หน้า ๖๒ ยิ่งในช่วงหนึ่งทศวรรษมานี้ด้วยแล้ว ได้เกิดกฎบัตรของพื้นพิภพ Earth Charter ขึ้น โดยที่ผู้ร่างแทบ ทั้งหมด เป็นศาสนิกต่างๆ ในทางขบวนการ พัฒนาเอกชน หากมีชาวพุทธเป็นแกนนำ โดยเฉพาะก็สตีเฟน รอกกี้เฟลเลอร์ กฎบัตรนี้ชี้ให้เห็นถึง การปฏิรูป หรือการปฏิวัติ จากปฏิญญาสากล ของสหประชาชาติ เมื่อกึ่งศตวรรษก่อนหน้านี้เลยทีเดียว โดยที่ปฏิญญาสากล มีเพียงบางมาตรา เท่านั้น ที่เป็นไปในทาง พัฒนาศักยภาพ ของมนุษย์ได้อย่างเหมาะสม กับระเบียบแบบแผน ของโลก หากจำเดิมแต่ การประชุม สุดยอด ที่เมืองริโอ ในประเทศบราซิลในปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา ได้เกิดกฎบัตรของพื้นพิภพขึ้น โดยฝรั่งร่วมกับ ชนชาติอื่นๆ ที่มีแนวโน้ม ไปในทาง ศาสนธรรม ด้วยการหารือกัน ในทางประชาธิปไตย ที่เนื้อหาสาระ โดยที่หลักการของกฎบัตรนี้ มิได้เป็นไปเพียงเพื่อ ขีดวงจำกัด ในทางลบไว้เท่านั้น หากยังมี ข้อเสนอแนะ ในทางบวกอีกมาก ที่ช่วยแต่ละคน และเน้นที่กลุ่มชนต่างๆ เป็นเฉพาะ ให้มีหนทางเข้าสู่ การพัฒนา ทางสังคม อย่างมียุติธรรม เป็นบรรทัดฐาน และประสานไปด้วย กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ให้เหมาะสม ถ้าพวกเราที่สนใจทางด้านการศึกษาทางเลือกก็ดี ที่สนใจในด้านนามธรรมหรือศาสนธรรมก็ดี ควรศึกษา กฎบัตรนี้ ทั้งจากหัวสมอง และจิตใจ แล้วนำมาเป็นสีลสิกขาอย่างใหม่ คล้ายๆ กับที่ท่านนัท ฮันท์ ได้ขยาย ศีลห้าให้มาเป็นสิกขาบท ๑๔ ข้อ ของท่าน ให้ทันสมัย ยิ่งขึ้นนั่นแล โดยเราอาจจัดพิธีกรรม อย่างใหม่ โดยใช้กฎบัตรที่ว่านี้ เป็นแกนด้วยก็ได้ และสิกขาบท อย่างใหม่นี้ ควรมีไว้ให้เด็ก และเยาวชน ได้ท่องจำ หรือให้ผู้ใหญ่ได้ศึกษา เพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้โลกพิภพของเรา มีสภาพที่ดีกว่า ที่แล้วๆ มา โดยพวกเรา ที่อาศัยโลกนี้อยู่ ก็ย่อมมีสภาพที่ดีขึ้นด้วย อย่างเป็นเงาตามตัว ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็ตรงที่ถ้อยคำในกฎบัตรนี้ ข้อ ๔ ที่ว่า เมื่อมนุษย์ดำรงชีวิตได้ในขั้นพื้นฐาน อย่างพอเพียงแล้ว การพัฒนามนุษย์ เป็นประการแรกนั้น เป็นเรื่องของความเป็นอยู่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไป นี้นับว่าสำคัญนัก โดยเราควรพิจารณา ถึงความเป็นอยู่ ยิ่งๆ ขึ้นไปว่า หมายถึง อะไร ถ้าเราไม่มุ่งที่การเพิ่มพูน ทรัพย์ศฤงคาร บริวารและอำนาจ น่าจะหมายว่า เราควรมุ่งที่ความรู้ อันเป็นกุศลยิ่งๆ ขึ้น มุ่งที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ อย่างรับใช้กันและกัน ยิ่งๆ ขึ้น หรือก่อให้เกิด กัลยาณมิตร ในหมู่มนุษย์นั้นแล หวังว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงจะมีส่วนช่วยให้เกิดอนุสติ สำหรับพวกเราบางคน ที่ต้องประสงค์จะไปพ้น การครอบงำ ทางการศึกษา กระแสหลัก ที่เป็นอยู่ในช่วงนี้ ทั้งที่ในเมืองไทย และในต่างประเทศ ให้แสวงหา ความเป็นเลิศ ทางด้านการศึกษาทางเลือก ได้อย่างเหมาะสม หรือจะกล่าวกันว่า นี่คือการประยุกต์ วิทยาศาสตร์ ทั้งจากกระแสของทางโลก ให้โยงมาหา กระแสของ ทางธรรม เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ อย่างเป็น องค์รวม ที่ผนวกโลกธรรม และนามธรรม เข้าด้วยกัน เพื่อนำมาแก้ปัญหา ให้โลกนั้นแล ถ้ามองนอกบริบทของตะวันตกออกไป วิทยาศาสตร์ ก็คือวิชาความรู้ (วิทยา) ที่แหลมคม ดังศาสตรา ก็ความแหลมคม ดังกล่าว ถ้านำเอาไปใช้ ทิ่มแทงศัตรู ไม่ว่าจะคน สัตว์ หรือธรรมชาติ และสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆ ย่อมให้โทษ ยิ่งกว่าให้คุณ ดังวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในรอบห้าร้อยปีมานี้ เป็นพยานให้เห็นถึง การแพร่ขยายของอำนาจ ในนามของวิทยาศาสตร์ ที่กดขี่ข่มเหงคนอื่น สัตว์อื่น เพศอื่น รวมทั้งธรรมชาติ ที่ห่อหุ้มโลกนี้ไว้ ถ้าวิทยาศาสตร์ปราศจากคุณธรรมเสียแล้ว วิชาความรู้ที่แหลมคม ยิ่งวิเศษพิสดารเท่าไร ย่อมให้โทษ ยิ่งกว่าให้คุณ เท่านั้น ความข้อนี้ เอรัสมัส ได้ตระหนัก ก่อนนิวตันแล้ว ยิ่งเขาเห็นความเสื่อมสลาย ของ ศาสนจักร โรมันคาทอลิก กับการเกิดขึ้น ของลัทธิ โปรเตสแตนท์ว่า นั่นจะไม่อาจนำเอาคุณธรรม มากำกับ ความรู้ เพื่อให้ความรู้ อยู่ในกรอบของ คุณงามความดีได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะ คุณธรรมทางตะวันตก ผูกสนิท อยู่กับความเชื่อ เมื่อความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่างๆ ปลาสนาการไป จักมีคุณธรรมเหลือไว้ ให้เป็น ประธาน ในการธำรงรักษา คุณงามความดี เพื่อที่จะสะกดความรู้ ให้อยู่ในกรอบ ยิ่งความดี พิสูจน์ไม่ได้ ตามแนวทาง ของวิทยาศาสตร์ ดังที่ ยี.อี.มัวร์ ประกาศว่า แม้จะนิยามคำว่า ความดี ก็ทำไม่ได้ เสียแล้ว แล้วจะใช้วิทยาศาสตร์กระแสหลัก มาแก้ปัญหา ให้โลกได้อย่างไร เราจึงมีคนอย่างยอร์ช บุช ที่พูดได้กับ พระเจ้าโดยตรง แล้วนำเอาความแหลมคม ที่ได้รับจากวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาทิ่มเทงโลก และมนุษยชาติ ตลอดจนสรรพสัตว์ ให้พังพินาศไป ไม่แต่ที่อิรัก และ อาฟกานิสถาน หากในสหรัฐเองด้วย ทั้งยังแพร่ขยาย มิติอันเลวร้ายนี้ ออกไปยังดินแดนอื่นๆ อีกเกือบทั่วโลก ดังมีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่ เอาอย่าง บุช เกือบทุกอย่าง ทุกประการเอาเลย ทั้งนี้ก็เพราะคนพวกนี้ มีอัตวาทุปาทาน หรือความเห็นแก่ตัวเป็นเจ้าเรือน จึงคิด ทำ และพูด เพื่อประโยชน์ ตน และพวกของตน ยิ่งกว่าอะไรอื่น ถ้าเราไม่สำรวจ ตรวจดูตัวเราให้ชัด เราก็ไม่ดีไปกว่าเขา เป็นแต่เรา ยังไม่มีโอกาส หรือความสามารถ เท่าเขากัน เท่านั้นเอง อย่าลืมว่า อธิการบดีและคณบดี ตลอดจนศาสตราจารย์เป็นจำนวนไม่น้อย ก็มีความเห็นแก่ตัว เป็นเจ้าเรือน มีความเป็นเผด็จการ อย่างไร้จิตสำนึก ไม่เคารพเพื่อนร่วมงาน ที่เห็นต่างไปจากตน ยิ่งจะให้ เคารพศิษย์หาและนักการ ภารโรงด้วยแล้ว ย่อมเป็นไป ไม่ได้เอาเลย เว้นไว้แต่จะเอาเขาเหล่านั้น มาเป็นคะแนนเสียงให้ตน ที่ว่ามานั้นเป็นเรื่องของแต่ละปัจเจกบุคคล ที่ปราศจากการฝึกปรือ จนมีสันติภาวะ ภายในตน ยังโครงสร้าง ของ สถาบัน อุดมศึกษาเล่า เราสำเหนียก กันบ้างไหม ว่ามีโครงสร้างที่รุนแรง เอารัดเอาเปรียบ อย่างฉ้อฉล มากมาย คณะกรรมการ สภามหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย ความโปร่งใสขนาดไหน ให้ใครๆ ตรวจสอบ พฤติกรรมและนโยบาย ของมหาวิทยาลัย ได้จริงละหรือ แต่ละคน เลือกตั้งกันและกัน อย่างแทบไม่มีมิติ ในทางประชาธิปไตย ที่แท้เลย ใช่ไหม ยิ่งสถาบันทางการเมือง การศาล ขบวนการยุติธรรม และการเงิน ฯลฯ ด้วยแล้ว มีโครงสร้าง อันรุนแรง และเอารัดเอาเปรียบ กันอย่างไร เคยพิจารณากัน ให้ถ่องแท้บ้างหรือไม่ หาไม่แล้ว จะไปแก้ปัญหาให้โลก ได้อย่างไร ถ้าเราแต่ละคนปรับทัศนคติขั้นพื้นฐานว่าการดำรงชีวิตของเรา ไม่ควรเป็นไปเพื่อยกสถานะ ให้ตนเอง ในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือ วัฒนธรรม หากวิถีชีวิตของเรา ควรเป็นไปในทาง รับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น ด้วยการลดความเห็นแก่ตัว ลงไปเรื่อยๆ เริ่มด้วยการหายใจ อย่างมีสติ เน้นที่ความเป็นอยู่ อย่างเรียบง่าย อย่างพอใจ ในสิ่งที่มีอยู่ จนขยับไปรับรู้ อย่างเท่าทันกับสุข ทุกข์ ลาภ อับลาภ อับยศ และ สรรเสริญ กับนินทาว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง นั่นแหละ ความรู้ที่เรามีอย่างแหลมคมเพียงใด เราก็ย่อมนำมาใช้เพื่อทิ่มตำความโลภโกรธหลง ในตัวเรา โดยไม่เอาไปใช้ ประหัตประหารผู้อื่น สัตว์อื่น การคิดค้นอะไรใหม่ๆ หรือแสวงหา ตลอดจนประดิษฐ์ นฤมิตกรรมใดๆ ขึ้นมา เราต้องพิจารณาเสมอว่า นั่นจะเป็นคุณต่อไปถึง ๗ ชั่วคนหรือไม่ จะให้ผลกระทบ ถึงระบบทางนิเวศน์ ไปในทางบวกลบอย่างไร และถ้ามีผลกระทบ ถึงผู้คน ในละแวกใดๆ เราได้ปรึกษา หารือเขา อย่างรอบคอบ และด้วยความเคารพ ในทัศนคติของเขานั้นๆ กันหรือเปล่า เราเองสามารถฝึกตนจนเปลี่ยนจากความเป็นอัตตาธิปไตย ที่ถือตนเป็นใหญ่ที่ยึดมั่นในทิฐิของตน
ในชนชั้นตน แม้จนในชาตินิยม ของตน โดยกลายไปได้ ให้เป็นไปในทางของโลกาธิปไตย
ที่ถือเป็นใหญ่ ที่ถือคนอื่นเป็นใหญ่ ยิ่งกว่าเรา โดยเฉพาะ ก็คนยากไร้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในโลก
นี่จะเป็นหนทาง ของการนำเอาวิทยาศาสตร์ มาแก้ปัญหาให้โลกได้ ดังขอให้ดูตัวเลข
ข้างล่างนี้ มาประกอบการพิจารณา -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -
|