กติกาเมือง
- ประคอง เตกฉัตร - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา


ต้นทุนทางสังคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่ในทางปฏิบัติ และความ เป็นจริง นั้น จนถึงบัดนี้ คนไทยไม่สามารถนำทฤษฎีดังกล่าว มาดำเนินการและมีผลในการปฏิบัติ จนเป็นข้อมูล เป็นประจักษ์ ที่ชัดเจนจะมีบ้าง ก็เพียงน้อยนิด เท่านั้น ในโลกแห่ง ความเป็นจริง ผู้เขียนเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่มุ่งแต่พัฒนา เศรษฐกิจ ให้เจริญเติบโต อย่างสุดโต่ง โดยมองแต่ตัวเลข ความเจริญ เติบโต ทางเศรษฐกิจ และ อุปสงค์รวมของประเทศ แต่ไม่เคยให้ค่าต้นทุน ทางสังคม ที่เราต้องเสียไป เรามุ่งแต่ต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ สำหรับปัจจัย การผลิต และการคำนวณผลประโยชน์จากรายได้ที่ได้รับ จากการใช้จ่าย ปัจจัยการผลิต โดยอาศัย ตัวเลข ที่เป็นผลลัพธ์ที่เป็นตัวเงิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ต้นทุนอย่างแท้จริง และไม่ใช่ประโยชน์ที่จะได้รับ เพราะไม่ได้สะท้อน ราคาจริง เพราะต้นทุนบางอย่าง ไม่สามารถ ซื้อขายกัน ในท้องตลาดได้ เช่น ผลกระทบทางด้าน สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทุนทางสังคมโดยรวม และเป็นผลกระทบในวงกว้าง ต้นทุนอีกประการหนึ่ง ที่เราไม่เคยนำมา พูดกัน และไม่เคย บอกกล่าวประชาชน ให้ทราบ คือ ต้นทุนการเสียโอกาส ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูง ของผลประโยชน์ จากทางเลือกอื่น ของการใช้ทรัพยากร ที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ เนื่องจากนำ ทรัพยากรดังกล่าวนั้น มาใช้ในกิจการ หรือ โครงการดังกล่าวไปแล้ว ต้นทุนอีกประการหนึ่ง ก็คือ ปฏิกิริยาของ ผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไป และถูกกระทบ เช่น โรคภัย ไข้เจ็บ ฯลฯ

ทรัพยากรไม่ใช่สิ่งของที่มีให้เปล่า เพราะสามารถนำไปใช้หาผลประโยชน์ ในด้านอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่าง แม่น้ำ เจ้าพระยา สามารถใช้ประโยชน์ ได้หลายอย่าง ไม่ว่าผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ใช้อุปโภค บริโภค เป็นน้ำดิบ ในการทำน้ำประปา ใช้ในวงการ เกษตรกรรม แต่ถ้าเราตัดสินใจ สร้างเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วม เราก็เสีย โอกาสในการใช้เป็น ทางคมนาคม ตามลำน้ำ เพราะแม่น้ำถูกตัดทอน ให้สั้นลงโดยเขื่อน กรณีที่เห็นได้ชัดเจน คือ แม่น้ำเทม ในอังกฤษ ซึ่งเดิมนั้นเน่าเสียมาก การพัฒนาทางอุตสาหกรรม ริมฝั่งแม่น้ำเทม ทำให้แม่น้ำเทม เน่าเสียหาย ต่อมารัฐบาล ของประเทศอังกฤษ ได้พยายามฟื้นฟูแม่น้ำเทม ให้ใสสะอาด แต่ต้องใช้ทุน ในการฟื้นฟู สูงมาก สูงกว่า ผลกำไร ของทุกบริษัท ที่อยู่ริม แม่น้ำเทม ที่จะได้รับ อันเป็นที่เห็นได้ว่า ถ้านำต้นทุน ดังกล่าวนั้น ไปบวกกับต้นทุน ของสินค้า จะเห็นว่าการผลิตสินค้า ทั้งหลายนั้น ขาดทุน การจะฟื้นฟู แม่น้ำเจ้าพระยา ให้ใสสะอาด ก็เช่นเดียวกัน โรงงานหรือผู้ที่สร้างมลพิษ ให้แม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับกำไรไปเพียงน้อยนิด แต่รัฐบาลต้องระดม ภาษีอากร จากประชาชน ทั้งประเทศ มากกว่าผลกำไร ของบริษัทต่างๆ รวมกัน เพื่อมาฟื้นฟูให้แม่น้ำเจ้าพระยา ใสสะอาด แทนที่ จะนำไปพัฒนาประเทศ ในด้านอื่นๆ แต่สิ่งดังกล่าวนี้ เราไม่เคยนำมาพูดกัน ในสังคมไทย เราไม่เคย นำมา วิเคราะห์กัน ในวงการเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้ชี้แนะให้ประชาชน ซึ่งอยู่ระดับ รากหญ้าได้เข้าใจ และตื่นตัว รักษา ผลประโยชน์ในส่วนนี้

แม้แต่ระบบอัตราภาษีที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ หลายคนยังไม่สามารถมองภาพได้ชัดเจน เช่น ภาษีสุรา ที่กระทรวง การคลัง จำเป็นต้องปรับ โครงสร้างภาษีสุราใหม่ จากเดิมที่มีแนวคิด ผสมผสาน การจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ และตามมูลค่าเข้าด้วยกัน แต่เนื่องด้วยวิธี ดังกล่าวนี้ ต้องแก้ไข กฎหมาย คือ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต จะต้องระบุว่า จัดเก็บภาษีอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีมูลค่ามากกว่า โดย กระทรวงการคลัง อ้างว่า เพื่อให้ประชาชน บริโภคสุรา ที่มีคุณภาพ อย่างไรมีคุณภาพ ผู้เขียนยังสงสัย โดยวิธีที่ทำได้ คือ ดูว่าสุราประเภทใด ที่เก็บภาษีต่ำกว่า ที่กำหนด เพดานภาษีไว้ และจะสามารถปรับเพิ่ม ให้เต็มเพดานได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราภาษี ตามปริมาณ แอลกอฮอล์ มีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง คือ เพิ่มอัตราภาษี ตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ สุราที่มีปริมาณ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์มาก เสียภาษีมาก อันจะทำให้ราคาสุรา ทั้งระบบสูงขึ้น สุราที่ปัจจุบัน เก็บไม่เต็มเพดาน ก็คือ สุราแช่พื้นเมือง สุราปรุงพิเศษ และสุราพิเศษ หรือวิสกี้ เห็นว่า การปรับเพดานภาษีดังกล่าวนั้น มุ่งที่จะรักษา คุ้มครอง ผู้ผลิตสุรา ผู้นำเข้าสุรา ผู้จัดจำหน่ายสุรา ห่วงกังวลว่า สุราภายในประเทศ จะอยู่ไม่ได้ ถ้าเก็บภาษี อัตราเดียวกัน ทำให้สุรา ต่างประเทศ เข้ามาแข่งขันได้ หรือบางครั้ง เมื่อพูดถึงคุณภาพของสุรา ซึ่งผู้เขียน ไม่แน่ใจว่า อย่างใดเรียกว่า คุณภาพสูงต่ำกันแน่ เพราะทุกประเภท ก็ก่อพิษภัย ให้สังคมไทย ไม่แพ้กัน แต่ถ้าเก็บภาษีสุรา ต่างประเทศ สูงกว่า ก็จะทำให้ต่างชาติ ที่ค้าขายกับประเทศไทย อ้างว่าประเทศไทย ตั้งกำแพงภาษีสุรา ก็จะไปตั้ง กำแพงภาษี กับสินค้าอื่น ของไทย ที่ส่งไปขาย ต่างประเทศ สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ายังมีการบริโภคสุรา ในประเทศไทย อย่างเช่นทุกวันนี้ ปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาอุบัติเหตุ และปัญหาอื่นๆ มากมาย ที่ตามมา กับสุรา รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งถือเป็นต้นทุน ทางสังคม ก็จะมีมากต่อไป ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ การทำงานเพิ่มขึ้นของตำรวจ ทนายความ อัยการ ศาล และ ผู้เกี่ยวข้อง และปัญหา สังคมอื่นๆ ไม่ว่าความมั่นคง ของสถาบันครอบครัว ความหวั่นไหวของสถาบันศาสนา ปัญหาการจราจร ล้วนเป็นทุน ต่อเนื่อง มาจาก สุราทั้งสิ้น และนำภาษีอากรของคนที่ไม่ดื่มสุราไปแก้ไขด้วยโครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกโรค น่าจะไม่รวมถึง โรคที่เกิดจากสุรา และบุหรี่ เพราะเป็นการเอาเปรียบ ผู้ไม่สูบบุหรี่และดื่มสุรา

การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เราคิดต้นทุนกันแต่เพียง วัสดุอุปกรณ์ การก่อสร้าง การคมนาคม การขนส่ง และมุ่งกำไร เป็นตัวเงิน และ ความสะดวกสบาย ที่จะได้รับแต่สิ่งหนึ่งที่จะตามมา ซึ่งเป็น ต้นทุน ที่เราไม่อาจคำนวณ เป็นราคาเงินได้นั้น ก็คือ เรื่องผลกระทบ ด้านเสียงการจราจร สภาพสังคมรอบข้าง ที่เปลี่ยนไป หลังจากที่สนามบินเปิดดำเนินการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ได้แก่ ชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่รอบๆ สนามบิน มีคำถามว่าทำไมพวกเขาต้องมารับผลกระทบดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านเหนือ เป็นแหล่งชุมชน ขนาดใหญ่ มีสถานศึกษา รวมทั้ง วัดอยู่ด้วย หรือ กรณีแผนป้องกันน้ำท่วมเนื่องจากเป็นที่ลุ่ม แผนการขุดคลอง ระบายน้ำ ที่ไม่สามารถ ผ่านไปทางสนามบินได้ ต้องหลบแวะ อ้อมไปทางอื่น ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กรณีน้ำที่หลาก บริเวณใกล้เคียง แทนที่จะผ่านไปได้ ก็ถูกปิดกั้น ด้วยสนามบิน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ล้วนแต่เป็นทุนทั้งสิ้น แต่สังคมไทย ไม่เคยให้ความสนใจ

กรณีการไฟฟ้าที่แม่เมาะ กรณีเหมืองแร่ที่กาญจนบุรีที่ก่อให้เกิดสารตะกั่วในน้ำ ในดิน ปลูกพืช ปลูกข้าวไม่ได้ ปลูกแล้วก็บริโภคไม่ได้ ก็ต้องนำมาคิด เป็นต้นทุน การผลิตไฟฟ้า และผลิตแร่ด้วย อย่าคิดแต่ทุนและกำไร เป็นตัวเลข อย่างเดียว การสูญเสียโอกาส ไม่ได้ทำนา เพราะมีสาร ตะกั่ว นานนับสิบๆ ปี เป็นเงินเท่าไร ต้องวิเคราะห์ ต้องใช้เงิน เท่าไรในการ รักษาผู้ป่วยจาก สารแคดเมียม สารตะกั่วต้องถือเป็น ต้นทุน

กรณีการสร้างเขื่อนๆ ใหญ่ๆ ก็เช่นเดียวกัน การที่ปลาไม่สามารถว่ายทวนน้ำขึ้นไปได้ หรือไม่สามารถข้ามไป เหนือเขื่อนได้ การวางไข่ก็ดี การผสมพันธุ์ ก็ดี ล้วนแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น ล้วนแต่เป็นต้นทุน ที่เราต้องจ่ายและต้อง เสียไป ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้ ไม่ใช่นำมาวิเคราะห์กัน เฉพาะนักวิชาการ เพียงไม่กี่คน แล้วลงมติไป ควรจะให้ความรู้ แก่ประชาชน ให้มีสิทธิมีเสียง ในการวิพากษ์วิจารณ์ และลงความเห็น ในเรื่องดังกล่าวด้วย ฉะนั้นโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาลที่มีและจะมีในอนาคต นอกจากจะคำนวณถึงต้นทุนที่เป็นตัวเลข หรือ เงินที่จะลงไป ในการจัดซื้อ จัดจ้าง แล้ว ก็ยังต้องคำนึงต้องต้นทุน ที่เราต้อง สูญเสีย ไม่ว่าสายลม แสงแดด อากาศ วิว ทิวทัศน์และการสูญเสีย โอกาส ในการที่จะทำสิ่งอื่น แทนโครงการดังกล่าวนั้น และผลกระทบ ในระยะยาว อย่าคิดกำไรแต่ตัวเลข ปัญหา ที่ติดตามมา หรือการเปลี่ยนแปลงอะไร ไปจากเดิมๆ ต้องนำมาคิดคำนวณเป็นต้นทุนทั้งสิ้น

อย่าให้ต่างชาติมองว่าการลงทุนในประเทศไทย แรงงานถูก ที่ดินราคาถูก น้ำมีพอเพียง ขยะและมลพิษไม่ต้อง กำจัด การขนส่ง สะดวกและถูก สาธารณูปโภค รัฐเอาภาษีคนไทย ไปทำรอไว้ให้พร้อม รอแต่เอาเงินมาเท่านั้น แล้วเรา จะร้องเพลงชาติไทย อย่างภาคภูมิใจได้อย่างไร

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ -