- เสฏฐชน - นี่สิ รวยจริง ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเช้า ผู้เขียนยกคำกล่าวของอาริยปราชญ์มาเพื่อย้ำยืนยันว่า ในเทศกาลกินเจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ วันอาทิตย์ที่ ๒ ตุลาคม แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ถึงวันอังคารที่ ๑๑ ต.ค. ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น เป็น "เทศกาลเมตตาจิต" ที่คนทั้งหลายพึงแผ่ความปราโมทย์ยินดี เพราะนอกจากจะอยู่ในระหว่างเข้าพรรษาแล้ว ยังเป็นช่วงของการทำความดีที่กว้างขึ้น ไม่จำเพาะเพียงในวัดวาอารามเท่านั้น แม้ตลาด บ้านช่อง สถานธรรม มูลนิธิ สมาคม โรงพระ ฯลฯ ต่างๆ ก็ร่วมกันสามัคคีทำสิ่งที่ดีงามได้ เริ่มตั้งแต่โรงทาน โรงบุญ แจกทั้งเสื้อผ้า อาหาร สิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่ใช้ประจำวัน ตามแต่กำลังทรัพย์กำลังกาย ตั้งแต่ปัจเจกชนที่มีมาก เหลือล้น ไปจนกระทั่ง การร่วมเงินลงขัน ลงแรง เพื่อทำทานตลอด ๙ วันในเทศกาลนี้ แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นหากเทียบกับ ๓๖๕ วัน ก็ยังดี ที่ยังมีช่วงสลัดความเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัวลงบ้าง ด้วยการให้วัตถุข้าวของ และแรงงาน ตามโรงเจ โรงพระ ธรรมสถานต่างๆ ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นธูปควันเทียน คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ยังคงประเพณีนี้อยู่ ถึงแม้ จะน้อยนิด เหลือเกิน เมื่อเทียบเท่า ๖๐ ล้านคนทั่วประเทศ ประดุจน้ำใสหยดหนึ่งในห้วงน้ำเสีย เมื่อครั้งผู้เขียนยังเป็นเด็ก เจสมัยโน้นจะเปิดฟรีตลอด ๒๔ ชั่วโมง คนที่มาทำอาหารมักเป็นผู้ชายตัวใหญ่ๆ แข็งแรง อุทิศ แรงงาน มาผลัดเปลี่ยนตลอดวัน ข้าวที่หุงใส่เข่งไม้ไผ่ใหญ่ๆ บุด้วยใบตองเรียงเป็นแถว ร้อนกรุ่น น้ำแกงวุ้นเส้นร้อน ไส่โอ่ง มังกร รายเรียงเต็มไปหมด ถั่วลิสงทอดใหม่ๆ ใส่กะละมังเคลือบ ละลานตา ผัดหมี่เหลืองน่ากินใส่ถาดใหญ่ๆ จนผู้หญิง ยกแทบไม่ไหว ผู้คนแต่งชุดขาวทั่วทั้งจังหวัด ร้านอาหารเจ มีเฉพาะรอบๆ โรงเจ เท่านั้น ในตลาดจะไม่มี เหมือนทุกวันนี้ และแม้คนขาย ก็ต้องกินเจด้วย ทุนนี้ได้มาจากไหน ๙ วันแห่งมหาทานอันยิ่งใหญ่ ไม่น่าจะทำกันได้ แรงงานล่ะมาจากไหน? ทุนก็มาจากเหล่าเถ้าแก่ เถ้าแก่เนี้ย ร้านค้า บริษัทและประชาชนที่ศรัทธาร่วมบริจาค มากน้อยตามกำลังเงิน และกำลังใจ แน่นอนว่าเถ้าแก่ เถ้าแก่เนี้ยจะต้องทำนำหน้าก่อน ในฐานะเจ้าของประเพณี จะให้เงินก้อน หรือข้าวของก็แล้วแต่ เช่น ร้านค้า ขายของแห้ง ก็จะบริจาคทั้งวุ้นเส้น ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ถั่ว ของปรุงเจทั้งหลายแหล่เป็นกระสอบ เป็นถัง เป็นถุง เป็นกล่อง เป็นโหล ฯลฯ คนไหนไม่มีเงินก็บริจาคแรง ไปขึ้นชื่อเพื่อจัดคิวเป็นพ่อครัวแม่ครัว ส่วนคนที่กิน ถ้ากินครบ ๙ วัน ก็จะไปขึ้นชื่อไว้ แล้วอาจจะบริจาคช่วยเป็นค่าขึ้นทะเบียนคนละ ๕๐ บาทเท่านั้น แต่กินได้ ตลอดวัน จะเอากลับบ้านก็ได้ จะกินในโรงเจโดยตรงก็ได้ อาหารจะทำอยู่ตลอดวันแม้กลางคืน เพราะต้องเลี้ยงพวกงิ้ว ลิเก หนังตะลุง ที่มาแสดงในบริเวณศาลเจ้าอีก ในตลาด ในเมือง ใครไม่กินเจในเทศกาลนี้ ก็จะเหงาไปเลย เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความอิ่มอกอิ่มใจในการร่วมบุญ บางคน อดอาหารเนื้อสัตว์ไม่ได้ตลอด ก็อาจจะกินวันสองวัน จะกินวันใดมื้อใดก็เข้าไปกินที่โรงเจได้ทุกเมื่อ หรือ พลอยกิน กับคนที่บ้าน ที่ขึ้นทะเบียนกินตลอด ๙ วัน แล้วผูกปิ่นโต รับมากินที่บ้านก็ได้ เมื่อมีลุยไฟในวันสุดท้าย ก็มีผู้ใจถึงร่วมลุยไฟกับเจ้าที่เข้าทรงด้วย โดยเดินตามเจ้าหน้าเซ่อไปอย่างนั้นแหละ ทำให้ผู้เขียน ออกงงๆ เหมือนกัน ถามเขาว่าไม่ร้อนหรือ เขาบอกว่าไม่รู้สึกอะไร ใจถึงจริงๆ! และไม่เคยได้ยินว่าใครได้รับ บาดเจ็บ ก็เพราะ แรงศรัทธา ที่เข้าถึงจริงนั่นเอง เจ้าทรงก็จะออกปัดจัญไรตามบ้านตลอดทั้งในเมือง เรียกภาษาพื้นเมืองสมัยนั้นว่า "พระออกเที่ยว" จะมีเด็กหญิงพรหมจรรย์ ถือธง ถือกระเช้าดอกไม้แห้งเป็นขบวนยาวเหยียด ก็ลูกๆ หลานๆ ของคนในตลาดนั่นแหละ และผู้ชาย ก็จะอาสาหามเจ้า ที่เข้าทรง หรือป้ายชื่อเจ้า หรือรูปเคารพเจ้า จุดประทัดตลอดทาง พร้อมเครื่องเสียง ดนตรีจีนล่อโก๊ะ ดังสนั่น ทุกบ้าน จะตั้ง โต๊ะบูชา พร้อมผลไม้ เจ้าของบ้านพร้อมกับสมาชิกทุกคน ในครอบครัว จะมาคอยรับเจ้าเพื่อรับพร เจ้าในร่างทรง จะแวะ ทุกบ้าน เอาข้าวสารซัดให้ (ปัดเสนียด ปัดเคราะห์ร้ายต่างๆ ให้หมดไป) พร้อมกับพรมน้ำมนต์ไปด้วย หรือไม่ก็เอามีดดาบ ในมือตัดขนม ผ่าผลไม้ ที่ตั้งโต๊ะไว้พร้อมเครื่องบูชา แบ่งแจกให้สมาชิกทุกคนกิน เชื่อกันว่าจะเป็นยารักษา โรคภัยไข้เจ็บ ได้ด้วย ในปัจจุบัน ตามโรงเจแม้จะจัดพิธีดังกล่าว ก็กร่อยลงไปมากกว่าแต่ก่อน แรงงานก็ต้องจ้างในบางแห่ง อาหารก็ต้องซื้อ หรือ อาจต้อง จ่ายเงินด้วยผสมกับการยังคงแจกฟรีเหมือนสมัยก่อนอยู่ด้วย และที่แตกต่างกันมากกว่าสมัยก่อนก็คือ ตามตลาด ต่างๆ จะมีร้านขายของเจมาก แทบจะทั้งตลาด ตามโรงแรมใหญ่ๆภัตตาคารดังๆ ร้านอาหารรายบุคคล รถเข็น แผงลอย ริมทาง อาหารเจสารพัดอย่างจนคนขายร้องว่าคนกินน้อย ก็เพราะมีคนขายมากขึ้นนั่นเอง เพราะแม้ไม่ใช่พ่อค้าแม่ขายอาชีพ ก็ยังอุตส่าห์เปลี่ยนอาชีพชั่วคราวใน ๙ วันนี้ คือทำอาหารเจขาย ข้าราชการ หรือลูกจ้าง ที่พ้นจากอาชีพเดิม ก็หาอาชีพเสริมเฉพาะหน้าชั่วคราวในเทศกาลเจนี่แหละ เพื่อเก็บเงินก้อน อย่างน้อยๆ จานละ ๒๐ บาท ขึ้นไป ก็ไม่น้อยแล้ว ข้อมูลได้รับมาว่า ๙ วันบางคนได้เงินเป็นแสน เก็บไว้ใช้ตลอดปีสบายสบาย มิหนำซ้ำ ทางภัตตาคาร ใหญ่ๆ โรงแรมดังๆ ก็จะลงโฆษณาตามหนังสือพิมพ์และหน้าที่ทำธุรกิจของตน ว่ามีอาหารเจ ชุดละ ๒๐๐ บาท บ้าง ๓๐๐ บาท บ้าง เพื่อต้อนรับเทศกาลกินเจ รองรับคนมีเงินทั้งหลาย ที่ยังกินเอาหน้า เอาตาอยู่ เรียกว่าการตลาดของผู้ประกอบการระดับห้าดาวเหล่านี้ไม่เลวเลย ซึ่งก็ทำให้รายได้ไม่ตกในเทศกาลนี้ด้วย มีโรงทานแห่งหนึ่งที่อ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาครที่น่าเล่าสู่กันฟัง เพราะผู้ทำโรงทานแห่งนี้เป็นศรัทธาชนที่มีระดับ เนื่องจาก ผู้ทำโรงทานเอง เป็นนักมังสวิรัติมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งมีปกติทำทานเป็นธรรมดา ซึ่งหาเศรษฐีเช่นนี้ไม่ได้ง่ายเลย ในยุค ที่คน หลงใหลเงิน มัวเมาในลาภผล ที่โรง (รับประ) ทานแห่งนี้ชื่อ "บ้านมนทิรา" อยู่ใกล้ๆ กับวัดอ้อมน้อย มีจิตกุศล ที่จะให้คนรู้จัก อาหารมังสวิรัติ จึงตั้งเต็นท์หน้กำแพงบ้าน ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางพอ เมื่อผนวกกับเกาะสนามหญ้า มีต้นไม้ ร่มรื่นอยู่ด้วย เปิดให้คนมากินอาหารเจตลอด ๙ วันในเทศกาล เหมือนมีงานเลี้ยงใหญ่ เพราะตั้งโต๊ะปูผ้าสีแดง มีเครื่องเคียง เติมรส ไว้บนโต๊ะพร้อม จาน ช้อน แก้ว ล้วนเป็นภาชนะที่สะอาด มีราคาอาหารวันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า ๔๐-๕๐ อย่าง พร้อมทั้ง เครื่องดื่ม นานาชนิด ของหวานเสริมอีก แล้วยังมีการจับสลาก ชื่อจากผู้มากินอาหาร (สุดแล้วแต่ใคร จะลงชื่อไว้) เพื่อแจกจักรยาน วันละ ๑ คัน รวม ๙ วัน จักรยาน ๑๒ คัน รวมจักรยานเด็ก อีก ๓ คันด้วย อาเสี่ยเจ้าของบ้านออกมาต้อนรับแขกด้วยตัวเอง ควบคู่กับมีโฆษกคอยประกาศชวนเชิญให้คนเข้ามากินอาหาร สลับเปิด เพลงสวดจีน ไปด้วย ใครไม่แหงนมองดูป้ายผ้าผืนใหญ่ที่แขวนไว้ข้างหน้า ชวนเชิญให้คนรู้ว่า นี่คือเต็นท์แจกอาหารเจฟรี อาจคิดว่า เป็นงานเลี้ยงของคนมีเงินด้วยซ้ำ เพราะการจัดสถานที่การบริการดูดีมาก เสี่ยเจ้าของบ้านเล่าให้ฟังว่าสบายใจ ดีใจ อยากทำอย่างนี้ เพราะเป็นงานบุญ ต้องการทำให้ดีๆ ทำให้คนกินสบายใจ คนทำ ก็สบายใจด้วย ทั้งผู้ที่มาช่วยก็เต็มใจช่วย ไม่ยอมรับบริจาคใดๆ เพราะไม่ได้คิดเอา ไม่ได้คิดแลก ไม่ว่าใดทั้งสิ้น คิดแต่จะให้ ขอให้ได้ให้ แล้วสบายใจดี ทำให้ผู้เขียนอดระลึกถึงคำบอกเล่าในตำนานไม่ได้ว่า บรรดาเศรษฐีที่เป็นพุทธศาสนิกชนกาลครั้งโน้น ที่ตั้งโรงทานทั้งสี่ทิศ เพราะแม้ในสมัยนี้ก็ยังมีตัวอย่างที่ยกมานี้ให้เห็น ในรอบหนึ่งปีจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างเดิมจนคนกินรู้ก่อนแล้ว เป็นเรื่อง น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะแม้สมัยผู้เขียนยังเด็ก ก็ไม่มีเศรษฐีทำอย่างนี้ให้เห็น นอกจากเศรษฐีคนนั้นจะไปบริจาคเข้าโรงพระ บริจาคเข้าโรงเจ เท่านั้น ไม่มีเศรษฐีที่เปิดบ้านตัวเองทำโรงทานเช่นนี้ นับว่าในเทศกาลกินเจนี้ เป็นช่วงเวลาที่สังคมควรยอมรับว่าสวรรค์บนดิน คืออย่างนี้เอง ถ้าหากโรงทานเช่น "บ้านมนทิรา" จะเพิ่ม มากขึ้น จะน่ายินดีกว่าร้านอาหาร ร้านค้าขายของเจในตลาดมากขึ้นกว่านอกเทศกาลกินเจ เพราะการให้ทาน กับการรักษาศีล น่าจะควบคู่กันไป นอกจากจำนวนสัตว์จะตายน้อยลงแล้ว ความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ก็น่าจะตาย มากขึ้นด้วย โลกเดือดร้อนก็เพราะความเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัวของคนส่วนมากนั่นแหละ การไม่ยอมให้ฟรี การไม่ยอมให้เปล่า การไม่ยอม เสียเปรียบ เป็นสิ่งขัดขวางความสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการยอมเสียเปรียบการกิน ยอมเสียเปรียบการได้ ยอม เสียเปรียบโอกาส ฯลฯ ก็ตาม ภาษาที่นักธุรกิจพันล้านแสนล้านมักนำมาพูดเสมอๆ ยามที่จะสมณาคุณแก่ผู้ซื้อนานๆ ครั้งในรูปของการจับสลาก แถม แลก ว่า "คืนกำไรให้ลูกค้า" ดูจะน้อยลงไปทันทีเมื่อเทียบกับยอดขาย รายได้ที่ผู้บริหารบริษัทนั้นให้สัมภาษณ์ คาดว่าปีนี้บริษัท จะทำกำไรได้เท่านี้... คิดว่าปีนี้บริษัทจะขยายตลาด เพิ่มลูกค้าได้เท่านี้เท่านี้ ซึ่งนัยแฝงก็คือ จะได้รายได้จากการค้า มากขึ้น นั่นเอง ฉะนั้นการแถม การแลกบัตร ฯลฯ ก็คือกลไกตลาดอย่างหนึ่งในการล่อซื้อจากลูกค้า หาใช่การคืนกำไรให้ลูกค้าแต่อย่างใดไม่ เมื่อมีผู้คิดดี ทำดี เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี แม้เล็กแม้น้อยที่หาคนในระดับนี้ทำได้ยาก
ก็น่าที่จะให้กำลังใจว่านี่สิ! คนรวยจริง เพราะ ยิ่งคนมีบ้านโตจริงๆ มีทรัพย์สินมากจริงๆ มีความสวยโดยสรีรพันธุ์จริงๆ ด้วยแล้วคนเช่นนี้มาทำกิจกรรมที่เป็นบุญ เป็นทาน อย่างนี้ ก็ยิ่งคือคนรวยน้ำใจที่ควรแก่การยกเป็นตัวอย่างมิใช่หรือ เพราะ "ตัวอย่างที่ดี ย่อมมีค่ากว่าคำสอน(แม้สอนดี)" เพียงสอนดี แต่ไม่ทำดีด้วย ก็ยากที่จะทำให้คนเลื่อมใสศรัทธาได้ ขออวยพรให้ทุกคนรวยอย่างนี้ทั่วถ้วนกันเทอญ - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๖ มกราคม ๒๕๔๙ - |