มหาเถรสมาคม กับ สันติอโศก
สถาบัน VS ความเป็นธรรม


สืบเนื่องจาก บทความของ พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตโต) ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ หน้า ๗

เรื่อง "สันติอโศก กับ มหาเถรสมาคม เสรีภาพ VS สถาบัน" ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล เกี่ยวกับ สันติอโศก กับ มหาเถรสมาคม เพียงด้านเดียว จึงขออนุญาต เพิ่มเติมข้อมูล อีกด้านหนึ่ง ให้ผู้อ่านได้พิจารณา ด้วยข้อมูล ที่ครบถ้วนขึ้น


๑. พระศรีปริยัติโมลี ท่านกรุณาให้ข้อมูลว่า "สันติอโศก" ลาออกจาก "มหาเถรสมาคม" แต่ขาดข้อมูลเชื่อมโยงว่า เพราะเหตุใด "สันติอโศก" จึงลาออก

ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่า แต่เดิมคณะสงฆ์ชาวอโศก ซึ่งมีพระโพธิรักษ์ และพระสงฆ์ อีกหลายรูป ได้ทำพิธีบวชโดย พระอุปัชฌาย์ ของวัด อโศการาม สมุทรปราการ และวัดหนองกระทุ่ม จังหวัด นครปฐม พระโพธิรักษ์ ได้อบรม สอนธรรมะ และฝึกปฏิบัติธรรม อยู่ที่พุทธสถาน แดนอโศก แต่ถูกพระผู้ปกครอง ในท้องถิ่นนั้น กลั่นแกล้งต่างๆ นานา เช่น ห้ามออกจาริกธุดงค์ ปิดกั้น ไม่ยอมให้สอบ นักธรรมตรี-โท กับวัดอื่นๆ บังคับให้เปลี่ยนจีวร ไปนุ่งห่มสีเหลือง เป็นต้น

คำสั่งใดที่ปฏิบัติตามแล้ว ไม่ผิดพระธรรมวินัย เช่น การไม่ให้สอบนักธรรม คณะสงฆ์ชาวอโศก ก็มิได้ขัดขืนแต่อย่างใด แต่ถ้าปฏิบัติแล้ว ผิด พระธรรมวินัย เช่น การนุ่งห่มจีวร สีเหลือง เป็นอาบัติ ทุกกฏ (พระวินัยปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๙) ก็ย่อมไม่สามารถปฏิบัติได้

การกลั่นแกล้งลุกลามมากขึ้น จนถึงบีบคั้น พระอุปัชฌาย์ ที่วัดหนองกระทุ่ม ไม่ให้บวช ผู้ที่มาศึกษาธรรมะ จากพุทธสถาน แดนอโศก และพาลไปกลั่นแกล้ง พระอุปัชฌาย์ ซึ่งชราภาพ มากแล้ว จนล้มป่วย พระโพธิรักษ์ และคณะสงฆ์ ซึ่งศึกษาธรรมะอยู่กับท่าน ไม่ต้องการ ให้พระอุปัชฌาย์ ท่านนั้นเดือดร้อน จึงขอลาออกจาก การปกครองที่ไม่เป็นธรรม ของมหาเถรสมาคม ตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ด้วยความชอบธรรม ตามหลักพระธรรมวินัย เรื่อง "นานาสังวาส" ซึ่งไม่ใช่การแบ่งแยกนิกาย อย่างที่กล่าวหากัน ตามเนื้อหา ในพระวินัยปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๒๔๐ "นานาสังวาส" คือ พระพุทธองค์ทรงอนุญาต ให้พระสงฆ์ ที่มีความต่างกันในทิฐิ แยกกันปฏิบัติ แยกกันทำ สังฆกรรม และ ในเล่มเดียวกัน ข้อ ๑๘๘-๑๙๑ พระองค์ไม่อนุญาต ให้สงฆ์ที่ต่างสังวาส หรือทิฐิต่างกัน ทำสังฆกรรมร่วมกัน สังฆกรรมใด ที่มีภิกษุ นานาสังวาส ร่วมอยู่ด้วย สังฆกรรมนั้น ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะ

การลาออก จากการปกครองของ มหาเถรสมาคม ครั้งนั้น มหาเถรสมาคมยอมรับ และปฏิบัติต่อสงฆ์ ชาวอโศก ในฐานะที่ ไม่ได้ขึ้น อยู่ในการปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ดังปรากฏ ในหนังสือของ กรมการศาสนา ที่ ศธ.๐๔๐๗/๘๕๓๗ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ตอบข้อหารือ ของการรถไฟ แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับค่าโดยสารรถไฟ ของสงฆ์ชาวอโศก ว่า "กรมการศาสนา ได้นำเรื่องเสนอ มหาเถรสมาคม พิจารณาแล้ว ที่ประชุมลงมติ เห็นชอบด้วย ตามเหตุผลที่ กรมการศาสนา เสนอว่า เนื่องจากในปัจจุบันนี้ พระภิกษุสามเณร ในสำนักสันติอโศก มิได้ขึ้นอยู่ในปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๕ และไม่ได้อยู่ในความอุปการะ ของทางราชการ..."

หรือเมื่อไม่ต้องการ ให้สงฆ์ชาวอโศก ได้รับสิทธิแห่งความเป็นภิกษุ สมณะ ในพระพุทธศาสนา ก็อ้างว่าไม่ได้อยู่ในปกครองแล้ว ครั้นเกิด ความต้องการ ที่จะใช้อำนาจปกครอง เพื่อวัตถุประสงค์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็กลับคำเสียว่า ไม่สามารถปฏิเสธ อำนาจปกครอง ของมหาเถรสมาคมได้


๒. การลาออกจาก มหาเถรสมาคม ทำไม่ได้ตามพระธรรมวินัยจริงหรือ

ต้นเรื่องนานาสังวาส มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ ข้อ ๒๓๘-๒๔๐ ว่า พระภิกษุรูปหนึ่ง ต้องอาบัติแล้ว คิดว่าตนเอง ต้องอาบัติ แต่ภิกษุกลุ่มอื่น มีความเห็นว่า ไม่เป็นอาบัติ แต่ต่อมา กลับเห็นตรงข้ามกัน คือ ฝ่ายแรกเห็นว่า ตนไม่มีอาบัติ ฝ่ายหลังเห็นว่า มีอาบัติ จึงหาสมัคร พรรคพวก แล้วลงโทษภิกษุรูปนั้น ฐานไม่เห็นอาบัติ

พระไตรปิฎก บรรยายคุณลักษณะ ของภิกษุรูปนั้นว่า "ผู้คงแก่เรียน ช่ำชองคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา" ท่านก็ไปบอกเล่า เพื่อนฝูง ให้เข้าข้างท่าน

เมื่อความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเข้าไปพบสงฆ ์ ทั้งสองฝ่าย ตรัสเตือน ฝ่ายกล่าวโทษ ภิกษุอื่นว่า อย่ากล่าวโทษผู้อื่น เพราะคิดว่า ตนเองฉลาด และถ้าเห็นว่า ภิกษุนั้นเป็น "พหูสูต ช่ำชองคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา" ถ้าไปกล่าวโทษท่าน ก็จะเกิดความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยก ความร้าวราน การกำหนด การกระทำต่างในหมู่สงฆ์ จึงไม่ควรกล่าวโทษ ที่ท่านไม่เห็นอาบัติ

หลังจากนั้นก็ทรงไปพบ ฝ่ายที่ถูกกล่าวโทษ ทรงเตือนว่า อย่าคิดว่าตนไม่ต้องแก้ไข เพราะว่า ไม่มีอาบัติ ให้คิดว่า ผู้ที่เห็นว่า เป็นอาบัตินั้น เป็น "พหูสูต ช่ำชองคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา" คงจะไม่มีอคติ ถ้าไม่ยอม แสดงอาบัติ ก็จะเกิดความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยก ความร้าวราน การกำหนด การกระทำต่าง ในหมู่สงฆ์ จึงควรเชื่อฟังท่าน แสดงอาบัติเสีย

อย่างไรก็ตาม สงฆ์ทั้งสองฝ่าย ยอมความกันไม่ได้ ต่างแยกกัน ทำอุโบสถสังฆกรรม พระพุทธเจ้า ก็ทรงยอมรับว่า สังฆกรรมของ ทั้งสองฝ่ายนั้น ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย โดยตรัสว่า "แม้กรรม ของพวกเธอนั้น ก็เป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุ พวกนั้น มีสังวาส ต่างจากพวกเธอ และพวกเธอก็มีสังวาส ต่างจากภิกษุพวกนั้น" ซึ่งแสดงให้เห็น พระปรีชาญาณ ของพระพุทธองค์ ในการให้สิทธิ เสรีภาพ แก่เหล่าภิกษุ ในเรื่องทิฐิ หรือความเชื่อ ที่ต่างกัน อย่างแท้จริง และไม่สนับสนุน ให้มีการใช้อำนาจ บังคับ ให้ฝ่ายอื่น ต้องเชื่อตาม อย่างที่ตนเองเชื่อ เท่านั้น หากจะเชื่อ ก็ให้เชื่อด้วยปัญญา เพราะศาสนาพุทธ เน้นการใช้ปัญญา ไม่ใช่เน้นแต่ศรัทธา อย่างที่ พระศรีปริยัติโมลี ท่านกล่าวไว้ ถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะ ไม่สนับสนุน การใช้อำนาจ แม้พระองค์เอง ก็ไม่ใช้อำนาจ ดังเช่น กรณีข้างต้น ถ้าพระองค ์จะทรงใช้อำนาจ ตัดสิน ชี้ขาดว่าอย่างใดถูกผิด ก็ย่อมทำได้ แต่พระองค์ก็ให้พระสาวก ใช้ปัญญาตัดสินเอง

ดังนั้น เมื่อพระสงฆ ์ที่มีทิฐิต่างกัน (ซึ่งมักเกิดจาก การตีความต่างกัน แม้ได้ฟัง หรืออ่านพระพุทธพจน์ เดียวกัน ก็เป็นไปได ้ที่จะเข้าใจ ไม่ตรงกัน ซึ่งก็เป็นไป ตามสติปัญญา ของแต่ละฝ่าย) สามารถแยกกันปฏิบัติ ตามกลุ่มของความเชื่อ จากการตีความ ต่างกันนั้นได้ จึงเรียกว่า "นานาสังวาส" ตามพระธรรมวินัย ที่ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว


๓. การทำปกาสนียกรรม โดยมหาเถรสมาคม ถูกพระธรรมวินัย และหลักแห่ง กระบวนการยุติธรรมหรือไม่

การที่สงฆ์ธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย ร่วมกันทำปกาสนียกรรม แก่สงฆ์ชาวอโศก ที่พุทธมณฑลนั้น เป็นการทำผิด พระธรรมวินัย ดังที่กล่าว ในข้อ ๑ แล้วว่า พระพุทธเจ้า ไม่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ นานาสังวาส ทำสังฆกรรม ร่วมกัน สังฆกรรมใด ที่มีภิกษุนานาสังวาส ร่วมอยู่ด้วย สังฆกรรมนั้น ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะ (พระวินัยปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๑๘๘-๑๙๑) อีกทั้งในทาง กระบวนการยุติธรรม ที่ยอมรับกัน เป็นสากล จะไม่มีระบบไหนที่ "ผู้กล่าวหา" ตัดสิน "ผู้ถูกกล่าวหา" โดยกระทำลับหลัง "ผู้ถูกกล่าวหา" ไม่เปิดโอกาสให้ "ผู้ถูกกล่าวหา" มีโอกาสชี้แจง แม้แต่คำเดียว

นอกจากนี้ ในพระวินัยปิฎก เล่มเดียวกัน พระพุทธเจ้ายังทรงกล่าวถึง การทำอุโบสถ และปวารณา ว่า ถ้าภิกษุนานาสังวาส ทำอุโบสถ หรือ ปวารณา ร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ ยกเว้นแต่ว่า เข้าใจผิด ว่าเป็นสมานสังวาส จึงไม่ต้องอาบัติ และในกรณีตรงข้าม ถ้าภิกษุ สมานสังวาส เข้าใจผิด ว่าเป็น นานาสังวาส ทำอุโบสถ หรือปวารณาร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พุทธบัญญัติเหล่าน ี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ถ้ามีทิฐิต่างกันแล้ว หรือแม้เข้าใจผิดว่า ทิฐิต่างกัน ก็ต้องไม่ทำ สังฆกรรมร่วมกัน เพราะยาก ที่จะทำความตกลง ร่วมกันได้ การที่สงฆ์ธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย ซึ่งไม่ทำ สังฆกรรมร่วมกัน มาก่อน กลับหันมา สมานสามัคคีกัน ประกาศห้าม พระภิกษุ ในปกครอง ของมหาเถรสมาคม เกี่ยวข้องสมาคมกับ สงฆ์ชาวอโศก หรือเรียกว่า กระทำ ปัพพาชนียกรรม (ซึ่งทำผิด จากหลักการ พระธรรมวินัย) จึงนับเป็นปรากฏการณ์ ที่ควรค้นหา รหัสนัยยิ่งนัก

ทั้งที่ในพระวินัยปิฎก เล่ม ๖ ข้อ ๘๗-๘๘ พระภิกษุที่ถูกทำ ปัพพาชนียกรรม ล้วนกระทำกรรม น่ารังเกียจ ชนิดที่สงฆ์ชาวอโศก ไม่เคย ประพฤติเลย (ในขณะที่มีพระสงฆ์ไม่น้อย ที่ทำผิดเช่นนี้ กลับไม่มีการ จัดการใดๆ) เช่น ฉันอาหาร ในเวลาวิกาล ดื่มน้ำเมา ใช้ดอกไม้ ของหอม และ เครื่องลูบไล้ มัวเมากับขับร้อง บรรเลงดนตรี และการละเล่นต่างๆ เล่นการพนัน พยากรณ์ ผิวปาก ฯลฯ ขั้นตอนการทำ ปัพพาชนียกรรม คือ แจ้งข้อกล่าวหาแก่ภิกษ ุผู้ประพฤติอนาจาร เช่นนั้นก่อน แล้วให้ผู้ถูกกล่าวหาให้การ หลังจากนั้น จึงปรับอาบัติ และ ขอมติสงฆ์ ในการทำ ปัพพาชนียกรรม ยิ่งกว่านั้น พระพุทธเจ้า ยังตรัสถึง วิธีทำบัพพาชนียกรรม ที่เป็นธรรมว่า จะต้องประกอบด้วย องค์ ๓ คือ ทำต่อหน้า ๑ สอบถามก่อนแล้วทำ ๑ ทำตามปฏิญาณ ๑ (คือทำตามคำให้การ ของผู้ถูก กล่าวหา) (พระวินัยปิฎกเล่ม ๖ ข้อ ๙๓)

ในพระวินัยปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๑๙๙ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยว่า "กรรมที่ควรทำ ในที่พร้อมหน้า แต่สงฆ์ ผู้พร้อมเพรียงกัน กลับทำเสีย ในที่ลับหลัง อย่างนี้แล อุบาลี ชื่อว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และ การกระทำอย่างนี้ สงฆ์ย่อมมีโทษ"

เพื่อความบริสุทธิ์แห่งพระศาสนา และความปราศจากโทษ ของคณะสงฆ์ไทย ถ้ามหาเถรสมาคม ต้องการตรวจสอบ พฤติกรรม ของสงฆ์ ชาวอโศก โดยไม่รังเกียจที่เป็น นานาสังวาส ขอได้โปรดเมตตา ให้สงฆ์ชาวอโศก ได้มีโอกาสให้การ ในท่ามกลางสงฆ์ด้วย


๔. การบังคับ ให้พระที่ต่างสังวาส ลาสิกขา ผิดพระธรรมวินัยหรือไม่

ตามพระธรรมวินัย พระภิกษุที่มีความผิด ถึงขั้นปาราชิก ต้องให้สึก มีเพียง ๔ ประการ คือ เสพเมถุนธรรม ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของ ไม่ได้ให้ ฆ่ามนุษย์ และ อวดอุตตริมนุสสธรรม ที่ไม่มีในตน (พระวินัยปิฎกเล่ม ๑)

นอกจากน ี้ก็มีบุคคล ๑๑ ลักษณะ ที่พระพุทธเจ้า ไม่อนุญาตให้อุปสมบท ถ้าอุปสมบท แล้วรู้ภายหลัง ก็ต้องให้สึก คือ บัณเฑาะก์ คนลักเพศ คนเข้ารีต สัตว์เดรัจฉาน คนฆ่ามารดา คนฆ่าบิดา คนฆ่าพระอรหันต์ คนประทุษร้ายภิกษุณี คนผู้ทำสังฆเภท คนผู้ทำร้ายพระพุทธเจ้า จนถึงห้อพระโลหิต คนมีสองเพศ (พระวินัยปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๑๒๕-๑๓๒)

พระพุทธเจ้า ซึ่งทรงเป็นผู้ตั้ง พุทธศาสนาเองแท้ๆ ยังไม่ทรงบังคับพระภิกษุ ให้ลาสิกขา เพียงเพราะเหตุว่า ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ของพระองค์ แม้แต่ พระเทวทัต ซึ่งกราบทูล ขอปกครองสงฆ์ แต่พระองค์ ทรงทัดทานเพราะเห็นว่า ไม่เหมาะสม พระเทวทัต แทนที่จะตรวจสอบตน กลับอาฆาตแค้น พระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงสั่งให้สงฆ์ ทำปกาสนียกรรม ประกาศให้ประชาชนทั่วไป ทราบว่า "ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวน ี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใด ด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัว พระเทวทัตเอง" (พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ ข้อ ๓๖๒)

หรือพระภิกษุผู้ดื้อด้าน อย่างพระฉันนะ พระองค์ก็ทรงให้สงฆ์ ลงพรหมทัณฑ์ คือ "ภิกษุฉันนะ พึงพูดตามปรารถนา ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงสั่งสอน ไม่พึงพร่ำสอน ภิกษุฉันนะ" (พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ ข้อ ๖๒๔)

แสดงให้เห็นชัดว่า พระพุทธองค์ ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง ได้ปฏิบัติเป็นตัวอย่างแล้วว่า ไม่บังคับ ให้ใครเชื่อเหมือนท่าน หรือหมู่สงฆ์ ใครเชื่อ ต่างกัน ก็เพียงบอกว่า เชื่อต่างกัน ไม่ต้องไปบังคับ ให้ใครลาสิกขาด้วยเหตุนี้ แต่มาสมัยนี้ แม้สงฆ์สมานสังวาสกันแท้ๆ ท่านยังไม่บังคับ ให้ภิกษุ ที่ไม่ได้ประพฤติผิด พระธรรมวินัย ลาสิกขาเลย ป่วยกล่าวไปไยถึง การที่คณะสงฆ์กลุ่มหนึ่ง พิจารณา ตัดสินกันเอง แล้วมาบังคับ ให้พระสงฆ์ ต่างสังวาส ลาสิกขา

อีกทั้งการใช้อำนาจรัฐ บังคับให้คณะสงฆ ์อีกฝ่ายสึก ก็เป็นการผิด ทั้งหลักรัฐธรรมนูญไทย ผิดหลักการ ยุติธรรม และหลักการสากล ที่ให้เสรีภาพ ในการนับถือศาสนา ลัทธิ ความเชื่อใดๆ


๕. พระโพธิรักษ์มีปัญหา เรื่องพระธรรมวินัย จริงหรือไม่

ข้อกล่าวหาของ พระศรีปริยัติโมลีที่ว่า "ท่าน(พระโพธิรักษ์)นั้น มีปัญหาเรื่อง พระธรรมวินัยก่อนแล้ว จึงยอมรับ มหาเถรสมาคมไม่ได้ ยอมรับอำนาจ ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ไม่ได้ เมื่อไม่ยอมรับ พ.ร.บ. สงฆ์ ก็เท่ากับ การไม่อาจยอมรับ อำนาจของรัฐ อย่างนี้ ถ้าพลเมืองธรรมดา เขาก็เรียกว่า 'เป็นขบถต่อรัฐ' 'เป็นปฏิปักษ์ต่อ สถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์' ทีเดียว" นั้น

ข้อกล่าวหานี้ พิสูจน์ได้ไม่ยาก เพราะทุกคน สามารถนำ พระธรรมวินัย มาตรวจสอบพฤติกรรม ของพระโพธิรักษ์ได้ ตลอดเวลา อีกทั้งสามารถ ตรวจสอบด้วยว่า พฤติกรรมของท่าน สร้างปัญหา ให้แก่บ้านเมือง อย่างที่จะเรียกได้ว่า เป็นขบถต่อรัฐ หรือว่าท่านสร้างคน ให้เป็นผู้ทำ คุณประโยชน์ แก่รัฐ นานาประการ เช่น สร้างชุมชนผู้มีศีลธรรม ที่มีชีวิตเรียบง่าย พึ่งตนเอง ตามวิถีธรรมชาติ สร้างคนให้ทำ เกษตรไร้สารพิษ สร้างอาหารปลอดภัย สร้างระบบบุญนิยม ผลิตและจำหน่าย ของที่จำเป็น ในชีวิตประจำวัน ราคาถูก เผยแพร่ธรรมะ ที่ตรงตาม พระธรรมวินัย ฯลฯ


๖. สำนักใดเป็นนิกายเนื้องอกกันแน่

ตามที่พระศรีปริยัติโมลี เขียนในบทความ ดังกล่าวว่า "การจัดงาน วิสาขบูชาสากล อาจจะเป็น วิสาขบูชาวิกลไป แทนจะเป็น การส่งเสริม พระพุทธศาสนาเนื้อแท้ ก็จะกลายเป็น การสนับสนุน กลุ่มสำนัก นิกายเนื้องอก เหล่านั้นไป เมื่อได้น้ำ อากาศ ฝน และปุ๋ยแล้ว ก็จะพากัน แตกกิ่ง แตกก้าน ออกดอก ออกผล กันสะพรั่งไปหมด"

ท่านก็กรุณาตรวจสอบ เปรียบเทียบ ตามหลักพระธรรมวินัย ให้ชัดเจนว่า วัดใด สำนักใด เป็นเนื้อแท้ เนื้องอก ด้วยจิตใจเป็นธรรม ไม่อคติ ต่อฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ก็จะได้ชื่อว่า ท่านรักษาพระธรรมวินัย อย่างแท้จริง

และที่ท่านว่า "สันติอโศก คงเหมือนลูกดื้อ มีทิฐิอวดดี ไม่พอใจพ่อแม่ ก็หนีออกจากบ้าน ประกาศ ตัดพ่อตัดลูกกัน พ่อแม่ก็เลย ต้องใช้ มาตรการ ลงโทษบ้าง เรียกว่า เอ็งตัดพ่อแม่ได้ ต่อไปก็อย่ามาใช้ ชื่อเสียงนาม ใช้สกุลกัน ขาดเหลืออย่างไร ก็ไม่ต้องมาบอก เรียกว่า ต่างคนต่างอยู่ เรื่องอย่างนี้ ใครไม่เป็นพ่อเป็นแม่ ก็คงไม่ทราบว่า มันขมขื่นฝืนใจ ขนาดไหน หาใช่ทำลงไปด้วย ปราศจาก เมตตาปรานี แต่อย่างใดไม่ แต่เพื่อให้ครอบครัว สงบสุข และสกุลมั่นคง ลูกคนอื่นๆ จะได้ไม่ดื้อ ถือเอาเป็นแบบอย่าง มาท้าทาย ทำลายตระกูล กันเสียหมด"

หากท่านได้ข้อมูลไม่พอ จึงเข้าใจผิด ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าเห็นใจ แต่ถ้าท่านรู้ความจริงว่า "ลูกๆ ที่ถูกพ่อแม่รังแก ด้วยความลำเอียง เข้าข้าง แต่คนทำผิด แถมยังกลั่นแกล้งลูก เมื่อมีพี่ที่พอมีน้ำใจ ก็ไปบีบคั้น กลั่นแกล้งพี่อีก จนลูกทนไม่ได้ และไม่อยากให้พี่ เดือดร้อน เพราะตนเอง จึงเสียสละ ออกจากบ้านไป แต่กลับไปได้ดี จนเป็นที่ยอมรับ อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่วาย ตามไปกลั่นแกล้ง ให้ร้ายป้ายสี ตัดสินคดี ด้วยการ ตัดสินฝ่ายเดียว อย่างไร้ความเป็นธรรม แม้เหตุการณ์ ผ่านมานาน ลูกๆ ก็คิดว่า คงจะสำนึกได้แล้ว จึงชวนมารวมพี่รวมน้อง ร่วมกัน ทำความดี เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่พ่อแม่ ก็มีอคติไม่เลิก ใช้อำนาจขัดขวาง ไม่ให้ลูกสมานสามัคคีกัน จนเสียประโยชน์ส่วนรวม และเสีย ชื่อเสียงตระกูล พ่อแม่ก็ไม่คำนึง" ท่านจะว่าอย่างไร


๗. ปฏิกิริยางานวิสาขบูชา ที่พุทธมณฑล : เครื่องพิสูจน์น้ำใจพ่อแม่

เรื่องที่พระศรีปริยัติโมลี กล่าวว่า "ส่วนเรื่องของท่าน พลตรีจำลอง ศรีเมือง ท่านถามกลับมาว่า ท่านผิดตรงไหน ทำไมเป็นประธาน จัดงาน วิสาขสากล ที่พุทธมณฑลไม่ได้ ความจริง ก็เป็นเรื่อง ที่ควรสงสัยเหมือนกัน... คุณจำลอง เข้าพุทธมณฑลคราวนี้ มีความหมาย เท่ากับว่า นำสันติอโศก ไปสู่ความยอมรับ อย่างชอบธรรม ผ่านคุณทักษิณ... อุปมาเหมือนพ่อแม่ ลงโทษลูก ที่ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟัง คำสั่งสอน ของพ่อแม่ มิหนำซ้ำ ยังประกาศแข็งข้อ ไม่รับความเป็นพ่อเป็นแม่ เสียอีก เมื่อถูกตักเตือน ลงโทษแล้ว ยังไม่สำนึกผิด ขอขมาลาโทษ แสดงความเคารพ ยำเกรง ในบุคคลที่เป็นพ่อเป็นแม่"

ขออนุญาต เรียนให้ทราบว่า ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง ต้องรับหน้าท ี่มาทำงานนี้ ไม่ได้เกิดจาก การริเริ่ม ของพลตรีจำลอง ศรีเมือง แต่เป็นดำริ ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สั่งการ ในที่ประชุม คณะกรรมการ นโยบายบริหาร และพัฒนาความรู้ โดยมอบให้ ศูนย์คุณธรรม ซึ่งเป็น หน่วยงานย่อย ขององค์กรนี้ ให้มีหน้าที่ประสานงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับ พระพุทธศาสนาทุกฝ่าย เข้ามาร่วมจัด ให้เน้นการ ปฏิบัติบูชา และ จัดให้ยิ่งใหญ่ จนเป็น วันวิสาขบูชาแห่งโลก โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นปีที่ พระเจ้าอยู่ ทรงพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

ก็คงทำนองเดียวกับอุปมา ในข้อ ๖ ถ้าท่านรู้ความจริงว่า มีคนพยายาม จะทำให้พ่อแม่ลูกดีกัน โดยไม่ต้อง ให้พ่อแม่เสียหน้า ว่าทำผิด มานานแล้ว ให้ลืมเรื่องเก่าๆ แล้วมาร่วมทำความดี เพื่อส่วนรวม แต่พ่อแม่ กลับมีทิฐิมานะว่า เป็นพ่อแม่ ผิดไม่ได้ และไม่คิดถึง ประโยชน์ พระพุทธศาสนา โดยส่วนรวม ที่สำคัญยิ่งใหญ่กว่า มากมายนัก ท่านจะว่าอย่างไร


โดย อุบาสิการินธรรม อโศกตระกูล
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -