- เสฏฐชน -


แม่นั้นสำคัญไฉน?

พุทธศาสนาได้กล่าวถึงความเป็นแม่ที่สำคัญๆ ไว้สองประการคือ
"มารดาเป็นพรหมของบุตร" นั้นหนึ่ง
"มารดาเป็นมิตรในเรือนตน" นั้นอีกหนึ่ง
ท่านผู้รู้ได้เขียนถึงความจริงทั้งสองส่วนนี้ ส่งเสริม รับรองคุณธรรมนี้ไว้ว่า
แม่ ... เป็นผู้ครูผู้สอนแต่ตอนต้น
แม่ ... ทุกคนอุดมพรหมวิหาร
แม่ ... มีเมตตากรุณามุทิตาการ
แม่ ... มีญาณอุเบกขาเป็นอารมณ์
แม่ ... เหมือนพระอรหันต์อันสูงสุด
แม่ ... หวังบุตรธิดาอย่าขื่นขม
แม่ ... กับลูกผูกมิตรจิตชื่นชม
แม่ ... จึงสมภาษิตมิตรในเรือน

แม้ว่าคำสอนขั้นโลกุตรธรรม จะบ่งบอกสัจจะข้อหนึ่งว่า "ความเกิด เป็นทุกข์" รวมถึงทุกข์ของ ผู้ให้กำเนิด ผนวกเข้าไปด้วย ว่าเกิดมาก ทุกข์มาก เกิดน้อย ทุกข์น้อย ไม่มีการเกิด ก็ไม่ต้องทุกข์เพราะการเกิดเลยก็ตาม

ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นแม่ลดน้อยลง จะเป็นแม่โดยไม่ได้เจตนา หรือตั้งเจตนาก็ตาม แม่เหล่านั้น ก็ยังส่งเสียง พร่ำรำพันให้ได้ยินตลอดมา ถึงทุกข์นานาชนิด เริ่มตั้งแต่...

เมื่อลูกเกิด กายแม่เจ็บ เหมือนเหน็บศร
เมื่อลูกมรณ์ แม่เจ็บใจ เหมือนใครหยาม
ตอนลูกอยู่ แม่ช่วยชู ให้เด่นงาม
เห็นลูกทราม แม่ห่วงนัก คอยตักเตือน
หากลูกทุกข์ แม่พลอยทุกข์ ไปกับเจ้า
ลูกหายเศร้า แม่สุขใจ ใครจักเหมือน
แม่กับลูก ผูกพันจิต มิตรในเรือน
เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งแม่ มิตรแท้เอย

แม่เป็นผู้แบกโลกเลยครึ่ง เห็นชัดเจน ยามแม่ท้อง ต้องรับไปคนเดียว ทนทุกข์ยากขณะตั้งครรภ์ แม้ฝ่ายชาย จะยอมรับก็ตาม จะกล่าวไปไยถึงอีกฝ่ายปฏิเสธ กลายเป็นปัญหาทางใจ จนกระทั่งต้องเกิดอาชญากรรม ทำลายชีวิตที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย แม้รับรองต้องใจกันทั้งสองฝ่ายแต่หากฝ่ายชายไม่ซื่อสัตย์ ผลที่เกิดขึ้น ย่อมนำปัญหาเรื้อรังยาวนาน ลูกที่รับผลกรรมนั้นสืบต่อ ปัญญาอ่อน ร่างกายพิกลพิการ อวัยวะไม่ครบถ้วน รวมทั้ง ปัญหาภายนอก การอุปโภคบริโภคปัจจัยสี่เครื่องเลี้ยงชีพ

แม่เป็นต้นกำเนิดโดยตรง ตั้งแต่ความเสี่ยงว่าลูกจะอยู่ในครรภ์ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ จะคลอดออกมา ได้ปลอดภัยหรือเปล่า จะเลี้ยงง่ายบำรุงง่ายอย่างไร แม่มักจะทุกข์ยิ่งกว่า เพราะลูกเป็นทั้ง "เลือดและเนื้อ" ของแม่ ทั้งก้อน

การป้อนอาหารขณะลูกยังอยู่ในครรภ์ ถ้าแม่ไม่บำรุงดูแลทางสายสัมพันธ์ให้ดีๆ ลูกจะมีโอกาส ออกมา ดูโลก อย่างสมบูรณ์ได้น้อย แม้ทางการแพทย์ จะเจริญ ก้าวหน้าเพียงใด ก็ต้องผ่านครรภ์ของแม่ก่อน เป็นช่วงต้น

ฉะนั้นคนโบราณจึงสอนให้ผู้ตั้งครรภ์ เตรียมความเป็นแม่ให้พร้อม เริ่มตั้งแต่จิตใจไปทีเดียว คือ "รักที่จะมีลูก"

ถ้าลูกไม่ได้เกิดมาแต่ความรัก ไม่ต้องกล่าวถึงผลพวงอื่นๆ ที่จะตามมา

จึงไม่เป็นการแปลกประหลาดอะไร หากเราจะเห็นว่าปัจจุบัน ผู้ให้ตั้งครรภ์ โดยอุบัติเหตุ ไม่ได้ตั้งใจ ให้เกิด จะเป็นตัวปัญหาเชื่อมโยงไปยังสังคมสงเคราะห์อื่นๆ อีกนานาชนิด บ้านฉุกเฉิน บ้านสงเคราะห์เด็ก บ้านเมตตา ฯลฯ

ฉะนั้นการที่ผู้หญิงคนใด พร้อมที่จะให้ลูกเกิด ผู้หญิงคนนั้นควรแก่การเคารพนับถือ อย่างปฏิเสธไม่ได้ เป็นประตูต้น

ยิ่งถ้าผู้หญิงคนนั้นยอมอดทน ยอมลำบาก ตรากตรำ เหน็ดเหนื่อย ยากเข็ญสารพัดเรื่องราว เพื่อจะให้ ลูกนั้น เติบโต เจริญขึ้นตามวัย และชีวิต

ผู้หญิงคนนั้นก็คือพระพรหมตัวจริงแท้ๆ ไม่ยกเว้นว่าเธอจะทำอะไรเป็นอาชีพ

เพราะการที่ผู้หญิงจะเลี้ยงลูกให้ได้ดี ให้ได้เจริญรุ่งเรือง ทั้งช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้ เธอก็คือแม่ของ สิ่งอื่นๆ ไปด้วย ไม่จำเพาะแต่การเป็นแม่ของลูกคนเดียวเท่านั้น คำว่า "แม่งาน-แม่แบบ-แม่พิมพ์" จึงติดตามมา ในพจนานุกรม

แม้สังคมจะลำเอียงให้ค่านิยมน้อยกว่า ในด้านการทำงาน ค่าตอบแทน ความนิยมนับถือ จากตัวอย่าง ข้อมูลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "แม่ผู้ไม่ยอมแพ้" ปี ๒๕๔๕ ทำให้คน ได้รู้กัน แพร่หลายยิ่งขึ้นว่าแม่ที่เลี้ยงลูกมาลำพังแต่ผู้เดียวนั้นควรแก่การสรรเสริญเพียงใด ตราบที่สังคม ยังกำหนด มาตรการแตกต่าง ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย แต่แม่ที่ตกฐานะ ม่ายเพราะหย่า เพราะเลิกร้าง เพราะถูก ฝ่ายชาย ทอดทิ้ง ฯลฯ แม้แม่จะทุกข์ยาก ลำบาก เหน็ดเหนื่อย ยากเข็ญเพียงใด ก็ต้องยืนหยัด ต่อสู้ และ ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อนำลูก ไปสู่จุดที่ดีที่สุด ของชีวิตจนได้

เข้าในทำนองแม่เลี้ยงลูกสิบคนได้ แม้แม่จะพิการ แม้แม่จะยากจน แม้แม่จะไม่มี ใบวุฒิการศึกษา

ตรงกันข้ามกับลูกทั้งสิบคน ที่มีอะไรๆทุกอย่างที่แม่ไม่มี แต่หาได้ยากเหลือเกิน ที่จะได้ยินว่า ลูกทั้งสิบคน รับเลี้ยงแม่

หากจะมีเพียงหนึ่ง หรือสองคนที่รับทำหน้าที่นี้ ก็ชื่นชมกันทั้งบ้านทั้งเมือง หรือจะได้ยินว่า ลูกคนใดคนหนึ่ง เสียสละเพื่อแม่ทั้งหมดทั้งชีวิต ก็หายากกว่างมเข็ม ในทะเล

แล้วอาจจะได้ยินคำปรารภจากลูกสมัยใหม่ด้วยว่า พ่อแม่ต้องทำตามหน้าที่ คือ ต้องเลี้ยงลูก ในเมื่อแม่ เป็นคนทำ ไม่ยกเว้น แม้แต่ผู้ที่ชื่อว่า "พ่อ"

คำปฏิเสธในการรับภาระระหว่างผู้หญิง ผู้ชายหลังการร่วมเพศ ที่ขาดความยั้งคิด ขาดสติสัมปชัญญะ มัวเมาในรส ดำฤษณา ประโยคแข็งกร้าวเหมือนกันว่า "ยังไม่พร้อม" เป็นสะพานเชื่อม ไปถึง การทำลายชีวิต เพราะคิดว่า นี่คือการตัดปัญหา โดยความหลงผิด มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน

ฉะนั้นผู้เป็นแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังคนเดียว จากภาวะจำนนด้วยกรณี แม่ม่าย จะโดยหย่าร้าง ตายจาก ถูกทอดทิ้ง ปฏิเสธไม่ยอมรับ ฯลฯ ทำให้แม่ผู้อยู่ในฐานะนี้ ต้องทำงาน เผชิญกับอุปสรรคมากขึ้น

ถ้าแม่ไม่มีคุณธรรมเพียงพอในการรองรับ ความวิกลจริตจะติดตามมา รวมถึงการส่งผล ไปยังสังคม เพราะจำนวน เยาวชนที่มีปัญหา (บุคคลพิเศษ) เพิ่มมากขึ้น ถึงอย่างไร ผู้เป็นแม่นั้น ยากนักที่จะตัดลูก แม้ลูก จะดีจะเลว ความรู้สึกว่า... คือลูกของแม่ จักล้างได้ยาก เป็นต้นเหตุที่ทางศาสนา มักจะนำมา กล่าวเสมอว่าผู้หญิงนี่ เป็นทาสที่ไม่ยอมรับ การปลดปล่อย

ยิ่งถ้าเทียบเคียงระหว่างบรรพชิตแล้ว ผู้หญิงจะถูกจัดลำดับต่ำลงไปอีก เมื่อนำเอาเรื่องนี้ มายกขึ้น เพราะ บรรพชิตเพศต้องตัดให้ขาด ในความเป็นพ่อ แม่ ลูก จนผูกเป็นชาดก อันลือชื่อไว้ด้วย ด้วยเห็นว่าความรัก ระดับกามารมณ์ ด้อยกว่าเมตตาธรรม

เพราะแม้เพียงศีล ๕ ก็ยากที่จะให้คู่สมรสช่วยกันประคับประคองรักษา

โดยเฉพาะเพศชาย จะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ทั้งสิ้น ด้วยความกลัวในคำสบประมาทของคนพาล (ไม่มีศีล) ว่าถ้าไม่เจ้าชู้ถือว่าไร้เชิงชาย

ปัญหาลูกขาดแม่ก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นในสังคม จากความไม่รับผิดของผู้ก่อกรรมสนับสนุน ให้ทำแท้ง ยอมทำแท้ง แม้ว่าจะเสี่ยงตายทั้งแม่ลูกก็ตาม

ฉะนั้นแม่ที่รับหน้าที่อย่างเต็มใจ จึงเป็นแม่ที่ลูกควรบูชา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงแสดงถึงความสำคัญ ของผู้เป็นแม่ไว้ชัดเจน กว่าคนอื่นใด แม้ว่าพระองค์จะเป็นราชนิกูล มีฐานันดรศักดิ์สูงส่ง แต่ทรงปฏิบัติกับ แม่ที่พื้นฐาน จากสามัญชน อย่างหา ใครเทียบเทียมมิได้

ยามที่แม่อายุมาก ก็ทรงประคับประคอง ไม่ยอมให้ข้าราชบริพารทำให้

ยามแม่จะกินบริโภค ก็ทรงร่วมโต๊ะเสวยตักโน่นตักนี่ที่แม่ชอบใส่จานให้

ยามแม่เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ทรงนั่งเฝ้าดูแลใกล้ชิด

แม้ยามหมดลมสิ้นชีวิตก็ทรงไปกราบที่หัวใจแม่ ฯลฯ

ทั้งๆ ที่เป็นเจ้าแผ่นดินอันทรงคุณยิ่งใหญ่ ก็ยังทรงแสดงความยิ่งใหญ่ที่ยิ่งกว่าให้พสกนิกรดู เป็นแบบอย่าง ยากที่จะหาผู้ใด เสมอเหมือน

จะมีลูกสักกี่คนที่แม้เกิดมามียศถาบรรดาศักดิ์โดยชาติกำเนิดฝ่ายบิดา จะยอมรับใช้แม่ ยิ่งกว่าคนธรรมดา ส่วนใหญ่ทำกัน ดังตัวอย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แม้อายุมาก มีตำแหน่งถึง อัครเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยแล้ว ก่อนไปทำงานก็มากราบ แทบเท้าแม่ กลับจากทำงาน ก็กราบแม่อีก ก่อนนอน ก็ยังไป พูดคุยลาแม่ พักกลางวัน มีเวลาเหลือ ก็จะมาเยี่ยมหน้า ไถ่ถามทักทาย

ต่างจากลูกจำนวนมากที่มักอ้างว่าไม่มีเวลา แม้เรื่องเยียวยาหัวใจแม่ ที่มักคิดหวังว่า
"ยามมีกิจหวังให้เจ้ารับใช้
ยามป่วยไข้หวังเจ้าเฝ้ารักษา
ยามถึงคราวล่วงลับดับชีวา
หวังให้เจ้าปิดตาเมื่อสิ้นใจ"

พิธีกรรมใหม่ที่ลูกๆ คิดได้เมื่อสายไปเสียแล้ว จึงเกิดขึ้นทดแทนในสังคม คือ เรื่องทำศพ ให้ใหญ่โต หรูหรา ส่งอาหารการกินให้แม่ที่ตายไปแล้ว ฯลฯ เพื่อชดเชย ความผิดพลาดก่อนๆ ทั้งๆ ที่เวลาแม่มีชีวิตอยู่ แม่จะ ขอร้อง ให้หยุดขี้เหล้าเมายา เลิกนิสัย เลวต่างๆ เพิ่มความขยัน หมั่นเพียร เอาภาระเพิ่ม ความรับผิดชอบ ช่วยเหลือสิ่งที่จำเป็น ตัวเองจักหลีกเลี่ยง ตอบโต้รุนแรง ตามประสาคนไม่ได้อบรม ฝึกฝน ทำความดี แต่ยังมีกุศลเก็บตกได้อยู่บ้าง ที่ยังมีโอกาส ทำใหม่ที่ดีได้ แทนที่จะเข้าจำพวก "ต้นร้ายปลายเลว" เข้าไปอีก

พระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะสอนคนที่ไม่เคยสำนึกเรื่องเหล่านี้ว่า ให้ดูแล "พระในบ้าน" ก่อนที่จะมาทำบุญเอาหน้า

และพระผู้มีชื่อเสียงหลายรูป ที่ประวัติของพระคุณเจ้าเหล่านั้น มักจะเอาใจใส่ ดูแลแม่ เป็นอย่างดี แม้ออก มาบวชแล้วก็ไม่ทอดทิ้ง

เหตุผลหนึ่งที่ท่านรับผู้หญิงให้บวชด้วย ก็มาจากแม่เป็นต้นเมตตา จึงขยายผลดี มาถึงเพศเดียว กับแม่ด้วย

ฉะนั้น "แม่หญิง" ทั้งหลายน่าจะระลึกถึงพระคุณส่วนนี้ นำมาเป็นอนุสติในการครองตน ให้ดีๆ อย่าปล่อย กาย ปล่อยใจให้ตกไปในอำนาจฝ่ายต่ำ ตกไปอยู่ในอุ้งมือคนชั่ว จนลืมนึกถึง เกียรติศักดิ์ ของเพศเดียวกัน

ลุกลามไปจนกระทั่งแม่ปัจจุบันนี้นั้น ลูกแทบจะไม่ค่อยยอมให้สั่งสอน หรือ ผู้หญิงเอง ก็ไม่มีฤทธิ์ ในการสั่งสอนตนเองให้ดี จนกระทั่งก้าวไปถึงการมีสิทธิ์ในการสั่งสอนลูกด้วย

ผู้สร้างคน ต้องสร้างตนให้ได้ก่อน แล้วจึงจะไปสร้างสิ่งอื่น คนอื่นได้ตามฉายาของตนๆ

แม่ที่ใจเย็น อารมณ์ดี ไม่มักโกรธ จะถ่ายทอดอัธยาศัยดีๆ อย่างนี้ให้แก่ลูก ในเวลาอยู่ร่วมกัน ช่วยทำงาน กันในบ้าน

แม่ที่มีเมตตา อารีอารอบ จะพูด บอก แสดงออกให้ลูกรู้ เห็นได้ในทุกเวลาที่คลุกคลี ใกล้ชิด

แม่ที่มีจิตอย่างไรๆ มีกายกรรม วจีกรรมอย่างไร ก็คือตัวอย่างที่ดีที่สุดให้ลูกซึมซับ

ก่อนที่จะเป็นแม่ใคร ควรตั้งตนเป็นลูกที่ดีให้ได้ด้วย แล้วค่อยไต่ระดับขึ้นไป เป็นแม่ที่ดีต่อไป ตามลำดับ

อย่ามัวเป็นลูกที่มักชอบจัดวันเกิดให้ตัวเอง จัดวันเกิดให้คนอื่น แทนที่จะมาระลึกถึง ความเกิด ของแม่ หรือวันที่แม่ให้กำเนิดตัว

ซ้ำร้ายมักจะจัดวันเกิดอย่างเมามัว เลี้ยงเหล้า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รวมสมัครพรรคพวกนักเที่ยว นักกิน นักดื่ม นักเล่น ตามประสาเพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก เพราะไม่ได้คิดปลูกฝัง "ความเป็นมิตรในเรือน" ของตน

แม่ไม่ค่อยได้สอนลูก เพราะลูกไม่เปิดโอกาสให้สอน

หรือไม่ก็พ่อรวบอำนาจไว้เพียงผู้เดียว

แม่จึงไม่มีบทบาทในการหล่อหลอมลูกเท่าที่ควร

หรือแม่ไม่พร้อมที่จะเป็นแม่ หรือเหตุการณ์ทำให้เป็นแม่โดยจำนน

ตราบใดที่คนไม่มองเห็นเหตุปัจจัยความเกิดของเรื่องราว ความเป็นไปของชีวิตในเรื่องนี้ อย่างถูกต้อง และ กระทำตนให้เหมาะสมตามฐานะๆ คุณภาพของคนก็คงจะต่ำลงๆ ตามอัตราส่วน ของ "แม่พระ" ที่น้อยลงๆ เช่นกันในวาระที่เทศกาล "วันแม่" (เดือนสิงหาคม) เวียนมาถึง ผู้เขียนขอโอกาสเขียนเรื่องนี้ ด้วยหวังว่า จะช่วยยกระดับจิต "วิญญาณแม่" เพิ่มขึ้น

อันมวลมิตรอื่นใดหาไม่ยาก
หาลำบากยิ่งแท้แม่มาตรฐาน
ผู้เป็นพรหมเป็นพระบูรพาจารย์
ควรแก่การเทิดไว้ไหว้บูชา
หมดอื่นอื่นหมดไปหาใหม่แก้
หากหมดแม่แล้วไม่มีที่จักหา
เป็นทั้งมิตรแม่ประเสริฐแต่เกิดมา
ร่วมชายคาเรือนตนแม่คนเดียว.

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ -