เพิ่งรู้กำเนิด

ไม่น่าเชื่อเลยว่าบ้านป่าเมืองดอยอย่างอำเภอแว้ง จะมีกำเนิดที่น่าสนใจอย่างนี้ ในสมัยโบราณ ตั้งแต่ น้อยยังไม่เกิด พี่แมะก็ยังไม่เกิดเหมือนกัน แม้แต่พ่อและแม่ ก็ยังไม่เกิด บริเวณที่ตั้งของอำเภอ และ ตลาดแว้งนี้ เป็นที่ราบในอุ้ง ภูเขาสูง ที่น้อยชอบมองดู ทุกเมื่อเชื่อวัน พ่อบอกว่า เป็นเทือกเขาใหญ่ กั้นเขตแดน ระหว่าง ประเทศไทย และประเทศ สหพันธรัฐมลายู (ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย) เรียกว่า ทิวเขาสันกาลาคีรี พี่แมะเคยชี้ให้น้อยดู ในหนังสือเรียน ของเขาด้วย

พ่อบอกว่าในเทือกเขาที่ว่านั้นมีภูเขาซับซ้อนกันหลายร้อยลูก ลูกที่น้อยเห็นหลังบ้านเธอ มีชื่อเป็นภาษา มลายูว่า บูเก๊ะตีฆอปูโละห์ แปลว่า ภูเขาสามสิบ ถัดไปข้างหลัง ที่สูงเสียดฟ้า จนบางวันเมฆก็ลอยเป็นริ้วสีขาว มาบังยอด ของมันเสียนั้นชื่อว่า บูเก๊ะโต๊ะโมะ แปลว่า ภูเขาโต๊ะโมะ ป่าดงดิบบนภูเขานั้น เรียกกันว่า ป่าฮาลาบาลา มีพวกคนป่า ที่ภาษามลายูเรียกกันตรงตัวว่า ออแฆอูแต (ภาษามลายูกลางว่า โอรังอุตัง แปลตรงตัวว่า คนป่า แต่คนอังกฤษ เอาไปเรียก ลิงใหญ่ชนิดหนึ่ง ความหมายเลยเปลี่ยนไปเสีย) คนไทยเรียกว่า เงาะซาไก [คำนี้ปัจจุบัน ภาษามลายู กลาง ถือว่าไม่สุภาพ เพราะค่อนข้าง ไปทางดูแคลน ให้เรียกกันว่า โอรังอัสลี (orang asli) เช่นเดียวกับที่ทาง สหรัฐอเมริกา จะเรียกชนอินเดียนแดงว่า เป็นพวกชนดั้งเดิม (the first native)] อยู่กัน พื้นราบ ที่เป็นอำเภอแว้งนี้ อุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชพันธุ์ นานาชนิด มีละฮา (ละหาร) และปือเจ๊าะห์(บึง) หลายแห่งเป็นแหล่งน้ำ ที่เหมาะกับ การเกษตร

ที่สำคัญคือกลางอำเภอมีลำคลองที่ไหลลงมาจากภูเขาสูง เรียกว่า คลองแว้ง มันไหลไปลงแม่น้ำสุไหงโกลก ซึ่งกั้น เขตแดน อีกด้านหนึ่ง แล้วไปออกทะเลที่ ตาบา(ตากไบ) ในที่สุด

ตอนนั้นน้อยยังเล็กเกินไปที่จะจำได้ว่าอำเภอสุไหงโกลกใหญ่โตและสำคัญอย่างไร เพราะหลังจากที่พ่อแม่ พามาอยู่ ที่แว้งแล้ว เธอก็ไม่ได้ออกจากอำเภอ ไปไหนเลย จนอายุตั้งเจ็ดขวบ จึงได้ไปบางนรา (หลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนแปลงการปกครอง หัวเมืองปักษ์ใต้ ตามพระดำริ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังคงเรียกว่า บางนรา เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น นราธิวาส ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อเปลี่ยนการปกครอง เป็นแบบมณฑล) อีกครั้ง พ่อบอกว่า อำเภอสุไหงโกลก สำคัญ เพราะเป็นปลายสายของทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ และสามารถ เดินทางต่อ เข้าไปในประเทศ มลายูได้ด้วย เมื่อเธอมารู้ทีหลังว่า จริงๆ แล้ว ตรงนั้นสมัยก่อน มีแต่ป่า สถานที่ที่เรียกว่า โกลก หรือ ฆอเลาะ นั้นอยู่ในอำเภอแว้ง ต่างหาก ไม่ไกลจากวัดเขาเข็มทอง เข้าไปในป่ายางนัก พอเกิดมีอำเภอขึ้น ที่ปลายทางรถไฟสายใต้ เรียกเป็นทาง ราชการว่า สุไหงโกลก ฆอเลาะเดิมที่อำเภอแว้ง ก็เลยถูกเรียกว่า ฆอเลาะตูวอ เสีย แปลว่า ฆอเลาะแก่ (เก่า)

ที่เขาเติมคำว่า สุไหง เข้าไปข้างหน้าชื่ออำเภอ ก็เพราะมีซูงา (ซูงา เป็นภาษามลายูท้องถิ่น แปลว่า คลอง ภาษา มลายูกลาง ออกเสียงว่า ซูไง (sungai) ไทยสะกด สุไหง คำนี้เป็นคำที่ใช้สำหรับ ภูมินามมาก ทั้งในมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ในภาคใต้ของไทย ก็มีหลายแห่ง รวมทั้ง สุไหงปาดี แปลว่า คลองข้าวเปลือก) กั้นเขตแดนระหว่างประเทศ ไหลเลียบไป นั่นเอง ทำให้ชื่ออำเภอนั้นฟังดูโก้ไปเลย

"น่าจะเรียกว่าอำเภอฆอเลาะบารูมากกว่า เหมือนที่เรียกเมืองหลวงของรัฐกลันตันว่า โกตาบารู (บารู แปลว่า ใหม่ ใช้ประกอบกับ ทุกสิ่งที่ใหม่ รวมทั้งภูมินามด้วย เช่นชื่อ ยะโฮร์บารู โกตาบารู สำหรับเมืองหลวงของรัฐกลันตันนั้น โกตา แปลว่า วัง ชื่อเมืองจึงบอกว่า เป็นเมืองใหม่ เพราะมีการย้ายวัง ของสุลต่าน มาจากปาเซมัส)" น้อยเคยคิด อย่างนั้น แต่ก็ยังดีที่ชื่อ ฆอเลาะตูวอ ยังอยู่ในอำเภอแว้งของเธอ

"เอาไว้เป็นพยานนะว่าอำเภอแว้งของเราเก่ากว่าสุไหงโกลก" น้อยเคยบอกเพื่อนอย่างนั้น

"ถึงไม่มีฆอเลาะตูวอ แว้งก็ยังเก่ากว่าโกลกอยู่ดีแหละ" สมานบอก ทำให้น้อยดีใจรีบถามว่า

"ยารู้ได้ยังไงล่ะว่าแว้งมีมาก่อนโกลก? บอกฉันหน่อยซี"

"ฉันเคยได้ยินคนแก่ๆ เขานับกันว่า บ้านเขาอยู่ที่แว้งมากี่-กี่อะไรนะ อ้อ กี่ชั่วคนแล้ว" สมานบอกเพื่อน บางครั้ง เด็กไทยมุสลิม ที่ยังเล็ก ก็นึกภาษาไทยบางคำ ไม่ออกเหมือนกัน

"แล้วกี่ชั่วคนล่ะ ชั่วคนหนึ่งมีกี่ปี?" มามุถามบ้าง

"หลายชั่วคนแล้วแหละ มามุ เขาว่ารวมๆ แล้ว แว้งนี่อายุราวสองร้อยปีแล้วนะ จะบอกให้" สมานพูดต่อ เพื่อนๆ ต่างอุทานว่า

"จริงหรือยา? อู๊ย! ดีจังเลย แว้งของพวกเราเก่ากว่าสุไหงโกลกอีก"

"จริงซี ไม่เชื่อพวกเธอไปถามวารีดู โต๊ะโมง แช(ปู่)ของเขาอยู่ที่นี่มาตั้งนานแล้ว" สมานว่า

"งั้นครอบครัวสมานก็อยู่ที่นี่มานานแล้วเหมือนกันซี" จริยาถามบ้าง แล้วก็อดที่จะพูดเรื่องกรุงเทพฯ ไม่ได้อีก "มีแต่ฉัน กับ ไพฑูรย์เท่านั้น ที่เพิ่งมาจากกรุงเทพฯ แต่พ่อฉันก็มาอยู่ที่แว้ง นานแล้วเหมือนกันแหละ มาก่อนไพฑูรย์มากเลย"

"ก็พ่อไพฑูรย์เขาเพิ่งย้ายมานี่ ใครๆ ก็รู้" ประพนธ์ลูกผู้กองหัวหน้าตำรวจที่แว้งพูดบ้าง เขารู้ดีก็เพราะพ่อของไพฑูรย์ เป็นลูกน้อง ของพ่อเขานั่นเอง

"ครอบครัวฉันหรือ ก็วันก่อนฉันเล่าให้ฟังแล้วไงว่าแช(ตา)ของฉัน ขี่ช้างมาจากกลันตัน แต่พ่อฉัน เขามาจากจังหวัด ปัตตานี เขามาพบกับแม่ฉันที่นี่ ครอบครัวแม่ฉัน ก็มาจากที่อื่นเหมือนกัน" สมานพูด

"ฉันนึกว่าเธอเป็นญาติกับวารีเสียอีก เธอก็มาจากที่อื่นเหมือนกันกับฉันหรอกหรือ?" น้อยเริ่มงง

"ฉันเป็นเด็กแว้งถูกแล้ว แต่ฉันก็เป็นญาติวารีด้วย เพราะน้าฉันแต่งงานกับน้าชายเขา มามุนี่ไง คนแว้งแท้ ไม่รู้กี่ ชั่วคนแล้ว ก็เขาเป็นลูกหลาน โต๊ะโมงเหมือนกัน พวกเขาอยู่เจ๊ะเหมก่อน แล้วก็ย้ายมาอยู่ที่แว้งนี่ ใช่ไหมมามุ?" สมาน อธิบายต่อให้เพื่อนฟัง ก่อนที่จะหันไปถามมามุ

"ใช่มั้ง" มามุตอบเหมือนไม่เคยคิดมาก่อน "ฉันรู้ว่าพ่อฉัน แชฉัน แล้วก็แชโต๊ะโมง เคยอยู่ที่เจ๊ะเหม ก่อนมาอยู่ที่แว้งนี่ แต่แชของฉัน ไม่รวยเหมือน โต๊ะโมงหรอก แชโต๊ะโมง เขาเป็นลูกของหะยีอามิน เขามีช้างเยอะแยะเลย ฉันเล่าเธอแล้วนี่น้อย"

"ตาของยามาจากกลันตันโน่น พ่อก็มาจากปัตตานี พ่อแม่ของทัศนีย์ก็มาจากตรังกานู พ่อของมณีพรรณ ก็มาจาก ตรังกานู พ่อประพนธ์ ก็มาจากที่อื่น พ่อแม่ฉัน ก็มาจากที่อื่นเหมือนกัน มีแต่มามุคนเดียว ที่เป็นคนที่นี่ นอกนั้นมาจาก ที่อื่นทั้งนั้น แล้วทำไมคนแก่ๆ เขาถึงว่าแว้งนี่ อายุเกือบ สองร้อยปีได้ล่ะสมาน เขารู้ว่า ฆอเลาะตูวอ อายุเท่านั้น ใช่ไหม?" น้อยซักเพราะยังติดใจ เรื่องอายุของอำเภอแว้งอยู่

"ไม่ใช่หรอก ฆอเลาะตูวอก็ฆอเลาะตูวอ แว้งก็แว้งซี แว้งน่ะโต๊ะเวงมาอยู่ ถึงได้เรียกว่า เวง อำเภอมาเรียกว่า แว้งเอง ก็เลยเป็นชื่อ ภาษาไทยไป ชื่อภาษามลายูว่า เวง ตามชื่อโต๊ะเวงไง"


เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๑ ตรงกับพ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เสด็จ ยกกองทัพเรือ ออกจากปากน้ำ สมุทรสงคราม ไปตีก๊กเจ้านคร(หนู) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการเดินทาง ที่ไกลที่สุดของพระองค์ ในการรวบรวม กำลังคนไทย กู้เอกราช (ผู้เขียนเจตนา ที่จะไม่มองเพียง ที่สอนและเรียนกัน ในวิชา ประวัติศาสตร์ ว่าเป็นเพียงการปราบก๊กต่างๆ เพราะฟังดูเป็นการแข่งกันเป็นใหญ่ จะเห็นได้ว่า ในการปราบ ก๊กเจ้าพิมาย (กรมหมื่น เทพพิพิธก็ดี เจ้านครก็ดี การประหารเจ้าพิมาย การไว้ชีวิตเจ้านครก็ดี เหตุผลของ สมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช คือ ทรงกระทำ เพื่อความเป็นปึกแผ่น ของชาติทั้งสิ้น)) ก่อนหน้านั้น ได้ทรงส่งกองทัพ มาตี เมืองนครก่อนแล้ว แต่แม่ทัพจากกรุงเทพฯ ชื่อเจ้าพระยาจักรี (แขก) [แม่ทัพของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านนี้เป็นมุสลิม (นิกายสุหนี่?) ที่ฝังศพของท่าน ถูกทำไว้อย่างดี ที่สุสานมัสยิดต้นสน กรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี น่าที่คนไทย จะได้ไปเยี่ยม และเคารพท่าน รวมทั้งที่ฝังศพ เป็นหลักฐานยืนยันอย่างดีที่สุด ในการศึกษา ประวัติศาสตร์ด้วย ] สู้ทางนครศรีธรรมราชไม่ได้ แม่ทัพรองๆ ลงไป เช่น พระยาเพชรบุรี พระยายมราช และพระยา ศรีพิพัฒน์ ตายในที่รบ ลูกชายของแม่ทัพ ชื่อหลวงลักษมานา ก็ถูกทางนครศรีธรรมราช จับตัวได้ สมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช ทรงผิดหวังมาก จึงเสด็จยกทัพมาด้วยพระองค์เอง คราวนี้ทัพนครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้ เจ้านคร เลยพาสมาชิกครอบครัว ที่เป็นผู้ชาย และพรรคพวก หนีไปเมืองสงขลา ให้เจ้าเมืองสงขลากับเจ้าเมืองพัทลุง พาหนีต่อไปเมืองเทพา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงคาดโทษ ให้เจ้าพระยาจักรี(แขก) ที่เคยแพ้ ยกกองทัพเรือ ให้พระยาพิชัยราชา ยกกองทัพบก ไปตามจับเจ้าพระยานคร ที่เมืองเทพา พระองค์เอง ทรงยกกองทัพหลวง มาตั้งอยู่ที่สงขลา

พอเจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิชัยราชามาถึงเทพา ก็รู้จากคนจีนคนแขกที่นั่นว่าเจ้าพระยานคร ได้หนีต่อไปอีก จนถึงเมือง ปัตตานีเสียแล้ว จึงส่งหนังสือ ถึงเจ้าเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นมุสลิมชื่อ พระยาตานีศรีสุลต่าน บังคับให้ส่งตัว พวกเจ้าพระยานครมาให้ มิฉะนั้นก็จะยกทัพ ไปตีเมืองปัตตานี เจ้าเมืองปัตตานี กลัวกองทัพของ สมเด็จพระเจ้า ตากสิน จึงจับตัวเจ้านครกับพวก มาถวายแต่โดยดี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็ไม่ได้ประหาร เจ้านคร และพวกด้วย แค่พาตัว ไปอยู่เสียที่ กรุงธนบุรี (เหตุการณ์ที่ทรงเอาเจ้าพระยานคร(หนู) ขึ้นมากรุงเทพฯ นี้ส่งผลต่อมา ถึงเรื่องราว เกี่ยวกับ สายของราชวงศ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และราชวงศ์จักรี อย่างมากมาย )

ครั้งนั้นเมืองปัตตานีจึงรอด ไม่ได้ถูกกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินโจมตีแต่อย่างใด

สิบหกปีต่อมา ในเดือน ๑๒ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับพ.ศ. ๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพใหญ่จากเมืองอังวะ มาตีไทย ทุกทิศทุกทาง เป็น ๙ ทัพ นับเป็นการสงคราม ครั้งใหญ่ที่สุด ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร มหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นจอมทัพใหญ่ เสด็จไปต่อสู้กับพม่า ที่ทุ่งลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรีก่อน เพราะทางนั้น เป็นทัพหลวงถึงห้าทัพ เสร็จแล้วก็เสด็จมาต่อสู้กับทัพพม่า ที่เมืองราชบุรีต่อ

เมื่อชนะแล้วรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้พระองค์กรีฑาทัพเรือลงมารับทัพพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ศึกพม่าครั้งนั้น แยกกัน เข้าตี หัวเมืองปักษ์ใต้ หลายเมือง เมืองถลางรอดได้ เพราะวีรสตรีสองพี่น้อง ที่ชื่อท้าวเทพสตรี (มุก ) และ ท้าวศรีสุนทร (จันทร์) แต่เมืองอื่นๆ เสียแก่พม่าหมด รวมทั้งเมือง นครศรีธรรมราชด้วย ผู้คนพากันหนีเข้าป่า ไปหลบ ซ่อนตัว จนกรมพระราชวังบวร มหาสุรสีหนาท ยกกองทัพมา จึงต่อสู้กับฝ่ายพม่า จนพม่าแตกพ่ายไป

เสร็จศึก กรมพระราชวังบวร ต้องจัดการให้ผู้คนกลับเข้าสู่เมืองตามภูมิลำเนาดังก่อน แล้วเสด็จไปเมืองสงขลา เพื่อจัดการ บ้านเมืองทั้งหมด ให้เป็นปกติ ขึ้นอยู่กับ กรุงเทพมหานคร มีเหลือแต่เมืองปัตตานี และหัวเมืองใต้สุด อีกบางเมือง ที่ยังแข็งเมือง ไม่มาเข้าเฝ้า พระองค์จึงทรงยกกองทัพใหญ่ ลงไปตี ปัตตานีในปีนั้น เป็นศึกใหญ่มาก สำหรับ เมืองปัตตานี ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกไว้ว่า

แล้วดำรัสว่าเมืองตานีและเมืองแขกทั้งปวงยังมิได้มาอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ตั้งแข็งเมืองอยู่ จำจะยก ทัพหลวง ลงไปตีเมืองแขกทั้งปวง มีเมืองตานี เป็นต้น ทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไป ด้วยเดชะ พระราชกฤษฎาธิการ บรรดาเมืองแขกทั้งปวง ก็พ่ายแพ้แก่พลข้าหลวงทั้งสิ้น ที่สู้รบปราชัย จึงได้เมืองก็มีบ้าง ที่มาอ่อนน้อม ยอมสวามิภักดิ์ ก็มีบ้าง และเมืองตานีนั้นเป็นเมืองใหญ่ ได้ปืนทองใหญ่ในเมืองสองบอก ทรงพระกรุณา ให้เข็นลงสำเภา และได้เครื่อง สรรพ ศัตราวุธต่างๆ กับทั้งสรรพวัตถุสิ่งของทองเงิน เป็นอันมาก บรรดาเจ้าเมือง กรมการแขกมลายูทั้งปวงนั้น ที่สู้รบ ตายในที่รบบ้าง จับเป็นได้ฆ่าเสียบ้าง จำไว้บ้าง ที่หนีไปได้บ้าง ที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดี ก็มิได้เอาโทษบ้าง และ พระเดชานุภาพ ก็แผ่ไปในมลายูประเทศทั้งปวง ขณะนั้น พระยาไทร และพระยากลันตัน พระยาตรังกานู ก็เกรงกลัว พระราชกฤษฎาธิการ ก็แต่งศรีตวันกรมการ ให้คุมเครื่องราชบรรณาการ มาทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเป็นเมืองขึ้น ข้าขอบขัณฑสีมา ณ กรุงเทพมหานคร...

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวัง-บวรฯ ได้ทรงทราบในท้องตราว่ามีพระราชโองการให้หาทัพกลับ จึงดำรัสให้ กวาดครอบครัว แขกเชลยทั้งหลาย ให้ไว้สำหรับ บ้านเมืองบ้างทุกๆเมือง แล้วโปรดตั้งขุนนางแขก ที่มีใจสวามิภักดิ์ เป็นเจ้าเมืองกรมการ อยู่รักษาหัวเมืองแขกทั้งปวง ซึ่งตีได้นั้น อนึ่ง ทรงทราบว่า ธัญญาหาร ในกรุง ยังไม่บริบูรณ์ จึงดำรัสให้ขนข้าว ในหัวเมืองแขกทั้งปวงนั้น ลงบรรทุกในเรือกองทัพทุกๆ ลำ เสร็จแล้ว จึงให้เลิกกองทัพ กลับมา ทั้งทางบกทางเรือ มาถึงพระนคร ในเดือน ๑๑ ปีมะเมีย อัฐศก ศักราช ๑๑๔๘ (พ.ศ.๒๓๒๙) เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จ พระบรมเชษฐาธิราช กราบทูลแถลง ราชกิจการสงคราม ซึ่งมีชัยชนะ แล้วทูลถวายปืนใหญ่ยาว สามวาศอกคืบ สองนิ้วกึ่ง กระสุนสิบเอ็ดนิ้วบอกหนึ่ง ยาวห้าศอกคืบเก้านิ้ว กระสุนสามนิ้วกึ่งบอกหนึ่ง ซึ่งได้มาแต่เมืองตานี และ ครอบครัวแขกและพม่า เชลยกับทั้งเครื่องศัสตราวุธต่างๆ จึงมีพระราชโองการ ดำรัสให้เจ้าพนักงาน ลากปืนใหญ่ เข้าไว้ ณ โรงในพระราชวัง บอกใหญ่นั้น ให้จารึกนามลงกับบอกปืน ชื่อพระยาตานี (ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลง ลวดลาย และท้ายปืนด้วย ปัจจุบัน ปืนทั้งสองกระบอก วางอยู่ ณ กระทรวงกลาโหมเดิม หน้าวัดพระแก้ว เด็กๆ น่าจะได้รับ การอธิบาย จากครูและผู้ใหญ่ ถึงความเป็นมา ) และพม่าเชลย ซึ่งจับมานั้น ให้จำใส่คุกไว้ทั้งสิ้น

อีกครั้งหนึ่ง ๔๔ ปีต่อมา ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๗๓ ก็เกิดเรื่องขึ้นอีก คราวนี้ เพราะเมืองไทรบุรี ซึ่งขึ้นกับเมือง นครศรีธรรมราช เกิดแข็งเมือง เมื่อเกณฑ์กองทัพเมืองแขก แขกก็เป็นกบฏ ขึ้นทุกเมือง พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กองทัพกรุง ออกไปช่วย พระยาสงขลาถึง ๔ ทัพ

เจ้าพระยานครตีเมืองไทรบุรีได้แล้วก็ร่วมกับกองทัพจากกรุงของเจ้าพระยาพระคลังยกไปทั้งทางเรือและทางบก เมื่อเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๗๕ แยกย้ายกัน เข้าตีทุกทาง พวกแขกสืบรู้ว่า ทัพหัวเมืองและทัพกรุง มาสมทบกัน คนประมาณ ๓๐๐๐๐ และทัพเรือ จะมาปิดคลอง บางน้ำจืด ปากน้ำเมืองตานีด้วย ก็ไม่คิดสู้รบ พากันหนีเข้าป่า และ ออกทะเลไปสิ้น พระยาตานี หนีไปอยู่เมืองกลันตัน กองทัพไทยไม่ได้ตามไปตี เพราะตอนนั้น อังกฤษได้เข้ามา ครอบครอง มลายูแล้ว จึงเกรงว่าพวกเจ้าเมืองเหล่านั้น จะหนีไปพึ่งอังกฤษหมด เหลือแต่เมืองร้างไว้ จึงใช้วิธี เกลี้ยกล่อมแทน บรรดาเจ้าเมืองแขก ที่เป็นกบฏ คือพระยาสาย พระยารามัญ พระยาระแงะ ยอมเข้าหากองทัพ พระยาตานีนั้นพระยากลันตันส่งตัวมาให้ พระยายะลาจับได้ พระยาหนองจิกป่วยตาย เจ้าเมืองยิริงเป็นไทย ไม่ได้กบฏ แต่พลเมืองกบฏ พวกเจ้าเมืองที่เข้าหา ก็ยกโทษให้ ที่ไม่เข้าหา ก็ให้จับตัวและกวาดต้อนทัพ คุมเข้ามายัง กรุงเทพฯ (รายละเอียดการศึกครั้งนั้น ผู้เขียน ขอแนะนำ ให้หาอ่านได้อย่างสดและดีที่สุด จากจดหมายเหตุ หลวงอุดมสมบัติ)

หนึ่งในบรรดาหัวหน้าของทางฝ่ายกบฏที่ต้องหนีเอาตัวรอดจากการรบหนึ่งในสามครั้ง ที่กล่าวมา คือ โต๊ะเวง ซึ่งไม่สามารถ สืบทราบชื่อที่แท้จริงได้ แต่ทราบว่า ท่านได้หนีทัพไทย ในการรบที่เมืองปัตตานี ออกจาก ตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ชื่ออำเภอระแว้งนั้น เรียกตามชื่อของ โต๊ะเวง ทางการไทย เรียกเพี้ยนเป็น แว้ง และเติม ระ ให้ด้วย กลายเป็น ตำบลระแว้งไป เช่นเดียวกับชื่อ อำเภอแว้ง ที่ทางราชการ เคยเรียกว่า อำเภอระแว้ง เหมือนกัน

การหนีของโต๊ะเวงเชื่อว่าเกิดขึ้นครั้งปัตตานีถูกกองทัพของกรมพระราชวังบวรโจมตี เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๘-พ.ศ. ๒๓๒๙ เพราะครั้งแรก สมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช ไม่ได้โจมตีปัตตานี และถ้าเป็นการหนีในรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะนับรวมเวลาถึงปัจจุบัน ก็จะสั้นกว่า ที่ชาวบ้านอำเภอแว้ง คำนวณกันว่า สองร้อยปีเศษ มาแล้วมาก

การหนีคงจะไปกันทางเรือหรือไม่ก็ขี่ช้างกันไป มีพรรคพวกร่วมเดินทางไปด้วย แต่จะมากน้อยเท่าใด ไม่มีใครทราบ เส้นทางการหนี ได้ยึดเอา ลำแม่น้ำตานี เป็นเส้นทางย้อนลงไปทางต้นน้ำ จนเข้าเขตภูเขา ในเมืองยะลา เมื่อถึง ทางแยก ของแม่น้ำตานี ก่อนถึงเขื่อนบางลางในปัจจุบัน จึงได้เลือกเอาเส้นทางน้ำ ที่แยกไป ทางซ้าย อาจจะหยุดยั้งอยู่ ที่นั่นไม่มีชื่อ เมื่อโต๊ะเวง ยึดเอาเส้นทางนั้น สายน้ำและบริเวณนั้น จึงเรียกกันต่อมาว่า ตำบลอัยเยอร์เวง ในอำเภอ เบตง จังหวัดยะลา ในปัจจุบัน

ไม่มีหลักฐานใดๆ อีกเช่นกันว่าเหตุใดโต๊ะเวง จึงพากันอพยพต่อลงไปตามลำน้ำเวงหว่างเทือกเขาสูง เข้าสู่เขต อำเภอจะแนะ อำเภอสุคิริน และที่สุด ก็ไปตามคลองแว้ง เข้าสู่เขตอำเภอแว้ง ของจังหวัดนราธิวาส

สายน้ำนั้นเอง ที่นำท่านลงบริเวณที่ราบเบื้องล่าง ชัยภูมิอันสวยงามอุดมสมบูรณ์และห่างไกลจากความยุ่งยาก ทั้งมวล คงทำให้โต๊ะเวง ตัดสินใจ ฝังรกรากที่นั่น และบริเวณนั้น จึงได้ชื่อตามที่อยู่เดิมของท่านว่า เวง แล้วต่อมา คนไทย มาออกเสียงว่า แว้ง ตามที่ทางราชการ ให้เรียกนั่นเอง


น้อยถอนหายใจยาวด้วยความรู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก เธอตั้งใจจะกลับไปเล่าเรื่องโต๊ะเวง ให้พ่อกับแม่ และพี่แมะ ฟังต่อคืนนี้ หลังจากทำการบ้าน และอ่านหนังสือแล้ว

"ดีจังที่ได้รู้เรื่องโต๊ะเวง ถ้ายาไม่บอกว่าชื่ออำเภอแว้ง มาจากชื่อโต๊ะเวง ฉันก็ไม่รู้เลยนะนี่" น้อยเอ่ยขึ้น เป็นเชิงชมเพื่อน

"ไม่ใช่ฉันหรอก" สมานพูดอย่างถ่อมตัวเช่นเคย "ฉันฟังมาจากคนแก่เขาเล่าให้กันฟัง ฉันแค่มาเล่าต่อเท่านั้นแหละ"

จริยาพูดขึ้นบ้างว่า

"โอ้โฮ กองทัพไทยมาจากกรุงเทพฯเชียวหรือ วังที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ไกลจากบ้านฉัน ที่หลังห้างบาโรบราวน์ นั่นหรอกนะ ไพฑูรย์ แล้วโต๊ะเวง ก็หนีมาอยู่ถึงที่แว้งนี่"

"นั่นซี ฉันอยากรู้จังว่า เมื่อมาอยู่ที่แว้ง โต๊ะเวงมาสร้างบ้านที่ตรงไหน สมานรู้ไหม?" ไพฑูรย์ถามขึ้น

"ไม่มีใครรู้หรอก แต่ฉันว่าอยู่แถวๆ บ้านพวกเรานี่แหละนะ" สมานตอบ

"ฉันว่าโต๊ะเวงน่าจะอยู่ริมคลองนะ อาจจะแถวบ้านน้อยก็ได้เพราะตรงนั้นก็มีสระศักดิ์สิทธิ์ที่เขาฝัง โต๊ะกอเป็ง เขาอาจ จะมาด้วยกัน หรือสร้างบ้าน อยู่ใกล้กันก็ได้นะ" ไพฑูรย์คาดต่อ ทำให้น้อยรู้สึกหัวใจพองฟูวูบ คิดไปว่า หรือโต๊ะเวง คือ ชายแก่ที่คนเขาเคยเห็น นุ่งห่มสีขาว นั่งหน้าบ้านของเรา ตอนกลางคืน เมื่อนึกอะไรขึ้นได้ เธอจึงเปรยขึ้นว่า

"เราจะบอกใครๆ ได้ไหมว่าโต๊ะเวงเป็นคนอำเภอแว้ง ฉันอยากให้เป็นอย่างนั้นจัง"

"ก็อย่างนั้นน่ะซี น้อย ทำไมล่ะ? ชื่ออำเภอเราก็บอกโต้งๆ แล้วนี่" ประพนธ์แปลกใจ ที่เพื่อนสงสัย

"อ้าว ก็คนที่อำเภอยะรัง ที่ตำบลระแว้งน่ะ เขาก็ต้องว่าโต๊ะเวงเป็นคนที่นั่นเหมือนกัน ก็เขายังเรียกตำบล ระแว้งนี่ แล้วที่ -อะไรนะยา- อ๋อ ที่อัยเยอร์เวง นะเขาก็ต้องว่า โต๊ะเวงเป็นคนที่นั่นเหมือนกัน ก็คลองอัยเยอร์เวง อยู่ที่นั่น ไม่ใช่หรือ" น้อยแย้งอย่างหวั่นๆ

"แต่โต๊ะเวงอยู่ที่นี่แน่นอน?" ประพนธ์พูดอย่างแน่ใจ

"ก็ไหนยาบอกว่าไม่มีใครรู้ว่าโต๊ะเวงสร้างบ้านอยู่ตรงไหน" น้อยพูด หันไปมองไพฑูรย์ "ถ้าอยู่แถวบ้านฉัน อย่างไพฑูรย์ ว่า ก็ดีน่ะซี เราจะได้อ้างกับเขาได้"

"อ้างบ้านโต๊ะเวงไม่ได้ก็อ้างอย่างอื่นซี น้อย ข้างบ้านฉันนั่นไง แน่นอนที่สุดเลย ใครจะเถียงก็ว่ามา รับรองไม่มีใคร เถียงเธอได้แน่ ที่ตำบลระแว้งก็ไม่มี ที่อัยเยอร์เวง ก็ไม่มีแน่" ประพนธ์ยืนยัน น้อยยังงง ถามเพื่อนว่า

"อะไรเหรอ?"

"ข้างบ้านฉันนั่นไง ที่เธอขึ้นไปยืนดูฝรั่งน่ะ กุโบร์ (ที่ฝังศพ) โต๊ะเวงนั่นไงเล่า (น่าเสียดายที่ทางราชการ ได้ปราบพื้นที่ ที่ฝังศพของโต๊ะเวง เพื่อสร้างรั้ว ของสถานีตำรวจเสีย ปัจจุบันจึงไม่มีหลักฐานใดให้เห็น นอกจาก การบอกเล่า จากความทรงจำ แม้แต่การทำบุญอุทิศส่วนกุศล ที่เรียกว่า อารุเวาะห์ ก็ไปทำกันตามบ้าน ทางราชการ อย่างอำเภอ หรือ อบต.แว้ง น่าจะทำป้ายบอกไว้ เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น) ใครจะเถียงเธอได้" ประพนธ์พูด เขาอาจ จะเรียน ไม่สู้เก่งนัก แต่ประพนธ์ก็มีไหวพริบดีเหลือเกิน

"เอ้อ! จริงๆ ด้วย" น้อยลากเสียงยาวสีหน้าแช่มชื่นขึ้น เมื่อเพื่อนชี้หลักฐานแน่นอนให้ "เมื่อเช้าฉันเดินผ่านทางนั้น เห็นธง ปาญี สีแดงสีเหลือง (ธงกระดาษ รูปสามเหลี่ยมยาว สำหรับเคารพ ที่ฝังศพนี้ เรียกเป็นภาษา มลายูโบราณว่า ปาญี (Paji) คนไทยมาออกเสียงเพี้ยนไปเป็น ปันหยี น่าจะเป็นคำเดียว กับที่เรียก เกาะปันหยี ทางฝั่งอันดามัน ในปัจจุบัน ส่วนธงทั่วไป อย่างธงชาตินั้น เรียกเป็นภาษามลายูกลางว่า บันเดรา(Bandera) ภาษามลายู ถิ่นทาง ภาคใต้ ของไทย เรียกเพี้ยนเป็น แดฆอ) ปักอยู่อีก ไม่รู้ของใคร ใครรู้มั่ง"

"ก็ใครที่เขานับถือว่าโต๊ะเวงศักดิ์สิทธิ์ ไปขอให้วิญญาณท่านช่วยอะไร พอได้แล้วเขาก็เอาธงไปปัก เป็นการขอบคุณ โต๊ะเวง น่ะซี ใครก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ" สมานอธิบาย "แล้วถ้าบ้านไหนรวย อย่างบ้านโต๊ะโมง เขาก็จะทำ อารุเวาะห์ (เป็นคำ ภาษาอาหรับ หมายถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้ผู้ตาย เดิมจะทำกัน ตรงที่ฝังศพ โต๊ะเวงเลยทีเดียว มีการเชือดสัตว์ สังเวยกัน แบบมุสลิม ปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำแล้ว ) ให้ท่าน"

"อารุเวาะห์หรือ? เป็นยังไงน่ะสมาน เธอเป็นมุสลิมอธิบายฉันหน่อยซี ฉันไม่เข้าใจ" น้อยขอร้อง

"ก็อย่างที่บ้านเราเรียกบุว๊ะปาลอไง ก็ทำบุญนั่นแหละ บ้านเธอก็เคยทำให้โต๊ะกอเป็ง เวลาทำอารุเวาะห์ ก็ทำอาหาร เลี้ยงคน แล้วอธิษฐานแผ่ส่วนกุศล ให้คนที่ตายไป ไม่ต้องสวดอะไรหรอก เขาให้นึกที่ใจเท่านั้น" คราวนี้มณีพรรณ เป็นคน อธิบาย

"อ๋อ ทำบุญอย่างนั้น คนไทยพุทธก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตายเหมือนกัน บ้านฉันถึงทำให้โต๊ะกอเป็งได้ พ่อเคย อธิบาย ให้ฉันฟังแล้ว แต่ฉันไม่รู้ว่า เขาเรียก อารุเวาะห์" น้อยว่าในที่สุด


ก่อนนอนคืนนั้น น้อยเล่าเรื่องโต๊ะเวงอันเป็นที่มาของชื่ออำเภอแว้งให้ทุกคนฟัง เมื่อเล่าจบ ก็ถามพ่อว่า

"ตอนที่พ่อขึ้นไปเหมืองทองโต๊ะโมะ พ่อเคยเห็นคลองที่ชื่ออัยเยอร์เวงไหมคะ?"

"พ่อไม่เคยเห็นหรอกลูก ข้างบนนั้นมีสายน้ำมากมาย แต่ที่เป็นคลองหลักนั้น พ่อเคยเห็นเหมือนกัน มันอาจจะไหล เป็นสายเดียว หรือใกล้กัน กับคลองที่เรียกว่า อัยเยอร์เวงก็ได้ คลองที่พ่อเห็นนั้น ก็ยังแยกสายอีก สายหนึ่ง ไปทาง สุไหงปาดี อีกสายหนึ่ง ลงมาที่แว้ง ของน้อยนี่แหละ ตอนพ่อไปนั้น ยังไม่มีถนน หนทางเลย ถ้าโต๊ะเวงมาทางนั้น ก็ต้องทำ เหมือนกับที่ชาวบ้านเขาทำกัน คือยึดสายน้ำเป็นหลัก พ่อรู้ว่าถ้าไปตาม หว่างภูเขานั้น เราสามารถไป จังหวัด ยะลาได้ หรือเข้าไปในรัฐเปรัค เปอร์ลิส และรัฐเคดาของมลายู ก็ได้เหมือนกัน แต่กันดารอย่างยิ่ง และพ่อ ไม่เคยไป จึงเล่าน้อยไม่ได้"

"แล้วทำไมเขาเรียกคลองว่า อัยเยอร์ คะ ทำไมเขาไม่เรียกว่าซูงา หรือสุไหงคะ? สมานว่า คำว่า อัยเยอร์ ก็เหมือนกับ คำว่า อัยย์ ที่เราเรียกน้ำที่แว้ง เขาว่า ให้น้อยลองไปพูดกับ เมาะกึเด๊าะห์ดูแกก็จะว่า อัยเยอร์ เหมือนกัน" น้อยถามต่อ และพี่แมะก็ร่วมถามด้วย ว่า

"จริงด้วยค่ะ ทั้งเป๊าะกึเด๊าะห์เมาะกึเด๊าะห์ ( สามีภรรยาคู่นี้มีตัวตนจริง เขาได้อพยพมาจากรัฐเคดาของประเทศ มาเลเซีย มาอยู่ที่อำเภอแว้ง จังหวัด นราธิวาส รัฐเคดาเคยเป็นของไทย เราเรียกว่าไทรบุรี เป็นจุดที่เกิดปัญหา มากมาย ในอดีต คนไทยมุสลิมทางภาคใต้ ออกเสียงชื่อรัฐนี้ว่า กึเด๊าะห์ สามีภรรยาคู่นี้ มีชื่อจริง แต่เนื่องจาก จุดเด่น ของเขาคือ สำเนียงที่แตกต่างไป เป็นสำเนียงมลายูของไทรบุรี คนที่แว้งจึงเรียกเขาตามที่มาเดิมว่า เป๊าะกึเด๊าะห์ เมาะกึเด๊าะห์ แปลว่า พ่อไทรบุรีแม่ไทรบุรี ดังนี้) พูดเสียงแปลกจริงๆ ด้วยค่ะ ทำไมคะ?"

คราวนี้แม่ช่วยตอบแทนพ่อได้เพราะแม่รู้จักกับเมาะกึเด๊าะห์ดี "ข้อนี้แม่ตอบได้ แม่เคยคุยกับแกเรื่องนี้ แกบอกว่า แกพูด มลายูชัดนั่นแหละ แต่เป็นสำเนียง ทางรัฐกึเด๊าะห์เขา ทางนี้ว่า อัยย์ ทางโน้นว่า อัยเยอร์ มันก็ต่างกันไป แบบภาษาไทยเรานั่นแหละลูก ภาษาเดียวกัน แต่เสียงต่างกัน ไม่แปลกอะไรหรอก"

"แล้วที่น้อยถามว่าทำไมเขาถึงเอาคำว่า น้ำ ไปเป็นคำว่า คลอง ก็ไม่แปลกอย่างที่แม่ว่าเหมือนกัน พ่อเคยอ่านพบว่า ทางภาคเหนือของเรา เขาก็เรียก แควสี่สาย ของแม่น้ำเจ้าพระยาว่า น้ำปิง น้ำวัง น้ำยม น้ำน่าน บางทีก็เรียกกันว่า แม่ปิง ด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องของภาษา อีกหน่อยลูกโตขึ้น ได้เรียน ได้อ่านมากขึ้น ก็จะเข้าใจดี" พ่ออธิบาย

ก่อนหลับคืนนั้น น้อยถามพ่อข้ามห้องไปว่า

"พ่อคะ น้อยชอบโต๊ะเวงที่เขากล้าหาญ เดินทางในป่าอย่างนั้น ต้องต่อสู้กับสัตว์ร้ายเยอะเลย แล้วเขาก็มาสร้างอำเภอ แว้งด้วย แต่น้อยอยากรู้ว่า น้อยควรเข้าข้างไหนคะ โต๊ะเวงเขาเป็นฝ่ายปัตตานี รบกับกองทัพไทยจากกรุงเทพฯ ทำไงดีคะพ่อ?"

และพ่อก็ตอบว่า "สิ่งที่ผ่านมาแล้วภาษาไทยเรียกว่าอดีต ฝ่ายปัตตานีมีเหตุผลของเขา ฝ่ายกรุงเทพ ก็มีเหตุผลของเขา เหมือน เวลาน้อยทะเลาะกันกับเพื่อน แต่ละคน ก็ว่าตัวถูก อีกฝ่ายหนึ่งผิด ใช่ไหม? แต่คุณครูที่ตัดสิน ต้องเป็นกลาง ยิ่งเป็นเรื่องในอดีตด้วยแล้ว เรายิ่งต้องเข้าใจเหตุผล ของทั้งสองฝ่าย ให้ดีที่สุด เราแก้ไขอดีต ไม่ได้หรอกลูก แต่อดีต จะช่วยชี้ให้เรารู้ว่า ตอนนี้ควรทำอย่างไร และพ่อว่าตอนนี้ น้อยควรหลับได้แล้ว เป็นดีที่สุด"

แล้วก่อนที่เธอจะม่อยหลับไป น้อยก็ได้ยินเสียงพ่อพูดต่อกับแม่ว่า

"บางทีเด็กๆ ก็ทำให้เราผู้ใหญ่ต้องคิด สิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกันนะแม่"


หมายเหตุ
เขียนเสร็จเวลา ๑๑.๓๖ น. พฤหัสบดี ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ กทม. เรื่องนี้คิดอยู่นาน ว่าจะเขียน สอดแทรก ประวัติศาสตร์อย่างไรดี ต้องใช้เอกสารอ้างอิงหลายเล่ม ทั้งบทความ บทความแปล และ พระราชพงศาวดาร รวมทั้งต้องสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ไปถึงหลายคน ทางปักษ์ใต้ ขอขอบคุณทุกๆ ท่าน โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ประพนธ์ เพ็ชรสุขุม สมาน มหินทราภรณ์ และวารี วุฒิศาสน์ ฯลฯ เจตนาในการเขียนตอนนี้ ก็เพราะ ต้องการย้ำว่า ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันจริง ชนิดที่มองข้ามไม่ได้ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุการณ์ ในภาคใต้ ระยะนี้ ทำให้ชื่อสถานที่ต่างๆ นั้นไม่ถึงกับแปลกหู ท่านผู้อ่าน มากเกินไป รวมทั้งท่านในพื้นที่ที่เอ่ยถึง จะได้ช่วยกันรำลึก เรื่องราวในอดีต อย่างสร้างสรรค์ด้วย

สุดท้ายที่จะอดกล่าวถึงเสียมิได้ คือข้อมูลทาง อินเทอร์เนต จะช่วยได้มากกว่านี้ ถ้าทำให้ถูกต้อง เป็นต้นว่า ทางตำบล อัยเยอร์เวง อำเภอเบตง เขียนไว้ว่า โต๊ะเวงเป็นจีนนั้น ผิดพลาด อย่างยิ่ง เพราะท่าน เป็นมุสลิม จากยะรัง และ ที่ฝังศพ อยู่ที่อำเภอแว้ง อย่างแน่นอน...

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ -