บุญนิยม : คนทำ-จุลภาค คนได้ประโยชน์-มหัพภาค
(จนกระจุก รวยกระจาย) แต่ก่อนแต่ไรที่ "คนจนเล่นหวย-คนรวยเล่นหุ้น-นายทุนเล่นที่" ก็ยังไม่มีใครรู้สึกว่าทุนนิยมนั้น น่ากลัว สักเท่าไหร่ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ใกล้ๆ กับยุคโลกาพินาศอยู่รอมร่อ นายทุน ทั้งหลายได้ขยายอำนาจ การเล่น มีทั้งเล่นที่ -เล่นหุ้น-และทั้งเล่นการเมือง อย่างครบวงจร ทำให้ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงภัยของ ทุนนิยม ที่ผนวกบริโภคนิยม อำนาจนิยม และหรูหรานิยม เข้าไปด้วย ก็ขนาดที่เยอรมันซึ่งเป็นประเทศทุนนิยมโดยตรง ก็ยังต้องออกมาประณามความโหด ของมหาอำนาจ ทางทุนนิยมด้วยกัน แม้คนในอเมริกาเองก็ยังออกมาเปิดโปงถึง ความร้ายกาจ รัฐชาติของตัวเอง ซึ่งกำลัง เป็นหนังสือที่กำลังขายดิบขายดีอยู่ในขณะนี้ เพราะได้เผยเบื้องหลัง การออกไปไล่ล่า เอาทรัพย์สมบัติ จากประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ มาบำรุงบำเรอประเทศชาติของตน โดยส่งสายลับไปในรูปของ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ "คลั่งไคล้เงินตรา-บ้าอำนาจ-ผูกขาดกิจการ-และมอมเมาจิตวิญญาณมนุษยชาติ" น่าจะเป็นภัยของ ทุนนิยม ที่กำลังถล่มเข้าใส่ประชากรโลกในขณะนี้ ยิ่งดูรายชื่อ อภิมหาเศรษฐีของเอเชียที่อยู่อันดับ ๑ ใน ๑๐ บางคน มีกิจการเป็นเจ้าของคาสิโนขนาดใหญ่ บางคนเป็นเจ้าของกิจการน้ำเมาที่ขายดิบขายดี ชนิดที่ผู้คนในประเทศนั้นๆ ม.ด.ท.ง. (เมาได้ทุกงาน) ม.ต.ล.ว. (เมาตลอดวัน) และ ม.ล.ช.ม. (เมาแล้ว ทำชั่วได้หมด) เศรษฐศาสตร์ ทุนนิยมที่อ้างว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ เป็นของคนส่วนใหญ่นั้น นับวันๆ ปรากฏการณ์ รวยกระจุก - จนกระจาย ก็ยิ่งชัดขึ้นๆ คนร่ำรวยมั่งคั่งที่ได้ประโยชน์จริงๆ มีไม่กี่ตระกูล ซึ่งเป็นจุลภาค อย่างยิ่ง (MICRO) แต่ต้องอาศัยหยาดเหงื่อและแรงงานคนทำ ที่เป็นกรรมกร และชาวไร่ ชาวนาเป็นมหัพภาค ซึ่งตรงกันข้ามกับระบบบุญนิยม แม้เป็นคนส่วนน้อยที่ตั้งใจมาจนหรือเต็มใจจน ตามหลักพุทธศาสนา ที่ให้มักน้อย (อัปปิจฉะ) เป็นคนพอเพียงหรือคนใจพอ(สันโดษ) อีกทั้งให้เสียสละ(จาคะ) และไม่สะสม (อปจยะ) ชีวิตที่ไม่เอาเปรียบมุ่งการเสียสละและไม่สะสม ยังไงๆ ก็ต้องจนอยู่แล้ว ซึ่งถ้าแนวคิดแบบนี้ ทำกันได้หลายๆ คน เป็นคนจนทั้งหมู่บ้าน เช่นหมู่บ้านราชธานีอโศก ที่ทางจังหวัด ได้จัดเป็นหมู่บ้านยากจน อันดับที่ ๕ ของจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากสมาชิกในหมู่บ้าน ต่างก้มหน้าก้มตาทำงาน ทั้งกสิกรรม บุญนิยม การศึกษาบุญนิยม การพาณิชย์บุญนิยม ฯลฯ โดยไม่มีเงินเดือนหรือรายได้ใดๆ เป็นสิ่งตอบแทน วิถีชีวิตชาวบุญนิยมแม้จะเป็นคนส่วนน้อยที่มาอยู่รวมกันอย่างจนกระจุก ตามเครือแหต่างๆ ของชุมชน ชาวอโศก แต่คนจนเหล่านี้ต่างตั้งใจที่จะสละออกหรือสะพัดออกเพื่อคนส่วนใหญ่ หรือรวยกระจาย เพื่อประชาชน ทั่วไปทั้งหมด (MACRO) แม้คนทำจะเป็นจุลภาค แต่คนได้ประโยชน์ย่อมเป็นมหัพภาค ตามอุดมการณ์ ของพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงระบุไว้ว่า เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชน เป็นอันมาก (พหุชนหิตายะ - พหุชนสุขายะ). - จริงจัง ตามพ่อ - - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ - |