ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ -สมณะโพธิรักษ์-
"กรรม" ของผู้ประพฤติปฏิบัติที่จะต้องงดเว้น.."กายทุจริต-วจีทุจริต-มโนทุจริต" (อาหารของนิวรณ์ ๕) ก็ไม่ได้ทำ หรือแม้จะ"งดเว้น" อยู่บ้าง ก็ไม่ใช่ "การปฏิบัติกรรม" ที่มีภูมิรู้ถึงขั้น "ปรมัตถสัจจะ" และปฏิบัติจนสามารถบรรลุธรรมสำเร็จมรรคผล ซึ่งการสำเร็จมรรคผลนั้น"มโนกรรม" ต้องพ้นความเป็น "มโนทุจริต" ที่บริบูรณ์ จึงจะยัง"สติปัฏฐาน ๔"ให้บริบูรณ์ได้ "สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้" (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๖๑) แต่ถ้า"กรรม" ของผู้ปฏิบัติใดยังปฏิบัติไม่สามารถบรรลุธรรมขั้น"ปรมัตถสัจจะ" "กรรม"ของคนผู้นี้ก็ไม่มี"มรรคผล" จึงไม่มี"ที่พึ่ง" (ไม่มี"สรณะ") ที่เป็นเนื้อแท้เนื้อธรรมอันเป็นอาริยะของพุทธ
ศาสนาพุทธมี"กรรม"เป็น"ที่พึ่ง" (กัมมปฏิสรโณ) ถึงขั้นสูงสุดวิมุตินิพพาน ด้วยประการฉะนี้เอง
หรือแม้บุคคลที่ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนา ต่อให้สูงได้ปริญญาเอกทางศาสนา จากมหาวิทยาลัยต่างๆของโลก ๑๐ ใบก็ตาม และแม้จะเป็นครูอาจารย์ สอนพุทธศาสนา มีชื่อเสียงเด่นดัง อีกด้วยก็เถอะ อาจจะมีความรอบรู้เรื่อง"โลกุตรสัจจะ"ดีก็ได้ แต่ถ้าบุคคลผู้นี้ยังไม่บรรลุธรรมที่เป็น "โลกุตรสัจจะ" ของพุทธในชาตินี้ ผู้นั้นก็เป็นได้แค่ "ปทปรมบุคคล" คือ ผู้ที่ได้ฟังพุทธพจน์มามาก จำไว้ได้มาก กล่าวสอนอยู่มาก แต่ ตนเองไม่ได้บรรลุธรรมในชาตินั้น ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสยืนยันไว้ นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่เป็นเพียง "ผู้รู้" แต่ยังไม่เป็นผู้บรรลุธรรมนั้น ชื่อว่า ยังไม่มี"สัมมาทิฏฐิ" เข้าขั้น "ปรมัตถธรรม" จึงยังเป็นผู้ที่ยังไม่มี "ที่พึ่ง" หรือยังไม่มี "สรณะ" อันเรียกได้ว่า "กัมมปฏิสรณะ"
"กรรม" เป็นสมบัติแท้ที่สุดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นใคร ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ทุกคนมี "กรรมเป็นของตน" (กัมมัสสกะ) ทั้งสิ้น ใครกระทำแล้ว เป็น"ของตน"ทันที ไม่ว่าจะทำในที่ลับ หรือที่แจ้ง ใครจะรู้จะเห็นหรือไม่รู้ไม่เห็นก็ตาม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ไม่พ้นสัจจะนี้ เพียงแต่ว่า เขาไม่รู้ความจริงนี้ หรือคนศาสนาอื่นที่รู้ก็มี แต่เขาไม่เชื่อเอง
มรดกของทุกคนคือ "กรรม" ทุกคนต้องเป็น"ทายาท" ของกรรมที่ตนเองทำทุกกรรม (กัมมทายาท) ไม่มีหกตกหล่น ไม่มีระเหยไม่มีระเหิด ทั้งกรรมดี-กรรมชั่ว ไม่ว่าน้อย ไม่ว่าใหญ่ ทุกกรรม ต้องรับเป็นของตนทั้งสิ้น ไม่รับก็ไม่ได้ "กรรม"ของใครก็ของคนนั้น เป็นมรดกที่แบ่งใครไม่ได้ ทำพินัยกรรมไม่ได้ เมื่อใครทำสำเร็จปุ๊บ ก็เป็นของตนปั๊บทันที และเป็นมรดก ของตน ที่ตนต้องรับ ซึ่งมีฤทธิ์มีอำนาจกับตนไปตลอดกาลนาน แบ่งกันไม่ได้เลย แบ่งให้คนอื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะแบ่งให้คนเป็น หรือคนตายไม่ได้ทั้งสิ้น แบ่งอกุศลกรรม คือบาป หรือที่หลงเชื่อว่า แบ่งกุศลกรรม คือบุญให้แก่คนตาย ที่ทำๆกันนั้น แบ่งไม่ได้เด็ดขาด เพราะกรรมเป็น "มรดก" ของตนแต่เพียงผู้เดียว ที่ว่าแบ่งให้คนตาย เราก็ตามไป พิสูจน์ไม่ได้ เอ้า..มาพิสูจน์กับคนเป็นๆ กันดู บุญของอาตมาใครจะเอา? มาแบ่งเอาเลย อาตมายังไม่ตาย ยังอยู่นี่ บุญก็คงมีบ้างล่ะ อาตมาให้ มาเอาสิ คุณจะแบ่ง "บุญ" จากตัวอาตมา ไปได้ไหม ด้วยวิธีใด เห็นไหม..แบ่งกันไม่ได้
(มีต่อฉบับหน้า)
นี่คือการพิสูจน์กันอย่างชัดๆโต้งๆว่า "แบ่งบุญหรือแบ่งกุศลกรรม" ให้คนอื่นไม่ได้ ด้วยวิธีใดๆ
- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -