สมณะโพธิรักษ์ พระเกจิฯนอกกรอบ
ผู้ประยุกต์หลักธรรม สร้าง "คนจนมหัศจรรย์"
 


 

๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ จะเป็นวันที่สมณะโพธิรักษ์ มีอายุครบ ๗๕ ปีเต็ม

หากนับอายุแห่งการบวช เดือนพฤศจิกายน ๕๒ ก็จะครบ ๓๙ พรรษาเต็ม

ฉายาที่ได้รับจากคนฟังธรรมก็คือ "ขวานจักตอก"

เล่ากันว่ามีคารมที่รุนแรง -ตรง และชัดจนบาดเจ็บ!

ญาติธรรมในยุคแรกๆ มีลักษณะที่เด่นชัดคือ ไม่กินเนื้อสัตว์ -ไม่แต่งงาน -ลดมื้ออาหาร -ไม่ใช้เครื่องสำอาง -ใส่เสื้อผ้าเรียบง่ายและมอซอ -ตัดผมสั้น -ใส่ผ้าถุง (กรณีเป็นหญิง)

และสำหรับผู้เคร่งครัดอีกระดับหนึ่ง ก็จะโกนหัว ไม่ใส่รองเท้า กินข้าววันละมื้อ!

เพราะเหตุนี้ ชาวพุทธที่ห่างไกล จึงมักจะตัดสินว่า"คนบ้า" หรือ "เสียสติไปแล้ว" !

ในหมู่นักปฏิบัติสำนักอื่นๆ ก็จะมีความเห็นว่า "เคร่งเกินไป" "สุดโต่งเกินไป"

๓๐ กว่าปีแห่งการเผยแพร่ธรรมะ แนวสมณะโพธิรักษ์ สมาชิกหรือญาติธรรมทั้งหลาย กลับแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง และครอบครัว ได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวคิด "อุดรูรั่ว" มากกว่าการ "หารายได้"

เป็นทูอินวัน คือ ได้ปฏิบัติธรรมและได้ชีวิตที่ดีขึ้น ในทางเศรษกิจ! (creative economic)

และ ๓๐ กว่าปีแห่งการเผยแพร่ธรรมะ มีผู้ปฏิบัติลดละกิเลส และขอบวชตาม เพื่อทำงานด้านศาสนาโดยเฉพาะ เป็นร้อยๆชีวิต!

สมณะโพธิรักษ์ได้จัดงานประจำปี ที่ใช้คำว่า "ปลุกเสกฯ" "พุทธาภิเษกฯ"

รวบรวมญาติธรรม มาฝึกกินอยู่อย่างพระธุดงค์ ๑ อาทิตย์ ด้วยแนวคิด "ประจุพุทธคุณลงในคนเป็นๆ ! "

ด้วยแนวคิด "นอกกรอบ" ตีความใหม่ ผิดไปจากพระเกจิฯ ทั้งหลาย ซึ่งพยายามจะประจุพุทธคุณ ลงในอิฐหินดินทราย แต่ท่านกลับสร้างกิจกรรมเป็นตัวอย่าง กระตุกเตือนใจให้ญาติธรรม โน้มน้อมประจุในตน

เพื่อเป็นสันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก และโอปนยิโก!

วันนี้ของญาติธรรมที่เรียกตัวเองว่า " ชาวอโศก" มี How to ที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดคือ

"ฝึกกินน้อยลง-ใช้น้อยลง และทำงานให้มากขึ้น"

"เราจะมาเป็นคนจนมหัศจรรย์?" นี่คือแนวทางของลูกหลานอโศก ทุกชีวิต

สังคมใหม่ของสมณะโพธิรักษ์ คือ สังคมที่ฝึกเป็นคนจนอย่างเต็มใจ จนอย่างมีความสุข?

ครั้งหนึ่ง ในงานปีใหม่ของญาติธรรมชาวอโศก ท่านสมณะโพธิรักษ์ อวยพร "ขอให้จนๆๆ"

การให้คนไทยมาจน "เป็นทางออกของประเทศชาติหรือไม่? หลายท่านอาจนึกสงสัย

ปฏิทินปี ๒๕๕๑ ของชาวอโศก มีโศลกธรรม ๒ บรรทัด

"เศรษฐกิจบุญนิยม คนจนรู้จักพอ
เศรษฐกิจทุนนิยม คนรวยไม่รู้จักพอ"

จะเห็นว่าแนวคิดของท่านสมณะโพธิรักษ์ เน้นการพัฒนาตนเอง ด้วยหลักการดำรงชีวิต แบบคนจน

ขณะที่คุณหมอประเวศ วะสี วิเคราะห์สังคมไทย เต็มไปด้วยความเครียด และเห็นแก่ตัว เพราะมัวแต่ตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไรจะรวย? "

เพราะเหตุนี้ โลกยุคโลกาภิวัตน์ ผู้คนยิ่งเป็นทาสการบริโภค นับวันก็จะยิ่งยากจน

"มาฝึกใช้ชีวิตอย่างคนจน" จึงมิใช่คำขวัญลอยๆ แต่ต้องให้ลงลึกในชีวิตประจำวัน

เพื่อเข้าสู่ "คนจนผู้ยิ่งใหญ่" เป็น "คนจนที่มีความสุข"

และเป็นการแก้ปัญหาสังคม ในระดับ "มหภาค"

ผู้เขียนได้คุยพระอาจารย์วิปัสนาหลายท่าน ซึ่งพูดถึงหลักธรรม "สติปัฏฐาน" อันเริ่มจาก กาย-เวทนา-จิต-ธรรม

"กาย" หมายถึง การพิจารณาอวัยวะใหญ่น้อย

กายเหล่านี้ น่าจะเป็นระดับ "กายใน"

แต่กรณีของท่านสมณะโพธิรักษ์ ที่ให้อุดรูรั่ว ใช้ชีวิตประหยัด ควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค

การลดละอบายมุข การฝึกจรณะ ๑๕ (ศีลสังวร-สำรวมอินทรีย์ -ชาคริยานุโยค -วิกาลโภชนา)

ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ "กายนอก"

เรื่องของกายคตาสติ จึงน่าจะเป็น ๑.๑ คือ กายนอก ๑.๒ คือ กายใน จะได้เกิดประโยชน์ครบพร้อม

ใครที่ยังรุงรังกับชีวิต ก็ถากถางให้โล่งพอสังเขป (ตัด-กำจัด-ละทิ้งวัตถุ)

ใครที่มีบารมีเก่า ชีวิตไม่มีอะไรรุงรัง ก็มาพิจารณาลงลึกให้มากขึ้น เป็นจินตามยปัญญาไปเลย

แนวปฏิบัติของท่านสมณะโพธิรักษ์ จึงมิได้ผิดแผกแตกต่างไปจาก ความเข้าใจของชาวพุทธทั่วไป แต่เป็นการเพิ่มเติมในสิ่งที่มีอยู่

และค่อนข้างมีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เป็น how to ที่จับต้องได้

ชุมชนชาวอโศก ๑๐ กว่าชุมชน ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นชุมชนเข้มแข็ง เป็นชุมชนตัวอย่าง ตลอดจนญาติธรรม หลายๆคน ที่เป็นข้าราชการ เป็นเอกชน ทำงานจนได้รับรางวัลดีเด่น ในหน่วยงาน

น่าจะเป็นหลักฐานหรือข้อยืนยัน แนวปฏิบัติธรรม "ขอให้จน"

ว่าน่าจะเป็นทางออกของสังคมไทย

เราคิดอะไร ฉบับ ๒๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ หน้า ๔๐