ข้าพเจ้าคดอะไร?
- สมณะโพธิรักษ์ -


เพราะกิเลสทั้งราคมูล-โทสมูล-โมหมูลนั้นเป็นภัยทุกมูล มิใช่เฉพาะแต่กิเลส "โทสมูล หรือ พยาบาท" เท่านั้น ที่มันเป็น "ภัย" ต่อคนต่อสังคมมนุษยชาติ ราคมูล-โมห มูลก็เป็น "ภัย" เหมือนกันพอกัน ดังนั้น จึงจะต้อง "ทาน" หรือเอาทั้ง ราคมูล-โทสมูล-โมหมูล ออกจากจิต ทั้งหมด ให้สิ้นเกลี้ยงสนิท คนผู้นั้น จึงจะเป็นผู้สิ้น "ภัย" อย่างสัมบูรณ์ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น แก่สังคมมนุษยชาติ

"อภัยทาน" จึงเป็น "ทาน" ที่ต้องเรียนรู้อย่างสำคัญเพราะผู้จะ "ทำทาน" สำเร็จเป็น "ผล" ถึงขั้น "นามธรรม" และ "ทำได้สำเร็จแท้สัมบูรณ์จริง" อีกด้วยนั้น จะต้องมี "ภูมิธรรม" บรรลุความเป็น "อาริยะ" ขึ้นไป ซึ่งต่างจาก "วัตถุทาน" ทั้งรู้ได้ยาก เข้าใจได้ยากกว่า "วัตถุทาน"

"วัตถุทาน" คือการ "ให้วัตถุ" แม้การ "ให้แรงงาน-ให้ความรู้" ก็ยังชื่อว่า"วัตถุทาน" เพราะไม่ใช่ การทาน ขั้น "นามธรรม" เราเห็นกันได้ง่าย รู้กันได้ง่าย มีอะไรๆที่รู้ที่เห็น เป็นรูปธรรม เป็นลักษณะ มีอากัปกิริยาภายนอก ปรากฏให้รู้ได้ แต่ "อภัยทาน" ไม่มีรูปธรรม ไม่มีลักษณะ อากัปกิริยา ภายนอกปรากฏ เพราะเป็น "นามธรรม" ที่อยู่ในภายในจิต โดยเฉพาะ ทว่าในการให้วัตถุก็ดี ให้แรงงานก็ดี ให้ความรู้ก็ดี นั้น แม้จะเป็น "วัตถุทาน" มันยังมี ความเป็น "ภัยทาน" หรือ "ทานที่ยังเป็นภัย" ซ้อนอยู่ในการทานนั้นด้วย นั่นก็หมายความว่า "วัตถุทาน" นั้น ความซ้อนลึกลงไป ในจิตวิญญาณ หรือในทาง "นามธรรม" ของผู้ทำทาน ยังมี"ภัย" ยังไม่เป็น "อภัยทาน" นั่นก็เพราะ "ทาน" นั้นยังมี "อามิส" หรือยังเป็น "อามิสทาน" อยู่

"อามิส" หมายถึง วัตถุ,เหยื่อ,เครื่องล่อ,อาหาร, อาหารอันโอชะ,ลาภ,เงิน,สินบน, เงินรางวัล, ความเพลิดเพลิน, ความโลภ, ตัณหา เป็นต้น "อามิสทาน" จึงเป็นการทำทานที่ "ในใจยังมีกิเลส - ยังลดกิเลสไม่เป็น" นั่นเอง

ซึ่งหมายถึง"การทานที่ไม่ได้ชำระจิตใจ การทานที่ชำระราคะ-โทสะ-โมหะไม่เป็น" หรือ การทานที่ยังติดยึด ยังไม่สละ จริง ยังไม่ปล่อยวาง อย่างถูกต้อง หรือยังทาน ยังให้ ยังเอาออก ตามอาริยธรรมไม่ได้

ดังนั้น "อามิสทาน"ก็หมายถึง ทานที่ยังไม่ถึงขั้น"อาริยะ" ไม่ถึงขั้น"มรรคผล" ไม่ว่าจะเป็น "วัตถุทาน" หรือ "อภัยทาน" ก็ตาม ก็ยังไม่ชื่อว่า "ธรรมทาน" ฉะนั้น "อามิส" ต้องต่างกับ "ธรรม" แน่ (ตปฎ. เล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๖)

ความเป็น "อามิส" กับความเป็น "ธรรม"นี้ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า ความเป็น"ธรรม" ย่อมเลิศกว่า ความเป็น "อามิส" แน่นอน ที่สุด ถ้าศึกษาที่พระพุทธเจ้าตรัส เปรียบเทียบความเป็นเลิศ ของ "ธรรม" ยิ่งกว่า "อามิส" ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ตั้งแต่ข้อ ๓๘๖ ถึงข้อ ๔๐๗ แล้วจะเห็น ได้ชัดว่า ความลึกซึ้ง ของคำว่า "ธรรม" นั้นลึกล้ำ เป็นเลิศกว่า "อามิส" อย่างไร แค่ไหน แม้แต่ความเป็น "ธรรมในธรรม" ก็ยังแตกต่างกัน สุขุมลึกล้ำ ยิ่งนัก เช่น "การชำระจิตของตน ให้ผ่องแผ้ว" (สจิตตโวทานัญจะ) กับ "การไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก" (กิญจิ โลเก อุปาทิยติ) ก็ยังเป็นธรรม ๒ อย่าง ซึ่งต่างกันแน่ (ตปฎ. เล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๓) หรือ "ความโกรธ" (โกธะ) กับ "ความผูกโกรธ" (อุปนาหะ) ก็เช่นกัน (ตปฎ. เล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๔) "การกำจัด ความโกรธ" (โกธวินยะ) กับ "การกำจัด ความผูกโกรธ" (อุปนาหวินยะ) ก็เช่นกันว่า ต้องต่างกันแน่ (ตปฎ. เล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๕)

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ -