- แรงรวม ชาวหินฟ้า -

จุดอ่อนจุดแข็งในการต่อสู้ทางความคิด
ระหว่าง พันธมิตรเพื่อประชาชนกับรัฐบาลทักษิณฯ

การรู้เขารู้เรา รบ ๑๐๐ ครั้ง ย่อมชนะ ๑๐๐ ครั้ง แต่ถ้าไม่รู้ทั้งเรา ไม่รู้ทั้งเขา ยังไม่ทันได้รบก็ย่อมแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

จุดอ่อนของพันธมิตรภาคประชาชน คืออะไร?
๑. ประเมินกำลังฝ่ายรัฐบาลต่ำไป แต่กลับประเมินฝ่ายของตนเองสูงเกินไป ดังที่แกนนำพันธมิตรบางท่าน เริ่มออกมาตีกัน พลตรีจำลอง ที่โดดออกมาช่วยหนุนฝ่ายประชาชน โดยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการออกมาเพื่อชุบมือเปิบ เพราะใกล้จะชนะแล้ว

ความจริงในแนวคิดของรัฐบาลนั้น ท่านนายกฯเป็นผู้ให้สัมภาษณ์เองว่า ต่อให้ออกมาคัดค้านกันเป็นเรือนแสน ก็ยังเป็นเพียง คนส่วนน้อยเท่านั้นเอง ยังไงๆ รัฐบาลก็ยังมั่นใจใน ๑๙ ล้านเสียงของท่าน แม้ปัจจุบัน จะไม่เหลือ เท่าเดิม แต่เมื่อ ทำโพล สำรวจทางต่างจังหวัด คะแนนหนุนรัฐบาลก็ยังหนาแน่นอยู่ทุกครั้ง แม้แต่ในกรุงเทพฯ คนที่หนุนรัฐบาล ก็ยังมี มากอยู่เช่นกัน ดังนั้นม็อบแค่เรือนแสนทางฝ่ายรัฐบาลถือว่า ไม่อยู่ในสายตา คุณจะออกมา ก็ออกมา แต่คน ส่วนใหญ่ ยังหนุนรัฐบาลอยู่ และรัฐบาลก็ย่อมจัดม็อบสนับสนุนได้เป็นล้านๆ ได้อย่างง่ายๆ

และยิ่งฝ่ายพันธมิตร เอารัฐบาลจอมพลถนอม หรือพลเอกสุจินดามาเปรียบเทียบก็ยิ่งคิดผิด เพราะรัฐบาล ที่ถูก ขับไล่ เหล่านั้น ไม่ได้มาด้วยความชอบธรรม แต่รัฐบาลทักษิณ มาด้วยความชอบธรรม และถูกต้อง ตามกฎหมาย และ ก็พร้อม ที่จะทำตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกติกาของสังคมทุกอย่างอยู่แล้ว หรือถ้าประชาชน อยากจะแก้ไข กฎหมาย รัฐบาล ก็พร้อม ที่จะร่วมมือด้วย หรือต้องการซักฟอกรัฐบาล รัฐบาลก็พร้อมเปิดสภา ให้มีการอภิปราย ซักฟอกกันได้ในสภา

สรุปว่ารัฐบาลทักษิณ พร้อมที่จะทำตามกฎกติกาของสังคมที่ตนเองเป็นฝ่ายถือไพ่ได้เปรียบ และเป็นจุดแข็ง ของตน อยู่ในขณะนี้ และพร้อมที่จะแสดงให้เห็นว่าพันธมิตรเพื่อประชาชน กำลังใช้กฎหมู่ มาล้มล้างกฎหมาย และ ล้มล้าง ประชาธิปไตย แม้แต่คณบดีรัฐศาสตร์จุฬา ท่านนายกทักษิณยังบอกว่า เป็นอาจารย์สอน ประชาธิปไตย แต่จะมา ทำลาย ประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้เขียนบทความเรื่อง การเรียกร้อง ให้นายกฯลาออก ขัดกับหลัก ประชาธิปไตย ตรงไหน เมื่อวันที่ ๑๒ ก.พ. ๒๕๔๙ จากเว็บไซต์ผู้จัดการ โดยได้อธิบายไว้ว่า

ใครทำลายประชาธิปไตย?
ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์มีว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจสูงสุดมาจากปวงชน การเรียกร้องให้นายก รัฐมนตรี ลาออกก่อนสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง เป็นการทำลายประชาธิปไตยหรือไม่ คำถามนี้ น่าจะเอาไป เป็นข้อสอบ วิชาหลักรัฐศาสตร์ ที่ผมเคยสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

คำตอบสั้นๆ ก็คือ ไม่เป็นตรงกันข้ามกลับเป็นการทำให้ประชาธิปไตย มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เหมือนอย่างที่ ประชาชน ชาวฟิลิปปินส์ ได้เดินขบวนขับไล่ ประธานาธิบดี มาร์กอส ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนแล้ว

อาจารย์ มหาวิทยาลัย จัดว่าเป็นบุคคลผู้อยู่ใกล้ชิดการเมือง รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากกว่าคนทั่วไป ยิ่งเป็นอาจารย์ คณะที่สอนวิชารัฐศาสตร์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีทั้งความรู้และความเห็นที่มีการไตร่ตรองดีกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเป็นการประเมินผลการทำงานของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การบ่อนทำลาย ประชาธิปไตย

การประเมินนั้น มีทั้งด้านการดำเนินนโยบาย การทำงาน การแก้ปัญหา และพฤติกรรมส่วนตัว แต่แสดงในขณะที่ เป็นผู้นำประเทศ (อ่านเนื้อหาการประเมินได้ในตอนท้ายเรื่อง)

จากการประเมิน ๘ ข้อใหญ่ๆ นี้ เป็นเหตุให้อาจารย์ไม่มีศรัทธาในตัวนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น กรณีข้อสอบรั่ว ยังมีผล ทำให้อาจารย์ทนไม่ได้มานานแล้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์เป็นปรอทวัดอุณหภูมิการเมืองที่ดี ผมเข้าใจว่า นายกรัฐมนตรี หวั่นไหวมาก จึงต้องออกมาต่อว่าอาจารย์ แต่การต่อว่าว่าอาจารย์ไม่เข้าใจประชาธิปไตยนั้น หากผม จะให้คะแนนนายกฯ ต้องให้ F เพราะความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรีนั้นมีน้อยมาก

นายกรัฐมนตรีควรทบทวนตัวเองว่า ข้อข้องใจหลักๆ ๘ ข้อที่ผมประมวลมานั้น มีความจริงแค่ไหน ตั้งใจหรือ ไม่ตั้งใจ เอาความเป็นสุภาพบุรุษมาตรวจสอบตนเอง เพราะอาจารย์เหล่านั้น ก็มิได้มีเรื่องเกลียดชัง นายกรัฐมนตรี เป็นการ ส่วนตัว และก็เป็นครั้งแรกในระยะเวลาหลายปีที่เขาออกมาเรียกร้องอย่างนี้

ข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวของนายกรัฐมนตรีที่พูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง คือ อ้างประชาธิปไตยนั้นฟังไม่ขึ้น ควรหาทาง แก้อย่างอื่นจะดีกว่า

ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีไทยทำตัวเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก คือเป็นสุภาพบุรุษมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ไม่ใช้อำนาจรัฐ ป้องกัน กีดขวางไม่ให้คนมาชุมนุม

จุดแข็งของพันธมิตรภาคประชาชนคืออะไร?
สัจจะ ความจริง ความชอบธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐบาลที่มีแต่ความลวง ความไม่ชอบธรรม เมื่อความจริงไม่มี ท่านทักษิณ จึงมักจะอ้างเอาปริมาณคน ๑๙ ล้านเสียงมาเป็นเครื่องต่อสู้ ซึ่งคุณธีรยุทธได้โต้แย้งไว้ว่า ๑๙ ล้านเสียง ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าความจริงพบว่าท่านนายกทักษิณทุจริตแม้เพียงแค่เงิน ๑ บาท

กาลิเลโอค้นพบว่าโลกกลมแม้เสียงเดียว ก็สามารถต่อสู้กับคนทั้งโลกที่พากันเชื่อว่าโลกแบนได้ แม้จะจับ กาลิเลโอ เอาไปบังคับขู่เข็ญ จับทรมานขนาดไหน แต่สุดท้ายความจริงก็ย่อมชนะความไม่จริงอยู่ดี แม้วันนี้รัฐบาล ยังมั่นใจกับ ประชาชนส่วนใหญ่ ที่ถูกปิดกั้นการรับรู้ข่าวสาร แต่ยิ่งปล่อยเวลาเนิ่นนานออกไป สภาพไฟลามทุ่ง ก็จะขยาย วงกว้าง ออกไปเรื่อยๆ ยิ่งกดดันก็ยิ่งจะมีการขยายผลขยายความจริงออกไปอย่างรวดเร็ว สภาพหมู ไม่กลัวน้ำร้อนก็จะกล้าประกาศตัวออกมาเรื่อยๆ และถ้ายิ่งรัฐบาลเล่นไม้แข็ง หมูไม่กลัวน้ำร้อนเหล่านี้ ก็จะกลาย เป็นหมูพลีชีพ พร้อมแตกหักกันได้ในที่สุด

ยุทธการครั้งนี้คงต้องจับตาดูกันว่า ฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำ คือฝ่ายที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น ดังนั้น จุดอันตราย ของพันธมิตร จึงอยู่ที่ต้องการให้เกิดแตกหักอย่างรวดเร็ว สุดท้ายก็จะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และจะกลายเป็น ฝ่ายไม่ชอบธรรม ไปเสียเอง ผลก็คือต้องไปก่อนรัฐบาลแทนที่ผู้นำรัฐบาลจะออกไป

ดังนั้นพันธมิตรจะชนะได้ ก็เพราะมีความยึดมั่นอย่างคานธี เชื่อในสัจจะ ความจริง และอหิงสา ไม่รุนแรง พร้อมที่ จะอโหสิ ไม่อาฆาตพยาบาท คานธีให้นักต่อสู้เกลียดบาป แต่ไม่เกลียดคนทำบาป คนที่ถูกบาปเล่นงานนั้น เป็นคนที่ น่าสงสารยิ่งนัก ถ้าหากฝ่ายพันธมิตรยึดมั่นในหลักการของคุณธรรมได้มากเท่าใด ธรรมะย่อมชนะอธรรม ในที่สุด

จุดจบของรัฐบาลทักษิณ
เมื่อผู้มีอำนาจเริ่มหลงในอำนาจของตนมากขึ้นเท่าใด นั่นคือการเริ่มนับถอยหลังของวันเวลา ที่จะอยู่ในอำนาจ ใกล้จะหมดแล้ว ท่านนายกทักษิณจะทนตรากหน้าอยู่เป็นผู้นำต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อสภาพปัจจุบัน มีหมูไม่กลัว น้ำร้อน รวมตัว รวมกลุ่มกันขึ้นมา ไปทั่วทุกหัวระแหง เพื่อขยายความจริงออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งคณาจารย์ เกือบทุก มหาวิทยาลัย ทั้งสถานศึกษาครูบาอาจารย์ตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งองค์กรเอกชนมากมาย ที่เห็นสอดคล้อง กันว่า ท่านนายกฯ ต้องออกไป

การเสียสละครั้งสุดท้าย คือ การยอมลาออก เพื่อวางมือทางการเมือง น่าจะเป็นการลงจากอำนาจ อย่างสง่างาม ที่สุด แต่ถ้าท่านนายก เลือกข้างการยุบสภา เพื่อจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง โดยมองเห็นว่ายังไงๆ ก็ชนะใสๆ อยู่แล้ว แม้จะต้อง แลกกับการถูกขุดคุ้ยถูกประนามประจานในช่วงการหาเสียง แต่ถึงจะชนะคงจะอยู่ในสภาพ ไม่ต่าง อะไร กับ รัฐบาลเณรแอ ที่ยังมีผู้คนหลงใหลงมงายมาขึ้นมานับถืออยู่ แต่จะบริหารประเทศให้สง่างาม ต่อไป ได้อย่างไร ในเมื่อเหล่า ปัญญาชน และประชาชนที่หูตาสว่างขึ้น เขาเลิกเชื่อน้ำมนต์กันแล้ว

จุดจบของรัฐบาลทักษิณจึงขึ้นอยู่กับตัวท่านนายกฯ ทักษิณเองที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะจบอย่างเสียสละ เพื่อให้ อะไร กับแผ่นดิน หรือจะจบอย่างยึดครองแผ่นดินต่อไป ด้วยเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ จนหาแผ่นดินมุดอยู่ไม่ได้

๘ ข้อข้องใจ ที่ ดร.ชัยอนันต์ ประมวลไว้
อาจารย์มหาวิทยาลัยข้องใจอะไรบ้าง ผมพอจะประมวลได้ดังนี้
๑. เห็นว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำลายระบอบประชาธิปไตยเสียเอง ด้วยการเข้าแทรกแซงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จนทำให้ ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลได้

๒. เห็นว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำลายระบอบประชาธิปไตย ด้วยการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน

๓. เห็นว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำลายความมั่นคงของชาติ ด้วยการดำเนินการปราบปรามประชาชนในสามจังหวัด ภาคใต้ ปล่อยให้มีการเก็บชาวมุสลิม และทำให้ชาวมุสลิมที่ถูกจับตายในขณะนำตัวไปควบคุม จึงก่อให้เกิดความ ไม่สงบ มีการโต้ตอบ ด้วยความรุนแรงอย่างยากที่จะแก้ไขได้

๔. เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่นับถือกลไก และกระบวนการประชาธิปไตย ไม่นำข้อเจรจา FTA ให้รัฐสภาได้รับรู้ แต่ดำเนินการไป โดยไม่ฟังเสียงติติงจากฝ่ายต่างๆ

๕. เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง แต่ใช้กรณีนักการเมือง ที่มีส่วนร่วม ในการคอร์รัปชัน เป็นเครื่องต่อรอง หรือเอาไว้ขู่คนทำผิดให้เกรงกลัว แต่กลับไม่ดำเนินการ อย่างจริงจัง บางคน ตอนมีตำแหน่ง ก็ทำผิดได้รับผลประโยชน์ เวลานี้ก็ต้องมาด่าคนต่อต้านไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี โดยแลกกับ การที่จะ ไม่ถูกสอบสวน กรณีจัดซื้อของๆทางราชการ

๖. เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ห้ามวงศาคณาญาติ และรัฐมนตรีให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับการค้าขายกับทางราชการ อีกทั้ง ปล่อย ให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจวิ่งเต้นขอตำแหน่งจากภรรยาได้

๗. เห็นว่านายกรัฐมนตรีอาศัยตำแหน่งหน้าที่ไปต่อรองกับรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

๘. เห็นว่านายกรัฐมนตรีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยมีการทำนิติกรรมอำพรางหลายซับหลายซ้อน ในการเลี่ยง การจ่ายภาษี ให้แก่รัฐ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ -