๖๐ ปี แห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย (ตอนจบ) - ส.ศิวรักษ์ ผู้บุกเบิกของขบวนการ NGOs ในเมืองไทยคือนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ซึ่งผูกวลีขึ้นว่าสันติประชาธรรม ถ้าประชาราษฎร ได้รับความยุติธรรมโดยเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย นี้แลคือหัวใจของสันติภาพและสันติสุข จำเดิมแต่ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ ตามศักราชฝรั่งเป็นต้นมานั้น คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาทางขบวนการ NGOs ยิ่งๆ ขึ้น โดยเห็นชัด กันยิ่งๆ ขึ้นแล้วว่าระบบราชการ แม้จนทุนนิยม ย่อมมาถึงซึ่งจุดจบไม่เร็วก็ช้า แม้คนอย่างนายแพทย์ประเวศ วะสี จะรับราชการมาโดยตลอด แต่ก็เห็นชัดยิ่งๆ ขึ้นว่าความคิดที่แยกไปจากกระแสหลัก งอกงามขึ้นไม่ได้ในระบบราชการ และความคิดความอ่านใหม่ๆ ในทางสร้างสรรสันติประชาธรรม จักมีขึ้นได้ ก็แต่จำเพาะ ในแวดวงของ NGOs เท่านั้น นักกิจกรรมนอกระบบ โดยเฉพาะก็พวกเยาวชนวิพากษ์วิจารณ์กันยิ่งขึ้น ว่าการพัฒนาประเทศ ในระบบ เสนาอำมาตยาธิปไตย ที่สั่งกันลงมาจากข้างบนสู่เบื้องล่าง โดยที่ชนชั้นบนก็ล้วนเป็นทาสปัญญาของฝรั่งนั้น นอกจาก จะไปไม่รอดแล้ว ยังจักเสริมสร้างช่องว่างทางเศรษฐกิจและการเมืองกับมหาชนยิ่งๆ ขึ้น ดังก่อให้เกิด ความรุนแรง อย่างเลวร้ายยิ่ง ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ แม้พระภิกษุสงฆ์ก็เริ่มมีบทบาท ทางด้านการพัฒนาประเทศ ตามแนวทาง ของพุทธธรรม ที่เน้นความพอดี ความอยู่ดี อย่างเอื้ออาทรกันยิ่งกว่าการแก่งแย่งแข่งดีกัน และอย่างบรรสาน สอดคล้อง กับธรรมชาติ และภูมิธรรมพื้นบ้าน ยิ่งกว่าการพัฒนาวัตถุ ตามแนวทางของตะวันตก เราอาจลืมไปกันแล้วก็ได้ว่า เมื่อชาวบ้านรวมตัวกันอย่างได้ผล โดยมีสามัคคีธรรมเป็นพื้นฐาน พวกเขาอาจระงับ การพัฒนา อย่างบ้าคลั่ง ของรัฐบาลได้ ทั้งๆ ที่มีการโกงกินกันอยู่กับโครงการนั้นๆ แล้วก็ตามดังแกนนำที่กาญจนบุรี สามารถ รวมตัวกันกับนักกิจกรรมในจังหวัดอื่นๆ ผนึกเข้าด้วยกับพระภิกษุ นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว และชาวต่างประเทศ ที่อุทิศชีวิตให้กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สามารถระงับโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน อันมหึมาลงได้ในปี ๒๕๓๑ จากจุดนี้แล ที่เป็นสะพานให้ NGOs ต่างๆ ซึ่งขัดขืนการพัฒนาอันบ้าคลั่งของรัฐบาลและชนชั้นบน มาประสานเข้ากับ ชนชั้นกลางโดยทั่วๆ ไป ที่เคยเป็นทองไม่รู้ร้อนมาก่อน ให้เห็นคุณค่าของการพัฒนานอกระบบ ตลอดจนโยงใย ให้ผู้คน พากันตระหนักถึง ขบวนการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในนานาชาติ โดยที่การอนุรักษ์ ดังกล่าว ย่อมควบคู่ไปกับ การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน อย่างพยายามเข้าถึงศักดิ์ศรีของคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อปลายแขม ด้วยเสมอไป แม้ชนกลุ่มน้อยที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด ทั้งภูมิธรรมของเขาก็ได้รับการดูแคลน จากชนชั้นบน มาเป็นเวลา อันยาวนาน ก็ได้มาร่วมกับขบวนการพัฒนาเอกชน ที่เป็นชนชั้นกลางและได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการหัวก้าวหน้า จนหัวหน้า เผ่ากะเหรี่ยง อย่างพ่อหลวงจอนิ โอเดเชา กลายเป็นคนสำคัญขึ้นมา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ แม้นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย จะหาทางกำจัดเขาเสีย แต่ก็หาสำเร็จไม่ ดังบำรุงคะโยธา ซึ่งเคยเป็นกรรมกร ในเมืองกรุง มาก่อน ก็กลับไปเป็นผู้นำชาวไร่ ชาวนา จนเขากลายเป็นคนสำคัญในขบวนการสมัชชาคนจนเอาเลยด้วยซ้ำ เมื่อข้าพเจ้า ถูกจับ ตอนขัดขวางท่อแก๊สไทยพม่าที่เมืองกาญจน์ ในปี ๒๕๔๑ บำรุงพาเพื่อนพ้องเขาไปเยี่ยมข้าพเจ้าที่โรงพัก นายสถานีตำรวจ บอกกับลูกน้องว่า "ท่านบำรุงมาเองเลยทีเดียว" ดังนี้เป็นต้น เราต้องไม่ลืมว่า สมัชชาคนจนเป็นขบวนการประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักรนี้ และการที่คนจน รวมตัวกันได้ อย่างมีศักดิ์ศรี ช่วยให้เราเข้าใจว่าที่เราเคยดูถูกว่าคนจนโง่และไร้สมรรถภาพนั้น เป็นคำเท็จ เฉกเช่นคำเท็จ ที่สอนกันว่า พระมหาราชาธิราช ทรงฤทธิศักดานุภาพ นานาประการ อย่างปราศจากความบกพร่องใดๆ นั้นแล สมัชชาคนจนไม่ต้องการรับเศษจากเศรษฐี หรือนักการเมือง ที่ใช้วิธีซื้อและวิธีขู่บังคับ หากสมัชชาคนจน กล้าท้าทาย รัฐบาล อย่างสง่าและอย่างสันติ โดยชี้ให้เห็นได้ด้วยว่า นโยบายในทางทุนนิยม และนิยมเทคโนโลยี ที่ทันสมัยต่างๆ นั้นผิดพลาด ใช่แต่เท่านั้น สมัชชาคนจนไม่แต่เป็นเพียงฝ่ายคัดค้านรัฐบาล หากเป็นขบวนการในทางสันติวิธี ที่มีพื้นฐานในทาง ประชาธิปไตย ที่เนื้อหาสาระ เน้นที่ความพอดี ที่สันตุฏฐีธรรม ที่ความสมดุลทางธรรมชาติ สมัชชาคนจน ไม่ได้ทำ เพียงเพื่อพวกเขา หากทำเพื่อสังคมส่วนรวม ซึ่งควรบรรสานสอดคล้องกัน ทั้งชนชั้นล่าง ชั้นกลาง และชั้นสูง หากกิจการ ในสังคม ต้องเป็นไป อย่างโปร่งใส อย่างเปิดเผย อย่างร่วมมือกัน เคารพกันและกัน ตลอดจนเคารพธรรมชาติ และภูมิธรรม ของบรรพชน น่านิยมยินดีที่ขบวนการชนชั้นกลางกับสมัชชาคนจนทำกิจการร่วมกัน โยงใยถึงกันและกัน แม้จนพ่อค้าวาณิช ที่อยู่ในหน่วย นักธุรกิจเพื่อสังคม ก็เข้าใจสมัชชาคนจนและสนับสนุนโครงการของทั้งคนจนและชนชั้นกลาง ยิ่งชนชั้นสูง อย่างอดีต นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ก็เข้าใจแนวโน้มนอกระบบ ทั้งนี้นับว่าเป็นไปอย่างสันติวิธียิ่งๆ ขึ้นทุกที โดยที่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดนักวิชาการนอกระบบในแทบทุกมหาวิทยาลัย โดยที่เสมสิกขาลัย ได้ทำหน้าที่ทางด้านนำเอาไตรสิกขา มาประยุกต์อย่างสมสมัยอีกด้วย น่าเสียดายที่ยุวสงฆ์ยังไม่ได้ตื่นตัว ทั้งๆ ที่ท่านเคยมีบทบาทมาอย่างสำคัญในนามว่าคณะปฏิสังขรณ์ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นิสิต นักศึกษา ก็ยังไม่มีพลัง อย่างนับว่าน่าเศร้า ทั้งๆ ที่บทบาทของคนหนุ่มสาวในช่วง ๒๕๑๖-๒๕๑๙ นั้นนับว่าสำคัญนัก ความทั้งสองประการนี้ น่าที่จะต้องหาเหตุและปัจจัยให้ชัดเจน แต่ก็น่ายินดีว่า ผู้หญิงไทย มีบทบาทไม่น้อยไปกว่า ผู้ชายเอาเลย ยิ่งในการแหวกออกไปจากกระแสด้วยแล้ว แม่หญิงไทยเดินหน้าไปอย่างสง่า โดยทำกิจการต่างๆ ร่วมกับ บุรุษเพศ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะครูประทีป อึ๊งทรงธรรมกับชุมชนแออัดในเมือง หรือครูรัชนี ธงไชย กับโรงเรียน หมู่บ้านเด็ก ที่เป็นตัวนำทางด้านการศึกษาทางเลือกที่สำคัญ ยังนางภินันทน์ โชติรสเศรณี ทางกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ก็เป็นชนวน ในการปลุกมโนธรรมสำนึก ของชนชั้นกลาง ทางด้านสิทธิมนุษยชน และความสมดุล ทางธรรมชาติ ด้วยการโยงชนชั้นกลาง ให้ขยายจุดยืนออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งยังโยงใยถึงชนชั้นล่างอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ อีกด้วย ส่วน น.ส. วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ กับสมัชชาคนจนนั้น นับว่าน่าก้มหัวให้เป็นอย่างยิ่ง โดยไม่จำต้องเอ่ยถึง คนในรากหญ้าแท้ๆ อย่างยายไฮ ขันจันทา ที่อุบลราชธานี และนางจินตนา แก้วขาว ที่ประจวบคีรีขันธ์ ก็ยังได้ โดยบุคคลอย่าง ส.ว. เตือนใจ ดีเทศน์ ก็โยงใย ไปถึงชาวเขา อย่างเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะก็ในทางรักษา ความสมดุล ทางธรรมชาติ ที่ว่ามานี้ เป็นเพียง บางบุคคล ซึ่งมีเครือข่ายนอกระบบอย่างกว้างขวาง หากทางเบื้องบน ไม่สนใจ เอาเลย แม้สตรีบางคนจะได้เป็นวุฒิสมาชิก ก็เพราะเขาได้รับเสียงสนับสนุน จากราษฎรต่างหาก ถ้าขยาย จำนวนเครือข่าย ดังที่ว่ามานี้ ออกไปในทางปริมาณ นับว่าเป็นความหวัง ในทางสันติประชาธรรม ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญก็คือผู้นำหลายต่อหลายคน เริ่มเข้าหาภาวนาวิธี อย่างจริงจัง จนเห็นว่าสันติภาวะภายในสำคัญ ในอันที่จะ ไม่เกลียดชัง ผู้กดขี่ หากใช้ความสงบส่วนตน ออกมาเป็นพลัง ให้เกิดความสงบสุข ในสังคม ด้วยการโยงใยกัน อย่างเป็น เครือข่าย กับองค์กรพัฒนาต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งๆ ขึ้นทุกที แม้ทั้งหมดนี้จะยังเป็นชนวนน้อยๆ ในสังคมไทยอันใหญ่กว้าง แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญนั้น นักมนุษยวิทยาชาวอังกฤษ ชั้นนำ อย่างมากาเร็ต มีด ย้ำอยู่เสมอ ว่าย่อมเริ่มจากจุดเล็กๆ เสมอไป เป็นแต่ว่าถ้าคนในกระแสหลัก เริ่มศึกษาหาความรู้ กับจุดเปลี่ยน ดังที่พรรณนามาอย่างย่อๆ นอกเหนือไปจากหนังสือทางเลือกต่างๆ ทั้งทางสังคมอันยุติธรรม (ศีล) และทางจิตวิญญาณ อันประกอบไปด้วย ความสุขสงบ (สมาธิ) ย่อมก่อให้เกิดแสงสว่างในทางลดความเห็นแก่ตัวลง เพื่อให้ทุกๆ คนเป็นอยู่ ไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของตน หรือการไต่เต้าไปเอาอะไรๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป หากเป็นไปเพื่อรับใช้ เพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ (ปัญญา) นี่น่าจะเป็นฐานแห่งการเสริมสร้างสันติภาพได้ ไม่แต่แก่เมืองไทยและคนไทย หากอาจขยายไปถึงชาวโลกด้วยก็ได้ และ ไม่แต่ในเวลา หกทศวรรษ ต่อแต่นี้ไปเท่านั้น - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ - |
---|