ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -


เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนว่า ทั้งศีลขันธ์ ทั้งอินทรียสังวร ทั้งสติสัมปชัญญะ และทั้งสันโดษ ผลหรือ อานิสงส์ จะต้องมีคุณภาพของคุณธรรม พัฒนาถึงขั้น"อาริยะ" (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๕ หรือข้ออื่นๆ อีกในสูตรอื่นๆ ทุกสูตร ยกเว้นพรหมชาลสูตร)

สังเกตให้ดีในคำตรัสที่ว่า ศีลขันธ์อันเป็นอาริยะ-อินทรียสังวรอันเป็นอาริยะ-สติสัมปชัญญะ อันเป็นอาริยะ-สันโดษ อันเป็นอาริยะ นี้ เป็นคำตรัสสรุปของพระพุทธเจ้า เช่น ในพระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๕ เป็นต้นนั้น เป็นการตรัส หลังจากที่ได้ทรงอธิบายถึง "ศีลขันธ์" ผ่านไป (ตปฎ. เล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒ ถึง ข้อ ๑๒๑) ได้ทรงอธิบายถึง "อินทรียสังวร"ผ่านไป (ข้อ ๑๒๒) ได้ทรงอธิบายถึง "สติสัมปชัญญะ" ผ่านไป (ข้อ ๑๒๓) ได้ทรงอธิบายถึง "สันโดษ" ผ่านไป (ข้อ ๑๒๔) แล้วจึงได้ตรัสว่า "ภิกษุนั้นประกอบด้วย ศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติ สัมปชัญญะ และสันโดษ อันเป็นอาริยะ เช่นนี้แล้ว" (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๕)

แล้วก็ทรงแนะนำต่อไปว่า ให้ทำ"เจโตสมถะ" หรือให้ทำ "ฌาน" ชนิดที่เรียกว่า "เจโตสมถะ" การทำ "เจโตสมถะ" นี้ ต้องหาสถานที่สงัด ["เจโตสมถะ" ก็คือการทำฌาน หรือทำสมาธิ ที่นั่งหลับตา สะกดจิต เข้าไป อยู่ในภวังค์ แบบฤาษีนั่นเอง] ในบริบทนี้ พระพุทธเจ้ามุ่งตรัสถึง สถานที่อันสงัด ให้ทราบเป็นตัวอย่างว่า มีอะไรบ้าง เท่านั้น มิใช่ให้ไปอยู่ป่า เช่นตรัสว่า "ป่า, โคนไม้, ภูเขา, ซอกเขา, ถ้ำ, ป่าช้า, ป่าชัฏ, ที่แจ้ง, ลอมฟาง ในกาล ภายหลังภัต" ทรงแนะนำ ให้เลือกทำ ในเวลาหลังจากรับประทานอาหารเสียด้วย ซึ่งท้าทาย ต่อความง่วง อย่างมากเลย แต่ที่พระพุทธเจ้า ทรงแนะ ให้เอาเวลาเช่นนี้ ก็เพราะเป็นเวลาที่ใช้ฝึก "เจโตสมถะ" ได้ประโยชน์ คุ้มยิ่งนัก ถ้าใครปฏิบัติในเวลา ดังกล่าวนี้ สำเร็จจริง จะเป็นผู้ที่สามารถทำ "เจโตสมถะ" ได้เก่งกาจทีเดียว

และ "สถานที่อันสงัดหรือเสนาสนะอันสงัด" ก็มิใช่มีเท่าที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงมานี้เท่านั้นด้วย ยังมีมาก กว่านี้นักหนา นี่แค่ยกตัวอย่าง

คำอธิบายตรงนี้ของพระพุทธเจ้า ทำให้คนที่มีความยึดมั่นในลัทธิฤาษีเก่าๆ เดิมๆ เข้าใจผิดเพี้ยน ไปมากกว่า มากว่า การทำ"ฌาน" หรือทำ"สมาธิ"แบบ"เจโตสมถะ" หรือ แบบฤาษีโบราณนี้ (ซึ่งมิใช่"ฌาน"แบบพุทธ) จะต้องออก ไปสู่ป่า สู่ภูเขา สู่เสนาสนะอันสงัด ที่หมายถึง สถานที่อันห่างจากหมู่บ้านไกลๆ ออกไป ยิ่งป่าลึก ไกลเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะไม่เข้าใจ คำตรัสของ พระพุทธเจ้า อย่างถูกถ้วนเพียงพอ แค่ได้ยินคำตรัสว่า "เสนาสนะ อันสงัด นั้น คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง" ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ จึงหลงผิด ไปว่าหมายถึงสถานที่ไกลๆไปจากสังคม จากผู้คนหมู่บ้านไปโน่น ซึ่งเป็น การเข้าใจผิด เพราะเพี้ยน ประเด็น ที่จริงนั้น การทำ "เจโตสมถะ [ก็คือ การทำ "ฌาน" หรือทำ "สมาธิ" แบบนั่ง หลับตา สะกดจิต ตามที่ฤาษีโบราณ พาทำนั่นแหละ] ซึ่งจะต้องอาศัย เสนาสนะ อันสงัด ปฏิบัติกันก็จริง ก็มิใช่ เจาะจงว่า สถานที่อันสงัด หรือ เสนาสนะ อันสงัดนั้น ต้องออกไปสู่ ป่า ภูเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ หรือ สถานที่ ไกลๆ ห่างผู้คน ห่างสังคม บ้านเมือง เท่านั้น จึงจะปฏิบัติได้ จริงๆนั้นแค่ โคนไม้ ที่เงียบๆ ห่างจาก ผู้คน ก็ปฏิบัติได้แล้ว หรือ ที่แจ้ง ซึ่งโล่งว่างไม่มีคนวุ่นวาย ก็เป็นเสนาสนะ อันสงัดเพียงพอแล้ว ตามที่ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ ในที่นี้ ซึ่งหาก ดูให้ชัดๆถ้วนๆ ก็จะเห็นว่า มีทั้ง..โคนไม้ ที่แจ้ง ลอมฟางด้วย แต่ผู้ศึกษา ก็มอง ข้ามเผินไปเอง ไม่สังเกตให้ดี

โดยเฉพาะลอมฟางตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ มันไม่ใช่ในป่าในภูเขาหรือป่าช้าป่าชัฏ อันแสดงถึง แหล่งสงัด ที่ต้อง ไกลห่าง นักหนาอะไรเลย ลอมฟาง มันก็ชี้ชัดอยู่โต้งๆว่า หมายถึง สถานที่ที่มีลอมฟาง ซึ่งก็คือสถานที่ ที่มีลอมฟาง อยู่ข้างบ้าน หรือมีลอมฟางอยู่ที่นา ก็แค่นี้ ก็รู้ๆกันทั้งนั้น ไม่ใช่หมายถึง สถานที่ที่ลึก ไกลเข้าไป ถึงป่า ถึงภูเขา ถ้ำ อะไรปานนั้น สักหน่อย

ดังนั้น คำอธิบายของพระพุทธเจ้าตรงที่พระองค์สรุปให้ทำ "เจโตสมถะ" (ทำ"ฌาน" แบบนั่งหลับตา) นี้ จึงไม่ใช่ หมายความ ว่า ปฏิบัติศีลก็อย่างหนึ่ง ในที่ที่หนึ่ง ปฏิบัติอินทรียสังวร ก็แยกไป อีกอย่างหนึ่ง ในอีกที่หนึ่ง ปฏิบัติ สติสัมปชัญญะ ก็หมายถึงอะไร แยกออกไป อีกที่หนึ่ง และสันโดษก็แยกไปปฏิบัติกัน ที่อื่นที่ไหน อีกที่หนึ่ง เสร็จแล้วถึงคราวทำ "เจโตสมถะ หรือ ฌานฤาษี" ก็ต้องออกสู่ป่า ภูเขา ถ้ำ ฯลฯ สถานที่ อันห่างไกล ขอยืนยันว่า ไม่ใช่เช่นนั้นเลย

ทุกหัวข้อธรรมนั้น ปฏิบัติอยู่ในขณะเดียวกัน ณ สถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน ไม่ต้องแยก ปฏิบัติกันไป คนละข้อ คนละที คนละแห่งเลย ปฏิบัติกันเป็นองค์รวม ซึ่งทุกข้อ ปฏิสัมพัทธ์ กันและกัน

ที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายมาถึงตอนให้ทำ"ฌานแบบฤาษีหรือเจโตสมถะ"นี้ และที่มีคำว่า..ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ก็แค่เป็นการยกตัวอย่าง "เสนาสนะ อันสงัด" มาให้ฟัง กันบ้างเท่านั้น ไม่ใช่ให้ออกป่า เพียงแต่ว่า ท่านให้ทำ "เจโตสมถะ" เพื่อเกิดฌาน หรือ สมาธิแบบฤาษี แล้วพระองค์ ก็ได้ทรง อธิบาย ต่อไปถึง.. ความเป็น "ฌาน" เป็น "สมาธิ" ซึ่งเป็นคุณสมบัติของจิต หรือ สภาวะของ "อธิจิตสิกขา" ว่า เป็นไปอย่างไร มีคุณค่ากัน ปานไฉน

ลองอ่านคำตรัสดูดีๆสิ "ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และ สันโดษ อันเป็น อริยะ เช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาล ภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่นคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละ ความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความ ประทุษร้าย คือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระให้บริสุทธิ์ จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมาย อยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จาก ถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจะ กุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จาก อุทธัจจะ กุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลง ในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้" เห็นไหมว่า พระองค์ให้ทำ "ฌานแบบเจโตสมถะ" ไม่ใช่ให้ออกป่า ออกภูเขา

การนั่งทำ"เจโตสมถะ"นี้ เป็นการศึกษา ฝึกฝน"เตวิชโช" ผู้ปฏิบัติจะต้องระลึกถึง สิ่งที่เราได้ทำ ผ่านมา เป็นมรรค เป็นผลนั้นๆ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ) จะต้องตรวจสอบ สิ่งใดที่เคยเกิด และปฏิบัติจนสิ่งนั้น ดับได้แล้ว ก็จะต้องทบทวน ให้รู้แจ้งรู้จริง (จุตูปปาตญาณ) ที่สุดสิ่งใด ส่วนใด ที่ได้กำจัดถึงขั้น สิ้นอาสวะแล้ว ก็จะต้อง รู้แจ้งรู้จริง (อาสวักขยญาณ) วิธีทำก็เป็น วิธีเดียวกัน กับที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงปฏิบัติ เมื่อวัน ทรงประทับ อยู่ใต้ต้นโพธิ์ ในวันตรัส รู้ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ฉะนั้นแล

พระพุทธองค์ทรงหมายให้ทำ"ฌาน"นี้ขึ้นมาเป็นการศึกษาเปรียบเทียบตรวจสอบ "อารมณ์ฌาน" ว่า "ฌาน" ที่เราทำได้ ในขณะปฏิบัติธรรมแบบพุทธ ซึ่งเป็นสัมมาฌาน เป็นสัมมาสมาธิ ตามที่เราได้ปฏิบัติ ผ่านมาแล้ว กับ "ฌานแบบ เจโตสมถะ" นี้ ต่างกันอย่างไร และให้ผล เหมือนกันไฉนบ้าง

กล่าวคือ เมื่อได้ปฏิบัติกันมาแล้วในแบบองค์รวมที่ประกอบด้วย "ศีล-อินทรียสังวร-สติสัมปชัญญะ -สันโดษ" จน บรรลุผลเป็น "ฌาน" อันเป็น "ฌานแบบพุทธ"นั้น ก็เอามา ระลึกขึ้นดู (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ) แล้วตรวจ สอบ ให้เห็น ความจริง ตามความเป็นจริงว่า ที่ได้"ผล"เป็น "ฌาน" (แบบพุทธ) เราได้ปฏิบัติอย่างไร รู้จักรู้แจ้ง อย่างไร ได้กำจัด กิเลสอย่างไร ดับสนิทลงไปแล้วนั้นอย่างไร และมีธรรมรส มีวิมุติรสอย่างไร ซึ่งอารมณ์ แบบโลกุตระ กับโลกียะนั้น เบา ว่าง โล่งหรือหลุดพ้น ปลอดภัยดีวิเศษ แตกต่างกันอย่างไร อันเป็น "วูปสมสุข" หรือเป็น "สุขวิหารธรรม" อย่างเดียวกัน เหมือนกันกับ "ผลจิตปราศจากนิวรณ์" ที่ทำได้ ในขณะ นั่งหลับตา ปฏิบัติสะกดจิต จนกระทั่งเป็น "ฌาน" อันเกิดเฉพาะ ตอนอยู่ ในภวังค์ หรือเฉพาะ ภายใน ของจิตในจิต ขณะนี้ มีอารมณ์อย่างไร ก็ได้เห็นแจ้งเห็นจริง ในความต่าง และความเหมือน เปรียบเทียบจาก "ความจริงตามความเป็นจริง" ทั้งในสภาพ "เจโตสมถะ" กับ "โลกุตระ" ทั้งในภาค ปฏิบัติ และ ทั้งในภาคของ "มรรคผล" ที่ตนผ่านตนได้ อย่างครบครัน

ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบไว้ถึงความวิเศษที่กำจัดกิเลสนิวรณ์ได้นี้ มากมายหลายนัย

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ -