ใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาโลก (ตอนจบ)
* บรรยายเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนศรีอยุธยา
- ส.ศิวรักษ์ -


เราเองสามารถฝึกตนจนเปลี่ยนจากความเป็นอัตตาธิปไตย ที่ถือตนเป็นใหญ่ ที่ยึดมั่น ในทิฐิของตน ในชนชั้นตน แม้จนในชาตินิยมของตน โดยกลายไปได้ ให้เป็นไป ในทางของ โลกาธิปไตย ที่ถือโลกเป็นใหญ่ ที่ถือคนอื่น เป็นใหญ่ยิ่งกว่าเรา โดยเฉพาะก็คนยากไร้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในโลก นี่จะเป็นหนทางของ การนำเอาวิทยาศาสตร์ มาแก้ปัญหาให้โลกได้ ดังขอให้ดูตัวเลขข้างล่างนี้มาประกอบการพิจารณา

ถ้าเราลดจำนวนประชากรของโลกทั้งหมดให้หดเล็กลงเหลือเป็นหมู่บ้านหนึ่ง มีคนอยู่ ๑๐๐ คน ตามสัดส่วน ของประชากร ที่มีชีวิตอยู่ทั้งหมด จะมองเห็นบางสิ่งตามนี้ คือ
๕๗ คนเป็นชาวเอเชีย
๒๑ คนเป็นชาวยุโรป
๑๔ คนจากซีกโลกตะวันตก รวมทั้งทิศเหนือและทิศใต้
๘ คนเป็นชาวอาฟริกัน
๕๒ คนเป็นสตรี
๔๘ คนเป็นบุรุษ
๗๐ คนไม่ใช่คนผิวขาว
๓๐ คนเป็นคนผิวขาว
๗๐ คนไม่ถือคริสต์
๓๐ คนถือคริสต์
๘๙ คนเป็นพวกที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม
๑๑ คนเป็นพวกรักร่วมเพศ
๖ คนจะเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ ๕๙% ของคนทั้งโลกและทั้งหมด ๖ คนนั้นอยู่ในสหรัฐ
๘๐ คนอาศัยอยู่ในบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
๗๐ คนอ่านไม่ออก
๕๐ คนทุกข์ทรมานจากการขาดอาหาร
๑ คนเป็นคนใกล้ตาย
๑ คนกำลังจะเกิด
๑ คน (จำเพาะจำนวน ๑ เท่านั้น) ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษา
๑ คนเป็นเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์

(ฟิลิป เอ็ม ฮาร์เตอร์ แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คณะแพทยศาสตร์ จาก Seeds of Peace ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๓ ก.ย.-ธ.ค. ๒๕๔๗)

ลองนึกดูสิว่า เราอยู่ตรงไหนในตัวเลขดังกล่าว แล้วเราจะกล้าเผชิญกับความทุกข์ ของคนส่วนใหญ่ไหม กล้าจะอยู่ เคียงข้างเขา แล้วถูกถีบถูกกระทืบเช่นพวกเขาได้ไหม โดยฝึกใจไว้ ไม่ให้เกลียดชัง ผู้ที่กดขี่ ข่มเหง เราด้วย จนเจริญอุเบกขาได้ กล่าวคือ เกิดความกล้าหาญ ทางจริยธรรม แล้วตัดสินใจได้โดย ปราศจาก อคติ ซึ่งมีความรัก ความชัง ความกลัว และความหลงเป็นตัวกำหนด นั้นแล เราจึงจะเข้าถึงธรรมาธิปไตย คือ ถือเอาสัจจะ หรือธรรมะเป็นคำตอบของชีวิต ดังสรุปลงได้ไหมว่า ธรรมาธิปไตย คือหนทางแห่ง วิทยาศาสตร์ ที่แท้ และนี่คือทางแห่งการแก้ปัญหาให้โลกได้โดยสันติวิธีที่เริ่มจาก

๑. เห็นตรง โดยปราศจากอคติ
๒. ตั้งใจมั่นอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการลดความเห็นแก่ตัว
๓. พูดได้ตรงๆ อย่างปราศจากเล่ห์เพทุบาย
๔. ประกอบธุรกิจต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอาการอันหน้าไหว้หลังหลอก
๕. เลี้ยงชีพอย่างปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ หากเพื่อเกื้อกูลมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติ ทั้งหมด

๖. มีความเพียรพยายามอย่างแน่วแน่ในทางรับใช้ผู้อื่นและสัตว์อื่น ด้วยการรู้จักลด ความเห็นแก่ตัว ลงไป เรื่อยๆ หากรู้จักสร้างเครือข่ายของกัลยาณมิตร ไว้คอยตักเตือนตัวเรา เและโยงใยกันในการแก้ปัญหา ให้โลก อย่างสันติ

๗. รู้จักตั้งสติไว้อย่างมีสัมปชัญญะให้หัวใจโยงใยถึงหัวสมอง ไม่ให้เกิดความคิด กำเริบ ไปในทางของอำนาจ เงินตรา ยศถา-บรรดาศักดิ์ หรืออัครฐานต่างๆ

๘. มีเวลาภาวนาอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม ให้เข้าถึงความจริงของชีวิตและของโลกว่า ความทุกข์มีอยู่ แต่เมื่อรู้เหตุ ของมันแล้ว ก็เอาชนะมันได้ด้วยอุบายวิธีอันแยบคาย อย่างสุขุมคัมภีรภาพ

ข้าพเจ้าเชื่อว่าที่กล่าวมานี้คงมีประโยชน์สำหรับผู้ฟังตามสมควร แม้ท่านจะไม่เห็นด้วย ก็ขอได้โปรด นำไปใคร่ครวญ แล้วคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเกิดเป็นปฏิบัติการให้จงได้

ขอแถมอีกนิดว่า สำหรับพุทธศาสนิก ก่อนที่เราจะมาสมาทานวิธีวิทยาศาสตร์อย่างตะวันตก พุทธศาสนา คือวิทยาศาสตร์ของเรา เพราะพุทธศาสนา ประกอบไปด้วย องค์คุณที่สำคัญ สองประการ ที่ต่างไปจาก ลัทธิ ศาสนาอื่นๆ กล่าวคือพุทธศาสนา ไม่ได้เน้นที่ความเชื่อ หรือไม่จำต้องเชื่อ ดังหนังสือที่ขายดีที่สุดของ สตีเฟน แบชเลอร์ มีชื่อว่า Buddhism Without Beliefs ที่มีแปลเป็นไทยแล้ว ชื่อพุทธพ้นลัทธิ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ก็เคยกระซิบ กับข้าพเจ้าว่า "สุลักษณ์ พวกเราที่ถือพุทธ ย่อมเป็น agnostic" พระพุทธเจ้าเอง เมื่อทรงแสดงธรรม จบลง ได้ตรัสถามพระสารีบุตรว่าเชื่อตามนั้นไหม พระสารีบุตรกราบทูลว่า ยังไม่เชื่อ จนกว่า จะนำไปทดลอง และประพฤติปฏิบัติ จนเห็นจริงแล้ว จึงจักเชื่อตาม พระพุทธองค์ทรงแสดง สาธุการ ให้สงฆ์เอาอย่างพระสารีบุตร

อีกประการหนึ่งนั้น พุทธศาสนาเน้นในเรื่องธรรมสากัจฉา ให้ได้โต้แย้ง แสดงความเห็น ที่แตกต่างกัน ในทางสาธารณะ สังคายนาในทางพุทธศาสนา คือการแสวงหา ข้อโต้แย้ง แล้วนำมาตกลงกัน ในที่ประชุม เพื่อหามติร่วม สำหรับเป็นแนวทาง แห่งการประพฤติปฏิบัติ

การอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในชุมชน ที่มีแนวโน้มไปในทาง การลดความเห็นแก่ตัว เช่น คณะสงฆ์ ซึ่งเน้น ในความเสมอภาค และภราดรภาพ เพื่อดำเนินไปสู่อิสรภาพ จากโลภโกรธ หลง นี้แล ถือได้ว่าเป็นแบบอย่าง ในทางประชาธิปไตยที่แท้

ดังจะเห็นได้ว่า ผลิตผลในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทางนี้ เป็นไปอย่า งตรงกันข้ามกับ โลกตะวันตก เอาเลย เช่น การตีพิมพ์ครั้งแรกในโลก ปรากฏขึ้นที่เมืองจีน ในปี ค.ศ.๘๖๘ นั้น คือการพิมพ์ วัชรสูตร ที่แปลมาจากภาษาสันสกฤต เพื่อ "เผยแผ่พระธรรม" ซึ่งถือได้ว่าการให้การศึกษา แก่มหาชน โดยไม่ได้หวังผล ในทางการค้ากำไร แต่อย่างใด นี้แล คือทาน การให้ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง สำหรับ แก้ปัญหาให้โลก ซึ่งเต็มไปด้วย ความเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยการหาผลกำไร ทั้งในทางการค้า ทั้งในทาง อำนาจ และ ในทางความลุ่มหลงต่างๆ

ถ้าการให้เป็นไปในทางความจริง ความงาม และความดี อย่างไม่ผูกขาด นั่นจะเป็นหนทาง ที่ต่างไปจาก โลกปัจจุบัน อันวุ่นวายและเต็มไปด้วยความมุ่งร้ายกัน กดขี่ข่มเหงกันและกัน โดยแผ่ขยายความเลวร้าย ไปยังสรรพสัตว์และธรรมชาติทั้งหมด

จากทาน การให้ ย่อมขยับขึ้นไปในขั้นของศีล คือการควบคุมตนเอง ให้ไม่เอาเปรียบตนเอง และผู้อื่น สัตว์อื่น ด้วยการอบรมจิตใจ ให้เป็นไปอย่างเยือกเย็น ปล่อยวาง อย่างสงบ เพื่อเข้าถึงความจริงได้ ตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือการโยงใยถึงกันและกัน อย่างปราศจาก การติดยึดในตัวตน จนเป็นปัจเจกนิยม อย่างในปัจจุบัน

สำหรับพุทธศาสนิกนั้น พุทธศาสนาคือหนทางทั้งหมดของชีวิต ดังเมื่อพุทธศาสนา เริ่มแผ่ขยายไป เมืองจีน จากอินเดีย ตอนราวๆ ต้นคริสต์ศักราชนั้น ไม่ใช่เรื่องของ ศาสนธรรมเท่านั้น หากนำเอา วิทยาศาสตร์ อย่างใหม่ คณิตศาสตร์ อย่างใหม่ รวมทั้ง วรรณศิลป์ นิรุกติวิทยา สถาปัตยกรรม แพทยศาสตร์ และดนตรี เข้าไปพร้อมๆ กัน

พระจีนที่จาริกไปอินเดีย อย่างท่านฟาเหียน และพระถังซำจั๋ง อันมีสมณฉายาว่า ตรีปิฎก หรือ ยวนจ่างนั้น ท่านไม่แต่ศึกษาภาษาบาลี สันสกฤต และพระธรรมวินัยเท่านั้น หากยังศึกษา วิชาดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อีกด้วย

ที่สำคัญคือพระเถระนั้นๆ ไปอินเดียด้วยโพธิสัตวธรรมบารมี เพื่อเกื้อกูลสรรพสัตว์ อย่างปราศจาก ความเห็น แก่ตัว ผิดไปจากนักเรียนไทยสมัยนี้ ที่ไปเรียนอินเดีย หรือเมืองฝรั่ง ซึ่งมักแต่มุ่งเพียงเพื่อ ขยับสถานะ ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมให้ตนเอง จึงประสบกับความล้มเหลว ยิ่งกว่าความสำเร็จ เพื่อส่วนรวม

ก็เมื่อพระจีนนั้นๆ ลดอคติได้เท่าไร ท่านย่อมแลเห็นอะไรๆ ได้ชัด ยิ่งท่านใช้วิชาความรู้ เป็นศาสตรา อย่างแหลมคม ท่านย่อมมองเห็นสังคม ที่ท่านไปศึกษาได้ อย่างทะลุปรุโปร่ง แม้พระจีนนั้นๆ จะไม่เห็นว่า อายุรเวท ของอินเดีย ไม่ดีไปกว่า การแพทย์แผนจีน แต่ท่าน ก็ยอมรับว่า การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้พลเมือง นั้น อินเดียดีกว่าจีนยิ่งนัก ดังท่านฟาเหียน เขียนไว้แต่ ค.ศ.๔๐๑ ว่า

"คนจนและคนอนาถาในเมืองนี้ และทุกคนที่เป็นโรค ไปยังสถานพยาบาล โดยได้รับ การอนุเคราะห์ ในทุกๆ ทาง หมอตรวจโรคให้อย่างละเอียด คนเจ็บและคนจน ได้อาหาร และยารักษาโรคตามที่ต้องการ โดยไม่ต้อง เสียอะไรเลย ทั้งยังได้พักอยู่ที่นั่น เป็นอย่างดี ต่อหายแล้วจึงจากไปได้สบายๆ"

ท่านฟาเหียนเขียนข้อความข้อนี้ขึ้น ก็เพื่อต้องการให้เมืองจีนมีบริการด้านสาธารณสุขเช่นนี้

ถือได้ว่าเป็นการใช้วิชาความรู้เพื่อแก้ปัญหาโลกได้อย่างหนึ่ง จึงขอนำเอาเรื่อง ของอดีต มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อจะ ประยุกต์อะไรๆในปัจจุบัน เพื่ออนาคตได้บ้างกระมัง


- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ -

** จงเป็นนัก "ทำ" หรือนัก "ธรรม" ให้มากกว่านักคิดหรือนักวิชาการ
(โศลกธรรม)