- ฟอด เทพสุรินทร์ - ชาวนาทิ้งทุ่ง เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ แม้จะย่างเข้าหน้าฝนแล้ว แต่พอฝนทิ้งช่วงไม่ตกสัก ๑๐ วันอากาศจะร้อนระอุ ไร้ลมพัดพา ต้นไม้ใบหญ้าหยุดนิ่งไม่ไหวติง อบอ้าวไม่ต่างกับเดือนเมษายนหน้าร้อนเลย ผมนึกย้อนหลังไปเมื่อ ๓๐ ปีก่อน เมื่อเข้าหน้าฝน ถึงแม้ฝนจะทิ้งช่วงไปหลายวันแต่อากาศไม่ร้อนอบอ้าว ต้นไม้ใบหญ้าโบกไหวด้วยแรงลมอ่อนๆ พัดพาอยู่ทุกวัน ความร้อนรุนแรงในยุคนี้ สาเหตุก็คงมาจากคน คนที่ไปทำลายธรรมชาติภูเขาป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และคน ก่อมลภาวะ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ที่จะเพิ่มความร้อนให้สูงขึ้น อย่างไม่หยุดยั้ง แม้อากาศจะร้อนปานใด เมื่อถึงฤดูกาลทำนาชาวนาก็พากันรีบทำนาให้ทันกับช่วงเวลาที่เหมาะสม ผมจ้างเพื่อนบ้านที่มีรถไถนาแบบเดินตาม มาไถนาพร้อมคราดทั้งหมด ๖ ไร่ ผมมีกลุ่มเครือญาติ สี่ห้า ครอบครัว รวมได้หกเจ็ดคนช่วยปักดำอยู่ ๒ วันก็แล้วเสร็จ และวันต่อๆไปก็จะพากันหมุนเวียนไปช่วย ปักดำนา ของกลุ่มเครือญาติ ให้แล้วเสร็จกันทุกครอบครัวโดยไม่ต้อง จ้างแรงงานจากชาวบ้านเลย ปัญหาแรกเมื่อปักดำนาแล้วก็มีพวกปูหอย ชอบมากัดกินต้นข้าวในนา แต่ผมก็มาใช้วิธีระบายน้ำออก จนแห้ง หมดทุกแปลงนา ให้พวกปูหอยมันยักย้ายออกไปกับน้ำ แล้วรอให้ต้นข้าวแข็งแรงพอสมควร จึงกักน้ำ ในแปลงนา ไว้อีกครั้ง ในที่นานอกจากมีกุ้งปูปลาหอยและยังมีปลิงนาตัวยาวเป็นคืบ ผมแก้ปัญหาด้วยวิธีก่อนจะปักดำนา ผมจะลงไป เดินขย่มน้ำอยู่กลางแปลงนาสักพักหนึ่งพวกปลิงน้อยใหญ่ ต่างลอยกันเข้ามาหา ผมรีบเอา ตาข่ายพลาสติก ตัวดักใส่ถุงเอาไว้ ปลิงจะรีบตรงมาหาดูดเลือดจากสัตว์หรือคน ที่ลงไปในน้ำ ไม่นาน ปลิงในแปลงนา ก็มารวมอยู่ในถุง ผมจะเอาไปปล่อยที่ลำห้วยใหญ่ เป็นห่วงโซ่ธรรมชาติต่อไป ญาติพี่น้อง ที่มาช่วยปักดำนา ก็จะรอดพ้น จากปลิงเกาะดูดเลือดให้รำคาญได้ ผมปรับจอมปลวกใหญ่ให้เรียบแล้วสร้างเพิงพักริมแปลงนา รอบๆ เพิงพัก ผมปลูกพริกมะเขือ มะระขี้นก และ น้อยหน่า เศษอาหาร ที่เอามาจากบ้านทุกวัน เทไว้รอบๆโคนต้นพืชผัก ช่างเป็นปุ๋ยที่ดีเยี่ยม พริกมะเขือ ออกดอกผล สะพรั่ง ผมนั่งบนแคร่ไม้ไผ่มองต้นข้าวเอนลู่ลมแมลงปอบินโฉบฉิว มันเป็นความงามที่ได้ชมอยู่ตลอดฤดูกาล ผมหยิบ หนังสือดอกหญ้า ที่ทางสมาคมผู้ปฏิบัติธรรมพึ่งส่งมาให้ (เป็นสมาชิกรับประจำ) ซึ่งหนังสือ ดอกหญ้า จะต่าง จากหนังสือ ในตลาดทั่วไป ตรงที่ผู้เขียน ส่วนใหญ่ จะเป็นนักปฏิบัติธรรม เนื้อความ ออกมาในแนวเรื่องที่ดี มีสาระ ให้กำลังใจ หรือเป็นที่พึ่งในยามมืดมน ให้ความรู้ การเกษตรธรรมชาติ ศีลธรรม และเรื่องสังคม แนวใหม่ที่เน้นการให้แบ่งปันไม่เอาเปรียบกัน อยู่กันแบบพี่ๆ น้องๆ ตามแนวทาง ของ พระศาสนา อย่างแท้จริง ผมชอบอ่านหนังสือออกเสียง เพราะว่าทำให้ไม่ง่วงนอน เข้าใจชัดขึ้นและเพิ่มความสนุกในการอ่านหนังสือ "แอ้วๆๆๆ" เสียงเขียดน้อยร้องมาจากกลางแปลงนา งูคงจะกัดคาบเขียดอยู่แน่เห็นต้นข้าวใบพลิ้วอยู่ไหวๆ งูกินเขียด เป็นอาหาร กบเขียด ก็กินไส้เดือน และแมลงที่เล็กลงไปอีก มันเป็นวงจรของธรรมชาติ แต่คนนี่สิ กินตั้งแต่แมลง สัตว์เล็กสัตว์น้อย ไปจนถึงปลาวาฬ ตัวใหญ่ หนักหลายตัน ซึ่งเป็นการกินที่มาก เกินธรรมชาติ โลกเราจึงพร่อง ไม่สมดุล เมื่อหลายปีก่อนผมเคยได้ฟังพระท่านเทศน์ว่า "ชนเผ่าอินเดียนแดงได้อาศัยบ้านที่สร้างจากดินและไม้จาก ธรรมชาติ ได้อาหาร มาจาก แหล่งธรรมชาติ มีพืชผักผลไม้อันสมบูรณ์ที่ขึ้นอยู่รอบหมู่บ้าน ได้เสื้อผ้า จากการ ถักทอ จากใยฝ้ายภายในครอบครัว และพวกเขาได้ยา ที่บรรพบุรุษ ที่เป็นทั้งหมอผี และหมอยา เอาสมุนไพร จากป่ามาปรุงเป็นยารักษาโรค ให้ชนเผ่าสืบทอดกันมา ชนเผ่า ต่างอยู่กันอย่าง สันติสุข แต่เมื่อกลุ่มชนผิวขาว ผู้มีอำนาจ อยากจะขยายอาณาเขตออกไปจึงไปขอซื้อที่ดินทั้งหมด ให้พวก อินเดียนแดง ขยับออกไป หาที่ทำกินแห่งใหม่ หัวหน้าเผ่าจึงพูดว่า พื้นดินแม่น้ำต้นไม้ลำธาร ก็เพื่อนของเรา นก หนูสัตว์ป่าทั้งหลาย ก็เพื่อนเรา จะเอาเงินมาซื้อได้อย่างไร" เมื่อได้ฟังเรื่องชนเผ่าอินเดียนแดงที่ไม่ยอมขายที่ดินให้พวกผิวขาวก็รู้สึกประทับใจถึงความรู้สึกของชนเผ่า อินเดียนแดง ที่เขารักธรรมชาติ ชีวิตกับธรรมชาติ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อธรรมชาติสมดุลปัจจัยสี่ ก็จะมีพร้อม สำหรับการดำรงชีพอย่างง่ายๆ สบายๆ ตลอดฤดูกาล ซึ่งเป็นความยิ่งใหญ่ เกินกว่าทรัพย์ เงินทอง มหาศาล ที่จะเทียบได้ เมื่อ ๓๐ ปีก่อนรอบๆ ผืนนานี้มีต้นไม้ใหญ่อยู่หลายร้อยต้นแต่มาวันนี้ต้นไม้ใหญ่ๆ ไม่มีให้ได้เห็นอีกแล้ว นา ๑๐ ไร่ ที่ติดกับนาของผม ก็โล่งโปร่งไร้ต้นข้าว เพราะเจ้าของนาเก็บค่าเช่านาแพงเลยไม่มีคนเช่า ว่างมา สามปีแล้ว เจ้าของนาเอง ก็ไม่มีเวลาเพราะลูกๆ ที่ไปทำงานอยู่ในกรุงเทพ ได้ส่งหลานมาให้เลี้ยง ถึงแปด คน ผู้เฒ่าที่เคยอยู่กับธรรมชาติ เที่ยวเก็บเห็ดป่า หาหน่อไม้มาทำอาหาร ก็หมดสิทธิ์ บ้านที่เคยสงบเงียบ ก็ครึกครื้น ไปด้วยเด็กอนุบาลและนักเรียนวัยประถม ค่านิยมเก่าก่อนที่พ่อแม่เลี้ยงลูกและลูกๆ ก็เลี้ยงลูก ของตัวไปตามวงจร จึงขาดหายไป ชาวชนบท ที่มุ่งไปหาเงิน ในเมืองกรุง นานปีจึงขาดการเรียนรู้ วิถีชีวิต อยู่กับธรรมชาติ อย่างมีความสุข ขาดพื้นเพชีวิตชาวนา ขาดเยื่อใยสัมพันธ์ฉันเครือญาติ ขาดศีลธรรม ขนบ ประเพณีท้องถิ่น เพราะไปหลง ค่านิยมเมืองกรุง ที่มุ่งเอาเงินเป็นใหญ่ เหนือสิ่งอื่นใด ผมนึกถึงคำสอนของพ่อแม่ที่คอยบอกย้ำอยู่เสมอว่า "ก่อนนอนให้ลูกคิดถึงงานในวันรุ่งขึ้นว่า ตื่นขึ้นมา จะทำ อะไรบ้าง เราถึงไม่เสียเวลา พอตื่นขึ้นมาก็ทำงานเลย นกหนูมันก็ยังรู้จักทำงาน วันๆ ต้องบินหา ตัวหนอน มากิน เกิดมาเป็นคน ก็ต้องรู้จักทำงาน คนที่ไม่ทำงาน วันๆ เอาแต่นอนๆ กับกินๆ จะมีค่าอะไร" ผมดีใจที่เกิดมาอยู่กับพ่อแม่ที่ชาญฉลาดรู้จักพร่ำสอนให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าที่ได้เกิดมาเป็นชาวนา - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ - |