- เสฏฐชน -


สูงอายุ แต่ไยใจไม่สูง

ช่วงงานสงกรานต์ประจำปี ได้ถูกกำหนดโดยส่วนรวมให้เป็น วันครอบครัว อันหมายถึงเวลาการไปเยี่ยมเยียนผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ในครอบครัวกันเอง รวมถึงผู้ใหญ่ที่เรานับถือด้วย

สิ่งที่เราอยากพูดถึง เป็นเรื่องการระลึกถึง ความดีงาม ความเสียสละที่คนน่าจะมีต่อผู้สูงอายุ เมื่อถึงคราวให้ความสำคัญต่อท่านเหล่านั้น

ปัจจุบันคนไทยทั้งหมด ๖๐ กว่าล้านคนนั้น มีผู้สูงอายุถึงหกล้านกว่าคน และในยี่สิบปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น
ถึง ๑๕ ล้านคน

ตัวเลขเหล่านี้น่าสนใจ พอๆ กับน่าวิตกไม่น้อย เพราะนั่นหมายถึงว่าภาวะทุกข์จะเกิดขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะ "กายิกทุกข์" หรือ "ทุกขขันธ์" ย่อมเพิ่มขึ้นไปด้วย

ใครจะปฏิเสธบ้างไหมว่าจำนวนตัวเลขอายุสูงขึ้น ความเจ็บป่วย ความเฉื่อยชาจะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าผู้นั้นจะดำรงตน ประกอบอาชีพอะไร

เพราะแม้ในศาสนจักรเองก็ยอมรับว่าอายุมากขึ้น จะลำบากมากขึ้นด้วย ไม่ว่าด้านการกิน การอยู่ การทำงาน ในศาสนาพุทธเอง ก็กล่าวเช่นนั้น

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์เหล่านี้ จะทำให้เราท้อแท้ หมดหนทางแก้ไข หากมองจากมุมตรงกันข้าม ความสูงอายุ หมายถึง ความอดทน ที่ได้ผ่านกาล-เวลาฝึกปรือ อบรม ประพฤติตนย่อมหนักแน่น มั่นคงไปด้วย

ถ้าใครคนนั้นไม่ปล่อยปละละเลย หาเหตุผลเชิงประคบประหงมตัวเอง ปกป้องไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมเปลี่ยนตัว ตามกาลเวลา ที่ยาวนานเหล่านั้น

ผู้นั้นก็จะกลายเป็นคนแก่ คนเก่า และคงต้องเก็บตัวไปด้วย เพราะไม่ทันโลก ไม่ทันสังคม ไม่ทันกาล นั่นหมายถึง การถูกทอดทิ้ง ให้เดียวดายไปด้วย

ดังจะเห็นได้จากทุกวันนี้ ความเป็นครอบครัวใหญ่ ระบบกงสีที่คนจีนเคยยึดถือปฏิบัติกันมา กำลังร่อยหรอ ขาดหายไปเพิ่มขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ นิยมการแต่งงานปลีกตัวออกไปจากพ่อแม่ ชอบความอิสระทัศนคติในเชิงโลกนี้มีเราสองคน

ภาพของผู้เฒ่าผู้แก่จูงหลาน ดูแลเด็ก ถูกทดแทนด้วยแหล่งเลี้ยงเด็กวัยแบเบาะ วัยเยาว์มากขึ้น แม้จะต้องจ่าย ค่าเลี้ยงดู แพงๆเพียงใดก็ตาม

ยิ่งจะก่อความภาคภูมิใจให้ผู้ชอบแก้ปัญหาแบบนี้ด้วยซ้ำ ที่พ่อแม่มือใหม่ จะส่งลูกไปอยู่ตามสถานที่ดังกล่าว มากกว่ายินดี ให้อยู่ในอ้อมแขน บุพการีผู้เฒ่าของเรา

เพราะเขารู้สึกว่าผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้าน ไม่มีความรู้ ไม่มีปริญญา ใบรับรองเชิงวิชาการ ควรแก่การมารับผิดชอบ ลูกน้อยของเขา แม้จะยอม สงบปากคอ ลงบ้าง เมื่อถูกตั้งคำถามว่าก็ทำไมพ่อแม่เลี้ยงพวกเธอมาได้ คำตอบที่แก้ต่างก็คือ "กาลสมัยมันผิดกัน"

คนตอบเช่นนี้ลืมไปว่าสมัยไหนๆ ก็คงต้องการความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ความจริงใจเสมอกัน แม้อาจจะต้อง บ่นบ้าง เฆี่ยนตีบ้าง ก็เพื่อให้เด็กดี พร้อมกับความเจริญเติบโต ไม่ใช่เพียงแค่หวังให้เด็กเก่ง เด็กฉลาดเท่านั้น

สถาบัน สถานที่ให้การอบรมเชิงที่กล่าวมานั้น อาจผลิตเด็กเก่ง เด็กฉลาดได้ แต่เมื่อเด็กที่เติบโตมาจากใบรับรองเหล่านี้ ไม่มีความรู้สึก สำนึกในบุญคุณ ของบุพการี ดูดายความเอื้ออาทรของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่อาจคอยเป็นห่วงเป็นใย มักพร่ำตักเตือน สั่งสอนโดยไม่ต้องแต่งตั้ง เพราะถือว่า เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ในครอบครัว ไม่ได้คิดว่าผู้ถูกตักเตือนจะไม่เชื่อถือ ด้วยเหตุผลที่คนรุ่นใหม่คิดว่าล้าสมัย ไม่ทันเหตุการณ์ ความรู้คับแคบ เขาอาศัยเชื่อมั่น ในสิ่งที่มากับการสื่อสารมากกว่า โดยไม่ต้องกระทบอารมณ์ด้วยช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่าง ความยึดถือ ที่แตกต่างกัน

จนทำให้รู้สึกต่อต้าน ไม่สบายใจที่ต้องทนให้ผู้ใหญ่สูงวัยกว่าพร่ำสั่งสอน เพราะคนรุ่นใหม่คิดว่าเขาหาความรู้เองได้ เขาหา ประสบการณ์เองได้ เพราะมีโอกาสที่จะไปผจญ กับโลกมากกว่า เขาจึงคิดแยกตัวออกไปจากครอบครัว หรือคิดแยกผู้เฒ่า ออกจากครอบครัว

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมานั่นแหละเป็นต้นเหตุของปัญหาสถานที่สงเคราะห์คนชราบางแค เปิดใจว่าสถานที่สงเคราะห์ คนชราแห่งนี้ มีสมาชิก ๒๒๒ คนเป็นหญิงถึง ๑๗๒ คน เป็นชาย ๕๐ คน

ซึ่งในจำนวนที่กล่าวมานี้ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้มีเพียง ๗๐ คนเท่านั้นที่เหลือจากนี้เป็นประเภท ช่วยเหลือตัวเอง ได้บ้าง ๘๐ คน และที่ช่วยเหลือตัวเอง ไม่ได้เลยถึง ๕๐ กว่าคน ทั้งขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานนี้ด้วย

เพราะผู้สูงอายุที่มาอยู่ในสถานที่นี้ มาจากทุกรูปแบบ เช่น จากโรงพยาบาลที่ลูกหลานทิ้งไว้มีมากถึง ๕๐% มาจากท้องถนน ที่เดินไป แล้วหลงลืม ลูกหลานถือโอกาส ทอดทิ้งไปเลย จนมีผู้หวังดีนำส่งสถานสงเคราะห์แทน รวมไปถึงผู้สูงอายุ ที่อยู่กับลูกหลานไม่ได้ เพราะปรับตัวไม่เป็น

สภาพครอบครัวไทยจีนที่เคยอยู่กันอย่างหนาแน่นเปลี่ยนไป ด้วยเหตุผลว่าคนต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพ ไม่เพียงพอ สวนทาง กันกับภาพเดิมๆ ที่บ้านหลังใหญ่ แต่แออัดไปด้วยคนจำนวนมาก ไม่มีการคุมกำเนิด เกิดมากี่คนก็เลี้ยงกันได้ เด็กๆ ก็ช่วยกันทำงาน ส่วนรวม ไม่ต้องกังวล เรื่องปัจจัยกลาง ในการดำรงชีวิต แต่เด็กๆ อาจไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเรียนน้อยก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ส่วนใหญ่ มักจะประกอบอาชีพ ที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ หรือทำงานบ้าน เพราะสังคมยุคนั้น เป็นสังคมเกษตร คนจึงไม่นิยม ทำงานนอกบ้าน

ตรงกันข้ามกับยุคปัจจุบัน สังคมไทยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ผู้ปกครองบ้านเมืองก็มีแนวโน้มส่งเสริมอุตสาหกรรม วิถีการดำเนินชีวิต ก็เปลี่ยนไป แม้บรรพบุรุษจะเป็นเกษตรกร ด้วยค่านิยมชักชวนให้ไปสู่การเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่ระบบลูกจ้างในเรือน ที่เรียกกันว่า คนใช้ ก็หายไป เพราะความอิสระเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้หญิง ไม่ต้องกล่าวถึงผู้ชาย ว่าเขาจะโจนทะยาน ออกไปสู่โลกกว้าง ขึ้นไปอีก การเดินทางไปใช้แรงงานในต่างประเทศที่เทียบอัตราเงินแลกเปลี่ยนสูงกว่า ย่อมผลักดันให้ชายไทย ไปขายแรงงาน ต่างแดนมากขึ้น

ในขณะเดียวกันชายต่างชาติสูงอายุ ที่เข้าวัยปลดเกษียณแล้ว กลับนิยมเดินทางมาอยู่เมืองไทย แถบจังหวัดทางภาคอีสาน ปรากฏว่า มีเขยต่างชาติสูงวัย จากประเทศแถบทวีปยุโรป เข้ามาแต่งงานด้วยเป็นจำนวนมาก เพราะค่าครองชีพในเมืองไทย สบายกว่าเมืองเขาเอง หญิงไทย ก็พลอยยอมได้สามีแก่เหล่านี้เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลว่า เป็นคนประหยัด ไม่เจ้าชู้ ไม่เที่ยวเตร่ ไม่เกียจคร้าน ไม่เอาเปรียบ เหมือนผู้ชายชาติเดียวกัน

การหาทางออกของคนท่ามกลางการดำรงชีวิตที่ซับซ้อน หลากหลายมากขึ้น ทำให้ต้องดิ้นรนที่จะแก้ปัญหาของตนๆ จนบางครั้ง ลืมนึกถึง เรื่องศักดิ์ศรี ชาติภูมิ และศีลธรรม ตราบเท่าที่คนยังอ่อนไหว ต่อโลกธรรมทุกชนิด

ฉะนั้นไม่แปลกเลยที่คนจะรู้สึกว่าอุดมคติกินไม่ได้ อุดมคติไม่พาให้อิ่มท้อง ความคิดเช่นนี้จึงทำให้อัตราส่วนของคนเห็นแก่ได้ ไม่ลดน้อยลง

มิหนำซ้ำผสมแรงความทุกข์ที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ยิ่งจะทำให้คนเก่าแก่ สมัยเดิมๆ ที่อาจมีเชื้อความคิด อย่างนี้ หลงติดเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้าง ก็ต้องปัดทิ้งออกอย่างไม่ไยดี มิฉะนั้น ก็จะถูกเย้ยหยันว่าล้าสมัย

ผู้สูงอายุสมัยก่อนจะไม่กล้าทำสิ่งที่ผิดศีล เพราะรู้สึกว่าแก่เฒ่าแล้วต้องเข้าวัด แทนที่จะใช้เวลานี้ปล่อยแก่ ด้วยการเที่ยว ดื่ม เล่น หลับนอน กับสาวๆ วัยเอ๊าะๆ วิธีหาความสุขของผู้สูงวัยไม่พ้นไปจากการปลูกพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล หรือไม่ก็อยู่กับหลานๆ เหลนๆ เป็นเสาหลัก ในครอบครัว

ภาพของเด็กเล็กกับชายชราที่อุ้มชูเอาใจใส่กันและกัน แทบจะหาไม่ได้เลย เพราะต่างก็ใช้เวลาไปทำสิ่งที่ตนเอง ปรารถนาเสพ เสมอกัน มิหนำซ้ำ ชายชรา อาจจะหรูหรา มั่งคั่งมากกว่าคนหนุ่ม หากมีฐานะดีกว่า เข้าในทำนองเลี้ยงอีหนูไว้เป็นกำลังใจ สมน้ำสมเนื้อ กับผู้หญิง ที่จะเลือกชายสูงอายุมากขึ้น เพราะหวังว่า จะไม่ต้องทำงานหนัก ด้วยการก่อร่างสร้างฐานะ เหมือนเลือกคนหนุ่ม ที่ยังไม่มีอะไรเลย โดยเขาเหล่านี้ ไม่รู้สึกว่าพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นการท้าทายศีลธรรม

วันครอบครัวจึงไม่ค่อยมีความหมายสักเท่าไหร่นัก ในเมื่อคนในครอบครัวต่างไม่อยากอยู่ในครอบครัว เพราะสังเกตได้จาก เขามัก จะแยกย้าย กันไปแสวงหา ความสุขนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ เช่น กินข้าวนอกบ้าน เที่ยวนอกบ้าน นอนนอกบ้าน บ้านอาจจะเป็นเพียง สิ่งก่อสร้าง ที่ใหญ่โต สวยงาม โอ่อ่า เพื่ออาศัยแสดงออกซึ่งความร่ำรวยของตนเองเท่านั้น ส่วนวิญญาณของความสุข ความอบอุ่น ภายในบ้าน แทบหาไม่ได้เลย

เพราะแม้บ้านใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม เมื่อเวลามีงานมงคล งานต้องเชิญคนจำนวนมาก เขาก็ไม่นิยมจัดในบ้าน ทั้งๆ ที่บ้านบางคน ใหญ่กว้างขวาง กว่าสถานที่ให้เช่าจัดงาน บางแห่งด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่ภาคภูมิ เท่ากับไปจัดตามโรงแรมห้าดาว สิบดาวนั่นเอง

เวลาลูกหลานเรียนจบ ซึ่งควรที่จะมากราบขอบคุณผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าที่ได้อุตส่าห์เลี้ยงดูอุ้มชูมา ผู้ใหญ่กลับต้องเป็นฝ่ายจัดเลี้ยง แสดงความยินดี ให้แก่ลูกหลานเสียเอง

เมื่อโลกแนะนำกลับตาลปัตรกันอย่างนี้ จึงไม่ต้องมาคร่ำครวญว่า ทำไมเด็กจึงไม่รู้จักบุญคุณ ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่ได้แนะนำ สิ่งที่เด็กต้องกระทำ ต่อผู้ใหญ่ ให้เหมาะกับฐานะ และให้เด็กรู้จักว่าอะไรก่อน อะไรหลัง

ทางศาสนาพุทธสอนไว้ว่าพ่อแม่บุพพการีคือผู้เลี้ยงดูเรามาก่อน ฉะนั้นเราจะต้องตอบแทนคุณท่าน ยามท่านสูงวัยแล้ว

แต่ข้อมูลที่ได้มาบอกว่าจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุว่างงานเพราะเขาไม่จ้าง ผู้สูงอายุถูกปล่อยให้เดียวดาย ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นแหละ คือบันไดที่ให้ผู้เจริญวัยขึ้นมาภายหลังได้ไต่ขึ้นไปสู่ความเจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วไซร้ การอยากเป็นผู้มีอายุยืน จะมีความหมายอะไร

และผู้ที่กำลังเจริญเติบโตตัวเลขอายุเพิ่มขึ้น ลืมไปหรือเปล่าว่าเขาก็คือผู้กำลังเดินทางไปสู่ตำแหน่งเดียวกับผู้เฒ่าเหล่านั้น

หากไม่รีบหันกลับมาแก้ไขด้วยการปรับตัว ทำใจเสียแต่เดี๋ยวนี้ ต่อไปในอนาคตเราจะได้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคกาย และโรคจิตมากขึ้น เป็นแน่แท้

เพราะวงการแพทย์ก็ยอมรับว่า "สุขกายเจริญวัย สุขใจเจริญจิต"

หากคำกล่าวนี้เป็นจริง ก็คงจะต้องคู่กับ "ทุกข์กายวัยถดถอย ทุกข์ใจจิตตกต่ำ"

ปากทางของนิยามคนดี ก็คือความรู้คุณผู้ที่ทำคุณแก่เรา และตอบแทนคุณท่าน

คงจะต้องยกขึ้นมาพูด มาเตือนสติกันทุกๆ คนให้บ่อยขึ้น

แทนการที่จะพูดแต่เรื่องปัญหาความจน การศึกษาน้อย (ไม่มีปริญญา)

เพราะความจนความรวยที่วัดกันด้วยเงิน นั่นแหละคือชนวนบ่งบอกถึงความเป็น ผู้ศึกษาน้อย ด้อยปัญญา เพราะไปตีค่ากระดาษ (ธนบัตร) กับกระดาษ (ใบปริญญา) มากกว่าการเข้าไปรู้ค่าของความเป็นมนุษย์แท้ๆ

ถ้าคนเราเจริญเติบโตด้วยเงิน ยกค่าด้วยธนบัตร คนก็จะขายความเป็นคนเพียงเพื่อแลกเงินแลกธนบัตร และจะฆ่า แม้ตัวเองได้ เพราะขาดเงินขาด ธนบัตร

แต่ถ้าคนเราหันมายกค่าของคน ด้วยการเพิ่มความเห็นอกเห็นใจคนด้วยกัน แม้คนจะจนเงิน จะไม่มีธนบัตร คนก็จะช่วยคน ด้วยกัน ได้จริงๆ

และเพราะคนนิยมเงิน นิยมธนบัตรนี่เอง ในยามมีงานประเพณี นักขัตฤกษ์ทีไร คนก็จะประสบกับหายนภัยทุกรูปแบบ จากการไปใช้เงิน ไปหาธนบัตร ในงานนี้

คนน่าจะหาน้ำใจจากคนด้วยกัน ด้วยการแสดงน้ำใจให้มากกว่าแสดงความรวยเงิน รวยธนบัตร

ภาษีของรัฐที่ได้จากการขายคน ขายธนบัตรก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้คนตกต่ำ

หากรัฐต้องการคนดี คนสูง คนประเสริฐ รัฐก็ควรส่งเสริมคนดีคนประเสริฐมากกว่าที่จะมักไปส่งเสริมคนที่รวยเงิน รวยธนบัตร

สงกรานต์ปีก่อนๆ ที่ผ่านมา และแม้ปีนี้ก็ยังคงร้อนระอุด้วยสถานะการเงินที่เพิ่มในรูปหนี้สิน และการเมืองต่างภาษา แม้จะอยู่ ในประเทศเดียวกัน ผนวกกับธรรมชาติวิปริต เปลี่ยนทิศทาง น้ำขาดแคลนไปทั่วด้วยภัยแล้ง

สงกรานต์น้ำจะทำให้คนเย็นกายได้ล่ะหรือ?

หากคนไม่หันกลับมาสงกรานต์บุญทดแทน

วันเวลาที่ผ่านไปย่อมไม่ใช่หนทางของการเพิ่มคนสูงอายุสูงศีลธรรมแน่ๆ

แต่จะเป็นวันเวลาของการเพิ่มอาชญากรทุกวัยมากกว่า

สงครามชีวิตจะประทุรุนแรงขึ้นด้วยสงกรานต์น้ำกรดคือฆาตกรรมชีวิตคนด้วยกันเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -