กติกาเมือง - ประคอง เตกฉัตร - ' ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา '


กฎหมายตราสามดวง

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ และการจลาจลอันเกิดจากการรวบรวมกลุ่มต่างๆ เพื่อความเป็นปึกแผ่นของราชอาณาจักร ในสมัย กรุงธนบุรีนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก เมื่อพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ได้สถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงทรงเห็นว่า สังคมไทยอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ทางด้านศาสนา และ ศีลธรรม อันเป็นผล สืบเนื่องมาจาก สภาวะสังคมตอนปลาย ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นช่วงสงคราม บ้านเมือง เต็มไปด้วย คนโลภ ทุจริต และเห็นแก่ตัว แม้แต่ พระภิกษุสงฆ์ ก็ประพฤติผิดศีลธรรม พระองค์จึงเห็นว่า มีความจำเป็นต้อง สังคายนาพระไตรปิฎก พร้อมๆ กับชำระกฎหมาย เพื่อควบคุมการกระทำต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง ให้อยู่ใน ทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะพระสงฆ์นั้น ได้มี พระราชกำหนดใหม่ ให้มีบทบาท ควบคุมพฤติกรรม ของพระสงฆ์ และ ประเพณี พิธีกรรม ในระบบความเชื่อ ที่ไม่เหมาะสม และ ผิดศีลธรรม ของบ้านเมือง ซึ่งมีบทบัญญัติที่น่าศึกษา เป็นอย่างยิ่ง ความว่า

"แลภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้ละพระวินัยบัญญัติเสีย มิได้ระวังตักเตือนสั่งสอนกำชับว่ากล่าวกัน ครั้นบวชแล้ว ก็มิได้ให้ศิษย์ อยู่ใน นิสัย ในหมู่ คณะสงฆ์ ครู อุประฌาอาจารย์ก่อน ละให้เที่ยวไปโดยอำเภอใจ แต่รูปหนึ่ง สองรูป สามรูป ไปตั้งซุ่มซ่อนอยู่ ทำมารยา รักษาศีล ภาวนา ทำกิริยาให้คนเลื่อมใสนับถือ สำแดงความรู้วิชา อวดอิทธิ ว่าเป็นอุตริมนุษยธรรม เป็นกลโกหก ตั้งตัวว่าผู้มีบุญ พบคนวิเลศ มีวิชามาแต่ถ้ำแต่เขา

แต่ก่อน ฆราวาสผู้จะทำทานแก่ภิกษุ โดยต่ำแต่ข้าวทัพพีหนึ่งก็มีผลปรากฏในชั่วนี้ชั่วหน้า เพราะภิกษุผู้รับทานนั้น ทรงศีล บริสุทธิ์ ฝ่ายฆราวาส ผู้จะให้ทานนั้น ก็มีปัญญา ย่อมตักเตือนมิให้เกียจคร้าน อวยทรัพย์ ตกแต่งทาน ประดิษฐ์บรรจง เป็นวัตถุปัจจัยทาน ตามพระพุทธโอวาท ตรัสสอนไว้ แลให้ผู้รับทั้งสองฝ่าย สุจริตดีจริง จึงให้ผลมาก ประจักษ์ในชั่วนี้ ชั่วหน้าสืบมา ทุกวันนี้ ภิกษุสามเณร ผู้รับทาน รักษาสิกขาบทนั้น ก็ฟั่นเฟือน มักมากโลภรับเงินทอง ของอันมิควร ด้วยกิจ พระวินัย สั่งสมทรัพย์สิ่งของ เที่ยวผสมผสาน ทำการของฆราวาส การศพ การเบญจา เป็นหมอนวด หมอยา หมอดู ใช้สอนอาษาการกระหัฐ แลให้สิ่งของต่างๆ แก่กระหัฐ เพื่อจะให้ เป็นประโยชน์ จะได้เกิดลาภเลี้ยงชีวิต ผิดธรรมมิบังควรนัก

แลภิกษุทุกวันนี้ บวชเข้ามิได้กระทำตามพระวินัย ปรนนิบัติเห็นแต่จะเลี้ยงชีวิตผิดธรรม ให้มีแต่เนื้อหนังบริบูรณ์ ประดุจ โคกระบือ มีแต่ จะบริโภคอาหาร ให้จำเริญเนื้อหนัง จะได้จำเริญสติปัญญานั้นหามิได้ เป็นภิกษุสามเณรลามก ในพระศาสนา ฝ่ายฆราวาส ก็ปราศจาก ปัญญา มิได้รู้ว่าทำทานฉะนี้ จะเกิดผลมากน้อยแก่คนหามิได้ มักพอใจทำทานแก่ภิกษุสงฆ์ อันผสมผสาน ทำการของตน จึงทำทาน บางการย่อมมักง่าย ถวายเงินทอง ของอันเป็นอะกะปิยะ มิควรแก่สมณะ ก็มีใจโลภ สะสมทรัพย์เลี้ยงชีวิต ผิดพระพุทธบัญญัติ ฉะนี้ ได้ชื่อว่า ฆราวาสหมู่นั้นให้กำลังแก่โจร อันปล้นพระศาสนา ทานอันนั้น หาผลมิได้ เชื่อว่าทำลายพระศาสนา"

กฎสงฆ์ที่ยกขึ้นมาดังกล่าวนี้มีสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ พระองค์ท่านเห็นว่าฆราวาสที่ปราศจากปัญญา ไม่รู้วิธีการทำทาน ว่าการ กระทำทานใด ได้ผลมาก ได้ผลน้อย แต่กลับไปทำทานแก่พระภิกษุแบบมักง่าย คือถวายเงินทอง อันเป็นของต้องห้าม แก่พระภิกษุ และ พระภิกษุนั้น ก็มีความโลภ สะสมทรัพย์ดังกล่าวไว้ เพื่อเลี้ยงชีวิต เป็นการผิดพุทธบัญญัติ ฆราวาสนั้น เปรียบเสมือนว่า ให้กำลัง แก่โจร อันปล้นพระศาสนา คือ ไปส่งเสริมคนชั่วคนเลว ให้ทำลาย พระพุทธศาสนา พระองค์ท่าน กล่าวว่า การทำทานเช่นนั้น หาผลมิได้ และยังเป็นผู้ร่วมทำลาย พระพุทธศาสนาด้วย ท่านยืนยันว่า การถวายข้าว เพียงหนึ่ง ทัพพี ก็มีผลถ้าพระภิกษุผู้นั้น ทรงศีล บริสุทธิ์ ท่านเน้นย้ำว่า ฆราวาส ผู้ให้ทานนั้น ต้องมีปัญญา ควรตรวจสอบ พระภิกษุ รูปใด ว่าเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ จึงได้ถวายแก่ พระภิกษุ รูปนั้น เชื่อได้ว่าการถวายข้าว เพียงหนึ่งทัพพี ก็มีผลมาก ไม่ว่าในชาตินี้ หรือชาติหน้า ท่านยังกล่าวตำหนิพระภิกษุ ไปทำ ในสิ่งที่ ไม่ถูกต้อง สะสมเงินทอง และกระทำด้วยกิจ ที่ไม่ใช่สิ่งที่พระภิกษุ ควรทำ คือไปทำในสิ่งที่เป็นของฆราวาส เช่น ไปรับจัด งานศพ การจัดทำเบญจา คือทำแท่นเป็นชั้นๆ เพื่อประดิษฐ์บุษบก เครื่องประดับประดา ตั้งตนเป็น หมอแผนโบราณ ไม่ว่าจะรักษา ด้วยยา หรือกระทำวิธีกายบำบัด หรือเป็นหมอดู กระทำตัว อย่างคฤหัสถ์ ให้ข้าวของคฤหัสถ์ เพื่อประโยชน์ ให้เกิดการเลี้ยงชีพ ที่ผิดพระธรรมวินัย

พระองค์ท่านยังตำหนิพระภิกษุที่ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ ที่บวชให้ฆราวาสแล้ว มิได้ระวังตักเตือนสั่งสอนกำชับ ไม่ให้พระ บวชใหม่ อยู่ในหมู่กลุ่ม ของตนเองก่อน ปล่อยให้เที่ยวไป ตามอำเภอใจ บางคนบวชไปทำกิริยาอาการว่า เป็นผู้มีศีลสูงบ้าง เพื่อแสดง กลบเกลื่อน ให้เห็นว่า ตนเองมีฤทธิ์ หรือเป็นผู้วิเศษ อันเป็นกลโกหก ตั้งตัวว่าเป็นผู้มีบุญบ้าง เป็นผู้มีวิชา มาแต่ถ้ำ แต่เขาแต่ป่าบ้าง ล้วนแล้วแต่ หลอกลวงประชาชน

พระราชกำหนดดังกล่าวยังได้กล่าวถึงความเชื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นโดยเฉพาะพวกที่เชื่อต่อผีสางเทวดา ท่านได้บัญญัติ ในเรื่องดังกล่าวไว้ดังนี้

"สัตว์โลกทั้งปวงทุกวันนี้ ปฏิบัติผิดจากพระตรัยสรณคม จะไปสู่อบายภูมิทั้งสี่เสียเป็นอันมาก โดยกระแสพุทธฎีกา ตรัสเทศนา ไว้ว่า พระตรัยสรณาคมนี้ เป็นยอดมงกุฎเกศ ต้นธรรมทั้งปวง ยากที่บุคคล จะรักษาพระตรัยสรณาคม ให้บริสุทธิ์ได้ ด้วยเหตุ พระตรัยสรณาคม จะอยู่เป็นมั่นคงนั้น เพราะถือพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เป็นเที่ยงแท้ จิตมิได้ผันแปร ไปถือคุณอันอื่น นอกจากนี้ ว่าประเสริฐกว่าพระรัตนตรัย หากมิได้เป็นอันขาดที่เดียวฉะนี้ พระตรัยสรณาคม จึงยังคงอยู่ แก่ผู้นั้น ทุกวันนี้สัตว์ทั้งปวง เป็นโลกีย์ ครั้นมีทุกข์ขึ้นมา น้ำจิตนั้นก็ผันแปร ไปจากพระรัตนาธิคุณ ไปถือผีสาง เทพารักษ์ต่างๆ

ที่น้ำใจดีเป็นพหูสูตนั้น ถึงจะถือพระภูมิเจ้าที่เทพารักษ์นั้น ก็ถือเอาแต่โดยจิตคิดว่าเป็นมิตรสหาย เป็นที่ป้องกันอันตราย ไม่ได้คิดว่า ประเสริฐกว่า พระตรัยสรณาคุณมิได้ แต่เพียงเท่านี้ พระตรัยสรณาคมก็ยังมิได้ขาด ที่น้ำใจพอดี ใครจะสดับ ตรับฟัง ครั้นทุกข์ บังเกิดมี เพราะกรรมของตนแต่หลังมิได้แจ้ง เพราะถือว่าตนถือว่าพระรัตนาธิคุณช่วยไม่ได้ เสียน้ำใจ ก็ละ พระรัตนาธิคุณเสีย ไปถือภูมิเทพารักษ์ ผีสางต่างๆ พอสิ้นกรรมจะพ้นทุกข์ เพราะเข้าใจว่า ภูมิเทพารักษ์ ผีสาง ที่ตนถือนั้น ว่าประเสริฐกว่า พระรัตนตรัยฉะนั้น พระตรัยสรณาคม ก็ขาด เหมือนผู้นั้น หาศีรษะมิได้ เห็นจะไปสู่จตุรบาย เป็นเที่ยงแท้ ครั้นจะให้ห้ามเสีย มิให้ถือผีสาง เทพารักษ์ ศักดิ์สิทธิ์เล่า ก็มีพระพุทธฎีกา ตรัสไว้ในสัตบริหารริยธรรม เจ็ดประการ อันให้ บ้านเมือง สมบูรณ์ขึ้นว่า ในสมเด็จพระมหา กษัตราธิราชเจ้า บำรุงเทพารักษ์ ในกรุงเทพพระมหานคร นอกกรุงเทพ พระมหานคร เป็นต้นเหตุฉะนี้ จึงมีพระราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้า สั่งว่า

แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้ข้าทูลละออง ฯ ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการเมืองทั้งปวง บรรดามีศาลเทพารักษ์ พระภูมิ เจ้าที่ พระเสื้อเมือง ทรงเมือง ให้บำรุงซ่อม ปรักหักพังนั้นให้บริบูรณ์แล แต่เครื่องกระยาบวช ผลไม้ ถั่ว งา เป็นต้น แลธูปเทียน ของบูชา ฟ้อนรำบวงสรวงพลีกรรม ถวายสิ่งซึ่ง อันควรแก่เทพารักษ์ แต่อย่านับถือยิ่งกว่า พระตรัยสรณาคม ห้ามอย่าให้ พลีกรรม ด้วยฆ่าสัตว์ ต่างๆ มี โค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ เป็นต้น บูชาจะไปสู่อบายภูมิเสีย และให้กระทำบุญให้ทาน รักษาศีล การกุศลสิ่งใดๆ จงอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ภูมิอารักษ์เทวดาทั้งปวง ให้อนุโมทนา ส่วนกุศลก็ชื่นชม ช่วยอภิบาลรักษา จะได้เป็น พยาน บอกบัญชีแก่ ท้าวจตุโลกบาล อันเที่ยวมาเอาบัญชีนั้น

ซึ่งศาลเทพารักษ์ อันเอาไม้ทำเป็นเพศบุรุษลึงค์ใหญ่น้อยๆ ต่างหญิงชายชวนกันนับถือนั้น ทรงพระกรุณา ให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ค้นดูใน พระไตรปิฎก ก็มิได้อย่าง ให้สืบถามดูอย่างทำเนียมในพระนครราชธานีต่างๆ ก็มิได้มีเยี่ยงอย่าง จึงทรง พระวิจารณ์เห็นว่า แรกเหตุนี้ จะมีมา เพราะคนพาลกักขฬะ หยาบช้า สร้างกระทำเพศอันนี้ เยาะเย้ยหญิงแม่มด อันเป็นกริยา หาความมิได้เป็นเดิม สืบมา หญิงชายเป็นผู้หาปัญญามิได้ เอาเยี่ยงอย่างนับถือสืบมา เป็นเทวดาศักดิ์สิทธิ์ และชิงชังอีก สมควรแต่กับผีสาง อันต่ำช้า สามหาว แผ้วพาลหยาบช้านั้น อันหนึ่งเป็นที่แขกเมือง นานาประเทศ ไปมาค้าขายได้เห็น จะดูหมิ่น ถิ่นแคลนกรุงเทพพระมหานคร อันกอปรด้วย เกียรติยศ จะติเตียนว่า มิควรที่จะไปนับถือ ทำนุบำรุงฉะนี้ จะเอา ความลามก อัปมงคลนี้ ไปเล่าต่อๆ กันไป ในนานาประเทศต่างๆ ก็เสื่อมเสียศาสตราคม เกียรติยศ ศักดานุภาพ กรุงเทพ มหานคร ไปห้ามอย่าให้มี เพศบุรุษลึงค์ อันลามก อัปรมงคล ไว้ในศาลเทพารักษ์ เป็นอันขาดทีเดียว และผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ กำนัน พันนายบ้าน ไปเก็บเอามาเผาเสียจงสิ้น อย่าให้มีอยู่ในโรงศาล บ้านเมือง นิคมเขตประเทศใดๆ มีผู้รู้เห็น เอาเนื้อความ มาว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัตย์ จะเอาผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการแลพันนายบ้าน แลชาว ตำบลประเทศนั้น เป็นโทษ ถึงสิ้นชีวิต"

เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าพระองค์เอาภาระพระพุทธศาสนาเป็นยิ่งนัก สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าการทำศิวลึงค์ไว้เคารพบูชา ตาม ศาลเจ้า ต่างๆ นั้น พระองค์ท่าน สั่งให้ทำลาย หมดสิ้น เพราะถือว่าเป็นสิ่งลามกอนาจาร ไม่มีที่ไปที่มา และทำให้เกิด ความอับอาย ขายหน้า แก่นานา อารยะประเทศ ที่เข้ามาในกรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้นการบูชาบวงสรวงตามศาลเจ้าต่างๆ ท่านมีคำสั่งห้ามมิให้ฆ่าโค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ มาบูชาเป็นเด็ดขาด อนุญาต ให้เฉพาะ ผลไม้ ถั่ว งา ธูปเทียน และ ดอกไม้เท่านั้น ท่านยังบัญญัติด้วยว่า แม้สิ่งที่ท่านอนุญาตนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ น่าส่งเสริม แต่ครั้น จะเลิกเสีย ก็ไม่ได้ ด้วยทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษเก่าก่อน แต่สิ่งทั้งนี้ไม่ว่าเทพารักษ์ หรือเจ้า หรือเทพ หรือพรหมหรือผี ท่านมิให้ถือว่า สิ่งดังกล่าวนั้น มีความสำคัญกว่า พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มิให้สิ่งดังกล่าวนั้น มีความสูงส่ง เพียงให้ถือว่าเป็นมิตรสหาย และยังกล่าว ตำหนิบุคคล ที่ไม่เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปเชื่อ ผีสาง เทวดา เทพารักษ์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็จะมีมากขึ้น เพราะองค์กร ทางศาสนาของเรา หรือบุคคลชั้นหลังในปัจจุบันนี้ ไม่เห็น ความสำคัญ ของหลักการของพระพุทธศาสนา เปรียบประหนึ่ง เหมือน สังคมไทยไม่มีศาสนา

ปัจจุบันนี้สังคมไทยมั่งคั่งไปด้วยสิ่งที่มีอำจาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งรวมทั้งผี เจ้า พระ เทพ พรหม ซึ่งนับได้ว่าเป็นการรวมของที่มี ในทั้ง พระพุทธศาสนา ทั้งศาสนาฮินดู ศาสนาพราหมณ์ ลัทธิเต๋า ลัทธขงจื้อ และการนับถือผี ของชนกลุ่มน้อยต่างๆ อย่างพร้อมพรั่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนใหญ่นั้น มีการเข้าทรง การนั่งทางใน มีคนทรงเกิดขึ้น จำนวนมาก บรรดาเกจิอาจารย์ที่ทรงรู้ ในเรื่องศาสนา และ ไสยเวทย์ อ้างว่าสามารถช่วยคนให้พ้นจากความเจ็บป่วย เคราะห์ร้ายโชคร้าย มีขึ้นเต็มไปหมด ทุกเมือง ทุกจังหวัด มีสำนักต่างๆ มีลูกศิษย์ ลูกหา จำนวนมาก บางครั้งเป็นบุคคล ผู้มีชื่อเสียง ในทางสังคมด้วยซ้ำ มิจฉาชีพ ส่วนใหญ่ มักเป็นพวกมิจฉาทิฐิ ล้วนแต่ หารายได้ จากการประกอบพิธีกรรม ที่ตัวเองคิดขึ้น โดยอาศัยหลักไสยศาสตร์ และ ความเชื่อ โดยมีความหลากหลาย ของพิธีกรรม นับวันแต่จะมีเพิ่มมากขึ้น สลับซับซ้อน อันมีผลจาก การหารายได้ ของมิจฉาชีพ ดังกล่าวเหล่านี้ จนมีการมอมเมา ให้คนไทย เชื่อเรื่อง โชคลาภ และการสะเดาะเคราะห์ ให้แก่มิจฉาชีพต่างๆ ที่ทำพิธีกรรม ทางศาสนา และไสยศาสตร์ที่หลอกลวงเหล่านี้ ก็มีจำนวน มหาศาล ต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด นับเป็นการเสียเปล่า อย่างแท้จริง ซึ่งหากได้มีการจรรโลงพระพุทธศาสนา อย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะได้สืบค้น หลักฐานต่างๆ ในอดีต ที่บรรพชนของเรา ได้พยายามรักษา และหวงแหนไว้ ให้ตกถึงลูกหลาน พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระชนม์ชีพ เมื่อกว่า ๒๐๐ ปี มาแล้ว ยังทรงรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ นับว่าทรงคุณ อันประเสริฐ ยิ่งนัก เราเป็นข้า ในพระองค์ แท้ๆ และยังอยู่ในโลก สมัยใหม่แท้ๆ ยังแยกไม่ออกว่าสิ่งใดเป็นหลักการของ พระพุทธศาสนา สิ่งใด เพิ่งเพิ่มเติม เสริมแต่ง เข้ามา เพื่อหาผลประโยชน์ในภายหลัง นับว่าน่าอายยิ่งนัก โดยเฉพาะผู้ที่อ้างสิทธิ์ เป็นเจ้าของ พระพุทธศาสนา ด้วยแล้ว น่าจะพิจารณา กันอย่างยิ่ง

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๖ มกราคม ๒๕๔๙ -