กติกาเมือง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา
ตราสารหนี้


หลายคนเป็นนักปฏิบัติธรรม มุ่งที่จะลดละเลิกอบายมุข บางท่านถึงกับหนีสะสมไม่มีทรัพย์สินเงินทอง มุ่งหมายที่จะประพฤติตน ให้อยู่ในศีลธรรม พึ่งตนเอง มีสัมมาอาชีพ ขยัน สร้างสรรค์ มีความเป็นอยู่ อย่างผาสุก ไม่ฟุ้งเฟ้อ ประณีต ประหยัด เสียสละ เพื่อส่วนรวม ตลอดมา จึงไม่เห็นความสำคัญ ของระบบทุนนิยม หรือแนวคิดทางตะวันตก ที่มุ่งหาทรัพย์สิน ส่งเสริมให้คนบริโภค และพยายาม กอบโกย สร้างอาณาจักร ของตนเองให้ยิ่งใหญ่ขึ้น

การที่เราอยู่ในสังคมโลก ซึ่งกระแสโลกา-ภิวัตน์และข่าวสารสารสนเทศได้กระจายไปสู่ทุกอณู แห่งสังคมแล้ว ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้หลั่งไหล เข้าสู่ทุกประเทศ ทุกชุมชน ทุกชุมชน ขณะนี้ กำลัง ถูกกระทำให้เป็นสากล คือเป็นแบบตะวันตก มุ่งบริโภค หลงบริโภค พยายามสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ ของตนเอง หมู่กลุ่มและคณะ และกักตุน กอบโกยไว้เพื่อสร้างฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ถ้าความคิดตะวันออกหรือผู้ที่มุ่งหมายมาปฏิบัติธรรมต้องการควบคุมความต้องการที่เกินพอดีของตน ไม่ยอมรับรู้โลก หนีโลก ก็จะไม่รู้ เท่าทัน และไม่เข้าใจระบบของโลกที่กำลังเป็นไป ระบบการเงินของโลก ขณะนี้ กำลังแปรเปลี่ยนไปทุกขณะ การลงทุน ในแนวใหม่ ไม่ว่า ตราสารทุน ตราสารเงิน หรือระบบ การเงินการธนาคารสมัยใหม่ได้เข้ามาสู่สังคมโลก โดยเฉพาะ ประเทศไทย อย่างมาก จำเป็นต้อง ศึกษา ให้เข้าใจ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ และเข้าใจระบบของโลก การที่อยู่เหนือโลกนั้น ถ้าไม่เข้าใจระบบ ของโลก หนีโลก ก็ไม่ใช่ผู้มีปัญญา อย่างแท้จริง และสักวันหนึ่ง จะพลาดและตกเป็นเหยื่อ

ตราสารหนี้นั้น ถ้าแปลเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ก็คือสัญญาเงินกู้ที่ผู้ออกตราสารอยู่ในฐานะลูกหนี้ เนื่องจากผู้ออกตราสาร ต้องนำเงิน ไปลงทุน ขยายกิจการเพิ่มเติม เช่น ไปสร้างโรงงาน ไปซื้อสินค้า ผู้ที่ออกตราสาร ตกลงจะจ่ายดอกเบี้ย และคืนเงินต้น ให้ตามระยะเวลา ของตราสารหนี้นั้นๆ ซึ่งอาจ มีทั้งประเภทที่จ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้น หรือจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยทุกปี แล้วค่อยคืนเงินต้น เมื่อตราสาร ครบกำหนด ตราสารหนี้แตกต่างจากสัญญากู้ทั่วๆ ไปที่ใช้กันเพราะตราสารหนี้นั้น สามารถจะเปลี่ยนมือ จากเจ้าหนี้คนหนึ่ง ไปยังเจ้าหนี้ คนอื่นๆ ได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับตั๋วเงิน เช็ค ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญา ใช้เงิน ใบประทวนสินค้า

โดยทั่วไปตราสารหนี้มักมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราเงินฝากทั่วๆ ไปของธนาคาร ณ เวลาที่ออก ตราสารหนี้ เพื่อดึงดูด ให้คนนำเงิน มาให้กู้ หรือ มาซื้อตราสารหนี้ที่ออก เมื่ออัตราดอกเบี้ยธนาคาร ปรับเปลี่ยนสูงขึ้น ก็จะมีตราสารหนี้ใหม่ๆ ที่จะมีอัตราสูงกว่า ดอกเบี้ยธนาคาร ออกมาเสมอ

ตราสารหนี้มี ๒ ประเภท คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐ และตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน ตราสารหนี้ ที่ออกโดยรัฐ และองค์กรของรัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่ออกโดย องค์กรของ รัฐบาล มีชื่อแตกต่างกันไป เช่น พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ หรือ ของธนาคาร แห่งประเทศไทย

ตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชนเรียกว่าหุ้นกู้ มี ๒ ประเภท คือ ตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ และตราสารหนี้ ที่ไม่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกันหนี้ ผู้ลงทุนหรือผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ หรือซื้อหุ้นกู้ ต้องตรวจสอบ ให้แน่ชัดก่อนว่าผู้บริหารบริษัทนั้นเป็นคนอย่างไร มีประวัติอย่างไร มีนโยบายแน่ชัด ในการนำเงินไปลงทุน ในกิจการใด และผลตอบแทนนั้น สูงพอที่จะนำมาใช้คืนหรือไม่ ดูกิจการ ของเอกชนรายนั้นๆ ว่ามีความมั่นคงหรือไม่ ซึ่งพูดให้ชัดอีกครั้งหนึ่งก็คือ ดูระดับความเสี่ยงว่า บริษัทดังกล่าวนั้น มีเครดิตขนาดไหน ความเสี่ยงสูงหรือไม่ เพราะในกรณีที่บริษัท ซึ่งออกตราสารหนี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะกิจการต้องยุติลง เพราะล้มละลาย หรือถูกฟ้องร้องบังคับคดี ผู้ถือ ตราสารหนี้ มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งการชำระหนี้ ตามอัตราส่วนที่ตัวเองเป็นเจ้าหนี้ โดยเฉลี่ยกับเจ้าหนี้ รายอื่นๆ ตามทรัพย์สินของบริษัท ที่ออกตราสาร ที่เหลือเท่านั้น

ตราสารหนี้ยังมีการแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะยาวหรือระยะกลางแตกต่างกันไป ตราสารหนี้ระยะสั้น ดอกเบี้ยก็จะต่ำ เพราะผู้ที่ออกตราสาร จำหน่ายนั้น สามารถนำเงินไปใช้ในระยะอันสั้น และกิจการ ในขณะนั้น อาจจะยังไม่ทราบผลแน่ชัด ต้องระดมเงินใหม่ แต่ตราสารหนี้ ระยะยาว ดอกเบี้ยจะสูง เพราะผู้ออกตราสารหนี้ สามารถนำเงินไปลงทุน หาผลประโยชน์ ได้ยาวนาน แล้วนำผลประโยชน์นั้น มาจ่ายคืน ให้กับผู้ลงทุน ซื้อตราสาร แต่อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้ระยะสั้น ความเสี่ยงน้อยกว่า ตราสารหนี้ ระยะยาว เพราะตราสารหนี้ ระยะยาว อาจจะคาดการณ์ไม่ถึงว่า ในระยะยาว กิจการของ บริษัทดังกล่าวนั้น จะไม่ดี ตกต่ำ หรือล้มละลาย ทั้งไม่สามารถนำเงินดังกล่าวออกมาได้ ถ้ามีความจำเป็น ต้องใช้เงิน ในอนาคต อันใกล้ เว้นแต่นำออกขายอย่างรีบๆ จะได้ราคาต่ำ ยิ่งบริษัทนั้น กิจการไม่ดี ยิ่งแทบขายไม่ได้ ผู้ที่ซื้อตราสารหนี้นั้น จะประสบความสำเร็จ ในการซื้อขายได้ ต้องมี ความสามารถ มีประสบการณ์ และมีความรอบรู้ และสามารถ พยากรณ์ แนวโน้มของดอกเบี้ย ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจ และการเมืองได้เป็นอย่างดี

ผู้ซื้อตราสารหนี้ระยะยาวบางครั้งถ้าดอกเบี้ยคงที่ ระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดดอกเบี้ยธนาคารขึ้นสูง ตนเองก็ไม่สามารถ จะถอนเงิน ดังกล่าวนั้น ออกมาฝากธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยสูงได้ เมื่อรีบร้อน จะนำตราสารดังกล่าวนี้ไปขายให้บุคคลอื่นๆ ก็จะขายได้ ในราคาต่ำกว่า ที่ลงทุน บวกดอกเบี้ยที่จะได้รับ ถ้าตราสารหนี้ดังกล่าวนั้น ครบกำหนดตราสารหนี้ต่างๆ จะออกมา ก็ต้องออกให้สูงกว่า ดอกเบี้ย ของธนาคาร ในขณะออก เพื่อดึงดูดให้คนที่มีเงินเก็บในธนาคาร ถอนเงินมาซื้อ ตราสารหนี้

หุ้นกู้ซึ่งเป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่งนั้น มีการจ่ายดอกเบี้ย ๒ ประเภท คือ ดอกเบี้ยคงที่ตั้งแต่แรก และ ดอกเบี้ยแบบลอยตัว คือมีการ เปลี่ยนแปลงขึ้นลง ตามอัตราและเงื่อนไข ที่ระบุไว้ในตราสาร มากกว่า ดอกเบี้ยเงินฝาก ๑% หรือ ๒% หรือเพิ่มขึ้น ๑% ทุกๆ ๓ หรือ ๕ ปี ทั้งมีหุ้นกู้ บางประเภทท ยอยจ่าย ต้นเงิน พร้อมดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ

หุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้นกู้อีกประเภทหนึ่งที่ให้แปลงเงินที่ลงทุนหรือที่ซื้อตราสารนั้นเป็นหุ้นของบริษัทดังกล่าวนั้น และผู้ที่ซื้อ ดังกล่าว ก็จะกลายเป็น ผู้ถือหุ้น และมีสิทธิได้รับเงินปันผล

การซื้อขายตราสารหนี้เพื่อการลงทุน ส่วนใหญ่จะซื้อขายกันที่ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ และต้องซื้อขาย ผ่านตัวแทน เช่น ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ ปัจจุบันประเทศไทย มีตลาดซื้อขายตราสารหนี้ ด้วยอิเล็คทรอนิกส์ แต่มีการซื้อขายน้อย เพราะคนไทย ไม่ค่อยมีความรู้ และความเชี่ยวชาญ

การลงทุนและการซื้อตราสารหนี้สมัยก่อน ถ้าใครมีเงินไม่ถึง ๑๐ ล้าน ก็ไม่สามารถซื้อได้ แต่ถ้าเป็น กองทุนรวม ซึ่งเป็นการนำเงิน มารวมกัน เป็นก้อนใหญ่ ทำให้สามารถซื้อตราสารหนี้ได้ และไม่ได้ซื้อ ตราสารหนี้ ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะเป็นการเสี่ยง จะกระจายความเสี่ยง ไปสู่บริษัทต่างๆ

เห็นได้ว่าระบบการลงทุนของโลกได้แปรเปลี่ยนไปมากแล้ว ผู้ไม่มีความรู้ในการผลิตสินค้าก็ลงทุนได้ คนมีเงินไม่จำเป็นต้องฝาก อย่างเดียว แต่การลงทุน แบบซื้อตราสารหนี้ จะเสี่ยงกว่าการฝากเงิน ถ้าไปซื้อ ตราสารหนี้ของบริษัทที่ดำเนินกิจการ ด้านส่งเสริม ความเสี่อมของมนุษย์ หรือมุ่งสร้าง กิเลสตัณหาให้มนุษย์ หรือสร้างพิษภัยให้สังคม นอกจากจะได้รับดอกเบี้ยแล้ว อาจจะแถมบาป และ นรกให้ด้วย แล้วแต่จะเลือกนะครับ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -