คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า
-
สันติอโศกไม่ยอมรับกฎกติกาของพระไตรปิฎก
นับเป็นข้อกล่าวหาที่น่าพิสมัยยิ่งนัก
จากบทสัมภาษณ์ของนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ได้พูดถึงเสียงวิจารณ์ที่ปล่อยให้กลุ่มสันติอโศก ที่ไม่ยอมรับกฎกติกา ของพระไตรปิฎก และมีปัญหา ไปร่วมสังฆกรรมกับมหาเถรสมาคม จัดงานวันวิสาขบูชานั้น (มติชน ๑๗ เม.ย. ๒๕๔๘) นับเป็นข้อกล่าวหา ที่น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อทุกๆ ฝ่ายเพราะเท่ากับเป็นการสังคายนาพระศาสนาโดยธรรมชาติไปในตัว อย่างน้อยก็จะได้มีการเปิด พระไตรปิฎกดูกันว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่มีในพระไตรปิฎกนั้น มีอะไรบ้าง ที่สันติอโศก วิปริตไปจากธรรมวินัย และก็น่าจะเป็นประโยชน์ แก่ผู้กล่าวหาด้วยเช่นกัน เพราะผู้ที่กล่าวหาสันติอโศก ไม่ยอมรับพระไตรปิฎก ก็จะต้องแสดงว่า เป็นผู้เคร่งครัด ต่อกฎกติกา ของพระไตรปิฎกอย่างยิ่ง และประโยชน์ที่สำคัญ ก็น่าจะเกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ ของชาวอโศกเองโดยตรง เพราะสมณะ ของชาวอโศกทุกรูป ที่ตั้งใจมาอุทิศชีวิต ให้พระศาสนานี้ ต่างก็มีความตั้งใจ มีเป้าหมายที่จะปฏิบัติ ตามพระไตรปิฎกอย่างยิ่ง ไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะทำให้ผิดจากคำสอน ของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด ดังนั้น หากจะมีข้อใด ที่เราไม่รู้เท่าถึงการณ์ หรือเข้าใจผิด เรามีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะน้อมรับคำตำหนิติติง จากท่านผู้รู้ทั้งหลายที่ใคร่ครวญดีแล้ว มาแก้ไขปรับปรุงทันที เพราะความไม่ดี ไม่ถูกต้องนั้น ไม่สมควรจะอยู่กับชาวเรา แม้แต่วินาทีเดียว
ความจริงแล้วข้อผิดพลาดบกพร่อง ของสันติอโศกที่มีต่อพระไตรปิฎกนั้น ได้มีอาจารย์ตะวัน เกียรติบุญญาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชา ปรัชญา และศาสนา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ทำวิจัยในเรื่องนี้ เพื่อเสนอบัณฑิตวิทยาลัย ม. มหิดล ตามหลักสูตร ปริญญาอักษรศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ไว้แล้ว ซึ่งได้รายงาน ในงานวิจัยเอาไว้ว่า...
ผู้วิจัยได้เข้าไปอาศัย กินอยู่ หลับนอน ทำงาน ร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชาวอโศก เพื่อศึกษาสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ การประพฤติศีลวัตร กิจวัตรประจำวัน และบทบาทของพระชาวอโศก ที่มีต่อสังคม เพื่อให้สามารถยืนยัน ผลการปฏิบัติธรรม ตามแนวการสอน ของพระชาวอโศก ได้ด้วยประสบการณ์ตรง ของตนเอง
ส่วนผลการศึกษาเปรียบเทียบนั้น ได้ใช้แบบสอบถามเพื่อการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมด้วย ในบทความนี้ผู้วิจัยขอตัดข้าม ๕.๑ ไปรายงาน สรุปผลการศึกษา ข้อ ๕.๒ เพื่อประหยัดเวลา
๕.๒ ศีลวัตรของพระชาวอโศก
โดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า พระภิกษุสังวรแต่ปาฏิโมกขุทเทศศีล (วินัย ๒๒๗) ก็เพียงพอแล้ว
จากคำตอบเกี่ยวกับการสังวรศีลหมวดต่างๆ ของพระชาวอโศก ได้ข้อมูลว่าพระชาวอโศกสังวรในศีลทั้ง
๔ หมวด โดยถือโอวาท-ปาฏิโมกขศีล มาเป็นอันดับ ๑ (ร้อยละ ๓๐), จุลศีล มัชฌิมศีล
มหาศีล เป็นอันดับ ๒ (ร้อยละ๑๘) ปาฏิโมกขุทเทศศีล เป็นอันดับ ๓ (ร้อยละ ๒๒), และศีล
๑๐ เป็นอันดับสุดท้าย (ร้อยละ ๒๐)
๕.๓ พระชาวอโศกรับจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
พระชาวอโศกให้ความสำคัญกับศีลหมวดนี้มาก เพราะถือว่าศีลหมวดนี้ คือปฏิปทาของพระภิกษุในพุทธศาสนา
เป็นแบบแผนที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อแยกภิกษุในพุทธศาสนา ออกจากนักบวชลัทธิอื่นๆ
ให้เด่นชัด ในสมัยพุทธกาล
จากแบบสอบถามบุคคล ๔ กลุ่ม คือกลุ่มพระชาวอโศก กลุ่มพระอาคันตุกะ (พระจากที่อื่น ผู้มาร่วมศึกษาปฏิบัติธรรม ตามปฏิปทา ของชาวอโศก เป็นการชั่วคราว) กลุ่มญาติธรรม (ฆราวาสวงใน) และกลุ่มฆราวาสที่สนใจมาฟังธรรมเป็นครั้งคราว ผู้ตอบมากกว่าร้อยละ ๙๐ เห็นด้วย และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า พระชาวอโศกเป็นผู้สำรวมสังวรในศีลหมวดนี้ นอกจากประมาณร้อยละ ๑๔ ของพระอาคันตุกะ ไม่ตอบหรือไม่แน่ใจ
ในการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ของพระชาวอโศกนั้น
(ก) ผู้วิจัยแบ่งประเภทของกิจกรรม ตามศีล ออกเป็น ๓ ส่วน ให้สอดคล้องกับสัมมา-อริยมรรค ๓ องค์ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ
(ข) ผู้วิจัยแบ่งกลุ่มบุคคลออกเป็น ๔ กลุ่ม ก ข ค และ ง
ก. หมายถึง พระชาวอโศกประเมินตนเอง
ข. หมายถึง พระอาคันตุกะประเมินพระชาวอโศก
ค. หมายถึง ญาติธรรมประเมินชาวอโศก
ง. หมายถึง ฆราวาส ประเมินชาวอโศก
(ค) ตัวเลข ๔ ๓ ๒ ๑ ๐ แสดงระดับความบริสุทธิ์ ในศีลของพระชาวอโศก
๔ มีค่าเท่ากับ มากที่สุด
๓ มีค่าเท่ากับ มาก
๒ มีค่าเท่ากับ ปานกลาง
๑ มีค่าเท่ากับ น้อย
๐ มีค่าเท่ากับ ไม่แน่ใจ หรือไม่ตอบ
๕.๓.๑ สัมมาวาจา
สัมมาวาจาที่เป็นโลกุตระ ได้แก่ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ
คำตอบแบบสอบถามในเรื่องนี้ มีลักษณะกระจายมาก และในข้อเว้นขาดจากการกล่าวข่มผู้อื่นว่าไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัย เว้นขาด จากการกล่าวตู่ผู้อื่น ว่าปฏิบัติผิดจากธรรมวินัย และเว้นขาดจากการยกตนว่าปฏิบัติถูก และข่มผู้อื่นว่าปฏิบัติผิด มีพระอาคันตุกะ ไม่ถึงร้อยละ ๕๐ ที่ตอบว่าพระชาวอโศกมีความบริสุทธิ์ในศีลข้อสัมมาวาจาดังกล่าว
ส่วนญาติธรรมและฆราวาส มากกว่าร้อยละ ๘๐ ตอบว่า พระชาวอโศกไม่พูดเท็จ พูดแต่คำจริง เชื่อถือได้
๕.๓.๒ สัมมากัมมันตะ
สัมมากัมมันตะที่เป็นโลกุตระ ได้แก่ ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้นจากกายทุจริตทั้ง
๓ คือ การตัดรอบชีวิต การถือเอา ของที่เขามิได้ให้ การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ดังคำในมหาจัตตารีสกสูตร คือ "เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน
งดเว้นจาก กาเมสุมิจฉาจาร"
( ๑๔/๑๗๒)
เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ในศีล หมวดสัมมากัมมันตะ คือ เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนา งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ของพระอโศก ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ ๙๐ เห็นว่าพระชาวอโศกบริสุทธิ์ในศีลหมวดนี้มากที่สุดและมาก โดยเฉพาะ ในข้อฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี และเวลาวิกาล
๕.๓.๓ สัมมาอาชีวะ
สัมมาอาชีวะที่เป็นโลกุตระ ได้แก่ "ความงด ความเว้น ความงดเว้น เจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ
๕ คือ การโกง การหลอกลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางที่ผิด การเอาลาภต่อลาภ หรือลาภธรรมดา
คือประจบสอพลอ การทำเลศนัย ใช้เล่ห์ขอ การบีบบังคับ ขู่เข็ญ การรับแลกเปลี่ยน"
ดังคำอธิบายในมหาจัตตารีสกสูตร
เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ในศีล หมวดสัมมาอาชีวะ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณร้อยละ ๙๐ ของทุกกลุ่ม ยกเว้น กลุ่มพระอาคันตุกะ เห็นว่า พระชาวอโศก เป็นผู้มีสัมมาอาชีวะ คือ ไม่โกง ไม่หลอกลวง ไม่ตลบตะแลง ไม่ประจบสอพลอ ไม่ทำเลศนัยใช้เล่ห์ขอ ไม่บังคับขู่เข็ญ หรือไม่ต่อลาภด้วยลาภ (ทำเพื่อหวังผลแลกเปลี่ยนตอบแทน)
และในข้อที่เกี่ยวกับการซื้อขาย หรือการรับเงิน ใช้เงินผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละกลุ่ม ตอบว่า พระชาวอโศกบริสุทธิ์ ในศีลข้อนี้ มากที่สุด ส่วนพระชาวอโศก ตอบว่า ตนเองบริสุทธิ์ในศีลข้อนี้ ร้อยละ ๑๐๐
ส่วนที่พระพุทธองค์บัญญัติในมหาศีล ซึ่งจัดเข้าหมวดสัมมาอาชีวะได้ทั้งหมด ผู้วิจัยจะได้นำเสนอต่อไป ในหัวข้อต่อไป
๕.๓.๔ พระชาวอโศกกับเดรัจฉานวิชา
พระพุทธองค์ได้บัญญัติเอาไว้ในมหาศีลอย่างเด่นชัดว่า "ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เช่น อย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด
ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้"
ในปัจจุบัน ปรากฏว่ามีภิกษุจำนวนไม่น้อยที่ละเลย และละเมิดศีลหมวดนี้ ประกอบติรัจฉานวิชา เพื่อแสวงหาลาภ อามิสหรือแท้ๆ ก็คือ หาเงิน จนมหาเถรสมาคม ต้องออกคำสั่งห้าม เช่น การตั้งตนเป็นอาจารย์บอกหวยเบอร์ เป็นหมอทำเสน่ห์ยาแฝด อาถรรพณ์ การร่ายเวทมนตร์ การทดลองของขลัง การทำน้ำมนต์ การรดน้ำมนต์ การเจิม การดูฤกษ์ยาม เป็นต้น
ภิกษุในพุทธศาสนา ไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนกิจกรรมซึ่งเป็นติรัจฉานวิชา ในเกวัฏฏสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคต เกลียดชัง เบื่อระอา ต่ออิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์" เพราะทรงเห็นว่า เป็นฤทธิ์ที่ไม่ใช่อาริยะ เป็นฤทธิ์ที่ประกอบด้วย อาสวะ ยังเป็นอุปธิ มีขอบเขตจำกัด อับจนและมิใช่แก่นธรรม ทั้งเสี่ยงต่อปาราชิก ถ้าตนไม่มีฤทธิ์จริง การเล่นเดรัจฉานวิชา และไสยศาสตร์ เป็นกิจกรรม ของปุถุชน ที่ยังเขลาอยู่
พระชาวอโศกมีปฏิปทาที่เคร่งครัด ในการเว้นขาดจากกิจกรรมที่เป็นเดรัจฉานวิชา และเป็นมิจฉาอาชีวะ ซึ่งพระพุทธองค์ ทรงห้ามไว้ ดังที่ปรากฏ ในมหาศีล
๕.๓.๕ สรุปการปฏิบัติตาม จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
พุทธบัญญัติว่าด้วยจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เป็นบัญญัติที่เอื้ออำนวยให้ผู้ปฏิบัติมีแนวทางตรง และชัดเจน ในการงดเว้น กิจกรรม บางประการ เพื่อเข้าสู่การปฏิบัติสัมมาอริยมรรค ที่กำหนด รู้ได้ เห็นได้ วัดผลได้ ทั้งด้วยตนเอง และผู้อื่น
การที่พระและฆราวาสชาวอโศก ยึดมั่นในจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล จึงเป็นทางที่พุทธบริษัทกลุ่มนี้ได้พาตน "เข้าไปดำเนินชีวิต ร่วมทางกับ พระพุทธเจ้า" ตามคำสอนระบบสัมมาอริยมรรค หรือที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือที่เรียกว่าทางสายกลาง หรือแม้ทุกข์อริยสัจ ข้อที่ ๔ ที่เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็มีเนื้อหาสาระตรงกัน
ผู้วิจัย วิเคราะห์และยืนยันได้ว่า พระชาวอโศกปฏิบัติตามพุทธบัญญัติอย่างเคร่งครัด และมีความตั้งใจจริง อย่างแน่วแน่มั่นคง และได้รับศีลหมวดนี้ ในพิธีอุปสมบทด้วย
- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -