เราคิดอะไร ฉบับที่๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ หน้า ๑๐
คุยนิด คิดหน่อย - บรรณาธิการ -

ยามบ้านเมืองประสบภาวะวิกฤติ พระราชดำริ ฯลฯ ล้วนมีคุณค่าอเนกอนันต์ ดังปาฐกถาเรื่อง "แนวทาง พระราชดำริ สู่การบริหารจัดการภาครัฐ" ซึ่งพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ แสดง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

"... การเชิญแนวพระราชดำริมาเล่าให้ฟัง ขอยืนยันว่าไม่ไม่มีเจตนาที่จะตำหนิใคร องค์กรใด ..." ท่านประธาน องคมนตรี ชี้แจงก่อนร่ายเรียง พระราชดำริไว้ ๑๔ ประการ ซึ่งจะขอสรุปความนำประเด็นมาคุยนิดคิดหน่อย ตามประสาพสกนิกร เพียงบางประการ

"๑.การบริหารเพื่อคนของชาติ เพื่อความเจริญของประเทศ และเพื่อความผาสุกของประชาชน ไม่เอาประโยชน์ ส่วนตัว ประโยชน์ของญาติพี่น้อง ประโยชน์ของบริวาร เข้ามาเกี่ยวข้อง"

ประการนี้ค่อนข้าง จะสอดคล้องกับ กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม จนกระทั่งเกิดคำ "ทุจริตเชิงนโยบาย" แพร่สะพัด ในวงการวิเคราะห์ว่า เป็นพฤติกรรมของ รัฐบาลทักษิณ ๑
.....
"๓. การบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พระองค์ทรงรับสั่งว่าจะต้องซื่อสัตย์สุจริตทั้งในความคิด การพูด และ การกระทำ ผมขอให้ความเห็นส่วนตัว เป็นการขยายความ ผู้บริหารนอกจากจะซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ต้องดูแล คนรอบข้างตัวเรา ให้ซื่อสัตย์สุจริตด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหาร จำต้องเพิ่มคำว่าเสียสละ และจงรักภักดีเข้าไปด้วย"

ประการนี้น่าสังเกตว่า ไม่เคยมีรัฐบาลไหน ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง หลากหลายสถานะ ออกมาเน้นย้ำ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ จงรักภักดีดังที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อองค์พระประมุขแห่งชาติ

"๔.การบริหารที่ถูกต้อง คือ ถูกต้องตามกฎหมาย ตามกฎเกณฑ์ เที่ยงธรรม เที่ยงตรง มีประสิทธิภาพ และให้ ประสิทธิผลสูง ความเห็น ส่วนตัวของผม เห็นว่าผู้บริหารจะต้องมีมาตรฐานเดียวเสมอหน้ากัน ทั่วถึงกัน ต้องไม่มี หลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลย หรือใช้มาตรฐานตามอารมณ์ มาตรฐานตามกิเลส"

ประการนี้ สังคมไทย ล่วงรู้กันอยู่ทั่วไป เพราะเกิดศัพท์แสงใหม่สื่อความหมายไว้ชัดเจน นั่นคือดับเบิ้ล สแตนดาร์ด จะแปลว่า มาตรฐานซ้อน มาตรฐานคู่ มาตรฐานต่าง หรืออะไรก็ตามแต่เถิด ซึ่งชี้นัยชัดว่า ยุคนี้มีการเลือกปฏิบัติ ตามอัธยาศัย
.......
"๑๐. ผู้บริหารจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและฉลาด มีความถูกต้องเหมาะสม การที่พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทฤษฎีใหม่ ที่ได้ยินจนชินหู ว่าเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการชี้แนวทางในการดำรงชีวิตใหม่ ให้พวกเรา พออยู่พอกิน ทำให้เกิดการสมดุล การดำรงชีพ อย่างประหยัด และฉลาด"

ประการนี้ เห็นชัดว่านอกจากรัฐบาล "คิดใหม่ทำใหม่" นี้ มิได้นำพาต่อพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังบังอาจ ยืนอยู่คนละฟากฝั่งคลอง อีกต่างหาก นำพาบ้านเมืองฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ใช้เงินทองทรัพยากรธรรมชาติ ทุนรอนสังคมในอนาคต เพื่อสร้างภาพ เจริญรุดหน้า ทางวัตถุอย่างไม่คำนึงว่า วันหน้า คนรุ่นหลัง จะกิน จะอยู่กันอย่างไร เมื่อทุนรอนของชาติ ล่มสลายไปหมดแล้ว
......
"๑๔. ผู้บริหารต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา"
(มติชน ๙ ก.พ.๔๙)

ประการสุดท้ายนี้ คงไม่ต้องคุยนิดคิดหน่อย เพราะวิญญูชนทั้งหลาย ย่อมประจักษ์ชัดแล้วว่า ผู้นำของเรา ประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้บริหาร ที่ทรงไว้ ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่

"หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน" คำนี้ยังทันสมัยใหม่เสมอครับ