เรื่องอย่างนี้ต้องช่วยกันเผยแพร่-
นิธิ เอียวศรีวงค์ -
ธูปดอกใหญ่สุดในโลก
ทุกอย่างจบลงโดยสงบ แต่จะโดยดีหรือไม่ คงเถียงกันได้...ผมหมายถึงงานวันวิสาขบูชาโลกซึ่งจะจัดขึ้นที่พุทธมณฑล
ใครเป็นคนต้นคิดในเรื่องนี้ก็ตาม แต่เขากำลังคิดอะไรที่สืบเนื่องมาในหมู่ชนชั้นนำสยามกว่าร้อยปีแล้ว นั่นคือ การประกาศสถานะ ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลกของไทย
เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการของเขาหมด ยกเว้นก็แต่สยาม ฝรั่งเจ้าอาณานิคมเองก็ยอมรับสถานะศูนย์กลางของสยามในแง่นี้ ดังที่อุปราชอังกฤษประจำอินเดีย เลือกที่จะส่ง พระบรมสารีริกธาตุ ที่ค้นพบใหม่ให้แก่สยาม
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ประเทศเหล่านั้นจะพ้นจากสภาพอาณานิคม แต่ก็เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนภายใน หรือมิฉะนั้น ก็ไม่แสดงสถานะ ที่ชัดเจนนักว่าเป็นประเทศที่นับคือพระพุทธศาสนา (เช่นญี่ปุ่น หรือจีน) ฉะนั้นข้ออ้างของไทย ในฐานะศูนย์กลาง ของพระพุทธศาสนา จึงยังพอฟังได้
การชุมนุมพุทธศาสนิกทั่วโลกเพื่อร่วมฉลองวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศสถานะนี้โดยนัย และต้องยอมรับ ว่าเป็นการประกาศที่นุ่มนวล ไม่น่าจะสร้างความหมางใจแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอื่นๆ
แต่สิ่งที่ผมสงสัยอยู่เสมอก็คือ เราจะเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาเพื่ออะไร และศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในโลกนี้ น่าจะหมายถึงอะไร
เราไม่เคยคิดถึงการรวมนิกาย ระหว่างมหายานและเถรวาท อันที่จริง ถึงไม่จำเป็นต้องรวมนิกาย ระหว่างกัน แต่ความสัมพันธ์ ที่ใกล้ชิดกันขึ้น ระหว่างมหายานและเถรวาท น่าจะนำไปสู่ความเจริญงอกงาม ของทั้งสองฝ่ายเช่น การร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ หาแก่นพุทธธรรม จากคัมภีร์ของทั้งสองฝ่าย, การชำระตรวจสอบเปรียบเทียบคัมภีร์ระหว่างกัน, การแลกเปลี่ยนนักศึกษา ระหว่างสถาบัน อุดมศึกษาของศาสนา, การประยุกต์ใช้ศาสนพิธีเพื่อเป็นอุบายสำหรับเข้าถึงพุทธธรรมที่เหมาะกับคนในสังคมปัจจุบัน ฯลฯ เป็นต้น
ความเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาน่าจะมีความหมายอย่างไร ไม่ได้นิยามกันง่ายๆ เลย ในแง่พุทธธรรม ศูนย์กลางของ พระศาสนา คือพระธรรม ซึ่งแทรกอยู่ในทุกอณูของโลกอยู่แล้ว ในแง่ของการเผยแผ่พระศาสนา เปรียบเทียบกับศูนย์กลางการเผยแผ่ ที่เคยมีมาในอดีต นับแต่อินเดีย, จีน, ศรีวิชัย, ทวารวดี, ลังกา,เมืองมอญ, เชียงใหม่, อยุธยา ประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในฐานะใกล้เคียงกันเลย เพราะศูนย์กลางในอดีตเหล่านั้น ล้วนเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาพระศาสนา ที่เลื่องลือในภูมิภาคทั้งสิ้น ทั้งพระและฆราวาส จากแดนไกล จาริกดั้นด้นมาศึกษาหาความรู้ ในศูนย์กลางเหล่านั้น อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการส่งสมณทูต ไปตั้งศาสนา และสืบสมณวงศ์ ในแดนไกลด้วย (เป็นกระบวนการที่ใหญ่โต ขนาดที่เมื่อเปรียบกับวัดไทย ในต่างแดนปัจจุบันแล้ว ต้องถือว่า ที่เราทำอยู่นั้น กระเส็นกระสาย เท่านั้น)
ยิ่งคิดถึงความเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ของโลกปัจจุบัน ประเทศไทย ยิ่งอยู่ห่างไกล จากความเป็นศูนย์กลางขึ้นไปใหญ่ ศัตรูสำคัญ ของพระพุทธศาสนา (หรือศาสนาอื่นๆ ทั้งหมด) คือวิทยาศาสตร์แบบแข็งทื่อตายด้าน หรือวิทยาศาสตร์ แบบวัตถุนิยม (ความจริงคือวัตถุ และความสุข คือการจัดการทางวัตถุให้ถูกต้อง) มีผู้คนเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เพราะวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยม อย่างนี้ทั่วโลก พระพุทธศาสนา ให้คำตอบและแก้ทุกข์ของเขาได้ แต่ต้องเป็นพระพุทธศาสนา ที่ไม่ถูกครอบงำด้วยวิทยาศาสตร์ แบบวัตถุ คำถามที่เราควรตอบ อย่างซื่อสัตย์ก็คือ พระพุทธ-ศาสนาในประเทศไทย (นับตั้งองค์กรคณะสงฆ์ ไปจนถึงความเชื่อ ของสังคมไทย ที่อ้างเป็น "พุทธ") ถูกครอบงำด้วยวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยมหรือไม่... เรานับคือพุทธมณฑลหรือนับถือพระพุทธศาสนา?
อีกทั้งแนวคิดใหม่ๆ ที่ท้าทายให้นักคิดชาวพุทธต้องตอบ เช่นสิทธิมนุษยชน กับพระพุทธศาสนา, สิทธิสตรีกับพระพุทธศาสนา, ความเสื่อมโทรม ของสิ่งแวดล้อม กับพระพุทธศาสนา,ประชาธิปไตยกับพระพุทธศาสนา,เสรีนิยมใหม่กับพระพุทธศาสนา, Fundamentalism กับพระพุทธศาสนา, รัฐฆราวาสกับพระพุทธศาสนา, เพศที่สาม กับพระพุทธศาสนา, สันติภาพกับพระพุทธศาสนา ฯลฯ ความเป็นศูนย์กลาง ที่คนทั้งโลกจะหันมามองหาคำตอบ ไม่มีคำตอบอะไรเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เลย ย่อมเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนไทย (ทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส) ไม่ได้พยายาม อธิบาย "ทุกข์" และ "ทางดับทุกข์" ของโลกปัจจุบัน ตามหลักพุทธธรรม แต่คำอธิบาย ของท่านเหล่านั้นแม้เผยแผ่ไปทั่วโลกแต่ก็ไม่ใช่จุดยืนของพระพุทธ-ศาสนาไทย (ทั้งในรูปองค์กร และการปฏิบัติ)
อันที่จริง น่าสงสัยด้วยว่าชาวพุทธไทยมองเห็นศัตรูที่แท้จริงของพระศาสนาหรือไม่ ดูเหมือนเรายังติดอยู่กับศัตรูเก่า คือหมอสอนศาสนา และบาทหลวง หรือศาสนาอื่น (ซึ่งที่จริงก็โดนศัตรูร่วมเบียดเบียนจนย่ำแย่ไปพอๆ กัน) ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงยึดมั่น ถือมั่น กับความ "บริสุทธิ์" ของพระพุทธศาสนาซึ่งมีความหมายเพียงว่า สิ่งใด ที่อาญาสิทธิ์รับรองสิ่งนั้นย่อมบริสุทธิ์ โดยหลับตาให้แก่ความเฟะฟอน ของสิ่งที่ เรียกว่า "อาญาสิทธิ์" ทุกประเภท เพราะหาอะไรที่ถูกครอบงำ ด้วยวิทยาศาสตร์ แบบวัตถุนิยมยิ่งไปกว่า "อาญาสิทธิ์" ทุกประเภทได้ยาก
ถ้าจะมองในแง่ความรุ่งเรืองของพระศาสนา ก็ยังมีปัญหาว่าจะนิยามความรุ่งเรือง กันอย่างไร อย่างมากที่ประเทศไทยจะอ้างได้คือ ความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ ของวัดวาอาราม (ซึ่งยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน) แต่ทั้งนี้เป็นเพราะฐานะเศรษฐกิจ ของประเทศไทย ดีกว่า ประเทศพุทธศาสนา เถรวาททั่วไป จึงมีกำลังบำรุงวัดวาอาราม ทางวัตถุได้มากกว่าที่พม่า, เขมร, ลาว และลังกาจะทำได้ แต่วัดไทย ที่บำรุงกัน จนล้นเหลือ ในทุกวันนี้ แทบจะหาร่องรอย"รุกขมูล" ไม่ได้เอาเลย ใครจะเป็นกำลัง ให้แก่การต่อสู้กับบริโภคนิยม ซึ่งสร้างความทุกข์ อย่างมหันต์ให้แก่ผู้คนในโลกปัจจุบัน ถ้าอย่างนั้นฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นสร้างความรุ่งเรือง หรือความเสื่อมโทรม ให้แก่พระศาสนากันแน่?
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกในครั้งนี้ ไม่น่าแปลกใจเลย เมื่อมองสภาพความเป็นจริง ของพระพุทธศาสนา ในประเทศไทยแล้ว ก็มองเห็นความ "เป็นไปอย่างนั้น" อย่างชัดเจน เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้ ผลก็เป็นเช่นนั้น เป็นธรรมดา
(นิธิ เอียวศรีวงค์ มติชน วันจันทร์ที่ ๙ พ.ค. ๔๘)
- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -