"ทาน"ที่สูงขึ้นไปกว่า"วัตถุทาน" จะเห็นได้ว่า ธรรม ๒ อย่าง คือ "การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว" กับ "การไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก" นั้นแตกต่างกัน สถานะ ก็คนละสถานะ คุณสมบัติก็คนละอย่าง คุณสมบัติหนึ่ง"มี" ส่วนอีกคุณสมบัติหนึ่งนั้น"ไม่มี" แต่ที่สุดแห่งที่สุด ท่านก็ต้อง มีธรรมทั้ง ๒ อย่างนี้อยู่ในตนควบคู่กันไปเหมือนเหรียญสองด้าน แยกกันไม่ได้ จนกว่าจะ"ปรินิพพาน" กล่าวคือ ต้องทั้ง"มีจิตผ่องแผ้วที่เป็นอรหัตตานั้น"อาศัยอยู่ในชีวิตจริงไปตลอดกาลนาน และทั้ง"ไม่ถือว่า (น มัญญติ) หรือ ไม่สำคัญว่า (น มัญญติ) ความเป็นอรหัตตานั้นเป็นเรา(มม)"อยู่เสมอๆ แม้ท่านจะ"อนุปาทิเสสนิพพาน" (ตายชนิดร่างกาย แตกตาย = กายัสสะ เภทา) ไปทุกชาติ แต่ถ้าท่านยังไม่ดับภพจบชาติเป็น "ปรินิพพาน" สุดท้าย "ธรรม" ทั้ง ๒ อย่างนี้ก็จะมี ในตัวท่าน อยู่ตลอดชนิดที่ "เป็นเช่นนั้นเอง" หรือเป็น "ตถตา" กันทีเดียว จะเห็นความแตกต่างของ"ธรรม ๒ อย่าง"นั้นได้ว่า เป็น "ธรรมในธรรม" ที่มีอะไร "ต่างกัน" อย่างมีนัยสำคัญอันลึกซึ้งยิ่ง สุขุมยิ่ง ละเอียดยิ่ง ซับซ้อนยิ่ง และทับซ้อนสนิทเนียนยิ่ง อย่างไร? ไฉน? กล่าวคือ ธรรมหรือสัจธรรมที่มีสภาพ "จิตของตนผ่องแผ้ว" ก็มีนัยอย่างหนึ่ง มันเป็นอย่างไรไฉนผู้บรรลุเอง มีเอง จึงจะรู้จัก รู้แจ้ง ของจริงที่เป็นภาวะจริงในตนเองได้(ปัจจัตตัง) ส่วนธรรมที่มีสภาพ "ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก" นั้นก็มีนัย อีกอย่างหนึ่ง เป็นการปล่อยวาง "จิตที่ผ่องแผ้วแล้วของตน" อีกที ซึ่งเป็นขั้นท้ายสุดแห่ง"กัมมปฏิสรณะ"ของอาริยธรรม ซึ่งเป็นสภาพที่ต่างจากคนผู้ "ไม่ใช่อาริยบุคคล" เขาปล่อยวาง เพราะ"จิต" ที่ผู้ยังไม่ใช่อาริยบุคคลเขา "ปล่อยวาง หรือ ไม่สำคัญ มั่นหมายว่า "มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา" นั้น เขา "ปล่อยวาง จิตที่ยังไม่ผ่องแผ้ว" เนื่องจากเขา "ยังไม่มีจิตที่ได้ ละกิเลส จนผ่องแผ้วแล้ว" เขาจึงทำได้แค่ "ปล่อยวางจิตที่ยังไม่ผ่องแผ้ว" ไปชั่วคราว เท่านั้น ส่วนอาริยบุคคลนั้น มี"จิตที่ผ่องแผ้วแล้ว" เขาจึง"ปล่อยวางจิตที่ผ่องแผ้ว"นั้น ซึ่งมันเป็นการ "ปล่อยวางหรือไม่สำคัญ มั่นหมาย ว่าเป็นเรา" ในขั้น "ปฏินิสสัคคะ" ไม่ใช่ขั้นต้นหรือขั้นกลางเท่านั้น แต่เป็น "ขั้นปลายสุด" แห่ง" กัมมปฏิสรณะ" ซึ่งเป็นได้มีได้ เฉพาะ อาริยบุคคลเท่านั้น คนสามัญหรือปุถุชน "ไม่มีจิต" ชนิดนี้ให้ทำ พยายามเข้าใจให้ชัดนะว่า ปุถุชนผู้ได้ศึกษาธรรมะและซาบซึ้งในภาษาที่ว่า "ผู้ปล่อยวางได้ ก็คือ ผู้หมดความยึดมั่นถือมั่น" เพราะรู้ในคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า "สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ" ได้แจ่มแจ้งยิ่งแล้วว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควร ยึดมั่นถือมั่น" ปุถุชนผู้นั้นก็ฝึก ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือฝึกปล่อยวางในใจเช่นกัน กล่าวคือ ผู้นั้นก็ทำตามที่เขาสามาราถ ทำอาการในใจของตนให้"ไม่ยึดมั่นถือมั่น"ในขณะนั้นได้สำเร็จ หรือทำใจให้เกิด "การปล่อยวาง" อะไรก็ตามที่มีในใจขณะนั้น ให้หลุดออกไปจากใจ ไม่มีอาการยึดติดสิ่งนั้นสภาพนั้นๆได้จริง มันก็จะเกิด อาการ ไม่มีทุกข์ขณะนั้น ไม่มีความอึดอัดขัดเคืองเพราะมันโล่งโปร่งไปจริงๆในขณะนั้น ปุถุชนผู้ปล่อยวางได้ขณะนั้นในสภาพแบบนี้ ก็จะรู้สึกว่ามันมี"ผล" เพราะอาการในใจมันดี มันโล่ง สบายใจในทันทีได้ เหมือนกัน นี่..ก็เป็นจริงอย่างหนึ่ง เป็น การปฏิบัติมี "ผลทางสมถะ" ด้วยคาถาที่ว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" ซึ่งเป็นแค่ การปฏิบัติ "สมถะลืมตา" ด้วยคาถาหรือปรัชญา ที่ตนยึดถืออื่นๆ ยังไม่ใช่"ผล"อันได้จากการปฏิบัติเข้าขั้น"ปรมัตถธรรม"ที่ผู้ปฏิบัติแบบพุทธอย่างสัมมาทิฏฐิ กระทั่งมี "วิชชา ๘" รู้จักรู้แจ้ง รู้จริง "จิต-เจตสิก-รูป-กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน-สักกายะ-อัตตา-อาสวะ-นิพพาน" ด้วยการปฏิบัติตามทฤษฎี "มรรคมีองค์ ๘" หรือ "ผล" ที่เกิดจากการปฏิบัติ "จรณะ ๑๕" หรือ "โพธิปักขิยธรรม ๓๗" ฯลฯ เพราะไม่มี"วิปัสสนาญาณ" ซึ่งเป็น"วิชชา ข้อที่ ๑" ข้อต้นของ"วิชชา ๘" ตาม'อธิปัญญาสิกขา'ของพุทธ ดังนั้น เมื่อไม่มี 'อธิปัญญาสิกขา' อันเป็น "ญาณทัสสนะวิเศษ" ก็ไม่สามารถมี"วิชชา"ข้ออื่นๆต่อไปได้ จึงอย่าหลงผิดเป็นอันขาด ว่า ที่ทำได้แค่นั้น คือ "จิตของตนผ่องแผ้วสัมบูรณ์" เหมือนกัน-อันเดียวกันกับ "จิตของ อาริยบุคคล ชั้นสูง ที่ท่านปล่อยวาง หรือไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆในโลก" ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว [มีต่อฉบับหน้า] - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๖ มกราคม ๒๕๔๙ - |