ชีวิตไร้สารพิษ
การหมุนเวียนของพลังงานในร่างกาย
นาฬิกาอวัยวะ (ORGAN CLOCK)

"โลก" อันประกอบไปด้วย "กาย" อันยาววา หนาคืบ กว้างศอก พร้อมทั้ง "สัญญา" และ "ใจ" นี้ คนเรา ก็ยังไม่สามารถรู้จักได้ทั่วถึง โรคต่างๆ เกิดจากทางใจ ๘๐% และเกิดจากทางกาย ๒๐%

พระพุทธเจ้าท่านได้ ตรัสรู้รอบทั่วทั้งทางด้านกาย และใจ ซึ่งการแพทย์จนถึงยุคปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถ รู้ทั่วถึงทางกายภาค ที่มีอวัยวะน้อยใหญ่ประกอบมากมาย การแพทย์แผนจีน ยังนับว่านำหน้าที่สุด แม้แต่เมื่อ ๕ พันกว่าปีมาแล้ว ก็ยังสามารถ รู้เวลาการทำงาน ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ อีกทั้งการศึกษา ด้านวิชาการแพทย์ ก็เรียนสืบทอดต่อๆ กันมา ในครอบครัวหลายต่อหลายช่วงชีวิตคน วิทยาการแพทย์ แผนปัจจุบัน (ตะวันตก) จึงไม่ควรปฏิเสธ หรือมองข้ามการแพทย์แผนโบราณ (ตะวันออก) เพราะแค่ร่างกาย ของมนุษย์ ก็ยังจะต้องศึกษาค้นคว้า เรียนรู้กันไปอยู่อีกนาน กว่าจะแทงทะลุได้รอบถ้วน อีกทั้ง ยังละเลย ทางด้านจิตใจด้วย ก็ยิ่งไม่มีทางที่จะบรรลุ เป้าหมายได้เลย

วัฏจักรของการหมุนเวียนขึ้นอยู่ที่ "กรรม" กับ "กาละ"

ฉะนั้น กาลเวลาจึงกลืนกินสรรพสัตว์อยู่ตลอดไป ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน

นาฬิกาอวัยวะ ซึ่งเป็นของที่อยู่กับตัวของเราตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เราจึงควรจะเรียนรู้ และ จัดสรร วงจรชีวิต ในการพัก และการเพียรของเราให้ลงตัว เพื่อจะได้ก่อเกิด ประโยชน์แก่ตน และผู้อื่นอย่างมากมาย

จะขอเริ่มต้นที่เวลา.........

๑๙.๐๐ น. ถึง ๒๑.๐๐ น. (กล้ามเนื้อหัวใจ-P)
เป็นเวลาที่กล้ามเนื้อหัวใจจะชะล้างตัวเองจึงต้องพักสนิท ส่วนหัวใจจะทำงานน้อยลง ถ้าไม่พัก เลือดจะข้น กล้ามเนื้อหัวใจ จะทำงานหนักทำให้หัวใจโต และคนที่มี หัวใจโต จะมีความเสี่ยง ต่อการเป็นอัมพาต มากกว่า คนปกติ ๕-๖ เท่า

ทุกวันนี้คนเราไม่เตรียมตัวที่จะพักเวลานี้กันเลย แต่กลับจะทำงานล่วงเวลามากขึ้น เที่ยวกลางคืน และ กินอาหารหนักๆ พร้อมกับดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจ ทำงานหนักมากขึ้น ไปอีกเท่าตัว จึงมีผลกระทบต่อหัวใจ หัวใจจะต้อง ทำงานหนักไปด้วย ซึ่งปกติแล้ว ร่างกายควรจะชะลอพัก นั่งทำสมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ เพื่อให้จิตใจ และร่างกายสงบลง สำหรับการเตรียมตัว พักผ่อนหลับนอน

๒๑.๐๐ น. ถึง ๒๓.๐๐ น. (พลังงานรวม - SJ)
๓ ทุ่มเป็นเวลาเส้นตายที่ทุกคน ต้องนอนหลับให้ได้ ถ้าหากเข้านอนหลัง ๓ ทุ่ม อันเป็นช่วง พลังงานรวมนี้ จะมีพลังงาน ไปช่วยเหลือกระบวนการสะสมพลังงานในร่างกาย ไม่เต็มที่ ผลก็คือ จะทำให้ร่างกาย มีพลังงาน สะสมไม่เพียงพอ ในการฟื้นฟูอวัยวะต่างๆ ให้สะอาด แข็งแรง สำหรับวันต่อไป

พลังงานรวม (เอ.ที.พี.)หมายถึง จำนวนเม็ดเลือด ถ้าไม่พักเวลานี้ เซลล์เม็ดเลือด จะแตก เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปกติ เซลล์เม็ดเลือดของคนเรา จะแตกวันละ ๒ - ๒.๕ ล้านเซลล์ แต่ถ้านอนดึกขึ้นอีก เซลล์เม็ดเลือด ก็จะแตกทวีคูณ ขึ้นเรื่อยๆ เช่น คนที่บริจาคเลือด ถ้านอนดึก เลือดจะลอยบริจาคเลือดไม่ได้

ถ้าเรานอน ๓ ทุ่ม ร่างกายจะสร้างเซลล์เม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนส่วนที่แตกไปในแต่ละวันให้สมดุล พลังงาน ที่สร้างขึ้นในช่วง ๒ ชั่วโมงนี้ ร่างกายจะนำไปล้างถุงน้ำดี ทำให้ถุงน้ำดีแข็งแรง

๒๓.๐๐ น. ถึง ๐๑.๐๐ น. (ถุงน้ำดี-GB)
เป็นเวลาที่พลังงาน หรือเลือด เคลื่อนมาที่ถุงน้ำดี เพื่อให้ถุงน้ำดีทำหน้าที่ย่อยไขมัน ที่จะไปเปลี่ยนรูป เป็นฮอร์โมน เปลี่ยนรูปเป็นกล้ามเนื้อ, กระดูก, ไขข้อ, เส้นเอ็น, ไขสมอง, ตา, น้ำหล่อเลี้ยงในร่างกาย ทั้งหมด ถ้าไม่พักผ่อนช่วงนี้ ไขมันพวกนี้ก็จะตกตะกอนอยู่ตามตัวเรา เช่น เป็นถุงไขมันใต้ตา มีพุง สมอง เลอะเลือนง่าย ปวดไหล่ ปวดท้องง่าย บริเวณลำไส้ใหญ่ ท้องเสีย หรือท้องผูกง่าย ที่จะนำไปสู่โรคอ้วน และมีนิ่ว หรือถุงซีสตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดวิตามิน เอ ดี อี เค ซึ่งวิตามินทั้ง ๔ ตัวนี้ ต้องละลายในไขมัน ตาจะฝ้าฟางขึ้น แคลเซียมลดลง กระดูกจะผุ ผิวหนังจะหยาบกร้าน หลอดเลือด ไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร (ไม่กระฉับ กระเฉง) ถ้านอนระหว่าง ๓ ทุ่มถึงเที่ยงคืน ก็จะเป็นเนื้องอก แต่ถ้านอน หลังเที่ยงคืน ก็จะเป็นมะเร็งได้ (ช่วงเวลาเหล่านี้ ขนาดได้นอนก็ยังแย่แล้ว ถ้าไปอดนอนด้วย ก็ยิ่งแย่ต่อ สุขภาพยิ่งขึ้น ผู้มีปกตินอนเวลานี้ควรแก้ไข)

๐๑.๐๐ น. ถึง ๐๓.๐๐ น. (ตับ-Liv)

เป็นเวลาที่พลังงานจะไปจัดการกับตับ หน้าที่ของตับ คือ สะสมอาหารสำรองให้กับร่างกาย ตับจะเก็บเลือด ได้ ๕๐ กรัม เพื่อใช้ในการขับสารเคมีออกจากร่างกาย ตลอดจนผลิตน้ำดี และ ส่งไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี เพื่อย่อย ไขมัน ถ้าช่วงนี้เรายังไม่หลับนอนยังทำงานอยู่ ร่างกาย จะสูญเสียพลังงาน ส่วนที่สะสมไว้ไป ตับจะอ่อนแอลง การสะสมพลังงานสำรองลดลง การผลิตน้ำดี ลดลง (ท้องก็จะบวมอย่างเห็นได้ชัด) และจะส่งผลกระทบ ถึงการทำงาน ของตับอ่อน ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ลดลงด้วย ผลที่ตามมาก็คือ โรคภัยไข้เจ็บ คนที่ไม่พักผ่อนในช่วงนี้ จะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับ ความดันโลหิต แปรปรวน โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ รูมาติซั่ม ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เบาหวาน หัวใจ กระดูกเสื่อม แต่ถ้าพักผ่อน ตั้งแต่ ๓ ทุ่มถึงตี ๓ จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าว

* ถ้าเป็นปัญหาที่ตับและถุงน้ำดี
ต้องใช้ พืช ผัก ผลไม้ ที่มี .....

-สีเขียว- "นำ" เพื่อฟื้นฟูและบำรุงตับ และถุงน้ำดี เช่น เบต้าแคโรทีน จาก ยอดแค ยอดฟักข้าว ยอดเสาวรส (ที่จะต้องลวกให้สุกทั้งหมด) สำหรับคนเอเชีย (ส่วนแครอท แม้จะมีเบต้า แคโรทีน แต่ก็เหมาะสำหรับ คนยุโรป (ตะวันตก) เพราะมีกระเพาะอาหารที่แข็งแรง จึงย่อยแครอทได้ อีกทั้งการปลูกทางเอเชีย ต้องใช้ยา และปุ๋ยเคมีอย่างมาก)

-รสเปรี้ยว- ถ้ากินโดดๆ จะทำให้ตับร้อน แต่ถ้าอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวนำ มีรสหวาน ขม เค็ม ตาม จะเหมาะสมแก่ตับ เพราะมีความเป็นกลาง

-ฤดูใบไม้ผลิ- คือ ช่วงต้นฤดูฝน จะมีลมพัดแรง ถ้าโดนลมบ่อยๆ หรือเป่าพัดลมทั้งคืน หรือ อยู่ในห้องแอร์ จะทำให้ระบบหมุนเวียนของเลือดในร่างกายช้าลง ดังนั้น เลือดที่จะส่งไป ยังตับ จะไม่พอเพียง จึงทำให้ เป็นไข้หวัดได้ง่าย

-เส้นเอ็น- เมื่อเป็นไข้ เส้นเอ็นจะตึงไปทั่วร่าง บอกถึงพลังที่ตับไม่พอ หมายถึง เลือดที่ส่ง ไปเลี้ยงตับ ไม่พอเพียง เมื่อเส้นเอ็นตึง ทำให้ร่างกายตึงไปทั่ว ก็ไม่สามารถทำงานได้ ร่างกาย จึงควรจะต้องพัก โดยปริยาย เพื่อให้ตับมีเลือดมาเลี้ยงอย่างเพียงพอ ร่างกายก็จะผ่อนคลาย หายตึงได้ เมื่อร่างกายเตือน ให้พักแล้ว แต่เรายังดันทุรัง ทำงานต่อไป หรือนอนดึกต่อไป หรือกินยาแก้ปวดเสมอๆ หรือ มีอารมณ์โกรธอยู่ เป็นเนืองนิจ ก็มีแนวโน้ม ที่จะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

-ตา- ไม่ได้เป็นหน้าต่างของหัวใจ แต่เป็นหน้าต่างของตับและไต เวลาโกรธ จะสังเกตเห็นที่ตา ท่านที่ตา พร่าฟาง มีสาเหตุมาจากทำงานไม่ได้พัก ตับใช้พลังงานมากเกินไป และเกิดจาก การบริโภคอาหาร ที่เป็นพิษ เช่น เห็ดต่างๆ (ไม่ควรกินโดดๆ ควรจะกิน ๓ ชนิด เพื่อเป็นการ ฆ่าฤทธิ์กันเอง) อาหารที่ปรุงในภาชนะ อะลูมิเนียม พลาสติก, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า, กระทะไฟฟ้า, เตาไมโครเวฟ (ควรใช้ ภาชนะจากดิน หรือ ทองเหลือง)

-ตาต้อ....ลม, เนื้อ, กระจก, หิน- เกิดจากที่ตับและถุงน้ำดีอ่อนแอลง จนมีผลกระทบ ให้ลำไส้เล็ก และ ลำไส้ใหญ่บวม เพราะตับไม่สามารถ สร้างน้ำดี ส่งไปให้ถุงน้ำดี จึงไม่มีน้ำดี จะไปย่อยไขมัน ฉะนั้น อาหาร ที่ตกค้าง ในลำไส้เล็กจึงไม่ย่อย ทำให้เกิดแก๊ส เป็นลมอืด จุกเสียด เต็มลำไส้ ถ้าเป็นบ่อยๆ จะส่งผล ทำให้ตา เป็นต้อต่างๆ ได้ สาเหตุมาจาก การกินอาหาร ที่เป็นพิษและย่อยยาก เช่น...

ข้าวโพด จะย่อยได้ต้องใช้พริกและเครื่องเทศมากๆ (ข้าวโพดอ่อนกินได้)

ฟักทอง จะย่อยได้ต้องใส่ใบโหระพา ใบแมงลัก

หน่อไม้ จะย่อยได้ต้องมีใบย่านาง

กะทิ จะย่อยได้ต้องมีมะเขือพวง

แครอท ไม่มีอะไรแก้ให้ช่วยย่อยได้เลย

อาหารที่มีไซยาไนด์สูง เช่น ชะอม สะตอ ลูกเนียง หน่อไม้ฝรั่ง และหน่อไม้ทุกชนิด

อาหารที่มีกำมะถันสูง เช่น ขนุน ทุเรียน มะม่วงสุก

(ต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ -