คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า -

มองต่างมุมระหว่าง
พระพรหมคุณาภรณ์ และ สมณะโพธิรักษ์
ประเด็นการลาออกจากศาสนา หรือนิกายทางศาสนา

การจัดงานวิสาขบูชาระดับโลกในปีนี้ ถ้ามองในด้านรูปธรรม จะเห็นว่าคณะสงฆ์ ชาวอโศก ถูกต่อต้าน ไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ด้วย แต่ในทางด้านนามธรรมนั้น ดูเหมือนว่า "เรื่องราว" ของคณะสงฆ์ชาวอโศก ถูกจับเป็นประเด็นขึ้นมาวิเคราะห์วิจัยกัน ทั้งในแนวลึกแนวกว้าง แม้งานวิสาขบูชา จะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ควันหลงก็ยังมีอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ก็เป็นท่านหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญ จนถึงกับ ได้ร่วมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยได้เขียนเป็นบทความเรื่อง "จัดงานวิสาขบูชา อย่าอยู่แค่ หน้าตา ต้องไปให้ถึงเนื้อตัว" และได้ตั้งประเด็น ลาออกจากมหาเถรสมาคม ลาออกจาก รัฐบาลไทย ซึ่งท่านโพธิรักษ์ก็ได้มองมุมต่าง เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจน และลึกซึ้งให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จะลึกจะซึ้งถึงแก่นถึงเนื้อ มากน้อยแค่ไหน? ก็ขอเชิญพุทธบริษัท ได้มนสิการเนื้อหาของ ทั้งสองท่าน อย่างแยบคาย เพื่อให้เกิดสัมมาทิฐิ และสัมมาปฏิบัติ โดยทั่วหน้ากัน

# ลาออกจากมหาเถรสมาคม-ลาออกจากรัฐบาล

พระพรหมคุณาภรณ์
ถ้าเทียบก็เหมือนกับว่า สมัยนี้ รัฐบาลของท่านนายกฯ ทักษิณปกครองประเทศอยู่ แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามา เขาบอกว่าขอลาออกจากรัฐบาลไทย และเขาขอตั้งเมืองพิเศษ ของพวกเขาขึ้นมา เป็นเมืองอิสระ ท่านนายกฯ ทักษิณจะยอมไหม

แล้วทีนี้ ยิ่งถ้ามีการจัดงานแข่งกัน ท่านนายกฯ ทักษิณอาจจะแพ้ ไม่ว่าจะจัดเรื่องอะไร ก็แล้วแต่... แพ้หมด เหมือนกับคณะสงฆ์ ก็เช่นเดียวกัน

ลองคิดดูซิ ท่านนายกฯ ทักษิณเข้ามาปกครองประเทศ มีทั้งคนดีและคนชั่วเยอะแยะไปหมด มีคนติดยา เสพติด คนติดยาบ้า คนผีพนัน มีโจรผู้ร้าย คนขี้เกียจขี้คร้าน คนพิการ คนยาก จนเข็ญใจ ท่านนายกฯ ทักษิณ ไม่มีสิทธิ์เลือกใช่ไหม เมื่อเข้ามาก็ต้องปกครองหมด ทั้งประเทศ

ส่วนคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาขอตั้งเมืองพิเศษของเขาขึ้น เป็นเมืองอิสระนั้น เขาก็เลือกคัด เอาแต่คนดี มีสติ ปัญญา ความสามารถ แล้วเขาก็พูดได้ซิว่า เมืองของฉันมีแต่คนดี เมืองของท่านทักษิณนี่แย่ มีแต่คน ติดยาเสพติด เต็มไปด้วยอบายมุข มีการพนันมากมาย คนไร้คุณภาพเกลื่อนไปหมด ไม่ว่าจะทำอะไร เมืองอิสระนี้ ก็เป็นต่อทุกอย่าง

นี่ก็เหมือนกัน ในคณะสงฆ์เวลานี้ก็เหมือนกันมีกลุ่มคนที่เป็นอิสระ ใช่ไหม และกลุ่ม เสมือนอิสระนั้น เขาคัดเอามา แต่คนที่ตัวเขาตกลงเอาแล้ว ก็มีแต่คนตามมาตรฐาน ที่ตัวต้องการ ก็พูดได้สบายซิ ส่วนของสงฆ์ ต้องปกครองพระ ซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้พื้นเพ ทั่วประเทศ ก็แพ้กันนะซิ

เหมือนกันแหละกับการจัดงานวิสาขบูชานี่ ถ้ามองเป็นกลุ่มเป็นพวกแล้วมาจัดงานกัน มหาเถรสมาคม หรือ คณะสงฆ์ ก็ต้องแพ้แน่นอน กลุ่มเสมือนอิสระนี้ เป็นกลุ่มจัดตั้ง ของคนที่เขา เลือกสรรแล้ว ส่วนมหาเถรสมาคม แลดูใหญ่ก็จริง แต่ว่าเนื้อในไม่มีอะไร เอาแค่พอคนเจอพระธุดงค์อย่างว่า ที่เที่ยว ให้หวยหาลาภ ลอบทำการไม่สุจริต เขาก็เหมาว่า นี่ไงพระธุดงค์ของ มหาเถรสมาคม แค่นี้ก็จบแล้ว มันก็ไปกันไม่ได้

รัฐบาลเป็นอย่างไร คณะสงฆ์ก็อย่างนั้นแหละ แต่ของคณะสงฆ์ ยิ่งแย่กว่ารัฐบาล ของฝ่ายอาณาจักร อีกเยอะ เพราะอ่อนแอ เรื่อยเปื่อย เฉื่อยแฉะ ว่ากันนัวเนียอีเหละเขละขละ

แล้วหันกลับมาดูอีกที รัฐบาลท่านนายกฯ ทักษิณจะยอมไหม ให้มีเมืองพิเศษ ที่จัดตั้งขึ้น เป็นอิสระ มันไม่ได้ ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องจัดงานวิสาขบูชา ที่จะเอากลุ่มโน้น กลุ่มนี้เข้ามา ว่าให้สามัคคี จัดร่วมกันนั้น ดูแล้วมีเรื่องต้องพิจารณาหลายขั้น เป็นเรื่องของ การบริหารกิจการบ้านเมือง เรื่องของ รัฐศาสตร์ เรื่องของนิติศาสตร์ มาหมดเลย ไม่ใช่จะพูดกันง่ายๆ เฉยๆ

(จาก น.ส.พ. ข่าวสด ๑๗ มิ.ย. ๒๕๔๘)

 

# ลาออกจากมหาเถรสมาคมกับลาออกจากรัฐบาลไทย ไฉนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน?

สมณะโพธิรักษ์
การเปรียบเทียบโดยเล่นยกสมมุติเอาความต่าง "สถานภาพ" กันแบบนี้ มาเป็นตัวอย่าง เทียบเคียง ผู้ไม่รู้เท่าทัน ก็หลงเชื่อผิดๆ เห็นคล้อยตามไปได้แน่ๆ เพราะเล่นยกเอา "สถานภาพ" ในความเป็นรัฐบาล ซึ่งมีบริบทลึกไปถึงขั้นต้องนับเอา "สัญชาติ" มาเกี่ยวข้อง แต่ "สถานภาพ" ในความเป็นศาสนานั้น

ไม่มีบริบท กินลึกไปถึงขั้นต้องนับเอา "สัญชาติ"มาเกี่ยวข้องนี่ เล่นพูดเปรียบเทียบ เอาแค่สั้นๆ ตื้นๆ ไม่พูด ให้ครบข้อความแวดล้อม เพื่อช่วยให้เข้าใจความหมาย ของแต่ละ "สถานภาพ" ทั้งสถานภาพรัฐบาล ทั้งสถานภาพศาสนา มันก็ทำให้เข้าใจเพี้ยนไปจากความจริงได้

เพราะคนสัญชาติไทย อยู่ในรัฐบาลไทยทุกคน สามารถเอาตนเข้าไปนับถือศาสนา อะไรก็ได้ ไม่เกี่ยวลึก ไปถึง "สัญชาติ" และจะลาออกจาก "ศาสนา" ไหนไปเข้าศาสนาไหนก็ได้ โดยไม่ต้อง ลาออกจาก "รัฐบาล" หรือ ไม่ต้องลาออกจากความเป็น "สัญชาติ"ไทยเลยใช่ไหม? แต่นี่เล่น เอาไปเทียบกับ การลาออกจาก "รัฐบาล" โน่น ซึ่งถ้าใครลาออกจาก "รัฐบาล" ไม่ขออยู่ ในความปกครองของรัฐบาล คนผู้นั้นก็ต้อง ออกไปนอกรัฐ นอกประเทศต้องเปลี่ยน "สัญชาติ" ใหม่ ก็เป็นเรื่องของกฎหมาย ถูกต้อง แต่การลาออก จากศาสนา ก็เป็นเรื่องของ ธรรมวินัย ซึ่งตามธรรมวินัย ไม่ต้องเปลี่ยน "สัญชาติ" ไม่ต้องออกไปนอกรัฐนอก ประเทศนี่ และในธรรมวินัย ก็มีการลาออกหลายแบบ เช่น ลาสึก ลาแบบ "นานาสังวาส" เป็นต้น ดังนั้น การลาออก จากรัฐบาล กับการลาออกจากศาสนา มันเทียบกันไม่ได้ มันต่างกัน มันไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน เอามาเปรียบเทียบกันได้ไง? แต่คนฉลาดๆ มักจะใช้การเปรียบเทียบ แบบนี้เสมอๆ แล้วก็เกิดการผิดพลาด เพราะความเฉลียวฉลาด ที่ไม่เจตนาได้เหมือนกัน

ยังดีนะ..ที่ท่านไม่ยกเอาตัวอย่างเปรียบเทียบไปถึง "สถานภาพ" ที่มีบริบทลึก ถึงขั้น ต้องนับเอา "เชื้อชาติ" มาเกี่ยวข้อง เช่น ลูกไม่ชอบ "พ่อ" ก็ขอลาออกจาก ความเป็นลูก ถ้ายกตัวอย่างอ้างอิงกัน ขนาดนี้ เราก็คงต้อง ยอมแพ้ศิโรราบแน่นอน เพราะตัวอย่างนี้ หัวเด็ด ตีนด้วน มันก็ลาออกไม่ได้ แน่ยิ่งกว่าแน่ ต่อให้ลาออก แล้วต้องหนีห่างไปนอกโลก มหาจักรวาล มันก็ออกไปจาก "ยีน" หรือ "ดีเอ็นเอ" ของพ่อไม่ได้ เด็ดขาด เจอเอาตัวอย่าง เปรียบเทียบแบบนี้ ก็จำนนไม่มีทางแย้ง ต้องเชื่อว่า "ลาออก" ไม่ได้จริงๆ

ในศาสนาพุทธนั้น มีธรรมวินัยให้ลาออกได้ ทั้งลาสึก ทั้งลาแบบ "นานาสังวาส" นี่เป็น พระบัญญัติของ พระพุทธเจ้า ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า ลาออกแบบ "นานาสังวาส" นั้นไม่ใช่ลาสึก และไม่ใช่แยกกัน ในแบบ "สังฆเภท" แต่เป็นพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า ที่มีหลักเกณฑ์ของ "นานาสังวาส" อย่างสุดวิเศษ เราต้องปฏิบัติ ตามธรรมวินัย ที่พระองค์ บัญญัติไว้ หากเป็นพุทธแล้วปฏิเสธหลักธรรม ของพระพุทธเจ้า มันก็คงพูดกัน ไม่รู้เรื่อง

ถ้าใครกล่าวว่า การขอแยกเป็น "นานาสังวาส" นั้นคือ ต้องลาสึก ก็ดี หรือกล่าวว่า ภิกษุที่ บวชอยู่ใน คณะสงฆ์ หมู่ใหญ่ แล้วประกาศแยกตัว เป็น "นานาสังวาส" ไม่ได้ก็ตาม เป็นการกล่าวผิดธรรมวินัย

การกล่าวเยี่ยงนี้เป็นต้น ที่เกิดขึ้นในวงการศาสนาพุทธ ท่านผู้กล่าวนั้น เป็นผู้รู้ ผู้มีชื่อเสียง อยู่ในวงการ และมียศตำแหน่งด้วย มีทั้งภิกษุและฆราวาส ได้กล่าวธรรมวินัยของ พระพุทธเจ้า กล่าวต่อสื่อมวลชน เผยแพร่ ออกทางวิทยุ ทางหนังสือพิมพ์ มันก็แพร่หลาย ผู้ที่ไม่ใช่ผู้รู้ เขาได้ฟัง ก็เชื่อถือตามผู้รู้ เมื่อผู้รู้ กล่าวผิดเพี้ยน ธรรมวินัยก็ถูกปฏิรูปไปเรื่อยๆ พุทธศาสนิกชน ก็พากันหลงเชื่อถือ ตามมากขึ้นๆ นานวันเข้า จึงหลงยึด สิ่งที่ "ผิด" ว่า "ถูก" กงจักร กลายเป็นดอกบัว ด้วยประการฉะนี้เอง

ที่จริงเรื่อง "นานาสังวาส" นั้นเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งมาก เป็นสุดยอดหลักการ ที่สุดวิเศษ ของผู้ทรงภูมิ ระดับ อัครอภิมหาอัจฉริยปราชญ์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ๆ ผู้ที่จะเข้าใจ ได้ละเอียดครบถ้วน จึงยาก

"นานาสังวาส" เป็นเพียงการประกาศแยกกันต่างคนต่างปฏิบัติตาม "ศรัทธาและ ปัญญา" ของผู้เชื่อ และ เห็นต่างกันแล้วจริง เพราะต่างฝ่ายต่างมี "กรรม" ต่างกัน มี "อุเทศ" ต่างกัน มีศีล ไม่เสมอ สมานกันแล้ว ตามธรรมชาติ แห่งความจริง ด้วย "ศรัทธา"และ "ปัญญา" ของแต่ละฝ่าย เชื่อและเห็น "ต่างกัน" (นานา) เท่านั้น แต่ยังไม่ถึงขั้น "แตกแยกกัน" (เภท)

ฉะนี้แล ที่เรียกว่า "นานาสังวาส" ตามบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงตราเป็นธรรมวินัย อันสุดวิเศษ เพื่อเป็น ทางออกสุดท้าย ที่จะประนีประนอมกัน แห่งวิสัยมนุษย์ ซึ่งแสดงถึง การให้สิทธิ และอิสรภาพ ที่ยิ่งใหญ่ สุดยอด แก่ความเป็นมนุษย์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการป้องกัน เผด็จการ ไว้ด้วยหลักธรรมวินัย อย่างวิเศษยิ่ง ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้า จะทรงตัดสิน เรื่องที่ขัดแย้งเสียเองในคราครั้งนั้น ก็ย่อมได้ แต่พระองค์ กลับใช้เป็นเหตุ ในการบัญญัติ หลักธรรมวินัย ไว้ให้มวลมนุษยชาติ อันแสดงถึง ความเปี่ยมไปด้วย พระปรีชาญาณ หาที่เปรียบมิได้ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ย้อนทบทวนดูเถิด ในพุทธสมัยโน้น คนยุคโน้นยังไม่มีความรู้เรื่อง "สิทธิ" ไม่มี "อิสรภาพ" "กันอย่างคนยุคนี้ สมัยนี้เลย เพราะยุคโน้น ยังเป็นยุคแห่ง สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มนุษย์ยังอยู่ ในยุคสังคมทาส คนยังไม่มีอิสรภาพอย่างคนในยุคนี้ คนทั้งหลาย ยังไม่มีความรู้เรื่อง "สิทธิ" หรืออำนาจ อันชอบธรรม ในอะไรต่างๆ ครบ อย่างทุกวันนี้ เหมือนคนยุคนี้เลย ทาสมีสิทธิเท่ากับวัวควาย ช้างม้า แม้แต่ "สิทธิในความเป็นคน หรือสิทธิมนุษยชน" คนยุคโน้นก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจว่า ตัวเอง มีกับเขาด้วยหรือ?

แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงบัญญัติหลักการสุดเยี่ยมยอด ที่เป็นทางออก ของปัญหา อันเกี่ยวกับ "สิทธิและอิสรภาพ ของความเป็นคน" ตั้งแต่ ๒,๕๐๐ กว่าปี โน้น ไว้ให้แก่มนุษยชาติแล้ว

หลักการอันวิเศษนั้นก็คือ "นานาสังวาส" นี่เอง ที่สุดยอด

แต่หลักการสำคัญนี้ ชาวพุทธก็ไม่ค่อยจะรู้จักกันแพร่หลาย เพราะหลักการนี้ ลึกล้ำ มีความละเอียด ประณีต ในสิทธิและเสรีภาพ ที่ยอดเยี่ยมสูงส่งยิ่ง คนยังเข้าใจยาก จึงปฏิบัติ ตามหลักธรรมไม่ค่อยจะถูก (จากหนังสือ ประนีประนอมกันด้วยนานาสังวาส หน้า ๔๖-๔๙)

บทสรุป โดยหลักการที่เป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธ ต้องถือว่า พระพุทธองค์ให้สิทธิ และ อิสรภาพของมนุษย์เอาไว้อย่างสูงสุด พระองค์ทรงเป็นสุดยอด ของนักปกครอง ที่มีการปกครอง โดยไม่ปกครอง และไม่ทรงปรารถนา ที่จะปกครองใครๆ หรือแม้แต่ การจะได้เป็น ผู้บริหารสงฆ์ หรือการได้รับ การยอมรับ หรือได้รับการยกย่องเชิดชูจากสงฆ์ใดๆ ทั้งสิ้น ดังคำตรัส ในมหาปรินิพพานสูตรข้อ ๙๓ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

ผู้ใดจะพึงคิดอย่างนี้ว่า เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จักเชิดชูเราดังนี้ ผู้นั้น จะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำ (ดูถูก)อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ (เช่น ภิกษุสงฆ์เหล่านี้ ที่อยู่กันได้ เพราะอาศัยสมณะโคดม เป็นผู้บริหารเท่านั้น)

ดูกรอานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์ จะเชิดชูเรา

และในพระวินัยปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๓๖๑ พระพุทธองค์ยังคงตรัสห้าม พระเทวทัต ผู้กระสัน อยากที่จะได้เป็นผู้ปกครองสงฆ์ทั้งหลายว่า

"อย่าเลย อย่าเลยเทวทัต เธออย่าพอใจที่จะปกครองภิกษุสงฆ์เลย...

ดูกรเทวทัต แม้แต่สารีบุตรและโมคคัลลานะ เรายังไม่มอบภิกษุสงฆ์ให้ ไฉนจะพึงมอบให้เธอ ผู้เช่นซากศพ ผู้บริโภคปัจจัยเช่นก้อนเขฬะ (เสลด) เล่า"

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในวงการศาสนาทุกวันนี้ ก็เพราะต่างแย่งกันเป็นใหญ่ อยากจะได้ อำนาจ หรือ จะได้เป็นผู้ปกครอง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเหล่านายทุนขุนศึก หรือจอมศักดินา ทั้งหลายนั่นเอง

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -