นั่นคือ สมบัติของตนแท้ๆที่เป็นนามธรรมอันแยกไม่ได้แบ่งไม่ได้แล้ว (กัมมัสสกะ) และ เป็นมรดกที่ตนเอง ต้องเป็นทายาทแต่ผู้เดียวเท่านั้น(กัมมทายาท) แบ่งให้คนนั้นคนนี้ เป็นทายาทไม่ได้ ตนต้องเป็นทายาท รับมรดกของตนแต่ผู้เดียว ก็"กรรม"ตน"ทำ" ผู้เดียวแท้ๆ คนอื่นไม่ได้ทำด้วยเลย แล้วคนอื่นจะมามีส่วนใน "กรรม" นั้นๆตรงไหน? หรือจะแบ่งอะไร ออกจาก "กรรม" ที่เป็นนามธรรมแล้วนั้นๆไปได้อย่างไร? ก็คนอื่น ไม่ได้ทำ "กรรม" นั้นกับเราเลย แล้วจะเป็นของผู้ไม่ได้ทำ หรือจะแบ่งกรรมไปให้ผู้ไม่ได้ทำ ที่เป็นนามธรรม อันเกิดจาก "กรรม" ที่ทำแล้ว ได้อย่างไร?

จะกรวดน้ำไปให้ แล้วน้ำมันจะพากรรมที่เป็นนามธรรมนั้นออกไปถึงคนตายอย่างไร ภิกษุที่ สวดมนต์ กรวดน้ำ ก็ยังไม่รู้แห่งหนตำบลบ้านที่อยู่ของผู้ตายด้วยซ้ำ แล้วจะไปส่งให้กัน ได้ที่ไหน? อย่างไร? มันเป็นเรื่อง โมเม ตลกแท้ๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่คนเป็นๆนี่แหละ ผู้จะแบ่ง"กุศลกรรม" หรือแบ่งบุญให้แก่คนที่ยังเป็นๆ ด้วยกัน ที่ยังพูด กันรู้เรื่อง รู้เห็นกันอยู่หลัดๆ ยังไม่ตายจากกันไปไหนเลย มันก็ยังไม่สามารถ "แบ่งเอาบุญ" หรือแบ่งเอา "กุศลกรรม" ของคนผู้หนึ่ง ออกไปให้แก่บุคคลอีกผู้หนึ่งได้

นี่คือ สัจธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นคำตายว่า กรรมเป็นของของตน(กัมมัสสกะ) ตนเอง "ทำ" คนอื่นไม่ได้ "ทำหรือปฏิบัติกรรม"นั้นด้วยเลย ย่อมเป็นของผู้ทำแต่ผู้เดียว แบ่งใคร ยกให้ใคร ไม่ได้

และ ตนเป็นทายาทของกรรม (กัมมทายาท) เพราะตน"ทำเอง"ผู้เดียว ย่อมเป็น "วิบากของตน ผู้เดียว" ก็ ต้องตกทอดเป็นสัมภาระวิบากของตนเอง แต่ผู้เดียวเท่านั้น แบ่ง "การทำ หรือ กรรมที่เราทำ" ไปให้ผู้อื่น ที่ "เขาไม่ได้ทำกรรมนั้นกับเราด้วยเลย" ไม่ได้แน่นอน ใครอื่นเป็น "ทายาท" ไม่ได้ ทำพินัยกรรม ยกมรดกให ้ยิ่งไม่ได้ใหญ่ เพราะ "กรรมเป็นของของตน แต่ผู้เดียว" ตามคำว่า "กัมมัสสกะ" ตนต้องรับมรดกของตน แต่ผู้เดียว ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว ไม่มีหกตกหล่น แม้นิดแม้น้อย

และ มีกรรมเป็นที่เกิด คือ กรรมเป็นเหตุให้เกิด (กัมมโยนิ) ไม่ใช่พระเจ้าบันดาลให้เกิด หรือเจ้ากรรมนายเวร ใดๆ เป็นผู้ให้เกิด ดังนั้น "กรรม" ที่ตนสั่งสมเป็น "วิบาก" นั่นเอง ที่เป็นอำนาจสำคัญ เป็นตัวบงการ หรือ เป็นเหตุแท้ นำพา "อัตภาพ" ของตนเอง แต่ละคนเกิด

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ -