โดย ฟ้าสาง |
นักเรียนผ้าถุงไทย ประสบการณ์ใต้ร่มสัมมาสิกขา |
ในวิถีที่แตกต่าง...ด้วยหัวใจดวงเดียวกัน ใครสักคนบอกไว้น่าคิด ชีวิต คือการก้าวเดินไปทีละขั้นๆ ฉันได้แจ้งประจักษ์ด้วยตัวเอง หลายครั้งหลายครา ในครั้งนี้ ก็เช่นกัน ที่ชีวิตก้าวข้ามพ้นช่วงวัยมัธยมศึกษา ได้ดำเนินชีวิต ภายใต้ร่มเงาสัมมาสิกขา ใส่ชุดผ้าถุงไทย มาจนครบหลักสูตร ๖ ปี คำกล่าวนี้ผุดขึ้นมาในห้วงคำนึงอีกครั้ง พร้อมๆ ไปกับความรู้สึก ของการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะพัดพา สิ่งแปลกใหม่ เข้ามาให้สัมผัส ในระยะเวลาข้างหน้า อันใกล้นี้ การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย คือก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง และในช่วงที่อโศกของเราได้แง้มประตู เชื่อมประสาน เอื้อมเอื้อ เกื้อกว้างกับสังคมภายนอกมากขึ้น คณะบริหารธุรกิจ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี ก็ได้เข้ามามีบทบาท เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะรองรับเด็กที่จบจากสัมมาสิกขา เพื่อเป็นแนวทาง เป็นตัวอย่าง ให้แก่สังคม ในการที่จะสร้างชุมชน ฝึกฝนเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินตาม รอยเบื้องพระยุคลบาท ขององค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่ง ของปวงชนชาวไทย พ่อท่านก็หวังจะให้เด็กนักเรียนสัมมาสิกขา ๕๑ คน รุ่น เปลี่ยนแปลง ที่จบปีการศึกษานี้ เข้าไปร่ำเรียน ที่นั่น อย่างน้อยสัก ๓๐ คน โดยพวกเราได้รับความเมตตา จากพระโพธิสัตว์ ได้ช่วยแนะแนว ทางการศึกษาให้ ก่อนจบการศึกษาออกไป นับว่าเป็นครั้งแรก ในรอบหลายปีเลยทีเดียว ฉันและเพื่อนๆ ต่างรู้ซึ้งดี ถึงการงาน อันมากมาย ของพระโพธิสัตว์ ที่จะช่วยกอบกู้ศีลธรรม ชี้นำสังคม ซึ่งเป็นงาน ที่แสนหนักหนา และเหน็ดเหนื่อย แต่พ่อท่านก็พยายามเจียดเวลาอันมีค่านี้ มาพบปะลูกหลาน เป็นอาจารย์แนะแนว คนสุดท้าย ที่ได้มาสั่งสอน ให้ปัญญาความรู้ ภายใต้รั้วสัมมาฯ แห่งนี้ วันนั้น ในเรือที่พ่อท่านพัก ฉันนั่งอยู่เกือบท้ายสุดในบรรดาเพื่อนๆ ที่รายล้อมทั้งหมด ๕๑ คน แต่ก็ยังสัมผัสได้ ถึงความรัก ความเมตตา เอื้ออาทรของพระโพธิสัตว์ เพราะตลอด ๖ ปีที่ผ่านมา หลายคน อาจจะไม่เคยได้พบปะ ใกล้ชิดกับพ่อท่านเลย หรือหลายคน พ่อท่านก็แทบไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยพูดคุยด้วยเลย แม้สักครั้ง ด้วยภารกิจอันมากมาย และลูกหลานของพ่อท่าน ที่ทวีเพิ่มมากขึ้นอีก นับร้อยนับพัน จึงไม่แปลกหรอก! ที่พ่อท่านอาจจะไม่รู้จัก พวกเราหลายคน แต่ในระยะเวลา ๖ ปี บางคน ก็อาจจะมากกว่านั้น เพราะอยู่วัดมา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา พวกเรารับรู้ และตระหนักอยู่เสมอ ว่าได้รับร่มเงา ความรัก ความอบอุ่น และหลายสิ่ง หลายอย่างที่ดีๆ มากมาย รวมไปถึงการเกิดใหม่ ของจิตวิญญาณแห่งพุทธ ภายใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ ต้นนี้.... ต้นโพธิรักษ์ หลังจากการไปพบพ่อท่านในวันนั้น ฉันได้รับรู้ว่ามีเพื่อนหลายคนเปลี่ยนใจไปเรียนที่มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี สาขาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อร่วมสานฝัน สืบต่อปณิธานของพ่อท่าน ฉันอดดีใจ ไปด้วยไม่ได้เลย กับหัวใจ ของความใฝ่ดี และกตัญญูกตเวที ของเพื่อนร่วมรุ่นเหล่านั้น และอนุโมทนากับความเสียสละ ในการทำความดี กระทำในสิ่งที่ผู้อื่น กระทำได้ยากยิ่งไปพร้อมๆ กับความลังเล สับสนในตัวเอง ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น เป็นพายุในหัวใจ ขึ้นทุกทีๆ ฉันยังไม่รู้และสับสนอยู่เสมอในการที่จะเลือกเฟ้นสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเอง ในความตั้งใจแต่แรกเดิมว่า จะอยู่วัด ช่วยงาน FMTV ดั่งที่เคยทำมาและเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยเปิดในสายที่ตรงกับงานที่ทำอยู่ กับการเลือก ที่จะไปเรียน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดั่งที่ใครหลายๆ คนคาดหวัง และผลักดัน ให้ฉันได้ไปสู่วิถีทางนั้น ในเมื่อทั้งสองอย่าง ก็เป็นการช่วยงาน ศาสนาเหมือนๆ กัน พลางคิดไปถึง อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ฉันคงจะตัดสินใจได้ง่ายกว่านี้...ถ้าแต่แรกเดิมนั้น ฉันตั้งใจที่จะออกไป ศึกษาร่ำเรียน ในมหาวิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยปิด เพื่อไปร่วมกอบโกย ลาภ ยศ สรรเสริญ วิ่งตามกระแสโลก เฉกเช่น คนทั่วไปนั้น วินาทีนี้ ฉันจะไม่ลังเลเลย แม้แต่นิดเดียว ที่จะเปลี่ยนใจ กลับลำทิศทางชีวิต เพื่อมาตอบแทน บุญคุณพ่อท่าน บุญคุณชาวอโศก จนในที่สุด ฉันก็ได้มารับความชัดเจน และคำตอบที่ดีที่สุด จากพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ในวัน เอื้อไออุ่น ก่อนปิดค่าย ของเด็ก ม.๖ ซึ่งมีเพื่อนหลายคน ที่มีความฝัน อยากจะช่วยเหลือ สังคม ช่วยงานศาสนา ตอบแทนบุญคุณ ของหมู่กลุ่มชาวอโศก แต่ในเส้นทางวิถีที่แตกต่าง อย่างเช่น นายชิม (วิศว์ เจียมวิจิตรกุล) ม.๖ สัมมาสิกขาสันติอโศก ที่มีความฝัน อยากจะเรียนแพทย์ เพื่อเป็นหมอ รักษาคนไข้ที่ดี คอยช่วยเหลือสังคม ช่วยเพื่อนมนุษย์ ที่ตกทุกข์ได้ยาก อิ๋งอิ๋ง (ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี) ม.๖ สัมมาสิกขา ราชธานีอโศก ที่สอบติด ได้ทุนจุฬาฯชนบท ในสาขานิเทศศาสตร์ ด้วยเป้าหมายอันแน่วแน่ ที่จะเรียนเพื่อไป เกื้อกูลสังคม ไปเพื่อให้สังคม มิใช่เพื่อเอารัดเอาเปรียบ ดั่งคนทั่วไป ฯลฯ พ่อท่านให้ปัญญาและชี้ข้อข้องใจนี้ว่า....ให้พวกเราชัดเจนในตัวเอง ถ้าชัดเจนในวิถีของตนที่ตัวเอง พอมีความสามารถ และเป็นไปได้ในสิ่งที่ดี ที่จะพอช่วยเหลือสังคมโลกต่อไปได้ ก็ให้ไปต่อ สานฝันตัวเองต่อไป แต่สำคัญที่ว่า เราจะต้องชัดเจนในตัวเอง กับสิ่งที่ทำไปจริงๆ แต่ขอเสนอให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับคนที่ ยังไม่ได้ตัดสินใจ จะเลือกไปในวิถีอะไร? หรือคิดจะไปไหนต่อ? สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดอีกทางหนึ่ง ที่เราจะทำ ให้เป็นที่พึ่งแก่สังคมได้ต่อไป ในอนาคต... ณ วินาทีนั้นแหละฉันจึงได้เข้าใจ...... มนุษย์บนโลกกว้างใบนี้ต่างล้วนมีวิถีที่แตกต่าง หากแต่เรากำลังเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ ที่พยายามพากเพียร เดินตามรอย ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาในศาสนาพุทธ วิถีของเราจะมิไปแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกับใคร วิถีของเราจะมิไปเอารัดเอาเปรียบผู้ใด หากแต่จะพร้อมยอมกระทำตน เป็นผู้เสียเปรียบ เป็นผู้ถูกกระทำ เป็นผู้แพ้ เป็นผู้ผิด เป็นผู้ให้แก่มนุษยชาติ โดยไม่หวัง และเรียกร้องสิ่งใดๆ ตอบแทน ถ้าเราต่างคนต่างมีวิถี แล้ววิถีของแต่ละคนนั้น ต่างกันไปตามศักยภาพ ความสามารถ ความคิด หรือความรู้สึก ขอเพียงวิถีที่แตกต่างเหล่านั้น น้อมนำไปสู่ความดีงาม สู่ศีลธรรม สู่ธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยหัวใจ จิตวิญญาณดวงเดียวกัน ฉันคิดว่า ทุกคนก็ชื่อว่า เป็นลูกหลาน สายเลือดแห่งพุทธของโพธิสัตว์ ของชาวอโศกแล้วโดยแท้จริง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีวิถีที่น่ายกย่องยิ่งนัก เหนือวิถีอื่นใด จนนับได้ว่า พวกเขา เป็นตัวแทน ของรุ่นเปลี่ยนแปลง ที่สามารถกระทำ ในสิ่งที่ผู้อื่นทำได้ยากยิ่ง ด้วยสำนึกของ ความกตัญญู อันเต็มปรี่ พวกเขาเลือกวิถีที่น่าทึ่ง ในหัวใจของความเสียสละ ตัวแทนทั้ง ๕ คน จากรุ่นพวกเรา อาจจะดูน้อยเกินไป จนน่าผิดหวัง แต่ฉันเชื่อว่า ต้นกล้าน้อยทั้ง ๕๑ ต้น แค่เพียงเติบโตไปตามกาลเวลา และแยกย้ายกันไปให้ร่มเงาแก่ที่ต่างๆ ในสังคมมากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังของแต่ละต้น ที่มีใบอ่อน ติดกิ่งก้านเพียงน้อยนิด เพื่อก้าวไปยังวิถี และอุดมการณ์ที่ใจฝันถึง แค่เพียงวิถีที่แตกต่างแต่หัวใจดวงเดียวกัน ที่ยังคงยึดมั่นไว้ ซึ่งพลังศรัทธา คุณงามความดี อย่างเต็มเปี่ยม อยู่เสมอ เพราะพวกเรารู้อยู่เสมอว่า..... เติบโตมาจากร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ต้นเดียวกัน (อ่านต่อฉบับหน้า) เราคิดอะไร ฉบับ ๒๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ |