ใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาโลก - ส.ศิวรักษ์ -
บรรยายเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนศรีอยุธยา



ต่อจากฉบับที่ ๑๗๘

ณ จุดนี้แลที่ความรักอย่างแท้จริงจักปรากฏ อย่างไปพ้นตัณหาหรือดำกฤษณา ซึ่งมักควบคู่ไปกับความโกรธ ความชัง หรือความลุ่มหลง ที่แปลงกามฉันทะให้เป็นธรรมฉันทะ จนเข้าถึงความรักอันบริสุทธิ์ ดุจดังข้อความที่ปรากฏในกรณียเมตตสูตร ที่ว่า มารดาถนอมลูกคนเดียว ผู้เกิดในตน ด้วยยอมพร่าชีวิตได้ ฉันใด พึงเจริญความรักที่มีในใจอย่างไม่มีประมาณ ในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น นั่นแล ผู้ที่ไม่เคยเจริญจิตสิกขา อย่างเข้าไม่ถึงสัมมาสมาธิ จะเข้าใจบทสวดสังวัธยายดังกล่าวนี้ไม่ได้ โดยที่จิตสิกขาที่ว่ามานี้ นับว่าเป็นการก้าวล่วงความเป็นอัตตา หรือการยึดติดในตัวกูน้อยลง อย่างไปพ้นการแบ่งภาคเป็นสอง ระหว่างเราเขา กูมึง ดีชั่ว

ทั้งหมดนี้ประมวลได้เป็นสันติสุข ปิติ ปราโมทย์ รวมถึงเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งก็คือสาระหรือสภาวะที่แท้ของจิต ซึ่งว่างเปล่า และรับรู้อย่างไม่ติดยึดและอย่างไม่มีอคติ นี้แลคือสภาวะที่เข้าถึงความตื่นจากการครอบงำต่างๆ ทั้งทางโลภ โกรธ และหลง ซึ่งมีวิทยาศาสตร์กระแสหลักทางวัตถุนิยมเป็นแกนกลางทางอวิชชา

เมื่อสมาธิภาวนาช่วยให้เข้าถึงปัญญา คือรู้สภาวะต่างๆ ตามความเป็นจริง อย่างปราศจากการยึดติด ย่อมช่วยให้เราเปิดกว้าง อย่างมีน้ำใจไมตรี อย่างเอื้ออาทร และพร้อมที่จะให้อภัย แม้กับผู้ที่คิดร้ายและทำร้ายเรา หรืออะไรที่เป็นฝ่ายเรา หรือที่เรารักและหวงแหน เราเอง ก็สามารถดำเนินชีวิตไปได้ อย่างเป็นอิสระ อย่างไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น หากเป็นไปอย่างเกื้อกูลผู้อื่น สัตว์อื่น ตลอดจน ธรรมชาติทั้งหมด

นี้แลคือเนื้อหาของการศึกษาหรือพุทธ-ศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยไม่จำต้องใช้คำว่าไตรสิกขา หรือศีล สมาธิ ปัญญา ยิ่งสภาวะ ของสังคม โลกในปัจจุบัน เต็มไปด้วยความวิกฤติ ทั้งทางที่เน้นในเรื่องบริโภคนิยม โดยทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และมหาชน คนเล็กคนน้อยอยู่ตลอดเวลา โดยแทบไม่มีใครคำนึงถึงสุขภาพในระยะยาวของมนุษย์และธรรมชาติเอาเลย โดยที่ทั้งหมดนี้ มาจากการตัดสินใจ ของมนุษย์ หรือนโยบายของรัฐและบรรษัทข้ามชาติ ที่ยึดเอาตัณหาและความเห็นแก่ตัว ในระยะสั้นเป็นหลัก กล่าวคือ วิกฤตการณ์ของโลก มาจากวิกฤตการณ์ทางมโนธรรมสำนึก

ถ้าเราจะปลอดไปได้จากวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน เราต้องเปลี่ยนทัศนคติและคุณค่าขั้นพื้นฐาน ซึ่งก็คือสาระ ของการศึกษา กล่าวคือ เราต้องเห็น ความสำคัญว่า สันติภาวะภายใน ขึ้นอยู่กับจิตสิกขา หรือขึ้นอยู่กับการเจริญสติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นเจ้าของอะไรๆ บ้าง เรามีศักดิ์ศรีอย่างไรบ้าง ทางสังคม เรามีอำนาจมากน้อยเพียงไร และเรามีบทบาทอย่างไรในทางสังคมและการเมือง เราควรจะต้องตื่นขึ้นให้ได้ จากการติดยึดในตัวตนของเรา สลัดให้พ้นไปจากการติดยึดในตำแหน่งหน้าที่การงาน และสภาพแวดล้อมต่างๆ ในทางสังคม ซึ่งบ่อยครั้งสภาพนั้นๆ เกิดความกดขี่และความเครียดขึ้น เพราะอหังการของเราเอง หากเรามักอ้างว่า นั่นเป็นอหังการของคนอื่น เราควรต้องใช้ความเยือกเย็นและความกรุณากับคนรอบๆ เราในครอบครัว ในสำนักงาน ตลอดไป จนคนแปลกหน้าอื่นๆ แม้จนคนที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเรา และเราต้องขยายการุณยภาพ ให้โยงใยไปถึงสรรพสัตว์ โดยที่ทั้งหมดนี้ ล้วนมีบุญคุณกับเรา ด้วยกันทั้งนั้น เราควรปลุกมโนธรรมสำนึกภายในใจของเรา ให้แลเห็นว่า ความอยู่ดีของสรรพสัตว์ รวมทั้งศัตรูของเรา คือความอยู่ดีของเรา การที่เราจะคิดได้ พูดได้ และทำได้เช่นนี้ มีเพียงวิธีเดียว คือการฝึกจิต ให้เป็นสมาธิ ในทางของสัมมาทิฏฐิ

ในอดีต ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดเทคโนโลยี ที่ช่วยให้เราเอาชนะธรรมชาติและ เราเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติ ตลอดจน ประชากรของโลก แม้เราจะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะช่วยให้เราพ้นไปจากความทุกข์ยากและให้ผู้คนได้รับความสุขสบายยิ่งๆ ขึ้น แต่แล้วผล หาได้เป็นไปเช่นนั้นไม่ เพียงดูตัวอย่างที่ปากมูล กับที่กาญจนบุรี รวมถึงที่อุดรธานี และที่สงขลา ในบัดนี้ก็ได้ โดยไม่จำต้องเอ่ยถึง ปัตตานี และนราธิวาส ก็ยังได้

สำหรับวิทยาศาสตร์ในทางธรรมของพุทธศาสนาก็มักเป็นเรื่องที่ปลดเปลื้องทุกข์ให้แต่ละปัจเจกบุคคล ในแต่ละสังคม หรือชุมชน ย่อยๆ ด้วยการเน้น ที่สันติภาวะ ภายในของแต่ละคนมาถึงสมัยนี้ เราต้องวิทยาศาสตร์ ในทางนามธรรม ที่ช่วยให้เกิด ประยุกต์วิทยา หรือ เทคโนโลยีภายใน ให้ในแต่ละคน ไม่เพียงได้รับสันติภาพ และอิสรภาพเท่านั้น หากต้องนำสันติภาวะ และอิสรภาวะ ออกมาประยุกต์ใช้ ให้ได้ผล ในสังคมอีกด้วย แม้ในโลกสันนิวาสของเราสมัยนี้ จะมีสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย นานาประการ และบางคนในบางสังคม ก็มีเสรีภาพ อย่างเหลือเฟือ แต่คนเหล่านี้ ก็ไม่มีความสุข และขาดสันติภาวะภายใน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ ขาดทั้งปัจจัยสี่ และศักดิ์ศรี แห่งการดำรงชีวิต โดยที่ถ้าเราดูไปที่บุคคลอย่างเช่น องค์ทะไลลามะ ซึ่งถึงจะเผชิญกับความทุกข์ กับประชาชาติ และประชากรของท่าน อย่างมากมายเพียงใด แต่ท่านก็ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร้ทุกข์ และอย่างเรียบง่าย ท่านเจริญสติ อย่างมีความรู้ตัวทั่วพร้อม อยู่เสมอ ทั้งยังช่วยเตือนสติ เพื่อนมนุษย์ให้เข้าถึงความสุข ได้อย่างแยบคายอีกด้วย บุคคลเช่นนี้แล ควรเป็นแบบอย่าง ให้เราเห็นได้ว่า พุทธวิธีที่นำเอามา ประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม กับสังคมร่วมสมัย น่าจะเป็นการศึกษาทางเลือก ที่เหมาะสม สำหรับนานาชาติ และสำหรับ ประชาชาติไทยด้วย โดยที่เราเอง คงต้องการกลับไปหากำพืดเดิม ในทางความเป็นพุทธของเรา อย่างเข้าใจ ให้ถ่องแท้ ไม่ใช่หวนกลับไปหาอดีต อย่างฝันหวาน หากด้วยวิจารณญาณ ด้วยการสลัดประเพณีและพิธีกรรม ที่ลิดรอนความเป็นพุทธ ให้จางลงไป หรือ ลดลงไป จนถึงกับตัดกาฝาก และของปลอมต่างๆ ที่ปนเข้ามากับพุทธศาสนา ให้ปลาสนาการไปในที่สุด เพื่อเราจะได้เข้าถึง ความว่างเปล่า อย่างปราศจากมลพิษ ทางจิตวิญญาณ เพื่อเราจะไปได้พ้นลัทธิบริโภคนิยม อำนาจนิยม และอวิชชานิยม ที่เราสมาทาน อยู่ในปัจจุบัน

การเข้าใจโลกและจักรวาลในเวลานี้ วิทยาศาสตร์กระแสหลักกับพุทธศาสนามองประเด็นต่างกัน วิทยาศาสตร์ สังเกตธรรมชาติ ของโลก ในทางรูปธรรม ในขณะที่พุทธศาสนา สังเกตธรรมชาติของโลกในทางนามธรรม ถ้าเราสามารถผนวก ทั้งสองกระแสนี้ เข้าได้ด้วยกัน เราอาจใช้วิทยาศาสตร์ และศาสนธรรมอย่างควบคู่กันไป ดังที่สถาบันจิตและชีวิต กำลังพยายามกระทำอยู่ในบัดนี้ เช่น ใช้เครื่องมือ ทางวิทยาศาสตร์ วัดสภาวะจิตอันละเอียดอ่อน ของพระป่าที่ภาวนาทางจิตสิกขา อย่างลึกซึ้ง จนเข้าได้ถึงปฐมฌาน เป็นต้น เมื่อไร วิทยาศาสตร์เห็นได้ว่า การปฏิบัติธรรมช่วยให้วิทยาศาสตร์ไปพ้นวัตถุนิยม จนเข้าได้ถึงธรรมนิยม เมื่อนั้น ความรู้อย่างโลกๆ ในทางโลกีย์ ก็จะเข้าได้ถึงโลกุตระ จนไปพ้นการติดยึดในตัวตน เราเขา มึงกู หากเป็นไปอย่างต่อเนื่องกันไปทาง อิทัปปัจยตา ที่มีปัญญา กับกรุณา เป็นพื้นฐานของชีวิต และนี้แล คือการศึกษาอันอุดม

ยิ่งในช่วงหนึ่งทศวรรษมานี้ด้วยแล้ว ได้เกิดกฎบัตรของพื้นพิภพ Earth Charter ขึ้น โดยที่ผู้ร่างแทบทั้งหมด เป็นศาสนิกต่างๆ ในทางขบวนการ พัฒนาเอกชน หากมีชาวพุทธเป็นแกนนำ โดยเฉพาะก็สตีเฟน รอกกี้เฟลเลอร์ กฎบัตรนี้ ชี้ให้เห็นถึงการปฏิรูป หรือ การปฏิวัติ จากปฏิญญาสากล ของสหประชาชาติ เมื่อกึ่งศตวรรษ ก่อนหน้านี้เลยทีเดียว โดยที่ปฏิญญาสากล มีเพียงบางมาตราเท่านั้น ที่เป็นไปในทางพัฒนา ศักยภาพของมนุษย์ ได้อย่างเหมาะสมกับระเบียบ แบบแผนของโลก หากจำเดิมแต่การประชุมสุดยอด ที่เมืองริโอ ในประเทศ บราซิล ในปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา ได้เกิดกฎบัตรของพื้นพิภพขึ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -