นักการเมืองพระโสดาบัน

พุทธธรรมแสนลึกซึ้ง มีเกณฑ์มาตรฐานของพระอริยบุคลถึง ๔ ระดับ
พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
ความเป็นคนดี จึงมิใช่ดีแล้วหยุดอยู่ แต่ยังมีดีระดับลึก ซึ่งเป็นดีในอีกหลายมิติ
เหมือนข้าราชการ ที่มีซีเป็นตัววัด ซี ๑ ซี ๒ ซี ๓ ซี ๔
เกณฑ์วัดความดีของมนุษย์มีหลายประเภท ในแต่ละประเภทยังมีอีกหลายระดับ นับว่าลึกซึ้งโดยแท้
เกิดเป็นคน ก็ต้องไต่เต้าพัฒนา มีการฝึกตนให้สูงขึ้นทางจิตใจ
คนในร่างของสัตว์
ปุถุชน
กัลยาณชน
อริยชน

ในอริยชน มี ๔ ระดับ แต่ละระดับ ยังมีอีก ๒ คือ "มรรค" กับ "ผล"
"มรรค" หมายถึง ชัดเจนในเส้นทาง แต่ยังปฏิบัติไม่สำเร็จ
"ผล" หมายถึง ท่านปฏิบัติได้แล้ว
"อาหุเนยบุคคล" ที่สวดกันประจำ "อัฏฐ-ปุริสบุคคลา..." บุคคลประเสริฐมี ๘ จำพวก พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล....
พระอริยบุคคล จะค่อยๆ ลดละตัวตนกินน้อยใช้น้อย ทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น
ลดตัวตน ทั้งตัวกู ทั้งของกู
ปฏิบัติตน เริ่มต้นที่ศีล ๕ ไปสู่ศีล ๘
ลดความสุขของตัวเอง เพิ่มการบริการให้แก่คนอื่นมากขึ้นๆ
ยิ่งมีอายุ ยิ่งทำงานมากขึ้นเป็น "อัญมณี"ของมวลมนุษย์

พระโสดาบันบุคคล มีเกณฑ์วินิจฉัย ๓คุณสมบัติ
๑. ลดสักกายทิฐิ เริ่มลดตัวตนด้วยการลด "วัตถุ" เริ่มเห็นชีวิตนี้ไม่ต้องมีความสุขจากวัตถุข้าวของ ไม่เป็นนักบริโภคนิยม

ระดับ ๑ เห็นกายมีแค่กาย สิ่งที่อยู่นอกกายไม่ใช่กาย คือไม่ใช่ของเรา
อบายมุข ไม่ใช่กายเรา ชีวิตไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ได้
ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า ไม่มีอบายมุขก็อยู่ได้
กามคุณ รูปรสกลิ่นเสียง ก็พอรู้พอเห็นเค้าว่า เพราะตัวเองหลงผูกพันติดยึด
มันไม่ใช่ตัวเรา แต่เรายังหลงใหลมันอยู่นะ ยังเป็นทาสที่ไม่อยากปลดปล่อย แต่ก็เริ่มมีเค้าของการคลี่คลาย
สักกายทิฐิ แปลว่า ยังมีความเห็นว่า นี้คือของเรายังสำคัญว่าสิ่งที่อยู่ข้างนอกเป็น "กายของเรา" พระโสดาบัน จะเริ่มลดตัวตน จาก"ของกู" (กายนอกกาย)

ระดับที่ ๒ การมอง "ตัวกู" เริ่มที่ "ร่างกาย"
กายนอก เป็นสิ่งที่มีอยู่ห่างออกไป ไม่ใช่ตัวเรา
กายเราคือชีวิตของเรา ร่างกายมีอวัยวะใหญ่น้อย
พอเห็นพอเข้าใจว่าไม่เที่ยง มีความเสื่อมเป็นธรรมดา
ไม่น่ารัก ไม่น่าเพลิดเพลิน
เห็นลึกขนาดนี้ แต่ก็ยังหลงใหลความสวยงามอยู่ ก็มีเหมือนกัน
พระโสดาบันระดับสูง ก็จะไม่บ้าแฟชั่นอีกต่อไป

๒ พ้นวิจิกิจฉา ไม่สงสัยชีวิตนี้เกิดมาทำไม
ละอายที่จะเห็นแก่ตัว
ละอายที่เรียกร้องอยากได้อยากมีอยากเป็นเหมือนคนอื่นๆ...หน้าจะบาง?
ชัดเจนแล้วว่า ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อเสียสละ
จึงพร้อมสละสิทธิ์ของตัวเองได้ง่ายกว่าปุถุชน

๓ สีลัพพตปรามาส ไม่ปฏิบัติอะไรอย่างงมงาย ไม่รู้เรื่อง
หรือ ทำแบบ เถรส่องบาตร
ศีลแต่ละข้อ ปฏิบัติอย่างรู้เป้าหมาย
มิใช่แค่สักแต่รับมาจากอาจารย์
มีปัญญาในการถือศีล ไม่ตีความเข้าข้างตัวเอง
เช่น เมื่อไม่ฆ่าสัตว์ แต่ยังนึกสาปแช่งให้คนไม่ถูกกันมีอันเป็นไป
เช่น เมื่อไม่ลักทรัพย์ไม่เอาของใคร แต่ก็มีใจที่จะบริจาคช่วยเหลือคนอื่น
พร้อมจะใช้เงินส่วนตัวช่วยเหลือ

เช่น เมื่อไม่ผิดลูกเมียเขา ก็จะไม่ส่งเสริมหรือ สร้างสถานการณ์ หรือมีอาชีพให้คนอื่นผิดศีลข้อ ๓
เช่น เมื่อไม่พูดมุสา ก็จะไม่พูดจาส่อเสียดกระทบกระเทียบ ประชดแดกดัน
เช่นเมื่อ ไม่ดื่มสุรา ก็จะไม่คิดลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทที่ขายน้ำเมา

พระโสดาบันปฏิบัติศีลอย่างรู้เจตนารมณ์
พระโสดาบันในสังคม ณ วันนี้ในยุคสมัยกึ่งพุทธกาล จึงมิใช่ไม่มี แต่ยังมีมากมาย
แต่สำหรับพระโสดาบัน ของนักการเมืองกลับมีน้อยมาก
เพราะถ้ามีสัก ๑ ใน ๓ ประเทศชาติคงก้าวไปไกล ไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้
พ้นสักกายทิฐิของนักการเมือง จึงคือการไม่มีวงศาคณาญาติ หรือเพื่อนฝูง บริวารมาหาประโยชน์ ในกิจกรรมที่ตัวเองทำ
งานประมูลจะบริสุทธิ์ยุติธรรม เฮ้ยพี่น้องอย่ามาวุ่นวาย!
มีลูกสั่งลูก มีเมียสั่งเมีย มีผัวสั่งผัวมีเพื่อนสั่งเพื่อน
ยอมอดโซ เพราะกำลังทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมือง
"แด(ก)กันจัง" ไม่มีในพจนานุกรมของพระโสดาบัน

พ้นวิจิกิจฉา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่แบ่งชั้นวรรณะพวกเราพวกเขา พรรคกู-พรรคแก คนของเขา-คนของเรา
ชัดเจนในชีวิตเกิดมาเพื่อทำความดี ชีวิตนี้อุทิศให้ประชาชนทุกจังหวัด
แม้เขาไม่เลือกเราไม่ทักเรา ก็ยินดีรับใช้เต็มใจบริการ!
ชีวิตวัวงาน ยอมเป็นขี้ข้ารับใช้ส่วนรวม

สีลัพพตปรามาส ไม่หลงอำนาจหน้าที่ อาศัยอำนาจหน้าที่เจาะรูให้ตัวเองให้พวกพ้องได้ผลประโยชน์

ไม่หลงหัวโขน ตำแหน่งที่ได้ เพราะแท้จริงหัวโขนก็คือ การประกาศเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า "ฉันคือผู้รับใช้ ของประชาชน"

กฎระเบียบในสังคม ต้องเคร่งครัดมิใช่เลือกปฏิบัติ หรือเลือกที่รักมักที่ชัง

วันนี้ประเทศชาติวิกฤติ จำเป็นต้องประกาศหาพระโสดาทางการเมืองมาช่วยลูกช้างก่อนประเทศจะพบหายนะ

เลือกตั้งทุกครั้ง อย่าลืมเลือกนักการเมืองที่เป็นพระโสดาบัน แล้วจะไม่ผิดหวัง!

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ -