ต่อจากฉบับที่ ๑๘๕ บทที่ ๖ ๖.๒ แบบชีวิตทางศาสนา การที่จะมีสติข่มใจไม่ให้เผอเรอ หรือไม่ให้ห่างใจจากสัจจะที่ตั้งไว้เพื่อดำรงความมุ่งหมายอย่างต่อเนื่องนั้นอันที่จริงไม่ใช่เรื่องง่าย ศาสนาต่างๆ จึงกำหนด วัฒนธรรม หรือแบบชีวิตทางศาสนาที่จะช่วยเอื้ออำนวยการดำรงความมุ่งหมายดังกล่าวให้ง่ายขึ้น โดยกำหนดให้มี วันสำคัญ ๑ วันในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้ศาสนิกของศาสนานั้นๆ ได้มีโอกาสซักซ้อม ความตั้งใจ ที่จะประพฤติตน ตามพันธะทาง จริยธรรม ของศาสนาดังกล่าว เช่น ในพุทธศาสนาจะกำหนดให้มีวันพระทุก ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ สำหรับเป็นวันถืออุโบสถศีลของชาวพุทธ จะได้เตือนสติ ไม่ให้เหินห่าง จากศาสนา (เดือนหนึ่งๆ มีวันพระ ๔ ครั้ง ซึ่งก็คือ ในแต่ละสัปดาห์ จะมีวันพระอยู่ ๑ วัน) สำหรับ ศาสนา คริสต์ จะถือเอาทุกวันอาทิตย์เป็นวันสำคัญ ที่ให้คริสต์ศาสนิกชน ไปโบสถ์ ขณะที่ศาสนาอิสลาม จะถือเอา ทุกวันศุกร์ เป็นวัน สำคัญ ซึ่งมีการทำละหมาดร่วมกัน ที่มัสยิด เป็นต้น ถ้าเป็นศาสนิกที่เคร่งครัด ก็จะมีแบบชีวิตทางศาสนาที่ช่วยเตือนสติไม่ให้เผลอใจในแต่ละวันถี่ขึ้น อาทิ ชาวพุทธจะมีประเพณี สวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็นทุกวัน สำหรับชาวคริสต์ ก็จะมีการสวดมนต์ ขอบคุณพระเจ้า วันละหลายครั้ง รวมทั้งสวด ขอบคุณ พระเจ้า ที่ทรงประทานอาหารแต่ละมื้อให้ ส่วนพี่น้องชาวมุสลิม ก็มีประเพณี ในการทำละหมาด วันละหลายเวลา ฯลฯ แบบชีวิตทางศาสนาที่กำหนดจังหวะเวลาของพิธีกรรมต่างๆ โดยมีความถี่ที่เหมาะสมในรอบแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน หรือ แต่ละปี จะมีอานิสงส์ ต่อการช่วยเตือนสติ และยึดโยงให้ศาสนิก ดำรงความมุ่งหมาย ที่จะประพฤติ ปฏิบัติตน อยู่ในหลักศาสนธรรม อย่างต่อเนื่อง ยัญพิธีหรือพิธีกรรมในทางศาสนาเหล่านี้ ถ้าได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นทุนทางสังคม ที่มีคุณค่ามหาศาล ต่อการ ช่วยยึดโยง ให้บุคคลที่ตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรมนั้นๆ มีสติที่จะข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ดำรงความมุ่งหมาย ที่จะประพฤติปฏิบัติ อยู่ในความสัจ ที่ตั้งใจไว้ได้ อย่างต่อเนื่องง่ายขึ้น ในขณะที่พุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย เราจึงสามารถจะนำเอาทุนทางวัฒนธรรมส่วนนี้ มาใช้ ประโยชน์ ในการพัฒนาสังคม ตามแนว พระบรมราโชวาท เรื่องคุณธรรม ๔ ประการ เช่น ในสถานศึกษาที่ตั้งใจจะนำ "วิถีพุทธ" มาใช้ในการจัดการศึกษา เมื่อออกแบบหน่วยการเรียนรู้ โดยแบ่งกลุ่มนักเรียน ให้ช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาชีวิต ของแต่ละคน ในกลุ่ม และตั้งเป็น "สัจจะ" ที่จะประพฤติปฏิบัติ "สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม" เพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ ของชีวิต ดังที่ได้กล่าวมา ในหัวข้อก่อนแล้ว ตอนเช้าของแต่ละวัน ที่เข้าแถวหน้าเสาธง ทางโรงเรียน อาจจัดให้นักเรียน มีการ สวดมนต์สั้นๆ เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย และทบทวน "สัจจะ" ที่ตนเองตั้งใจปฏิบัติ เพื่อการแก้ไข ปัญหาของชีวิตนักเรียน แต่ละคน ตามที่ตั้งใจนั้นๆ ใครเกิดวันไหน เช่น วันจันทร์ หรือวันอังคาร เป็นต้น ก็ให้ตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติ สัจจะนั้นๆ เป็นพิเศษ ในวันดังกล่าว ฯลฯ เมื่อถึงวันพระในแต่ละสัปดาห์ ก็อาจเพิ่มศาสนพิธีบางอย่าง อาทิ นิมนต์พระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาให้ศีล และให้ โอวาท เพิ่มเติม เป็นต้น เพื่อช่วยเตือนสติ ให้นักเรียน มีการข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติ อยู่ในความสัจ ความดี ที่ตั้งใจกระทำนั้นๆ อย่าท้อถอย โดยเมื่อถึงวันพระ ก็ตั้งใจทำ สิ่งที่มุ่งหมาย ดังกล่าว ให้จริงจังเข้มข้น ขึ้นเป็นพิเศษ สัปดาห์ละ ๑ วัน สำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ก็สนับสนุนให้อาศัยวัฒนธรรมของศาสนาที่นักเรียนผู้นั้นเคารพนับถือ กระตุ้นเตือนสติ ให้รู้จัก ข่มใจ ที่จะประพฤติปฏิบัติใน "สัจจะ" ที่ตนเอง ตั้งใจไว้เช่นกัน อาทิ นักเรียนที่เป็นมุสลิม ก็สนับสนุน ให้ทำละหมาด เป็นพิเศษ ในทุกวันศุกร์ เพื่อข่มใจให้ระลึกถึงความสัจ ที่ตนตั้งใจปฏิบัติ อย่างจริงจังเป็นพิเศษ ในวันนั้น เป็นต้น ถ้าเข้าใจแก่นสารของแบบชีวิตทางศาสนา ตลอดจนศาสนพิธีของศาสนาต่างๆ อย่างถูกต้องดังนี้แล้ว ก็จะเห็นถึง จุดมุ่งหมาย อันเป็นคุณค่าร่วม (share value) ที่เหมือนกัน ทำให้ความแปลกแยก (alienation) เพราะการนับถือศาสนา ที่แตกต่างกัน หมดไป และนักเรียนก็จะได้รับการปลูกฝัง ให้เข้าใจแบบชีวิต ทางศาสนา ของเพื่อนนักเรียนคนอื่น ที่นับถือ ศาสนา แตกต่างจากเรานั้นๆ ว่าเป็นเพียงความแตกต่าง ในแง่รูปแบบ แต่ไม่ได้แตกต่างกัน โดยแก่นสารเนื้อหา
การรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ "สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และไม่เป็นธรรม" ด้วยความถี่ (frequency) ที่มีระดับสูงเฉลี่ย อาจจะ แทบ ทุกชั่วโมง ทุกครึ่งชั่วโมง หรือ ทุกนาที ในแต่ละวัน และ ด้วยช่วงเวลา (duration) ที่ยาวนาน ตลอดทั้งชีวิต ย่อมมี ผลกระทบ (impact) อย่างสูง ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ของผู้คนในสังคม ให้หลงใหล ไปตามค่านิยม มอมเมาของ "สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นธรรม"นั้นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ก็ต้องมีความฉลาด ที่จะเลือกสัมผัส สัมพันธ์ คลุกคลีเกี่ยวข้อง กับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ ต่อการสร้างความเจริญ งอกงาม ของชีวิต ตลอดจนรู้จักการเลือกบริโภคสื่อหรือข้อมูลข่าวสาร ที่จะช่วยเกื้อหนุนการประพฤติปฏิบัติ "สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม" ตามสัจจะ ที่มุ่งหมายไว ด้วยความถี่ (frequency) และ ด้วยช่วงเวลา (duration) ที่มีความเหมาะสม จึงจักมีผลกระทบ (impact) เป็นภูมิคุ้มกัน ต้านภัยคุกคาม จากแรงสนาม ของกระแสค่านิยม ใน"สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นธรรม" ซึ่งจะเหนี่ยวนำเรา ไปสู่ ทิศทางแห่งความเสื่อมต่ำ จากภูมิธรรมของชีวิต ในขณะที่สภาพสังคมสิ่งแวดล้อมในอดีต ไม่มีสิ่งยั่วย้อมมอมเมาอะไรมากมายเหมือนสังคมทุกวันนี้ ศาสนาต่างๆ ยังกำหนด ความถี่ ให้มีวันสำคัญ ทางศาสนา คล้ายคลึงกัน คือสัปดาห์ละ ๑ วัน เพื่อให้เป็นวันพระ วันไปโบสถ์ หรือวันไปทำละหมาด ที่มัสยิด ดังที่ได้ตั้งข้อสังเกต ให้เห็นแล้ว แต่ภายใต้สภาพสังคมสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ซึ่งมีสิ่งยั่วย้อมมอมเมารุนแรงกว่าสมัยก่อนหลายสิบหลายร้อยเท่า ผู้คนกลับ เหินห่าง จากแบบชีวิต ทางศาสนาปีหนึ่งๆ อาจมีความถี่ ของการไปวัด ไปโบสถ์ หรือไปมัสยิด เพียงไม่กี่ครั้ง ไปแล้ว ก็ไม่ได้ ไปฟังธรรมอะไร ด้วยเหตุนี้ พลังที่จะยึดโยงเหนี่ยวนำ ให้ผู้คน มีสติข่มใจ ประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม จึงมีน้อยกว่า ในสมัยก่อนๆ มาก (อ่านต่อฉบับหน้า) - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๖ มกราคม ๒๕๔๙ - |