ปัญญาหลอกลวง (พกชาดก)

ทั้งฉลาด เก่งกาจ มากปัญญา
แต่เอามา ล่อลวง หลอกผู้อื่น
ถึงเวลา ผลบาป ตามทวงคืน
ทุกข์กล้ำกลืน กอดรัด ฟัดถึงตาย

มีภิกษุรูปหนึ่งในพระวิหารเชตวัน เป็นผู้ฉลาดมีความสามารถในการตัดและเย็บผ้า จึงมีจีวรเพิ่มขึ้นมาก ใครๆ ต่างขนานนามให้ว่า จีวรวัฑฒกะ(ผู้ทำจีวรได้มาก)

ภิกษุนี้จะนำผ้าที่เก่าคร่ำคร่าแล้ว มาดัดแปลงใหม่ด้วยมือ ทำให้น่าสัมผัส อ่อนนุ่ม เป็นที่น่าพอใจ ทั้งย้อม ทั้งลงแป้ง ทั้งขัดให้เงางามน่าใช้ แล้วเก็บไว้เป็นจำนวนมาก

บรรดาภิกษุทั้งหลายที่ตัดเย็บจีวรไม่เป็น ก็พากันเอาผ้าสาฎก(ผ้านุ่งห่ม)ใหม่ๆ มาหาภิกษุนี้ กล่าวว่า "พวกผมไม่รู้จักทำจีวร ขอท่านช่วยทำจีวรให้แก่พวกผมด้วยเถิด"

"เอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้าพวกท่านทำจีวรต้องเสร็จช้าแน่ เรามีจีวรที่ทำไว้แล้ว พวกท่านเอาผ้าใหม่เหล่านี้ไว้ แลกเอาจีวรที่ทำแล้วไปเถอะ"

กล่าวจบ จีวรวัฑฒกะก็นำผ้าที่เก็บไว้มาให้ดู เหล่าภิกษุเห็นผ้าแล้วก็พอใจ พากันแลกเอาผ้าเก่าที่สวยงามไปใช้ แต่เมื่อใช้แล้วก็นำไปซักล้าง ความเก่าของผ้าก็ปรากฏ ผ้าสีตกเปื่อยขาดง่าย ภิกษุทั้งหลายต่างก็เดือดร้อนไปตามๆ กัน

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นข่าวกระจายไปทั่วทุกที่ว่า จีวรวัฑฒกะ ที่พระวิหารเชตวัน เอาผ้าเก่ามาหลอกลวงเพื่อนภิกษุทั้งหลาย

ข่าวนี้ลือไปถึงหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ฉลาดมีความสามารถในการตัดเย็บผ้า นำผ้าเก่ามาทำเป็นจีวรใหม่ที่สวยงาม หลอกลวงคนอื่นได้เช่นกัน เป็นพระจีวรวัฑฒกะในชนบทนั่นเอง

วันหนึ่ง มีเพื่อนภิกษุเปรยกับพระจีวรวัฑฒกะชนบท

"ได้ยินมาว่า มีพระจีวรวัฑฒกะรูปหนึ่งในพระวิหารเชตวันล่อลวงชาวโลก ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน ท่านทราบข่าวหรือไม่"

ภิกษุนั้นไม่ตอบ แต่คิดในใจว่า
"คอยดูเถอะ เราจะไปหลอกพระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงรูปนี้ให้ได้"

แล้วก็หาจีวรเก่าๆ มาย้อมอย่างดี ทำใหม่ให้สวยงามน่าดูน่าชมยิ่งนัก จากนั้นก็นุ่งห่มเดินทางไปยังพระวิหารเชตวัน ครั้นได้พบปะพูดคุยกัน พระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงได้เห็นจีวรนั้นเข้า ก็เกิดความโลภอยากได้ขึ้นมาทันที จึงถามว่า
"จีวรนี้ท่านทำเองหรือ"
"ครับ ผมทำเอง"
"ท่านให้จีวรผืนนี้แก่ผมเถิด แล้วท่านจะได้ผืนอื่นทดแทน"
พระจีวรวัฑฒกะชนบทรีบตอบว่า
"ผมเป็นเพียงพระบ้านนอก หาผ้าดีอย่างนี้ได้ยาก หากให้ท่านไปแล้ว ตัวผมเองจะห่มอะไรเล่า"
"ผมมีผ้าสาฎกใหม่อยู่มาก ท่านจงเอาผ้าใหม่ไปทำจีวรของท่านเถิด"
พระจีวรวัฑฒกะชนบททำทีเป็นจำใจรับคำ
"เมื่อท่านพูดอย่างนี้ ผมจะทำอย่างไรได้"
แล้วถอดจีวรผ้าเก่าของตนให้ไป แลกเอาผ้าสาฎกใหม่หลายผืนจากพระจีวรวัฑฒกะชาวกรุง กลับคืนสู่ชนบทของตนด้วยความกระหยิ่มใจ

ผ่านไป ๒-๓ วัน พระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงเอาผ้าจีวรผืนนั้นไปซักล้าง พอเห็นเป็นผ้าเก่าคร่ำคร่าก็รู้ตัวว่า โดนหลอกแล้ว จึงอับอายยิ่งนัก ข่าวคราวนี้ได้เปิดเผยกันในหมู่สงฆ์ท่ามกลางธรรมสภาว่า

"พระจีวรวัฑฒกะที่พระวิหารเชตวัน ถูกพระจีวรวัฑฒกะชนบทหลอกลวงเสียแล้วหนอ"
เมื่อพระศาสดาเสด็จมา พอทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ก็ตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงแม้ในกาลก่อน ก็เคยล่อลวงภิกษุทั้งหลายมาแล้ว และพระจีวรวัฑฒกะชนบทแม้ในกาลก่อน ก็เคยหลอกลวงพระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงมาแล้วเหมือนกัน"

แล้วพระศาสดาทรงนำชาดกนั้นมาตรัสแสดง
---------------------

ในอดีตกาล มีสระบัวหลวงแห่งหนึ่งในราวป่า ที่นั่นรุกขเทวดา(ผู้จิตใจสูงที่คอยดูแลรักษาต้นไม้) อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ริมสระบัวนั้น

ช่วงฤดูร้อน น้ำแล้ง น้ำในสระน้อยลงมาก เหล่าฝูงปลาพากันอยู่อย่างลำบากยิ่งนัก
ในที่นั้น มีนกยางตัวหนึ่งเห็นปลาทั้งหลายแล้ว ก็คิดว่า
"เราจะลวงกินปลาเหล่านี้ด้วยอุบาย"
จึงไปที่ชายน้ำ แล้วทำเป็นยืนครุ่นคิดอยู่นาน จนปลาอดสงสัยไม่ได้ถามว่า
"นี่แน่ะ! ท่านกำลังคิดอะไรอยู่"
"เรากำลังคิดสงสารพวกเจ้านะซี"
"สงสารอะไรกัน"
"ก็ที่สระนี้น้ำน้อย ว่ายไปไหนก็ยากลำบาก คับแคบ แดดก็แผดเผาให้ร้อน พวกเจ้าจะทำกันอย่างไร"
"พวกเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร"

"เอาอย่างนี้ไหม เราจะช่วยพวกเจ้า แต่พวกเจ้าต้องทำตามคำของเรา คือเราจะใช้จะงอยปากคาบพวกเจ้าทีละตัว เอาไปปล่อยที่สระใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งสมบูรณ์ด้วยน้ำและบัว ๕ สีเลยทีเดียว"

ปลาทั้งหลายแม้จะเคลิบเคลิ้มไปกับคำเหล่านั้น แต่ก็ไม่ประมาท จึงกล่าวว่า

"ตั้งแต่โบราณกาลนานมา ขึ้นชื่อว่านกยางที่จะมีความหวังดีกับปลาอย่างจริงใจนั้น ไม่เคยมีเลย ท่านคิดจะกินพวกเราทีละตัวเสียมากกว่า พวกเราไม่เชื่อท่าน"

"เราไม่กินพวกเจ้าหรอก ถ้าไม่เชื่อ ก็เอาอย่างนี้สิ! จงส่งปลาตัวหนึ่งไปดูสระน้ำนั้นพร้อมกับเรา"

ฝูงปลาร่วมกันคิด แล้วตัดสินใจว่า ให้ปลาดำใหญ่ตัวหนึ่งที่ชำนาญทั้งทางบกทางน้ำไป นกยางจึงคาบเอาปลานั้น ไปปล่อยยังสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง เมื่อปลานั้นสำรวจดูสระเรียบร้อยแล้ว นกยางจึงคาบปลากลับคืนสระบัวตามเดิม

ปลาดำใหญ่ตัวนั้นก็ได้เล่าถึงสภาพสระน้ำ ที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งแก่ปลาทั้งปวงให้รับรู้ ทำให้เหล่าปลาอยากไปยังสระนั้น ต่างส่งเสริมกันว่า

"พวกเราไปกันเถิด ให้นกยางคาบพวกเราไป"

นกยางก็รับคำด้วยความเต็มใจ คาบปลาดำใหญ่ตัวแรกนั้นแหละไปก่อน คราวนี้นำปลานั้นไปที่ต้นกุ่มริมสระน้ำ สอดตัวปลาไว้ระหว่างคาคบไม้ แล้วใช้จะงอยปากจิกกินปลานั้นเป็นอาหาร ทิ้งก้างและเศษซากศพไว้ที่โคนต้นกุ่มนั้นเอง จากนั้นก็บินกลับไปบอกฝูงปลาว่า

"ปลาตัวนั้นเราปล่อยไปแล้ว ปลาตัวอื่นจงมาเถิด"

แล้วคาบปลาไปทีละตัวด้วยอุบายอย่างนี้ จนกระทั่งวันคืนผ่านไป ปลาทั้งฝูงก็ถูกนกยางกินจนหมดสิ้น ไม่หลงเหลือแม้แต่สักตัวเดียว จะมีก็แต่ปูตัวหนึ่งเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในสระ เมื่อเป็นอย่างนี้ นกยางจึงหมายจะกินปูตัวนั้นเป็นอาหาร ได้เข้าไปหาปูแล้วกล่าวว่าไ

"ปูเอ๋ย เราได้นำเอาปลาทั้งหมดไปปล่อยที่สระใหญ่ เต็มไปด้วยน้ำ มากด้วยดอกบัวนานาชนิด มาเถิด แม้ท่านเราก็จะช่วยนำไปสระนั้น"

ปูพิจารณาแล้วก็ถามว่า
"เมื่อจะพาเราไป ท่านจะพาไปอย่างไรเล่า"
"เราจะคาบท่านไปนะซี"
"อ้าว! อย่างนั้นเราอาจหลุดจากปากท่าน หล่นลงสู่พื้นดินได้"
"อย่ากลัวเลย เราจะคาบท่านไว้ให้ดีที่สุด"
แต่ปูก็ไม่สู้จะไว้วางใจนัก ด้วยคิดว่า"มีที่ไหนที่นกยางจะใจดีคาบปลาไปปล่อยสระ แต่ถ้าคาบเราไปปล่อยสระจริง ก็เป็นการดี หากไม่ปล่อยสระเล่า เราจะป้องกันอย่างไร"
คิดแล้วก็กล่าวกับนกยางว่า
"สหายนกยาง ท่านคาบเราไว้นั้นยังไงก็ไม่ปลอดภัย ฉะนั้นเราขอหนีบคอท่านไว้ด้วย จึงจะเป็นการดี"
นกยางนั้นเพราะคิดแต่จะหลอกลวงปู และอยากกินเนื้อปู จึงรีบตกปากรับคำทันที
"ตกลง ไปกันเถิด"

นกยางจึงคาบปูขึ้นมา แล้วปูก็เอาก้ามทั้งสองหนีบที่คอของนกยางไว้แน่น พอทั้งสองไปถึงสระน้ำนั้น นกยางก็นำปูไปยังต้นกุ่มริมสระ ปูเห็นแปลกๆ จึงถามขึ้น
"สระน้ำอยู่ตรงนั้น ท่านเอาเรามาที่ต้นไม้นี้ทำไม"
"เจ้าเห็นก้างปลาที่โคนต้นไม้นี้ไหม เรากินปลาหมดฝูงไปแล้ว คราวนี้ก็ถึงทีเจ้าบ้างที่จะถูกกิน"
แม้ได้ฟังอย่างนี้ ปูก็ไม่หวาดกลัวแต่อย่างใดเลย กลับกล่าวเสียงดังขึ้นบ้าง

"ท่านกินปลาเหล่านั้นได้ เพราะปลานั้นโง่ แต่ท่านจะไม่ได้กินเราหรอก ท่านนั่นแหละจะต้องถึงความพินาศ เพราะท่านก็โง่ให้เราหลอกได้ เราทั้งสองหากจะตาย ก็ต้องตายด้วยกัน เราจะใช้ก้ามหนีบคอท่านให้ขาดเช่นกัน"

สิ้นคำพูด ปูก็ออกแรงหนีบก้ามทันที ทำให้นกยางเจ็บปวดยิ่งนัก น้ำตาไหลพราก ด้วยความกลัวตายจึงรีบร้องว่า

"เราไม่กินท่านแล้ว ท่านจงไว้ชีวิตเราเถิด"
"ดีล่ะ ถ้าอย่างนั้นท่านจงเอาเราไปปล่อยที่สระน้ำ"

นกยางจึงนำปูไปปล่อยที่เปือกตมริมสระน้ำ พอนกยางเปิดจงอยปากแล้ว ปูก็ไม่รอช้ารีบหนีบก้ามปูสุดแรง ทำให้นกยางคอขาดตกลงสู่พื้น เสมือนบัวถูกเด็ดก้านขาด ฉะนั้น

รุกขเทวดาเห็นเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นแล้ว อดที่จะอัศจรรย์ใจมิได้ ถึงกับเปล่งวาจาออกไปว่า

"บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมไม่ได้ความสุขเป็นนิตย์ เพราะผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมได้รับผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอขาด ฉะนั้น"
..........................
ครั้นพระศาสดาตรัสชาดกนี้จบแล้ว ทรงเฉลยว่า
"นกยางตัวนั้น ได้มาเป็นพระจีวรวัฑฒกะที่พระวิหารเชตวันในบัดนี้ ปูตัวนั้นได้มาเป็นพระจีวรวัฑฒกะชาวชนบทในบัดนี้ ส่วนรุกขเทวดานั้น ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๓๘
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๕ หน้า ๓๕๕)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ -