่น ในประชาคม หรือในที่สาธารณะ หรือส่วนตัว" ประเทศไทย ซึ่งเป็นภาคีสมาชิก ได้ให้สัตยาบันว่า จะเคารพและปฏิบัติ ตามสิทธิมนุษยชนนี้ จึงได้อนุวัตเอาความสำคัญดังกล่าว มาบัญญัติรับรองไว้ ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุด ของประเทศ โดยได้บัญญัติรับรอง หลักการดังกล่าวไว้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก พุทธศักราช ๒๔๗๕ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตย จนถึงรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ ซึ่งใช้บังคับอยู่ ขณะที่มีการกล่าวหา และ ดำเนินคดี ก็บัญญัติ รองรับไว้ โดยชัดแจ้ง ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ ของชนชาวไทย มาตรา ๒๕ ว่า

"บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกาย ของศาสนา หรือ ลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมี เสรีภาพ ในการปฏิบัติ พิธีกรรม ตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่เป็น การขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดี ของประชาชน"

เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า รัฐต้องไม่กระทำการใด อันจะเป็น การลิดรอน ขัดขวาง หรือยับยั้ง ต่อการกระทำของ ประชาชนแห่งรัฐ ที่เป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพโดยชอบ แต่ต้องส่งเสริม สนับสนุน หรือรองรับ ต่างหาก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อันสัมบูรณ์ ที่รัฐจะละเมิดมิได้ คงมีข้อยกเว้น อันเกิดแต่ที่รัฐ เห็นว่า การใช้สิทธิ และเสรีภาพนั้น จะเป็นไปในทางขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือ จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ต่อประชาชน รัฐจึงจะเข้ามายุ่งเกี่ยว เพื่อป้องกัน ไม่ให้การใช้สิทธิ ขั้นพื้นฐาน ของประชาชนนั้น ไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิ ของผู้อื่นโดยชอบ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่จะทำให้รัฐ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมดูแล หรือจัดการกับสิทธิ และเสรีภาพดังกล่าว ข้อต่อสู้นั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ ในคำพิพากษา ตอนหนึ่งว่า "..... ในเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนี้ จำเลยที่ ๘๐ (พ่อท่าน) ได้เบิกความว่า เมื่อนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาพบจำเลยที่ ๘๐ เพื่อดึงเข้าสู่ คณะสงฆ์ไทย จำเลยที่ ๘๐ ปฏิเสธ นายชัยภักดิ์ จึงขอให้ จำเลยที่ ๘๐ กับคณะสงฆ์ชาวอโศก ใช้เครื่องแต่งกาย ให้ต่างจากคณะสงฆ์ไทย ไม่ให้เรียกตนเองว่า เป็นพระ หรือ พระภิกษุ จำเลยที่ ๘๐ กับพวก ต้องจำยอม เพื่อความสงบเรียบร้อย ของสังคม และประเทศชาติ แสดงว่าจำเลยที่ ๘๐ ยอมรับว่า การที่ได้ประกาศ แยกออกมา เป็นคณะสงฆ์ชาวอโศก มีวัตรปฏิบัติ และพิธีกรรมบางอย่าง ต่างไปจาก คณะสงฆ์ไทย แต่ยัง แต่งกาย และเรียกตนเองเป็นพระ หรือ ภิกษุเช่นเดียวกับคณะสงฆ์ไทย ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ขึ้นในหมู่ พุทธศาสนิกชน ชาวไทยแล้ว จำเลยทั้งแปดสิบ จึงไม่อาจกล่าวอ้าง ถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อของตน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรได้ "และ คำวินิจฉัย ของศาลฎีกาว่า "...พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๘ บัญญัติให้มหาเถรสมาคม มีอำนาจปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ปรากฏ บทบัญญัติมาตราใด ให้สิทธิพระภิกษุ สงฆ์ไทย ประกาศแยกตน ให้มีผลประดุจสังฆเภท ไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของ พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ การประกาศ ของจำเลยที่ ๘๐ กับพวกดังกล่าว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ ๘๐ กับพวก พ้นจากการปกครอง ของ มหาเถรสมาคม และไม่ต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ การที่ภิกษุสงฆ์นักบวช ไม่อนุวัตปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว กลับมีผลเป็นการก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น ดังเช่นที่ปรากฏ ในคดีนี้......." แม้คดี จะได้ถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลย ซึ่งถูกวินิจฉัยด้วยเหตุผล ในคำพิพากษาข้างต้น ดังกล่าว ยังมีความคลางแคลงสงสัยอยู่ว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนา ตามความเชื่อของตน ได้ถูกกระทบ ไปหรือไม่ ด้วยความเคารพต่อเหตุผล ที่ศาลทั้งสอง ได้วินิจฉัยไว้ จึงได้ขออนุญาตต่อสัจธรรม ชี้แจงความเป็นธรรม ดังต่อไปนี้

# หลักในการวินิจฉัยและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามข้อต่อสู้ของจำเลย
ในการพิจารณา และตัดสินประเด็นปัญหาดังกล่าว อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลต้องพิจารณา จากพยานหลักฐาน ที่ฝ่ายโจทก์ ผู้กล่าวหา และจำเลย ผู้ถูกกล่าวหา ได้นำเสนอต่อศาล จากนั้น จึงชั่งน้ำหนัก พยานหลักฐานว่า พยานที่แต่ละฝ่าย กล่าวอ้าง และนำสืบมานั้น มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพียงใด โดยเฉพาะ การรับฟัง พยานหลักฐาน เพื่อลงโทษจำเลย ในคดีอาญา มีหลักอยู่ว่า ศาลต้องรับฟังพยานหลักฐานให้ได้ โดยปราศจากข้อสงสัย ว่าจำเลยกระทำความผิด หากมีข้อสงสัย แม้น้อยนิด ว่าจำเลย จะได้กระทำความผิด หรือ จำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้ โดยชอบหรือไม่ ศาลย่อมจะต้องยกประโยชน์ แห่งความสงสัย ให้แก่จำเลย อันเป็นหลักที่ปรากฏ มีอยู่ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไป โดยเฉพาะ คดีอาญา พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายที่กล่าวหา ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ในการบ่งชี้ และตัดสินว่า ข้อที่จำเลย ยกขึ้นต่อสู้ และกล่าวอ้างนั้น มีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาพยานหลักฐาน ในคดีที่พ่อท่าน และสมณะ ถูกฟ้องร้องแล้ว ข้อเท็จจริงกลับได้ความ ตรงตามประเด็น ที่จำเลยต่อสู้เสียอีกว่า การประกาศแยกตัวออกมา จากการปกครองของมหาเถรสมาคม ไม่ได้ก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อย ต่อสังคม และประเทศชาติ แต่ประการใด ดังเช่น คำเบิกความพยานโจทก์ปาก นายเสนาะ พ่วงภิญโญ รักษาการ อธิบดี กรมการศาสนา เบิกความว่า " ........ในการที่มีการแยกออกมาเป็นคณะธรรมยุติกนิกายนั้น ไม่ทำให้ สงฆ์ไทย เกิดความแตกแยก และไม่ก่อให้เกิดความสับสน ในหมู่ประชาชน ทั้งที่มีการแต่งกาย และวัตรปฏิบัติ แตกต่างกัน"

นายเสงี่ยม นาพุทรา เบิกความว่า "....ขณะที่ข้า ฯ เป็นกรรมการ และไวยาวัจกรวัดโคกเดื่อ ได้มีการประชุม กรรมการวัด กรรมการวัด พูดกันว่า ที่วัดโคกเดื่อ มีพระคอมมิวนิสต์ มาอยู่ที่ป่าช้า โดยบอกว่า ฉันมื้อเดียว แต่กลางคืน จะมีการนำอาหาร การกิน หรือ อาวุธเข้ามาในสำนัก หลังเที่ยงคืนแล้ว โดยจะฝังกลบไว้ที่ใต้ดิน กรรมการวัด ประชุมลงมติ ให้ไล่พระ สำนัก ศาลีอโศก ออกไป ซึ่งข้าฯ ก็เห็นด้วย แต่ติดอยู่ที่นางประไพ ภรรยา ก็อยู่ในสำนักศาลีอโศกด้วย ....ข้าฯ ไม่เคยเข้าไปที่ สำนักศาลีอโศก จึงเชื่อคณะกรรมการ วัดโคกเดื่อว่า สำนักศาลีอโศก เป็นคอมมิวนิสต์ หลังจากพูดกับนางประไพแล้ว ข้าฯ จึงไปทดลอง ทดสอบและพิสูจน์อยู่ ๗ วัน ๗ คืน โดยกินนอน อยู่ที่สำนัก สอดส่อง ดูพฤติกรรม ของพระสำนักศาลีอโศก ปรากฏว่า ไม่มีพฤติการณ์ ตามที่ถูกกล่าวหา....."

พระครูนิภาธรโสภณ เบิกความว่า "....ตั้งแต่อาตมามาเป็นเจ้าคณะอำเภอ พระในสำนักศาลีอโศก ไม่เคย ก่อกวน หรือ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใด ก็เคยได้ยินกิตติศัพท์ว่า ชาวบ้านที่มาปฏิบัติธรรม ในสำนักศาลีอโศก กลับเนื้อกลับตัว เป็นคนดีกว่าเดิม...."

ร้อยตำรวจโท วีระศักดิ์ แสงปานแก้ว เบิกความว่า "....นักบวชในสำนักนี้ ไม่มีการให้เช่า หรือจำหน่าย เครื่องรางของขลัง ไม่มีการเป่ากระหม่อม ทำเสน่ห์ รดน้ำมนต์ สอนแต่แก่นแท้ แห่งศาสนาพุทธ ตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า สำหรับข้าฯ เอง เท่าที่สัมผัสก็รู้สึกว่า น่าเลื่อมใสศรัทธา น่านับถือ ....."

และ พันตำรวจโทขจรศักดิ์ ปานสาคร พนักงานสอบสวนคดีนี้ เบิกความว่า ".....พนักงานสอบสวนไม่พบว่า สันติอโศก รวมทั้งสาขา ของสันติอโศกทั้งสี่ ประพฤติบ่อนทำลาย ความมั่นคง ของชาติ และวัฒนธรรมที่ดีงาม จากการสอบสวน ไม่ปรากฏว่าจำเลย มีพฤติการณ์ในการหลอกลวง ในทรัพย์สินของประชาชน......"

พยานข้างต้นล้วนแต่เป็นพยานฝ่ายโจทก์ผู้กล่าวหาทั้งหมด ข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานฝ่ายโจทก์เอง หากฟัง เพื่อยันจำเลย ย่อมมีน้ำหนัก และหากเจือสมกับ พยานของจำเลย ก็ยิ่งทำให้พยานหลักฐานของจำเลย มีน้ำหนัก ให้น่ารับฟังยิ่งขึ้น เพราะหาใช่ มีแต่พยานหลักฐาน ฝ่ายจำเลยเท่านั้น ที่สนับสนุน แต่พยานฝ่ายโจทก์ ยังสนับสนุน อีกส่วนหนึ่ง ข้อต่อสู้ และคำเบิกความ ของฝ่ายจำเลย แทบจะไม่มีข้อสงสัยเลย การกระทำ ของจำเลย เป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรม อันดีของประชาชนหรือไม่ เพราะพยาน ฝ่ายโจทก์ ก็เห็นตรงกับพยานฝ่ายจำเลย ว่าไม่มีการกระทำ อันแสดงถึงพฤติการณ์เช่นนั้น ด้วยความเคารพ ต่อคำวินิจฉัย แต่ฝ่ายจำเลย เห็นว่า นอกจาก จะไม่ได้นำ พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ มารับฟังเพื่อเป็นประโยชน์ ให้กับจำเลยแล้ว กลับนำข้อเท็จจริง ที่จำเลยที่ ๘๐ (พ่อท่าน) เบิกความเกี่ยวกับข้อตกลง ระหว่าง พ่อท่าน กับ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับเรื่องที่พ่อท่าน ตกลงยอมเปลี่ยน เครื่องแบบ และคำนำหน้า แล้ววินิจฉัยว่า "แสดงว่า จำเลยที่ ๘๐ ยอมรับว่า การที่ได้ประกาศ แยกออกมาเป็น คณะสงฆ์ชาวอโศก มีวัตรปฏิบัติ และพิธีกรรม บางอย่าง ต่างไปจากคณะสงฆ์ไทย แต่ยังแต่งกาย และเรียก ตนเองเป็นพระ หรือ ภิกษุเช่นเดียวกับ คณะสงฆ์ไทย ได้ก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในหมู่ พุทธศาสนิกชน ชาวไทยแล้ว จำเลยทั้งแปดสิบ จึงไม่อาจกล่าวอ้างถึงเสรีภาพ ในการนับถือศาสนา และการปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อของตน ตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรได้"

การนำเอาคำเบิกความของจำเลย ซึ่งเป็นพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา มาหักล้างเอง และรับฟัง เพื่อลงโทษจำเลยเองนั้น จะนำมาเป็นหลัก ในการรับฟัง พยานหลักฐานไม่ได้ เพียงแต่สามารถ นำไปรับฟัง ประกอบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ผู้กล่าวหา ให้มีน้ำหนัก น่ารับฟังขึ้นได้ หากพยานฝ่ายโจทก์ผู้กล่าวหา มีความเห็น สอดคล้อง ต้องกันแล้วว่า การกระทำของ จำเลย กับพวก หาได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใดๆ แม้หากจำเลย จะรับเสียด้วยว่า ได้ปฏิบัติไปในทางที่ก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อย หรือไม่ก็ตาม ก็คงไม่อาจ จะวินิจฉัย ให้เป็นไปตามที่จำเลย กล่าวอ้างได้ เพราะการรับฟังพยานหลักฐาน ในคดีอาญานั้น พยานหลักฐาน ฝ่ายโจทก์ จะสำคัญกว่า กระนั้นคำเบิกความของฝ่ายจำเลย ก็หาได้บอกว่า ตนประพฤติเช่นนั้น เมื่อพยานโจทก์ และจำเลยไม่ได้เบิกความว่า จำเลยได้ประพฤติตน ไปในทางที่ก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยเสียแล้ว ชวนสงสัยความเห็นที่ว่า การกระทำของจำเลย ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อสังคม และประเทศชาตินั้น มาจากที่ใด ส่วนความที่พ่อท่านกับคณะ ต้องจำยอมเพื่อความสงบเรียบร้อย ของสังคมและประเทศชาติ ในการยอมเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ให้ต่างจากคณะสงฆ์ไทย ไม่เรียกตนเอง ว่าเป็นพระ หรือพระภิกษุ แล้ววินิจฉัยว่า "...แสดงว่าจำเลยที่ ๘๐ (พ่อท่าน) ยอมรับว่า การที่ได้ประกาศแยกออกมาเป็นคณะสงฆ์ ชาวอโศก มีวัตรปฏิบัติ และพิธีกรรมบางอย่าง ต่างไปจากคณะสงฆ์ไทย แต่ยังแต่งกาย และเรียกตนเองเป็นพระ หรือ ภิกษุเช่นเดียวกับคณะสงฆ์ไทย ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น ในหมู่พุทธศาสนิกชน ชาวไทยแล้ว จึงไม่อาจกล่าวอ้าง ถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อของตน ตามที่ บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ได้นั้น...." เห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว นอกจากจะเป็นการวินิจฉัย ไปในทางที่เป็นผลร้าย กับจำเลยแล้ว ยังแปลความหมาย ผิดไปจากเจตนารมณ์ ในการทำข้อตกลง ระหว่าง นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับพ่อท่าน และคณะอีกต่างหาก เพราะการทำข้อตกลงดังกล่าว เป็นการกระทำ เพื่อหาทางออก ในการให้ปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ยุติด้วยความสันติ ข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ นำมาให้พ่อท่านและคณะพิจารณา หาใช่พ่อท่านและคณะ เป็นฝ่าย ที่เสนอให้ยอมรับ ตามที่ขอไม่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติ ตามหน้าที่ด้วยความสุจริต และตามสิทธิ ของประชาชน โดยทั่วไป หากสามารถตกลงกันได้ เรื่องที่เกิดขึ้น ก็ไม่จำต้องนำเสนอสู่ศาล ให้พิจารณาตัดสิน พ่อท่าน และคณะ ล้วนไม่ต้องการที่จะสูญเสียจีวร และคำนำหน้าเช่นนั้นไปหรอก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้แสดงความปรารถนาดีมาก่อน และ เสนอทางออก ให้ปัญหายุติโดยสันติ พ่อท่าน จึงได้ให้ชาวอโศก หยุด ยอม และอภัย ด้วยการใช้ อหิงสา อโหสิ ซึ่งน่าจะทำให้ เหตุการณ์ สามารถสงบเรียบร้อยได้แล้ว หากรัฐ ได้ยอมรับ และปฏิบัติตามที่ตนได้เสนอ ให้กับประชาชน การกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ซึ่งได้ยอมเสียสละ กลับถูก ปฏิเสธ และไม่รับรู้กับข้อตกลงนั้น และถูกเจ้าหน้าที่รัฐอีกส่วนหนึ่ง กล่าวหา จับกุม ดำเนินคดี และส่งฟ้อง ต่อศาล

หากพิจารณาให้ดีก็น่าคิดว่า ฝ่ายใดที่เป็นผู้ปฏิเสธเงื่อนไข ไม่ยอมให้สันติและความสงบเรียบร้อยบังเกิดขึ้น นอกจากนั้น การที่พ่อท่านและคณะ ได้ตกลง ตามที่ได้รับข้อเสนอมานั้น หาได้เป็นการยอมรับว่า การประกาศ ลาออกจากการปกครอง ของมหาเถรสมาคม เป็นคณะสงฆ์อื่น การมีวัตรข้อปฏิบัติ ที่แตกต่างไป เป็นการก่อ ให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยไม่ เพราะคำพูด ที่พ่อท่านกล่าวว่า จำต้องยอมเพื่อความสงบเรียบร้อยนั้น เป็นช่วง เหตุการณ์ ของการแก้ปัญหา และต้องฝืนกระทำ อย่างไม่เต็มใจยิ่ง

ส่วนการประกาศแยกตัวออกมาจากการปกครองของมหาเถรสมาคมนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ แล้ว ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมากว่า ๓๐ ปี ยังไม่เห็นเหตุการณ์ใด ที่ชาวอโศก ได้ก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น หากความไม่สงบเรียบร้อย จะพึงเกิด เพราะมีสาเหตุมาจาก ชาวอโศกนั้น ก็เป็นเพราะผู้อื่น ได้พยายาม ที่จะเข้ามาก่อ ให้เกิดขึ้นมากกว่า ดังเช่นข้อตกลง ที่นายชัยภักดิ์ปรารถนาดี และมอบให้ ซึ่งเห็นได้จาก คำเบิกความ ของพยานโจทก์ซึ่ งมีทั้งพระภิกษุ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เบิกความ รับรองไว้ข้างต้น การจะวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือไม่ หาใช่พิจารณา เอาเฉพาะเพียง จากคำพูด หรือ เหตุการณ์ในบั้นปลาย ที่ทุกฝ่ายกำลังหาทางออก แล้วพิจารณาตัดสินเอาไม่ แต่จำต้อง พิจารณาจาก ข้อเท็จจริงที่นำสืบ และจากข้อวัตรปฏิบัติ ตามแนวทางที่พ่อท่าน ได้นำพาคณะชาวอโศก ประพฤติปฏิบัติมากกว่า

นอกจากนั้น ยังเอาเหตุการณ์ในบั้นปลาย ย้อนอดีตกลับไปถึงเหตุการณ์ที่พ่อท่าน นำพาคณะสงฆ์ชาวอโศก ประกาศลาออกจาก การปกครองของ มหาเถรสมาคม ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เสมือนหนึ่งว่า เป็นการกระทำ ที่ก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในสังคม โดยที่การกระทำนั้น หาเป็นความผิด ทั้งพระธรรมวินัย และกฎหมายไม่ โดยพ่อท่าน ได้พาย้อนกลับไปถึง สมัยพุทธกาล ด้วยการยืนยันว่า พระธรรมวินัยที่สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่าเป็นศาสดาแทนพระองค์ เมื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ยอมให้พระภิกษุ ซึ่งมีข้อวัตรที่แตกต่างกัน แต่ยังถือว่า เป็นพระภิกษุอยู่ในพระพุทธศาสนา ประกาศความเป็น "นานาสังวาส" ได้ ซึ่งเป็นข้อยุติ ที่พระพุทธองค์ ท่านได้ทรงหาทางออก ไม่ต้องตัดสิน ว่าใครผิดใครถูก แต่ให้แยกปฏิบัติ ตามที่แต่ละฝ่ายเห็นว่า ของตนถูกต้อง ต่างก็ปกครองกันไป และให้พุทธศาสนิกชน ผู้เลื่อมใสศรัทธา เป็นผู้ตัดสินเอาเอง

หากแต่ละฝ่ายได้ย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนา และพระธรรมวินัย มากกว่าความเป็นตัวบท กฎหมาย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ร่วมบัญญัติ และรับทราบด้วย ความไม่สงบเรียบร้อย ก็คงไม่บังเกิดขึ้น อย่างแน่นอน และที่ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยในคำพิพากษา ตอนหนึ่งว่า "การที่ภิกษุสงฆ์นักบวช ไม่อนุวัตปฏิบัติ ตามกฎหมาย ดังกล่าว กลับมีผล เป็นการก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น ดังเช่นที่ปรากฏ ในคดีนี้......." จำเลยกลับเห็นต่างว่า ระหว่างพระธรรมวินัย และบทบัญญัติ ในกฎหมายนั้น พระภิกษุสงฆ์ ควรจะต้องยึดถือ ให้ความสำคัญ กับอะไรมากกว่ากัน เชื่อเหลือเกินว่า พระธรรมวินัยที่ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรง สั่งสอนนั้น จะไม่ขัดกับ หลักกฎหมายของบ้านเมือง อย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงเพราะ แต่ละฝ่าย มีความเห็น ที่แตกต่างกันเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องของ ความทุจริต หรือแสวงหาประโยชน์ไม่ พ่อท่าน และคณะ ย่อมมีสิทธิ ที่จะตีความ พระธรรมวินัยได้ อย่างที่ตนเข้าใจ เช่นเดียวกับ ที่อีกฝ่ายสามารถตีความได้

ศาสนาเป็นเรื่องความเป็นสากล ไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง ที่จะหวง หรือ ครอบครองเป็นของตน เพียงผู้เดียวได้ เรื่องของ พระภิกษุสงฆ์นั้น ท่านมีพระวินัย เป็นเครื่องชำระ แก้ไข และ ปรับโทษอยู่แล้ว หากประพฤติปฏิบัติ เอาจริงเอาจัง แม้ไม่มีกฎหมาย ก็เชื่อได้เลยว่า พระภิกษุท่านจะไม่กระทำการใด ที่ทำให้สังคมเดือดร้อน หรือไม่สงบเรียบร้อย การจะให้ผู้ประพฤติ ตามธรรมวินัย ต้องอนุวัตตามกฎหมายนั้น จึงขัดแย้งกับ พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ มาตรา ๑๘ ที่กำหนดให้ถือเอา พระธรรมวินัยเป็นใหญ่ กฎหมาย หรือคำสั่งใดๆ จะแย้ง หรือขัดกับพระธรรมวินัยไม่ได้ ดังนั้น การตีความทางกฎหมาย จึงต้องอนุวัตให้ถูกต้อง ตรงตาม พระธรรมวินัยต่างหาก สังคมจึงจะไม่เดือดร้อน และสงบสุข เพราะเป็นสังคม ที่เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่ใช่เอา อำนาจเป็นใหญ่ เหมือนเช่นกรณี ที่เกิดขึ้นกับพ่อท่าน และสมณะชาวอโศก ได้ตกเป็นจำเลยทางศาสนา โดยไม่มีความผิด หากชาวอโศก ได้ก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยแล้วละก็ คงมีอยู่เพียงข้อหาเดียว ที่คงจะพอ ยอมรับได้ คือ ได้เพียรพยายาม ทำให้กิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชา และอกุศลต่าง ๆ ตาย หรือ หลุดออกไป จากจิตวิญญาณ ของคนอย่างจริงจัง หากเป็นเช่นนี้ พ่อท่าน และคณะ คงจะยอมรับสารภาพ ตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา หรือ จำยอม

ข้อวัตรที่พ่อท่านนำพาชาวอโศกประพฤติปฏิบัติ ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อสังคม ?

ตลอดระยะเวลาที่พ่อท่านนำพาชาวอโศกประพฤติปฏิบัติธรรมมา พ่อท่านสอนให้ผู้คน เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา ในพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องของกรรม และผลวิบาก ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่ากรรมเป็นของๆ ตน เชื่อในธรรมะที่สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ และประกาศสัจธรรม ให้แก่ผู้อื่นได้รู้ตาม

พ่อท่านสอนให้คนรู้จักทุกข์ ทุกข์ใดที่สามารถเลี่ยงได้ ทุกข์ที่ไม่สามารถเลี่ยงได้

สอนให้รู้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความเป็นโลกุตระ ทวนกระแส ไม่ตามใจตน

สอนให้เป็นผู้มีความขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรรค์ สวรรค์ นิพพาน

สอนให้เป็นผู้มีความสันโดษ รู้จักพอ มักน้อย แต่ขยัน และเสียสละ ให้เกิดประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์สูง และ ประหยัดสุด ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักแบ่งปัน ตามหลักการ บุญนิยม ที่มีความเป็นสาธารณโภคี

สอนให้มีเมตตาไม่เบียดเบียนชีวิต และเลือดเนื้อของผู้อื่น คือ กินอาหารมังสวิรัติ

สอนให้รู้จักศีล และให้สังวรนำศีลไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดมรรคผลอย่างแท้จริง ไม่ใช่นับถือตามแต่ประเพณี หรือ ลูบ ๆ คลำ ๆ โดยไม่เอาจริงเอาจัง

สอนให้รู้จักการดำเนินชีวิต ว่า ในแต่ละขณะที่เป็นอยู่ให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมตลอดว่า บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เป็นกุศล หรือ อกุศล ก็ให้รู้ เมื่อจับตัวตนได้แล้ว ก็ให้ละเลิก เอาความไม่ดีไม่งาม ทั้งหลายออกไป ตามหลัก สัมมาอริยมรรค อันมีองค์ ๘ ซึ่งพระพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า เป็นมรรคาที่จะพา ให้พ้นทุกข์ หากมีผู้มาชี้แนะ ตักเตือน หรือ กล่าวโทษ ก็ให้รู้จักหัดยอม หยุด เย็น และให้อภัย อย่างอหิงสา และอโหสิ อันเป็นวิถีชีวิต ชาวบุญนิยม

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวอโศกยืนยันได้ว่า สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้นได้เกิดขึ้น ดำเนินอยู่ และ กำลัง พัฒนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก โดยข้อปฏิบัติ ที่พ่อท่าน ได้นำพาทำนั้น ล้วนนำพา ไปสู่สันติสุข และความสงบ หาได้เป็นไป เพื่อก่อให้เกิด ความไม่สงบ เรียบร้อยใดๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมเลย

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -