ขอเพียงกล้าจริง
 


 

ร้อยคนจักกล้าสัก   หนึ่งมนุษย์
หนึ่งปราชญ์ในพันสุด   ยากแท้
แสนจักคัดหนึ่งวุฒิ   วจีสัตย์ มีฤา
ทำกุศลไม่หวังแม้   สิ่งได้ตอบแทน
แดนไทยเมืองพุทธแท้   ไฉนกัน
จึ่งมิจฉาอาธรรม์ เบี่ยงบ้า
ผิดพุทธผ่าเผ่าผัน   เพี้ยนขบถ
ขอเถิดกลับจิตกล้า   ฝึกฟื้นคืนหวัง

ไทยยังมีสิทธิ์สร้าง   สำนึกศีล
สิกขะสัมมายีน   อยู่เชื้อ
เร่งรัดพัฒนะคลีน คืนศักดิ์   พุทธเทอญ
อย่าชักช้ายืดเยื้อ   ประมาทแท้ไทยสูญ
(สไมย์ จำปาแพง ๓ ม.ค.๒๕๕๒)

มีคำพูดตลกที่ทำให้คนไทยเสียหน้ามายาวนาน เมื่อพูดถึงสิ่งดี ๆ ในประเทศไทยมีมากมาย ยกเว้นอย่างเดียวที่ไม่ดี นั่นก็คือ... “ คนไทย” แต่คำกล่าวนี้ น่าจะต้องลบเลือนไปจากความกล้าหาญ - เสียสละ -สามัคคี -และการยอมเอาชีวิตเข้าแลก โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ จากประชาชน คนไทยนับล้าน ๆ คนที่รวมตัวกัน ในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ทำให้คำกล่าวที่ว่า

ใน ๑๐๐ คน จักมีคนกล้าสัก ๑ คน ใน ๑,๐๐๐ คน จักหาปราชญ์ได้สัก ๑ คน ส่วนใน ๑๐๐,๐๐๐ คน จักหาผู้ที่พูดจริง ทำจริง ได้ยากยิ่งนักแล (แสนจักคัดหนึ่งวุฒิ วจีสัตย์ มีฤา) ส่วนคนทำดี โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนั้น แทบไม่ต้องพูดถึง แต่อะไรๆ ในยุคพระจันทร์ยิ้ม คนดี คนกล้า คนเสียสละ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ก็สามารถออกมารวมตัวกัน ในดินแดนที่ได้ชื่อว่า เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ยีน” หรือการสืบเชื้อของจิตวิญญาณ“พุทธ” ที่เป็นสยามเมืองยิ้ม อันมีองค์ประกอบของ “ผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบาน” พร้อมที่จะให้อภัย ไม่ใช้ความรุนแรง ยึดมั่นในสันติ-อหิงสา ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศ มีประชาชนถูกตำรวจยิงตายเพียงคนเดียว ถึงกับเกิดจราจล จุดไฟเผาประท้วงกันทั่วประเทศ

ประเทศไทยต้องสูญเสียไปกับนายก “นอมินี” (ไม่มีสิทธิ์คิดตัดสินใจด้วยตัวเอง) มานานแล้ว บัดนี้ประชาชนกำลังรอคอยการเปลี่ยนแปลง จากนายก “อภิสิทธิ์” หรือท่านโอบามาร์คแห่งประเทศไทย ที่อเมริกาท่านโอบามา พร้อมนำการเปลี่ยนแปลงแล้ว และกำลังโน้มน้าวให้ชาวอเมริกา อยู่กับความหวัง เพื่อร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า โดยอย่ากลัว แต่ที่ไทยประชาชนพร้อมอยู่แล้ว ตายเป็นตาย ขนาดเอ็ม. ๗๙ ก็ยังไม่กลัว กล้าที่จะเสียสละ ให้กับสังคมประเทศชาติอยู่แล้ว รอแต่เพียงท่านโอบามาร์ค จะกล้านำ กล้าทำความถูกต้องชอบธรรม ให้กลับคืนสู่สังคมไทย ได้หรือไม่เท่านั้น?

ขอแต่เพียงท่านกล้าจริง ประชาธิปไตยของไทย ก็น่าจะไปได้ไกลกว่าอเมริกา!

เราคิดอะไร ฉบับ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒