เสรีภาพของชาวพุทธในพระพุทธศาสนา พระพรหมคุณาภรณ์ท่านมองปัญหางานวันวิสาขบูชา ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๘ พ.ค. ๒๕๔๘ หน้า ๖ ว่า สมณะสันติอโศก จะลาออกจากองค์กร มหาเถรสมาคม ได้อย่างไร นอกจากสึก เหมือนคนไทย เมื่อไม่ชอบใจ ท่านนายกฯ ทักษิณ ก็ลาออกจากความเป็น "ราษฎรไทย" คืนบัตรประชาชน ไม่รับรู้อะไร ทั้งสิ้น กระทำเช่นนั้นไม่ได้ โยมมีมุมมองต่างจากพระเดชพระคุณท่าน จะด้วย อคติ ๔ หรือไม่ ไม่ทราบว่า หากเราจะเปรียบเทียบให้ต่ำลงมากว่านั้นว่า สมณะสันติอโศก (แปลก คำว่า สมณะ มีใช้ทั่วไป ในพระไตรปิฎก และในพระธรรมบท แต่คำว่า พระ ไม่มี หมายถึง สิริมงคลใช่ไหม) ลาออกจากมหานิกาย สลักใบสุทธิ เป็น "นานาสังวาส" และ ลาออกจากกฎหมายคณะสงฆ์ไทย มิได้ลาออกจาก "พระธรรมวินัย" อย่างนี้ได้ไหม หาทางช่วยท่านครับ หรือเหมือนราษฎรลาออกจากพรรคไทยรักไทย โดยคืนบัตรสมาชิกพรรค แล้วสมัครมาเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อฟ้าดิน หรือพรรคเพื่ออื่นๆ เปรียบเทียบอย่างนี้ เปรียบเทียบกันได้มิใช่หรือ เพราะนี่คือ เสรีภาพของสถาบันศาสนาพุทธ มิใช่เสรีภาพของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรศาสนาพุทธ กระแสหลัก ตามกฎหมายคณะสงฆ์ไทย ที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย ในภายหลังพระธรรมวินัย และรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ควรจะเคารพเสรีภาพของชาวพุทธในพระพุทธศาสนาในประเทศไทยและทั่วโลกหรือไม่ หรือกรณี "สันติอโศกกับมหาเถรสมาคม เสรีภาพวีเอสสถาบัน" โดย พระศรีปริยัติโมลี ในมติชนรายวัน ฉบับ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ หน้า ๗ ก็เช่นกัน พระเดชพระคุณก็มองในมุมมองของท่าน เพื่อรักษาองค์กรสูงสุดของสถาบันสงฆ์ไทย มิให้ใคร (สันติอโศก ธรรมกาย วัตรทรงธรรมกัลยาณี เสถียรธรรมสถาน ฯลฯ) มาข้องแวะ แต่เพราะการบริหารจัดการองค์กรสูงสุดคณะสงฆ์ไทย คือ มหาเถรสมาคม ถึงจุดที่พูดได้ว่า "ภาวะเสื่อม" ในรอบ ศตวรรษ จึงเกิดองค์กรพุทธศาสนาใหม่ๆ ขึ้นไปทั่ว เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ หรือเกิดการ สังคายนา พระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๑๐-๑๑-๑๒ เสียที โยมไม่เคยเห็นพระสังฆาธิการทุกระดับลุกขึ้นมาปฏิรูปวัด ปฏิรูปพระ หรือ สังคายนากันเอาเลย โยมอยากเห็น วัดเจ้าคณะจังหวัด วัดเจ้าคณะอำเภอ วัดเจ้าคณะตำบล อยู่คงที่เหมือนสมัยก่อน พระรูปใด ดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ก็ให้ย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุ เป็นต้น ให้พระเจ้าคณะต่างๆ ย้ายไปอยู่ จำพรรษา ดำรงตำแหน่งในวัดนั้นๆ เพื่อประหยัดงบประมาณและเศรษฐกิจชาวบ้าน ในการก่อสร้าง ซ่อมบำรุง ดูแลเสนาสนะใหม่ ถวายเจ้าคณะให้ยิ่งใหญ่ และสมเกียรติตำแหน่งพระ ในจุดเดียว เพราะเรา ยังติดกับดัก "ยศช้าง ขุนนางพระ" อยู่ก็ตาม โยมอยากเห็น "หนึ่งอำเภอหนึ่งวัด หนึ่งตลาดนัดธรรมะ" หรือ "หนึ่งจังหวัดหนึ่งวัด หนึ่งตลาดนัดธรรมะ" นัดฟังธรรม กันทุกเดือน เหมือนเคยชอบใจโรงพยาบาลสงฆ์ มีนัดฟังธรรมกันทุกเสาร์ มีศาสนโสตทัศน เทคโนโลยี คือ จอโปรเจคเตอร์ เพาเวอร์พ้อยต์ ฉายวีดิทัศน์ วีซีดี ดีวีดี เรื่อง การ์ตูนพุทธประวัติ ตามรอยบาท พระศาสดา สู่แดนพุทธภูมิ วิถีศรีลังกา ปู่เย็น เฒ่าทระนง ฯลฯ (เพราะผมมี) ให้ชาวพุทธ หรือ เด็กโรงเรียนวิถีพุทธ ดูในเทศกาล วันสำคัญทางศาสนา หรือในเวลานัดพบกันฟังธรรม โดยศูนย์ คุณธรรม หรือใคร องค์กรใดก็ได้ เป็นเจ้าภาพ เช่น พุทธศาสนาจังหวัด พุทธสมาคมจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด เป็นต้น ใครมีสื่อธรรมะใหม่ๆ ดังกล่าว นำมาแลกเปลี่ยนหยิบยืมกันศึกษา โยมอยากเห็นห้องสมุดในฝัน พิพิธภัณฑ์วิถีพุทธตำบลละ ๑ วัด ๑ แห่ง มีหนังสือวัดๆ ทุกสำนวน (ผมก็ รวบรวมไว้แล้ว) มีสังฆภัณฑ์วัดทุกประเภทแสดง จะหวังรอคอยโครงการ "ศูนย์บูรณาการ วัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน" ของป้าอุ ก็แห้งซีดแล้ว น่าเสียดายความคิดสร้างสรรค์ของท่าน (ข้าราชการประจำ) สมัยแรก เรื่องนี้เห็นจะเจริญรอยตามนายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย ที่ท่านสนับสนุนใครให้ทำก็ไม่เป็นผล เลยทำ พิพิธภัณฑ์พระเครื่องเสียเอง แต่ผมมีแต่กระแสไม่มีกระสุนจะทำเอง เหมือนคุณหมอสำนวนได้ ได้แต่ยุ ให้พระท่านทำ โยมอยากเห็นวัดทุกวัดเต็มไปด้วยต้นไม้ หรือ สวนป่า เช่น วัดสมัยพุทธกาลคือ เวฬุวันสวนป่าไผ่ อัมพวัน สวนป่ามะม่วง สาลวัน สวนป่าสาละ ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม จัดเป็นสวนพุทธอุทยาน ปลูกสวนไม้ดอกไทย มีสวนต้นไม้วรรณคดี สวนต้นไม้พุทธประวัติ หรือต้นไม้ตรัสรู้อดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ปัจจุบัน และ อนาคตพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ รวม ๓๐ พระองค์ (กำลังทำอยู่ที่วัด พระบรมธาตุวรวิหาร ชัยนาท) วัดและสำนักสงฆ์ในจังหวัดชัยนาทที่โยมไปสำรวจมาแล้วมีราว ๒๗๕ แห่ง ปรากฏว่า พระท่านชอบลานวัด เป็นแบบ ห้างสรรพสินค้า (โอๆ อั๊ดๆ อีๆ) คือ ลานปูนลานคอนกรีตมากกว่า ลานสวนป่า (พุทธวัน-เดอะบู๊ดด้าส์ การ์เด้น) มีบางวัดที่ดูได้น่านับถือ คือ วัดสองพี่น้อง อ. สรรคบุรี วัดดอนตูมกมลาวาส อ.วัดสิงห์ วัดเขาสารพัดดีฯ อ.หันคา เป็นต้น โยมไม่อยากเห็นลานวัดเป็นลานจอดรถให้เช่า เป็นสนามกีฬาให้เช่า เป็นตลาดนัดสินค้า หน้าวัด เป็นอาคาร พานิชย์ เพราะสูญเสียความสงบวิเวก ภูมิทัศน์ และความศักดิ์สิทธิ์มนต์ขลังของวัด วัดใดมีตู้เช่าหรือจำหน่ายวัตถุมงคล โยมว่า ควรมีตู้ธรรมมงคล(หนังสือธรรมะเทป ซีดี วีดิทัศน์ธรรมะ เพลงธรรมะ ประวัติและคำสอนพระเกจิ จำหน่ายหรือจ่ายแจก) ควบคู่ไปด้วย โยมอยากเห็นมีการเวิร์คชอป หรือประชุมสัมมนาพระสังฆาธิการทุกระดับ เวิร์คชอป มรรคนายก ไวยาวัจกร คนวัด เด็กวัด แม่ชี พระภิกษุสามเณร ระดมสมองระดมปัญหาทุกปัญหาทุกเรื่องมาสัมมนา แล้วหาข้อยุติ เป็นเอกสาร เป็นแนวทางปฏิบัติให้ใกล้เคียงเป็นอันเดียว หรือสอดคล้องกัน โดยอย่าลืมแต่งตั้ง คณะกรรมการ สมานฉันท์วัด (แหล่งท่องเที่ยววัด)...มีภาคีที่เกี่ยวข้องราว ๑๖ ภาค (โสรสภาคี) มีหน้าที่ ช่วยเจ้าอาวาส คิดบริหารจัดการวัด หากปล่อยให้สมภารคิดรูปเดียว ทำรูปเดียว นอกจากงาน จะไม่ก้าวหน้า หรือทำไม่ได้แล้ว บางอย่างตัดสินใจพลาด เสียแล้วเสียเลย ซึ่งปรากฏ มีหลายวัด ทั้งทำลายป่า และปลูก สิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ทำลายภูมิสถาปัตยกรรมเก่า เป็นต้น โยมอยากเห็นศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ศาสนพิธี ศาสนบุคคล บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยวัดไม่ทำพุทธพาณิชย์ ไม่แข่งกันสร้าง ศาสนวัตถุศาสนสถานให้ใหญ่โตมโหฬาร และทุกวัดไม่จำเป็นต้องสร้างโบสถ์ให้ครบทุกวัด พระควรทำหน้าที่ แจกธรรมะมากกว่าวัตถุมงคล ดูหมอ รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก ฯลฯ ควรเลิกทำ เพราะผิด จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล บุคคลในวัดทุกประเภท ต้องมีคุณภาพคุณธรรม เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน ได้ทุกเรื่อง นั่นคือต้องใช้ระบบคัดคนเข้า และคัดคนออก ให้มีประสิทธิภาพ จะบวชเล่น มาพักผ่อน แสวงหา ผลประโยชน์ ฯลฯ ไม่ได้ พระจะต้องมีบัญชีเงิน ๒ บัญชี บัญชีเงินวัด สร้างซ่อมเสนาสนะ บัญชีเงินสงฆ์รวม ไม่ให้รับเฉพาะรูป โยมขอมากไปหรือเปล่า หากมากไป ก็กราบขออภัย โยมมองไปดูที่สันติอโศก ท่านบริหารจัดการให้โยมทึ่งมากมาย มหาเถรสมาคม ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเรียกศรัทธาจากประชาชนชาวพุทธคืนโดยเร็ว ต้องสังคายนา ปฏิรูป ตัวเอง ขนานใหญ่ ดังที่โยมเสนออยากเห็น เช่น สวนป่าพุทธวัน (เดอะบู๊ดด้า การ์เด้น) ห้องสมุด ในฝัน พิพิธภัณฑ์วิถีพุทธ หรือ ศูนย์พิพัฒน์ภูมิพุทธ (...เดอะบู๊ดด้า วิสด้อม ดีวิลอปเมนต์ เซ็นเตอร์) ประชุม สัมมนา พระสังฆาธิการ ตั้งกรรมการ ตั้งกรรมการพัฒนาวัด ฯลฯ และให้เสรีภาพแก่ "สถาบันบุญนิยม" หรือ สถาบันกวางน้อยแบบถ้อยธรรมวาที ยกเลิกประกาศนียกรรม อภัย อโหสิ มาสมานฉันท์กัน เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ พระศาสนา และมหากษัตริย์ ผู้เป็น พุทธบริษัท หรือ ชาวพุทธด้วยกัน ดีไหม วันวิสาขบูชาโลก ผ่านไปแล้ว มาแก้ไขในวันอาสาฬหบูชา ก็ไม่สาย "บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องอภัยครับ" -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ - |