๖๐ ปี แห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย
- บรรยายเมื่อวันที่ ๑๖ ส.ค. ๒๕๔๗ ณ.หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตามคำเชิญของ อธิการบดี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

* ส.ศิวรักษ์


(ต่อจากฉบับที่ ๑๘๕)

ความไม่เสมอภาคทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงการเอารัดเอาเปรียบกันด้วยประการต่างๆ ย่อมเป็นเหตุ และ ปัจจัย ให้เกิดความรุนแรง ซึ่งแสดงออกทั้งทางที่ต่างชนชั้น ชนชาติ และต่างลัทธิศาสนาหรือวัฒนธรรม ประเพณี โดยที่ ทั้งหมดนี้โยงใยไปที่โครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม และโครงสร้างดังกล่าวผนึกแน่นอยู่กับระบบเศรษฐกิจโลก ที่ช่วย ให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอา

ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคม และการได้เปรียบจากฝ่ายหนึ่ง ย่อมเกิดการต่อต้านในทางต่างๆ จากอีกฝ่าย ถ้าสู้กัน ทางกฎหมายไม่ได้ ก็ต้องสู้โดยไม่ใช้กฎหมาย เพราะกฎหมายก็รับใช้แต่ชนชั้นบน ที่มีทรัพย์และมีอำนาจอยู่แล้ว

เมื่อฝ่ายหนึ่งกดขี่ข่มเหงอีกฝ่าย อีกฝ่ายย่อมโต้ตอบ ความรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทุกๆ ที สมกับพระพุทธภาษิตที่ว่า เวรย่อมระงับ ไม่ได้ ด้วยการจองเวรและยิ่งมีการก่อเวรกันยิ่งๆ ขึ้น ด้วยวิหิงสวิธีต่างๆ ระบบเศรษฐกิจของโลก ก็ต้องโยงใย ไปยัง อุตสาหกรรม การอาวุธ ยุทธปัจจัยต่างๆ ยิ่งขึ้น โดยที่บรรษัทนั้นๆ และอภิมหาอำนาจ นั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ยุทธปัจจัย ดังกล่าว ย่อมมุ่งที่ ความร่ำรวยของตน ในระยะสั้น แม้ผลได้จากยุทธปัจจัยนั้นๆ จักไม่เป็นคุณอะไรเลยก็ตาม และการลงทุน ไปในทางนี้ มีแต่การสูญเสีย เท่านั้นเอง

การหาทางออกจากวิหิงสธรรม ย่อมต้องหันมาสู่อหิงสธรรม กล่าวคือเราต้องกล้าท้าทายความคิดและวัฒนธรรม ในกระแส หลัก มนุษย์เรา ต้องเลิกพัฒนา อาวุธยุทธปัจจัย แม้จนเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ ก็ควรมีการตั้งข้อกังขากัน ยิ่งระบบ การตลาด ที่อ้างว่า เสรีด้วยแล้ว จำต้องหาทาง ทำให้โปร่งใส และหาทางวางขอบเขตที่จำกัดให้ได้

ถ้ามนุษย์เริ่มเห็นโทษของวัตถุนิยม ก็น่าจะต้องหันมาหาธรรมนิยมได้บ้างแล้วละกระมัง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เราละทิ้ง วัตถุ แต่วัตถุ ต้องเป็นบ่าว มีจิตใจเป็นนาย ใครคนใดคนหนึ่งอธิบายไว้อย่างน่ารับฟังว่า สถานการณ์ของโลกปัจจุบันนี้ เป็นยุคหลัง สมัยใหม่ ซึ่งหมายถึงการที่ความทันสมัยและกระบวนทัศน์แบบเหตุผล-อุตสาหกรรม ที่โลกนี้มีฐานอยู่นั้น มาถึง ขีดจำกัด ของตัวเอง และกำลัง กลายเป็นการทำลายล้างตัวเอง ความจริงที่ว่าอาการนี้ กระจายไปกว้างกว่าเคย และ ทรงพลัง มากกว่า ที่เคยเป็นมา ไม่ได้ขัดแย้งกับความจริงที่ว่า ความทันสมัย กำลังเสื่อมลง เนื่องจากมันไม่ได้ให้ ทางเลือก อื่นใด นอกจากความตาย ที่มันกำลัง พาเราไป

ความทันสมัยนำอุตสาหกรรมนิยม ชาตินิยมบนรัฐ การข้ามชาติแบบแข่งขัน วัตถุนิยม บริโภคนิยม ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และปัจเจกนิยมมาก และการผสานกันของปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างอันตรายต่อการมีชีวิตรอด ทั้งของมนุษย์ และของ แผ่นดินโลก อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

โลกาภิวัตน์ตามแนวทางที่ได้พัฒนามาในทศวรรษที่ผ่านมา เป็นวิสัยทัศน์ที่แคบและมองเพียงระยะสั้น บนฐานของกำไร การค้า และการตลาดเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงการทำลายล้างที่ก่อขึ้นกับมนุษย์และสังคม และยังต่อ โครงสร้าง พื้นฐานของโลก ซึ่งทุกเผ่าพันธุ์ต่างต้องพึ่งพาเพื่อการอยู่รอด พระพุทธเจ้าได้ชี้ถึงความทุกข์ในแง่มุมพื้นฐาน ที่สุด และ การวิเคราะห์ ของพระองค์ ก็ยังส่งผลอยู่ในปัจจุบัน การมีความกล้าที่จะเผชิญกับความจริง ของความทุกข์ โดยไม่พยายาม ปฏิเสธความเป็นจริงของมัน เป็นก้าวแรก สู่การปลดปล่อย

การพยายามเข้าใจการแสดงออกของทุกข์ในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยังอยู่ในประเด็นเพราะอีกแง่มุมหนึ่งของประเด็นนี้ ก็คือ การสร้าง ความกรุณา และความกรุณาจะต้องเกิดขึ้นจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องเห็น รากเหง้า และการคลี่คลาย ของปัญหา ที่เรากำลังเผชิญอยู่อย่างชัดเจน เพื่อที่จะพบยาแก้ที่เหมาะสม ในการพยายามบรรเทา ความทุกข์ ยิ่งใหญ่ ที่โลก ของเรา กำลังเผชิญอยู่ (แปลจากบทความความของ Ha Vinh Tho ซึ่งลงพิมพ์อยู่ใน Socially Engaged Spirituality หนังสือเล่มนี้ จะมีภาคไทยออกมาในเดือนพฤศจิกายนศกนี้)

จากแง่มุมของพุทธศาสนิกนั้น ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง โยงใยไปโดยตรงหรือโดยอ้อม ยังอกุศลมูลทั้งสาม หรือ รากเหง้า เค้ามูล ของความชั่วร้าย อันได้แก่โลภ โกรธ หลง

ในโลกของเราทุกวันนี้ โลภจริตแสดงออกทางทุนนิยมและบริโภคนิยม คนถูกสะกดให้เคารพนับถือเงิน และวิทยาศาสตร์ ในทางโลกๆ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอันทันสมัยต่างๆ โดยเราแทบไม่มีเวลาภาวนา เพื่อแสวงหาศักยภาพที่แท้ของเรา หรือ ความวิเศษ มหัศจรรย์ของชีวิตเรา เราน่าจะตระหนักได้ว่า ต้นตอทางปรัชญาสมัยใหม่ของฝรั่งอยู่ที่ เรอเน่ เดส์คาตส์ ซึ่งกล่าวว่า cogito ergo sum ซึ่งแปลได้ว่า I think therefore I am "เพราะฉันคิดได้ จึงเป็นตัวฉัน" เราเรียนรู้กันว่า เดส์คาตส์ เป็นบิดาของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ เราเคยถามบ้างไหมว่านั่นคือต้นตอที่มาของอัตวาทุปาทาน ที่ว่ามนุษย์ ต้องยิ่งใหญ่ กว่าสรรพสัตว์ เน้นที่อัตตนิยมและปัจเจกนิยม ตอกย้ำ ที่ตัวกู ของกู แล้วก็แบ่งเป็นทวิภาค คือมีกู แล้วก็ต้องมีมึง ความต่อเนื่องกัน ของสรรพสัตว์ ในทางอิทัปปัจจยตา ไม่ได้เข้ามาสู่ญาณของพวก ทาสปัญญาฝรั่งเอาเลย

จากเดส์คาตส์ I think therefore I am นั้นแล ที่บัดนี้อาจเปลี่ยนวลีนี้ไปเป็น I buy therefore I am ซึ่งก็คือหัวใจของ บริโภค นิยม เพราะที่เรามาศึกษาหาความรู้กันก็เพื่อจะมีงานทำ เพื่อจะได้มีเงิน และมีไว้เพื่อซื้อ เพื่อเสพ ตามที่บริษัท โฆษณา สินค้า ต่างๆ ใช้สื่อกระแสหลักมอมเมาเรา ถ้าเราไม่มีอำนาจในการซื้อ เราก็หมดความหมายของความเป็นคน

เห็นกันบ้างไหมว่านี่คือมิจฉาทิฏฐิ และเป็นที่มาของความรุนแรง หรือวิหิงสธรรม ถ้าจะเสริมสร้างให้เกิดสันติภาพ ศาสนา พุทธ เสนอแนะเป็นภาษาอังกฤษว่า I breathe therefore I am.

การเป็นคนของเราไม่ได้อยู่ที่ความคิด และความคิดอาจช่วยให้คนฉลาดขึ้น แต่ไม่อาจช่วยให้เราเป็นคนดีได้ และถึงเรา จะไม่คิด เราก็เป็นคนได้ แต่ถ้าเราไม่หายใจสิ เราตายสนิท

เราหายใจตลอดเวลา ไม่มีเวลาหยุด แต่แล้วเรากลับไม่ให้ความสนใจกับการหายใจ เราหายใจเข้าครั้งแรก เมื่อเราเริ่มปฏิสนธิ ในครรภ์ มารดา และเราหายใจออกครั้งสุดท้าย เมื่อเราละร่างกายไป แต่เมื่อเรามารับการศึกษาอย่างฝรั่ง จนจิตสิกขา ปลาสนาการ ไปแล้ว เราไม่ให้ความสำคัญกับลมหายใจเอาเลย เราหายใจเอาความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ความแค้น ความโลภ ความร่าน ความหลง เข้าไปอยู่เกือบตลอดเวลา

การฝึกหัดกับลมหายใจ เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญของพุทธศาสนา เรียกว่าอานาปานสติ
หายใจเข้ายาว ให้รู้ว่าหายใจเข้ายาว
หายใจออกยาว ให้รู้ว่าหายใจออกยาว
หายใจเข้าสั้น ให้รู้ว่าหายใจเข้าสั้น
หายใจออกสั้น ให้รู้ว่าหายใจออกสั้น

จากจุดเริ่มต้นง่ายๆ เช่นนี้เอง เราอาจฝึกหัด หายใจเอาความรักเข้าไปแทนที่ความโกรธ เราอาจเอาชนะความโลภ ความโกรธ และ ความหลงได้ ด้วยการเดินลมหายใจอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม

เมื่อมีสติแล้ว เราอาจฝึกลมหายใจ จนเข้าได้ถึงสมาธิ คือเข้าใจรหัสยนัยของชีวิต ว่าชีวิตนี้มหัศจรรย์ยิ่งกว่าการเป็น ยนตรกรรม ทางร่างกายดังที่ฝรั่งสะกดเรามาโดยวิทยาศาสตร์วัตถุนิยม เราอาจเข้าใจได้ถึงสภาวะก่อนเกิด และหลังจาก ที่ตาย ไปแล้วก็ได้ อย่างน้อยเราก็จะเข้าใจว่าชีวิตเรานี้ ไม่ควรเป็นไปเพื่อความยิ่งใหญ่ ของตัวเรา หรือการไต่เต้าไปตามบันได ของสังคม ซึ่งมีโครงสร้างอย่างรุนแรงและอยุติธรรม เราย่อมแลเห็นสภาพของผู้ยากไร้ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบว่า เขาก็สำคัญ ไม่น้อยกว่าเรา เราจะเห็นว่าสภาพทางธรรมชาติที่ถูกทำลายไปเรื่อยๆ นั้น เป็นอนันตริยกรรม ที่เราควรมีส่วนร่วมป้องกัน โดย แสวงหากัลยาณมิตร มาร่วมงานกันด้วยความรักและความเข้าใจ โดยฝึกปรือไว้ไม่ให้เกลียด ผู้กดขี่เราด้วย หากพยายาม ทำลายโครงสร้าง ทางสังคม อันอยุติธรรม และรุนแรง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๖ มกราคม ๒๕๔๙ -