ดีจริงไม่มีสิ้นหวัง (วัฏฏกชาดก)

ไฟล้อมหมดใครพึ่งพิง
ดีจริงไม่มีสิ้นหวัง
อาศัยศีลสัตย์เป็นพลัง
ไฟยังยอมดับด้วยบารมี

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปในมคธชนบททั้งหลาย ขณะมาถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง ปรากฏไฟป่าเกิดอย่างรุนแรง ลมกระพือไฟให้ลุกลามไปทั่วบริเวณนั้น มีทั้งควันมีทั้งเปลวไฟฮือโหมล้อมหน้าล้อมหลังไว้ แล้วเผาไหม้เข้าใกล้มาเรื่อยๆ

เหล่าภิกษุที่ติดตามพระศาสดานั้น บางรูปก็ตื่นตกใจรีบกล่าวเสียงดังว่า

"พวกเราต้องรีบตัดทางไฟเสียก่อน โดยจุดไฟเผารอบบริเวณนี้ เพราะที่ใดไฟไหม้แล้วก็จะไม่มีเชื้อให้ไหม้อีก"

แล้วจึงนำหินเหล็กไฟออกมา เพื่อจะจุดไฟ แต่ภิกษุบางรูปรีบกล่าวบ้างว่า

"ท่านทั้งหลาย พวกท่านกำลังจะทำอะไร พวกท่านไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเลิศทั้งในโลกมนุษย์และโลกเทวดาเชียวหรือ เสมือนดั่งคนไม่เห็นดวงจันทร์ลอยเด่นบนท้องฟ้า ไม่เห็นรัศมีดวงอาทิตย์ขึ้นที่ทิศตะวันออก ไม่เห็นทะเลกว้างทั้งที่ยืนอยู่ริมทะเล ไม่เห็นภูเขาใหญ่ทั้งที่ยืนพิงภูเขาอยู่ พวกท่านไม่รู้จักพระกำลังของพระพุทธเจ้าเสียแล้ว มาเถิด พวกเราเข้าใกล้ๆ พระศาสดาเอาไว้"

ภิกษุทั้งหมดจึงรวมตัวกันอยู่ใกล้พระศาสดา ครั้นไฟป่าไหม้ลุกลามเข้ามาส่งเสียงดังน่ากลัว แต่พอมาถึงบริเวณที่พระศาสดาประทับยืนอยู่ ห่างประมาณ ๑๖ กรีส (๒๕๐ ม.) ไฟก็มอดดับไป ราวกับคบไฟที่โดนจุ่มลงในน้ำ ฉะนั้น ไม่อาจที่จะลุกลามเข้ามาได้มากกว่านั้น"

ด้วยเหตุนี้ เหล่าภิกษุพากันสรรเสริญคุณของพระศาสดา

"น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ในอานุภาพพระบารมี (คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด) ของพระองค์ แม้แต่ไฟที่ไม่มีจิตใจ ก็ยังไม่อาจ ลุกไหม้ มาถึงที่ประทับยืนอยู่นี้ได้ ไฟย่อมดับไป ดุจดั่งไฟถูกน้ำสาดซัด ฉะนั้น"

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้วตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ไฟไหม้มาถึงที่ตรงนี้แล้วดับไป มิใช่บารมีของเราในบัดนี้เท่านั้น แต่เป็นบารมีแห่งสัจจะ(ความจริง) อันมีมาในกาลก่อนของเราแล้ว"

จากนั้นทรงประทับนั่งลงที่ผ้าสังฆาฏิ(ผ้าที่พระใช้ทาบบนจีวร) ๔ ชั้น ซึ่งพระอานนท์ปูลาดให้ เมื่อทรงนั่งขัดสมาธิเรียบร้อยแล้ว เหล่าภิกษุพากันถวายบังคม นั่งแวดล้อมอยู่ ทูลอ้อนวอนต่อพระศาสดาว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฟไหม้แล้วดับในปัจจุบันนี้ ปรากฏแก่สายตาของข้าพระองค์ทั้งหลายแล้ว แต่พระบารมีในอดีตของพระองค์นั้นยังลี้ลับอยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสเล่าเรื่องในอดีตนั้นด้วยเถิด"

พระศาสดาจึงทรงเล่าเรื่องราวนั้น
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _

ในอดีตกาล ณ ป่าไม้แห่งหนึ่ง มีลูกนกคุ่มตัวหนึ่ง ถึงเวลาที่จะได้ลืมตาดูโลก จึงเจาะทำลายกระเปาะไข่ออกมา ลูกนก มีตัวโตทีเดียว ประมาณเท่าดุมเกวียนบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่

ลูกนกนอนอยู่แต่ในรัง ยังไม่มีกำลังที่จะเหยียดปีกออกโบยบิน หรือแม้แต่จะยกเท้าก้าวเดินออกจากรัง ได้แต่รออาหาร ที่พ่อแม่นก เอามาป้อนเลี้ยงดู ด้วยจะงอยปากเท่านั้น

เวลานั้นเป็นช่วงฤดูที่เกิดไฟป่าอยู่เสมอทุกปี

แล้วก็เกิดไฟป่าขึ้น ณ ป่าไม้นั้น ไฟลุกลามส่งเสียงดัง ควันและความร้อนกระจายไปตามทิศทางลม เหล่าสัตว์ป่าพากันหนีเอาชีวิตรอด หมู่นกก็บินออกจากรังกันหมด พ่อ แม่ของลูกนกคุ่มตัวนั้นก็ตกใจกลัวต่อความตาย จึงทิ้งลูกน้อยแล้วบินหนีไป

ลูกนกคุ่มอยู่เพียงลำพังตัวเดียว ได้แต่ชะเง้อคอมองดูไฟป่าที่กำลังลุกไหม้เข้ามาทุกทีๆ แล้วคิดในใจว่า
"นี่ถ้าเราปีกแข็งแรงบินได้ ก็จะโผบินไปที่ปลอดภัยเช่นกัน หรือถ้าขาแข็งแรงพอ ก็จะก้าวเท้าไปยังที่อื่นๆ เพราะตอนนี้พ่อแม่ทิ้งเราไว้ผู้เดียว ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราจะทำอย่างไรดีหนอ"

ขณะขบคิดอยู่นั้น ไฟก็ยิ่งโหมเข้าใกล้กว่าเดิม ลูกนกคุ่มจึงตัดสินใจว่า
"คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก ความสัตย์ ความจริงใจ และความเอ็นดูก็มีอยู่ในโลก ด้วยความจริง(สัจจะ) เหล่านี้ เราจะทำ สัจกิริยา (การอธิษฐานตั้งความสัตย์) อันยอดเยี่ยม จะพิจารณากำลังแห่งธรรม ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในปางก่อน อาศัย กำลังแห่งสัจจะ ตั้งจิตกระทำสัจกิริยา"

คิดดังนั้นแล้ว ก็ตั้งจิตกำหนดใจด้วยสัจธรรมของตน ประกาศก้องใส่ไฟที่กำลังลุกไหม้เข้ามาว่า
"ปีกของเรามีอยู่ แต่บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเราก็มีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ พ่อแม่ของเราออกไปหาอาหาร ดูก่อนไฟ ท่านจงถอย กลับไปเสีย"

สิ้นเสียงกล่าวคำสัตยาธิษฐาน(การตั้งใจเอา ความจริงเป็นใหญ่) นั้น ไฟก็มอดดับไปห่างจากลูกนกคุ่มประมาณ ๑๖ กรีส (๒๕๐ ม.) แล้วไฟที่เหลือก็เผาไหม้ไปยังที่อื่นในป่านั้น
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _

พระศาสดาตรัสชาดกนี้แล้ว ทรงสรุปว่า
"เมื่อเรากล่าวคำสัตย์ กระทำสัจพลังให้ปรากฏ เปลวไฟก็ดับไป เพราะสิ่งใดๆ จะเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมี ของเรา ตั้งแต่ครั้งที่เกิดเป็นลูกนกคุ่มตัวนั้นนั่นเอง"

แล้วทรงประกาศสัจจะทั้งหลายให้สงฆ์เหล่านั้นรับฟัง พอตรัสสัจจะจบแล้ว ภิกษุบางพวกก็ได้เป็นพระโสดาบัน บางก็ได้เป็น พระสกทาคามี หรือ อนาคามี หรือแม้แต่บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็มี

(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๓๕ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๕ หน้า ๓๔๑)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๖ มกราคม ๒๕๔๙ -