เรื่องสั้น - ถนอม บุญ -
ยาพระพุทธเจ้า


คนทุกคนปรารถนาชีวิตที่มีความสุข ไม่มีใครอยากเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ไม่มีใครหลีกเลี่ยง ความเจ็บไข้ไปได้ พระอรหันต์ ก็ยังป่วย (กาย) ยารักษาโรค หรือยารักษาพยาบาล จึงเป็นสิ่งจำเป็น

วันหนึ่งผมเกิดปวดไหล่ข้างซ้ายอย่างแรง ปวดลึกๆ กลางไหล่ แต่คลำหาจุดปวดไม่เจอะ ถ้าแกว่งแขนหรือมีอะไร มาโดน แขนข้างซ้าย จะรู้สึกเสียวแปลบขึ้นมาทันที ผมพยายาม นึกหาสาเหตุที่ทำให้เจ็บปวด แต่นึกไม่ออก จึงไม่ได้ กินยาแก้ปวด เพราะคิดว่า คงไม่หนักหนาอะไร อาการปวด คงจะหายไปเอง และไม่กล้าบอกใครเพราะเกรงว่า เรื่องเล็ก จะกลายเป็น เรื่องใหญ่

บ่ายวันนั้นภรรยาของผมต้องไปต่างจังหวัด ผมทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถให้ภรรยานั่ง ระยะทาง จากบ้านของผมที่เมือง เมมฟิส รัฐเทนเนสซี ถึงจุดหมายปลายทางที่เมืองนัทเชส รัฐมิสซิสซิปปี ประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร ผมใช้เวลาขับรถ เกือบ ๖ ชั่วโมง เป็นการขับรถ ที่ทรมานที่สุดในชีวิต เพราะจะต้องจับพวงมาลัย ด้วยมือขวามือเดียว มือซ้ายใช้การ ไม่ได้ เพราะยกไม่ขึ้น หรือ ถ้าเอามือขวา ช่วยยกมือซ้าย ให้จับพวงมาลัยก็จับไม่ไหว รถกระเทือนคราวใด รู้สึกเหมือน มีใครเอาเข็มทิ่มแทง เข้าไปใน หัวไหล่ด้านซ้าย เวลาเหงื่อหัวล้านไหล ก็ต้องปล่อยให้มันไหล ไปตามหน้าผากและแก้ม ไม่มีมือช่วยเช็ด แต่ก็ยังโชคดี ที่มีคิ้วหนาหน่อย คอยกั้นไม่ให้เหงื่อ ไหลเข้าตา แม้กระนั้นก็ตาม มีหลายครั้ง ที่คิ้ว ทำหน้าที่ เป็นทำนบไม่ไหว ต้องปล่อยให้เหงื่อ ไหลเข้าตา ผมต้องกะพริบตาถี่ๆ หลายครั้งเพื่อไล่น้ำให้ไหลออกจาก เบ้าตา

ผมไม่กล้าบอกภรรยาว่าเจ็บแขน เพราะถ้าขืนบอก ผมอาจถูกปลดจากหน้าที่สารถี ไปเป็นผู้โดยสาร ธรรมดา ซึ่งเป็น การลดเกียรติ และภาพลักษณ์ของผม (ตามที่เคยร่ำเรียนกลยุทธ์ ขายตรง ว่าสามีต้องเป็นผู้นำ)

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าภรรยารู้ว่าผมเจ็บแขนแล้วยังขืนปล่อยให้ขับรถ เธออาจตำหนิตัวเอง ที่ใช้สามี ยิ่งกว่าม้า โดยไม่ยอม ให้พักผ่อน เธออาจกระวนกระวายใจ เพราะกลัวถูกนินทา ว่าเป็นคนใจร้าย จะวิตกกังวลและคอยไต่ถาม เรื่องแขน ของผมอยู่ร่ำไป ทำให้ผมขาดสมาธิ ผมอาจเผลอสติ ปล่อยรถแล่นลงคูข้างทางก็ได้ การไม่เอ่ยถึงแขนเจ็บ จึงนับเป็น การตัดสินใจ ที่ค่อนข้างฉลาด

อย่างไรก็ตาม ผมต้องกัดฟันทน รถกระดอนแต่ละครั้งผมต้องขบกรามแน่น เพราะความเจ็บปวด แล่นจากแขน ขึ้นไปถึง ขากรรไกร กว่าจะเดินทางถึงเมืองปลายทาง ผมกัดฟันเสียจน ขากรรไกรบวม อ้าปากแทบไม่ออก

ภรรยาของผมจองที่พักแบบที่เขาเรียกว่า"บีบี" (Bed & Breakfast) ซึ่งเป็นบ้าน ที่เขาจัดห้องพิเศษ หรือ สวีท (Suite) ให้คนเช่าอยู่ เป็นยูนิต แต่ละยูนิตมีห้องนอน ห้องน้ำ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไม้สอย แบบโบราณ รุ่งเช้าเจ้าของบ้าน จะยกอาหาร มาตั้งโต๊ะ ให้คนเช่ารับประทาน เหมือนเราเป็น แขกบ้านของเขา

"บีบี" ของเราเป็นคฤหาสน์โอ่โถงหลังหนึ่งในเมืองนัทเชส มิสซิสซิปปี เราเลือกพักบ้านหลังนี้ ก็เพื่อจะหา ประสบการณ์ ชีวิต แบบคฤหาสน์ ในสมัยก่อน คืออยากนอน อย่างคนร่ำรวย และกินอาหารเช้า อย่างเศรษฐี แต่เนื่องจากห้องพัก ของเรา อยู่บนเนิน ไม่มีพนักงาน คอยช่วยเหลือ อย่างที่เขามีตามโรงแรมใหญ่ๆ ผมจึงต้องเป็นบ๋อยเอง คือลาก กระเป๋าเสื้อผ้า ของกินเล่น และของใช้ส่วนตัว ของภรรยาด้วยมือขวา เพียงข้างเดียว กว่าจะขึ้นบันได ไปจนถึง ห้องนอน ก็ปล้ำเสียจนเหงื่อโทรมกาย และลิ้นห้อย

ห้องนอนของเรามีเตียงโบราณสูงใหญ่อยู่กลางห้อง มีเสาสูงๆ อยู่ที่มุมเตียง ผ้าคลุมเตียง ลายดอกไม้ สีน้ำตาลอ่อน หมอนขนาดต่างๆ หลายใบวางเรียงรายเป็นระเบียบอยู่บนผ้าคลุมเตียง เหนือเตียง มีพัดลมไฟฟ้า ห้อยลงมา จากเพดาน ใบพัดลมสีทอง หมุนช้าๆ พาลมอ่อนๆ กลิ่นดอกกุหลาบ โชยมาไม่ขาดสาย ผมคิดจะปีนเตียงขึ้นไปนอน ให้เหมือนเศรษฐี แต่ไหล่เจ้ากรรม มันทำพิษ เสียก่อน มันปวดจี๊ดขึ้นมาตั้งแต่ผมทำท่าจะปีนเตียง เลยเลิกล้ม ความตั้งใจ ที่จะขึ้นเตียงนอน แต่หัวค่ำ

"คุณเป็นอะไรไป หน้าซีดเซียวยังกะไก่ต้ม" ภรรยาถามด้วยความตกใจ

"เปล่า ไม่เป็นอะไรมาก เพียงเจ็บแขนนิดหน่อยผมกัดฟันตอบเสียงอ่อยๆ

"ไหนมาดูซิ"

ภรรยาจับแขนซ้ายของผมที่ห้อยอยู่ ยกขึ้น ผมร้องจนสุดเสียง เธอรีบปล่อยให้มันหล่นลงมา กระทบสีข้าง ทำให้ปวด ซ้ำสอง เจ็บยิ่งกว่าเก่า

ผมสาบานได้ว่าไม่เคยมีความเจ็บปวดคราวใดร้ายแรงยิ่งกว่าคราวนี้ ผมทรุดตัวลงนั่ง บนม้านั่ง ปลายเตียง หลับตาปี๋ เอามือขวา ปิดปาก เพื่อไม่ให้เสียงร้องโอดโอยดังลั่นออกไปนอกห้อง ภรรยา คงทำใจมาก เพราะไม่เคยได้ยิน ผมร้อง อย่างนี้มาก่อน เธอรีบขอโทษ แล้วซักประวัติ การเจ็บแขนของผม

เธอตำหนิผมที่ปกปิดเรื่องเจ็บแขน

"คุณไม่ควรอวดดีขับรถทั้งๆ ที่เจ็บแขน ทำไมไม่บอกให้รู้ จะได้ช่วยขับ"

ผมไม่ตอบเพราะไม่อยากสาธยายเรื่อง ทิฐิ หรือ "ปมเขื่อง" ของสามีให้ภรรยาฟัง จึงแกล้งทำหน้าจ๋อย อย่างคน สำนึกผิด

ความจริงภรรยาของผมก็ช่วยผมขับรถตลอดเวลา เพียงแต่เธอไม่ได้ถือพวงมาลัย เหยียบคันเร่ง หรือเหยียบเบรกเอง เธอขับรถด้วยปาก!

เวลาเราไปไหนด้วยกัน ถ้าเดินทางอยู่ในเมือง เธอจะบอกให้ผมขับรถประชิดติดคันหน้า ไม่ให้เว้นที่ว่าง ระหว่างรถ มากนัก เธอว่า จะได้เฉลี่ยเนื้อที่ถนน ให้คนอื่นใช้บ้าง (แต่ผมคิดว่า เธอกลัวจะถูกแซงมากกว่า ภรรยาของผม ไม่ชอบให้ใครแซง หรือขับรถ ปาดหน้า) อีกอย่างหนึ่ง เธอเคยเตือนไม่ให้ผมขับรถช้า เพราะกลัวว่าจะโดนชนท้าย ผมจึงต้อง คอยดูทางซ้าย ขวา หน้า หลัง และ ฟังคำสั่งในรถ ยังกะเป็นนักเรียนหัดขับรถ เวลาออกนอกเมือง ก็เหมือนกัน เธอจะคอย กำกับ ความเร็ว ให้ผมขับรถ อยู่ในสปีด ที่กำหนด (เพราะถ้าไม่เห็นตำรวจ ผมมักขับรถ แข่งกับเครื่องบิน)

"ความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในจิตใจน่าจะเป็นสาเหตุของการเจ็บไหล่" ผมคิดเงียบๆ

อนึ่ง ผมสังเกตว่า อารมณ์มีความสัมพันธ์กับอาการปวดไหล่มาก เช่น เมื่อผมรู้สึกกังวลว่า จะทำตัวไม่ถูก เวลาเจอะ พวกเศรษฐี หรือว่า เวลาโกรธ (เพราะถูกภรรยาตำหนิ ต่อว่า หรือ เทศนาอบรมสั่งสอน) ความปวดก็ทวีความรุนแรง ยิ่งขึ้น แต่เมื่อจิตใจ ของผมชื่นบาน ความปวดก็ลดลง

ผมบอกภรรยาว่าจะขออาบน้ำและนั่งสมาธิ เธอให้ผมกินยาแก้ปวด ๓ เม็ด และเตรียมไว้ให้กิน อีกครั้งละ ๓ เม็ดทุกๆ ๔ ชั่วโมง

การอาบน้ำอุ่นทำให้รู้สึกสบายและคลายความปวดลงได้บ้าง แต่เวลาเปลี่ยนเครื่องแต่งกายรู้สึกว่า ทรมานที่สุด เพราะแขนข้างซ้าย ไม่ยอมร่วมมือทำงานกับแขนข้างขวา

ภรรยาขึ้นเตียงไปก่อนและเตรียมหมอนให้ผมหนุนแขน เธอแนะนำว่าผมควรนอนท่าไหน จะได้ไม่ปวดแขน ผมลองทำ ทุกท่า ที่เธอบอก แต่ไม่ได้ผลสักท่า ไม่มีท่าใดที่ไม่ปวดแขน

ในที่สุดผมบอกภรรยาให้นอนคนเดียว ผมจะนั่งสมาธิ หายปวดเมื่อไร จะขึ้นไปนอน บนเตียงเคียงคู่กับเธอ

ผมเอาหมอนลูกใหญ่มารองนั่ง อีกใบหนึ่งเตรียมไว้พิงหลังเวลานั่งพิงเตียง ผมหาผ้าเช็ดตัว ผืนใหญ่มา ๒ ผืน สำหรับ ห่ม และคลุมหัว เพราะตอนนั้นอากาศยังหนาวอยู่ เตรียมตัวเสร็จ แล้วเรียกภรรยาให้ดู เพราะเกรงว่า ถ้าไม่บอก เธอตื่นขึ้นกลางดึก อาจนึกว่า ผีเจ้าของปราสาท มานั่งเฝ้าอยู่ริมเตียง

หลังจากสวดมนต์ไหว้พระและแผ่เมตตา ผมค่อยๆ ผ่อนลมหายใจเข้าและออกแผ่วเบา สม่ำเสมอ เท่าๆ กันจึงเลื่อน ความสนใจ ไปที่ไหล่ซ้าย ข้างที่เจ็บ ค้นหาจุดที่เจ็บมากที่สุด และพบว่า มันอยู่ใต้หัวไหล่ ด้านนอก ประมาณ ๑ ฝ่ามือ ผมเอาในจดจ่อ ไว้ที่จุดนั้น คอยดูว่า มันเจ็บมากน้อย แค่ไหน และเจ็บนานเท่าไร

ผมพบว่าถ้าอยู่นิ่งๆ การเจ็บปวดกระเพื่อมขึ้นลงเหมือนลูกคลื่น คือค่อยๆ เจ็บทีละนิด เจ็บถึงที่สุด แล้วค่อยๆ ลดลง จนไม่รู้สึกเจ็บ สักครู่ ก็เจ็บขึ้นมาใหม่ เจ็บถึงที่สุดแล้วค่อยๆ หายไป เป็นอยู่ซ้ำซาก อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนใคร แกล้ง เอาของปลายแหลม ค่อยๆ ทิ่มแทงเข้าไปในหัวไหล่ แทงลึกลงไป แล้วดึงออกมา ดันเข้าไปใหม่แล้วดึงออก เวลาดันเข้าไปก็เจ็บ เวลาดึงออก ก็คลายเจ็บ นอกจากนี้ ยังเจ็บปวดเป็นจังหวะ สัมพันธ์กันกับการเต้น ของชีพจร

ผมเฝ้าดูอาการเจ็บปวดที่มันเกิดขึ้นและดับไปจนกะได้ว่าเมื่อไรมันจะเกิดขึ้น และเมื่อไร มันจะหายไป ขณะที่มันเกิดขึ้น ก็นึกในใจว่า ปวด ปวด ปวด ขณะที่การปวดลดลง ก็นึกตามมันไปว่า หาย หาย หาย เช่นนี้จนรู้สึกว่าเคยชินกับ การเจ็บปวด

ชีวิตทุกชีวิตต้องเผชิญกับการเจ็บปวดนับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งเรารู้สึกปวดร้าวทั้งกายและใจ ก็เพราะเครื่องรับ หรือประสาท ของเราว่องไว สามารถรับสิ่งเร้าได้และแปลกระแสการเร้า ออกมาเป็นความรู้สึก บางครั้งเราเอา ประสบการณ์ที่ผ่านมา บวกเข้าไปด้วย คือแต้มสี ความรู้สึก ให้มากขึ้น เรารู้สึกเจ็บปวด แสนสาหัส เพราะเราไป ปรุงแต่ง แต้มสีมัน แต่บางทีสิ่งเร้า และสิ่งรับ ไม่สมดุลกัน เราก็ไม่รู้สึกเจ็บ

ผมคิดว่าความรู้สึกเจ็บปวดเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นจิต ที่เป็นทุกข์ เกิดขึ้นเพราะ มีสิ่งเร้า ประสาทของเรา รับสิ่งเร้า แปลการเร้า และโยงการแปลนั้น ไปสู่สิ่งอื่น หรือประสบการณ์เก่าๆ ดังที่กล่าวแล้ว จึงทำให้รู้สึก เจ็บปวด มากน้อยต่างกัน ความรู้สึกนี้ ไม่จีรังยั่งยืนและไม่มีตัวตน เกิดแล้วก็หาย เราจะไปบังคับ หรือจับมันมัด ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้

การปวดไหล่ของผมน่าจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ผมจะต้องประสบ ไม่เร็วก็ช้าเพราะผมเป็นสิ่งมีชีวิต เกิดมาแล้วก็ต้อง แก่ เจ็บ และตาย จะหนีกฎนี้ไปไม่พ้น เจ็บเสียตอนนี้ก็ดี จะได้เรียนรู้แต่เนิ่นๆ ถึงฤทธิ์ของการเจ็บ อนึ่ง ผมคิดว่า การปวดไหล่ของผม ไม่ร้ายแรงนัก เพราะผมทนได เพียงระวัง กาย ให้อยู่ในท่าปกติ มีสมาธิรู้ว่าจะขยับเขยื้อน กายส่วนไหน จึงไม่เจ็บปวด ถ้าบังเอิญ เกิดปวดขึ้นมาก็สามารถทำใจให้สงบได้ด้วยการภาวนา"ปวดหนอ ปวดหนอ" หรือ ปวด ปวด ปวด ดังกล่าวแล้ว

ความสนใจในสิ่งหนึ่งใดทำให้เกิดความเพลิดเพลิน แม้ว่าการปวดไหล่เป็นความทุกข์ทรมาน แต่ผมเฝ้าดูกระบวนการ ของมัน อย่างละเอียดจนเข้าใจและเห็นธรรมชาติของการเจ็บปวด ยิ่งกว่านั้น ผมยังมองเห็นธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การเจ็บป่วย การมองเห็น และเข้าใจ ในธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผมเกิดทัศนคติวางเฉย คือปล่อยความรู้สึก ให้เป็นไปตาม ธรรมชาติของมัน ไม่สนใจว่าจะเจ็บปวดไปนานเท่าไร หรือจะหายเมื่อไร หน้าที่จิตของผมในขณะนั้น มีอยู่อย่างเดียว คือเฝ้าดู การเปลี่ยนแปลงความรู้สึก หรือกระบวนการของการเจ็บปวด

เมื่อไม่มีความวิตกกังวล จิตใจก็สงบ ผมรู้สึกว่าตัวผมนิ่ง ไม่ไหวติง แต่หายใจเข้าออกช้าๆ สม่ำเสมอ ไม่รู้สึกปวดแขน หรือปวดไหล่ อีกต่อไป ตรงกันข้าม กลับรู้สึกสบายกายสบายใจ และยินดี ที่สามารถ หาความสงบได้

ผมเคยได้ยินพระครูที่สอนวิปัสสนารูปหนึ่งพูดว่า "จิตที่สงบสามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ จึงอยากทดลอง ผมเพ่งจิต ไปที่ตา คือ คิดถึงตา ก็มองเห็นตาทั้งสองของผม คิดถึงหู ก็เห็นหูทั้งสองข้าง คิดถึงกระดูก ก็เห็นโครงกระดูก กำลังนั่ง ขัดสมาธิอยู่ เหล่านี้ เป็นต้น ผมลองคิดถึง หัวไหล่ข้างที่เจ็บ ก็เห็นเส้นเอ็น พันติดกันเป็นปม เหมือนเกลียวเชือก ขนาดเท่า ลูกกระดุม ขัดอยู่ระหว่าง กระดูกหัวไหล่ (แต่ไม่เห็นกระดุมดังกล่าว อยู่ในหัวไหล่ข้างขวา) อย่างไรก็ตาม ผมไม่นำพากับความผิดปกติอันนี้ เพราะภรรยาบอกว่า จะส่งผมไปหาหมอกระดูก ในวันรุ่งขึ้น (คอยอ่าน ประสบการณ์ ที่ผมพบหมอกระดูก)

ผมพอใจมากกับผลการปฏิบัติธรรมของผมในคืนนี้ อย่างน้อยก็หาวิธีไม่ให้ปวดแขนได้ คิดจะเอนกาย ลงนอน เพื่อเอาแรง ไว้ทำกิจกรรมในวันต่อไป แต่รู้สึกยังสบายอยู่กับการนั่งสมาธิ จึงตัดสินใจขอ "หลับในฌาน"

ผมตั้งจิตอธิษฐานว่าจะนั่งหลับสัก ๕ ชั่วโมงจะตื่นเวลา ๖ นาฬิกา ตื่นขึ้นมาขอให้รู้สึกสดชื่น อธิษฐานจิต เสร็จแล้ว ผมปล่อยจิต ให้เคลื่อนไปตามลำดับขั้น คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข และอุเบกขา แล้วรักษาใจ ให้อยู่ในขั้นสุดท้าย

โอกาสที่จิตใจอยู่กับตัวของคนเรานี้มีน้อยเหลือเกิน เราคิดถึงสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา เช่น อยากได้นั่น อยากได้นี่ ชอบสิ่งนั้น เกลียดสิ่งนี้ นินทาคนนั้นยกย่องคนนี้ อะไรทำนองนั้น เหมือนอย่าง ที่พระท่านว่า "ส่งจิตออกนอก" จิตไม่มี เวลาพักผ่อน อำนาจจิตของคนบางคนจึงอ่อนแอ ไม่มีความอดทน และไม่สามารถต่อสู้กับอุปสรรค หรือการ เปลี่ยนแปลงได้ "คนสมัยใหม่" หรือคน ในเมืองหลวง จึงมักเป็นคนขี้หงุดหงิด โกรธง่าย เครียด และความดันสูง การรักษา พยาบาลด้วยการ ใช้ยาเพียงอย่างเดียวจึงไม่ได้ผล

พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู พระองค์รู้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับ "คนสมัยใหม่" ที่มีชีวิต อยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านได้ ทรงประทาน"ยา" ไว้หลายขนาน สำหรับรักษาโรคความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความทุกข์ทางจิตใจ แต่มีอยู่ ขนานหนึ่ง ที่พระองค์ทรงใช้รักษา การเจ็บไข้ได้ป่วย ทางกาย พระองค์ทรงรักษา พระโมคคัลลานะเถระ และ พระกัสสปะ ให้หายป่วยไข้ ทางกาย พระองค์เองก็เคยใช้พระโอสถขนานนี้รักษา พระองค์เอง โดยประทาน โอกาส ให้พระจุนทะเถระ เป็นผู้ถวายการรักษา พระโอสถขนานนี้มีนามว่า "โพชฌงค์" ซึ่งประกอบด้วย

(๑) สติ-การรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ว่า คิด พูด รู้สึก และทำอะไร
(๒) ธรรมวิจัย-การค้นคว้าหาข้อมูล สอบสวน ตรวจตรา หาข้อยุติ
(๓) วิริยะ-ความบากบั่น พากเพียร กล้าหาญทำงานให้บรรลุผล
(๔) ปีติ-ความอิ่มอกอิ่มใจ ดีใจ ปลื้มใจ
(๕) ปัสสัทธิ-ความสงบ การหยุดนิ่ง ไม่กำเริบ ความเป็นปรกติ
(๖) สมาธิ-ความตั้งมั่นแห่งจิตใจ จิตแน่วแน่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่วอกแวก
(๗) อุเบกขา-การวางใจเป็นกลาง ปราศจากความลำเอียง การทำใจไม่ให้เกี่ยวข้องกับใครแต่พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น

ผมได้ใช้ "ยา" ขนานนี้รักษาตัวเองดังที่เล่ามาแล้ว แต่ไม่ได้เอ่ยถึงคำบาลีและขั้นตอนของโพชฌงค์ อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า ผมปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผลที่ผมได้รับนั้น มีนานัปการ อย่างน้อย "ยา" นี้ทำให้ ผมหายทุกข์ทรมาน จากการปวดแขน ผมรู้สึกซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระอรหันตสัมมาพุทธเจ้า

"ตายจริง! คุณยังไม่นอนหรือนี่" เสียงภรรยาดังขึ้น ผมลืมตามองดูนาฬิกา เวลา ๖.๐๐ น. พอดี

"ไม่ได้นอน แต่หลับสบาย " ผมตอบตามความจริง

ผมเข้าห้องน้ำ แปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า พร้อมจะไปกินอาหารเช้า ร่วมกับพวกเศรษฐี

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ -