๖๐ ปีแห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย -๒- แม้สันติภาพและเอกราชจะกลับคืนมาสู่ราชอาณาจักรนี้แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดนั้น ยังหาได้รับเอกราชหรือสันติภาพไม่ แม้ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามไปแล้ว ทุกประเทศที่เคยถูกญี่ปุ่นยึดครอง ก็มีขบวนการ กู้ชาติ ให้ปลอดพ้นไปจากการหวน กลับคืนมา ของจักรวรรดิตะวันตก ความข้อนี้ ต้องถือว่านายปรีดี พนมยงค์มีคุณูปการอันสำคัญ ในการสนับสนุน ขบวนการกู้ชาติของแทบทุกประเทศ รอบๆ ราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะก็เวียดนาม กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย ก็ในเมื่อเราต้องการเอกราชและสันติภาพฉันใด เพื่อนบ้านของเรา ก็ต้องการเอกราช และสันติภาพฉันนั้น เมื่อเขาขอ ให้เราช่วย และเราอยู่ในสถานะ ที่พอจะช่วยเขาได้ เราย่อมควรอนุเคราะห์เขาเท่าที่เราจะทำได้ (ไม่ใช่เบียดเบียนบีฑา ประชาราษฎร จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเลวร้ายดังในปัจจุบัน) ใช่แต่เท่านั้น นายปรีดี พนมยงค์ยังปรึกษาหารือกับผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น เพื่อร่วมกันตั้งสมาคมสหชาติ เอเชียอาคเนย์ ขึ้นอีกด้วย เพื่อให้ประเทศทั้งหมด ที่เอ่ยนาม มาแล้วนี้ จะได้รวมความเป็นเอกราชเข้าด้วยกัน แม้จะมี ลัทธิการปกครองที่ต่างกัน แต่ทุกประเทศ ก็ต้องการสันติภาพ โดยที่สันติภาพของภูมิภาค ที่รวมตัวกัน อย่างสามัคคี ธรรม ย่อมมีพลังในทางการต่อรองกับอภิมหาอำนาจ หรือภูมิภาคอื่นๆ ยิ่งกว่าความโดดเดี่ยว ของประเทศ เล็กๆ หนึ่งเดียว โดยนายปรีดีมองเห็นแล้วว่า เมื่ออินเดียได้รับเอกราช ก็จักเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ในเอเชีย เฉกเช่นจีน เมื่อประเทศนั้นรวมพลังกันได้ โดยปลอดพ้นไปจาก พวกขุนศึกต่างๆ ซึ่งแก่งแย่งแข่งดีกันอยู่ ในเวลานั้น โดยที่สหรัฐ ก็จะเข้ามามีอิทธิพลกับภูมิภาคนี้ แทนที่สหราชอาณาจักรยิ่งๆ ขึ้นทุกที ทั้งนี้โดยไม่จำต้อง เอ่ยถึงการขยายอิทธิพล ของสหภาพโซเวียต ก็ยังได้ ที่พึงตราไว้ก็คือ ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของสมาคมสหชาติเอเชียอาคเนย์นี้ ต้องการเอกราช และสันติภาพ ทั้งภายใน ประเทศและภายในภูมิภาค โดยที่ทุกประเทศ ต้องการเป็น ประชาธิปไตยอีกด้วย และประชาธิปไตยนั้นๆ มีแนวโน้ม ไปในทางสังคมนิยม ยิ่งกว่าทุนนิยม คำว่า เอกราช ในที่นี้หมายถึงความเป็นหนึ่ง (เอก) อย่างไม่น้อยหน้าใคร ทั้งในแง่ของ ประเทศชาติและราษฎร และราช ตามพยัญชนะ หมายถึง การก่อให้เกิดความยินดี กล่าวคือ การรวมตัวกันเป็นรัฐหรือประชาชาตินั้น ประชาชน หรือราษฎร ต้องปราศจากความด้อย ดังการเป็นเมืองขึ้น เมืองออกในระบอบอาณานิคม หรือการปกครองในระบอบ เจ้าขุนมูลนาย ที่มีรูปแบบอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเสนาอำมาตยาธิปไตย แม้จนทักษิณาธิปไตย และเนื้อหา สาระที่แท้ของคำว่า เอกราช คือประชาชาติและประชาชน ต่างก็ก่อให้เกิด ความนิยมยินดี ซึ่งกันและกัน คำว่า เอกราช จะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า independence ก็ได้ free ก็ได้ sovereign ก็ได้ ประเทศชาติ ที่เป็นเอกราช ย่อมใช้คำว่า independence ประชาชนที่เป็นไทแก่ตน ย่อมใช้คำว่า free เพราะฉะนั้นเอกราชกับอิสรภาพ จึงเป็น ไวพจน์กัน ส่วน sovereign ที่บางครั้ง ส่อไปถึงความเป็นพระราชามหา-กษัตริย์นั้น หมายถึง อำนาจอันสูงสุด หรือ อธิปไตย นั้นเอง กล่าวคือประเทศเอกราช ย่อมมีอธิปไตย เป็นของตนเอง และอำนาจอธิปไตย ย่อมเป็นของราษฎร ที่มีความเป็นไท นั้นแล ดังรัฐธรรมนูญสยามฉบับแรก ซึ่งลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ตราความข้อนี้ไว้อย่างชัดเจน ที่ว่ามานี้ หมายความว่าประเทศที่เป็นเอกราช ราษฎรย่อมมีความเป็นไท และแต่ละคน ย่อมมีสันติภาวะ โดยที่ประชาชาติ ก็ต้องมีสันติภาพ ก็เมื่อประเทศชาติปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ก็ย่อมต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ และเสียงคนส่วนน้อยด้วย หากรัฐ นั้นๆ มีคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างภาษา และขนบธรรมเนียม เอกราชของประเทศนั้น ย่อมกินความ ไปด้วยว่า แต่ละเขต แต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น ย่อมมีความเป็นไทได้ และประเทศเอกราชนั้นๆ ก็อิงอาศัยกัน ในภูมิภาค ดังกรณีของ สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์นี้แล ที่ว่ามานี้ออกจะคล้ายมติของท่านมหาตมะคานธีในเรื่อง village republic ดังท่านอธิบาย ขยายความว่า โครงสร้าง ที่ว่านี้ ประกอบไปด้วยหมู่บ้านต่างๆ อย่างเหลือคณานับ มีมาก ออกไปเรื่อยๆ แต่ไม่ไต่เต้าให้สูงขึ้นไปจากปริมณฑล ชีวิตจะไม่เป็นเหมือนปิรามิด ที่มียอด ซึ่งขึ้นอยู่กับ ฐานที่คอยเลี้ยงดู หากเป็นวงรอบดังมหาสมุทร ที่แต่ละศูนย์ประกอบ ไปด้วย ปัจเจกบุคคล ซึ่งพร้อมจะสละชีวิตเพื่อหมู่บ้านและแต่ละหมู่บ้าน ก็ยินดีสละชีวิต เพื่อทุกๆ หมู่บ้าน จนทุกๆ หมู่บ้าน กลายเป็นชีวิตหนึ่งเดียวกัน โดยมีปัจเจกบุคคลต่างๆ ซึ่งปราศจาก ความหยิ่งยโส หรือก้าวร้าว หากมี ความอ่อนน้อม ถ่อมตน อย่างพร้อมที่จะให้ปัน ซึ่งกันและกัน ในปริมณฑลของทุกๆ หมู่บ้าน ซึ่งทุกๆ คนเป็นสมาชิก สหภาพพม่า ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมสหชาติเอเชียอาคเนย์ ก็กำหนดไว้ว่า เมื่อประเทศตน ได้เอกราชแล้ว แต่ละกลุ่ม ชนชาติในอาณาบริเวณหนึ่งๆ ย่อม เป็นไท free และมีอิสรภาพ ในการปกครองตนเอง (autonomy) ภายในขอบเขต แห่งอำนาจอธิปไตยของประเทศเอกราช ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลกลางดำเนินรัฐประศาสโนบาย แต่จำเพาะในทาง การทหาร การต่างประเทศ และการคลังเท่านั้น ที่น่าสังเกตก็ตรงที่สมาคมสหชาติเอเชียอาคเนย์เลือกให้นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส. จังหวัด สกลนคร เป็นประธานของ สมาคม โดยที่บุคคลผู้นี้ มีบทบาทอย่างสำคัญ ทางภาคอีสานของสยาม ในขบวนการเสรีไทย ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่สอง ทั้งนี้หมายความว่าแนวนโยบายของรัฐบาลไทย แต่สมัยเมื่อหกสิบปีก่อน เป็นต้นมานั้น มีแนวโน้มไปในทางกระจาย อำนาจ เพื่อก่อให้เกิดอิสรภาพในการปกครองตนเองของภูมิภาคต่างๆ ทั้งทางภาคอีสาน ภาคพายัพ และภาค ทักษิณ โดยที่ ถ้านโยบายดังกล่าวนี้ สัมฤทธิ์ผล ความเป็นประชาธิปไตย กับความเป็นเอกราช จะไปควบคู่กับสันติภาพ ในทุกๆ ภูมิภาคเป็นแน่แท้ ดังได้ทราบมาว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นประเทศลาวในปัจจุบันก็อาจรวมกับประเทศไทย โดยที่ลาว ย่อมมีอิสรภาพ ในการปกครอง ตนเอง อย่างเป็นประชาธิปไตย เท่าๆ กับรักษาสันติภาพ ภายในประเทศไว้ได้ พร้อมๆ กับคำนึงถึง สันติภาพ และเอกราชของทุกๆ ประเทศ ตลอดทั่วทั้งภูมิภาค เอเชียอาคเนย์ รัฐไทยใหญ่ทั้ง ๑๘ เจ้าฟ้า หรืออย่างน้อยก็เชียงตุง ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าอยู่รวมกับ ราชอาณาจักรไทย เป็นแต่ทหารไทย ไปยึดครอง เชียงตุง ภายใต้การนำของผิน ชุณหะวัณ ด้วยความสนับสนุน ของกองทัพญี่ปุ่น ในสงครามโลก ครั้งที่ ๒ เจ้าฟ้าเชียงตุง จึงรังเกียจ ที่จะร่วมกับ รัฐไทย ภายใต้การนำของเผด็จการทหาร ถึงกับตกลงเข้าร่วมกับ สหภาพพม่า ซึ่งแม้จะต่าง ภาษา และต่างเชื้อชาติ หากเวลานั้นรัฐธรรมนูญของสหภาพพม่า เปิดช่องไว้ ให้รัฐอิสระต่างๆ (autonomy) แยกออกจากสหภาพพม่าได้ ภายหลังที่สหภาพนั้น ได้เอกราช มาครบ ๑๐ ปีแล้ว เป็นแต่เนวิน ยึดอำนาจ เสียก่อน สหภาพพม่า จึงขาดสันติภาพ และอิสรภาพ สำหรับราษฎรในทุกๆ เผ่าชน แต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมา และ เลวร้ายลงยิ่งๆ ขึ้นทุกที จนถึงปัจจุบัน สำหรับไทยเราเองนั้น รัฐบาลกลางก็กำลังพิจารณาข้อเสนอของ หยีสุหลง อย่างจริงจัง กับการมีอิสรภาพ ภายใน ขอบเขต ของราชอาณาจักร ณ บริเวณสี่จังหวัดภาคใต้ ที่ราษฎรส่วนใหญ่ เป็นชนเชื้อชาติมลายู และถือศาสนา อิสลาม เฉกเช่นที่ ส.ส. ทางภาคอีสาน ก็ต้องการ สถานภาพทำนองนั้น โดยที่ ส.ส. นั้นๆ ก็มีบทบาทอย่างสำคัญ ในการธำรง รักษาอธิปไตย และประชาธิปไตย ตลอดจนสันติภาพของทุกๆ คนในราชอาณาจักร ส.ส. ที่สำคัญเหล่านั้น ได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นพรรคสหชีพ ขึ้นอย่างน่าสนใจยิ่งนัก (อ่านต่อฉบับหน้า) - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ - |