จำลอง ศรีเมือง

โรงเรียนผู้นำที่กาญจนบุรียังคงมีผู้คนแวะเวียน ไปรับการฝึกอบรมเป็นรุ่น ๆ ทุกรุ่นผมรับหน้าที่บรรยาย หลายวิชา เช่น วิชาที่จะพัฒนาตนเอง ให้ดียิ่งขึ้น ในเรื่องความสะอาด (ทั้งกายและ ใจ) ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ กตัญญู

เมื่อพูดเรื่องความขยัน ผมจะยกตัวอย่างที่ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๔ ปีมาแล้ว รัฐบาลสมัยนั้น เตรียมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เอาใจประชาชน ด้วยการประกาศ เพิ่มวันหยุดประจำปี ผมออกมาให้ข่าว ค้านทันที ขอให้ คณะรัฐมนตรี คิดใหม่ทำใหม่ คนไทย เกียจคร้าน มากอยู่แล้ว อย่าได้เพิ่มวันหยุดอีกเลย เดิมมีวันหยุด และวันหยุดชดเชย ประมาณปีละ ๑๑๘ วัน (ไม่นับ วันพักร้อน อีกปีละ ๑๐ วัน) ทั้งปีมี ๓๖๕ วัน ก็เท่ากับ หยุด ๑ ใน ๓ หรือทำงาน ๒ วันหยุด ๑ วัน จะสู้ชาติไหนเขาได้

ปีนี้เอาอีกแล้ว เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีประกาศ เพิ่มวันหยุดประจำปีอีก ๒ วัน คือ วันที่ ๑๖ เมษายน และ ๑๓ สิงหาคม ช่วงสงกรานต์หยุดยาว ต่อเนื่องกัน ๖ วัน ๑๓ ถึง ๑๘ เมษายน (วันที่ ๑๗ เป็นวันเสาร์ และ ๑๘ เป็นวันอาทิตย์) ส่วนช่วง วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ หยุด ๔ วัน ๑๒ ถึง ๑๕ สิงหาคม (๑๔ วันเสาร์, ๑๕ วันอาทิตย์)

มีคนสนับสนุนทันทีว่า หยุดยาว ๆ ติดต่อกันหลายวัน เป็นการดีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ถ้าเช่นนั้น ก็เพิ่มวันหยุดกัน ไม่รู้จบ การท่องเที่ยว จะได้เจริญก้าวหน้ามหาศาล

นอกจากคนไทยโดยเฉลี่ยจะขี้เกียจแล้ว "ท่านผู้ทรงเกียรติ" คือ ส.ส. ยังขี้เกียจอีก ขี้เกียจทำหน้าที่ ซึ่งได้แก่ การเข้าประชุม และ ลงคะแนน กฎหมายฉบับต่าง ๆ แต่ไม่ขี้เกียจ ในการรับเงินเดือน อย่างเต็มที่ เดือนละ กว่า ๑ แสนบาทต่อคน...

สถิติการลงคะแนนของ ส.ส.ในรอบปี๒๕๕๒ ที่ผ่านมา มี ส.ส.ที่ลงคะแนนครบทุกครั้งเพียง ๕๘ คนจาก ส.ส. ทั้งสิ้น ๔๗๔ คน คิดเป็น ร้อยละ ๑๒.๒๔ เท่านั้น ซึ่งน้อยมาก ไม่คุ้มกับเงินเดือน ที่ประชาชน ทั้งประเทศ เสียภาษีจ่ายให้ ส.ส.

สมัยที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค และเป็น ส.ส. เราระมัดระวังเรื่องนี้มาก ไม่ยอมให้ถูกตราหน้าว่าเป็น ส.ส. ขี้เกียจ หลังยาว เป็น ส.ส. ที่เห็นแก่ตัว รับเงินเดือนเต็มที่ แต่ทำงานเต็มท

วันเวลาผ่านไป ส.ส. กลับขี้เกียจมากขึ้น ทั้งขาดการประชุม และเข้าประชุมสาย กดออด ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่ยุรยาตร เข้าประชุม เวลาถ่ายทอดสด การประชุมสภา แพร่ภาพโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ เห็นแต่เก้าอี้ เปล่า ๆ ตั้งอยู่สลอน

ผมมักจะชมเชยคนงานของโรงเรียนผู้นำว่ามีเกียรติยิ่งกว่า ส.ส. ผู้ทรงเกียรติ เพราะเข้าประชุม ตรงเวลา ทุกวัน วันละ ๒ ครั้ง เช้าเย็น คนไทยถ้ามีการเข้มงวด กวดขันเอาจริงเอาจัง ทำอะไรก็เอาดีได้ทั้งนั้น เรื่องไม่ดีไม่งาม เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ไม่สร่างซา เดี๋ยวเรื่องนั้น เดี๋ยวเรื่องนี้ พอใกล้ สิ้นปี บริษัทต่าง ๆ เตรียมทำปฏิทิน แจกลูกค้า ที่ฮือฮากันมาก คือปฏิทินรูปโป๊ เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ก็เพราะ ข้าราชการการเมือง ระดับสูง เอาไปแจกในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นศูนย์กลาง การบริหารประเทศ ปฏิทินนั้น นอกจาก จะโป๊เปลือยแล้ว ยังผิดกฎหมาย อย่างเด่นชัดอีกด้วย

ลูกสาวของเจ้าของบริษัทน้ำเมาเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่ง "ประจำสำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี" เอาปฏิทิน ของบริษัทพ่อ ที่โฆษณาขายเบียร์ เป็นรูปหกสาว เปลือยกาย เกือบล่อนจ้อน ไปแจกที่ ทำเนียบรัฐบาล แจกไม่อั้น ใครต้องการ เท่าไรเท่ากัน

ตำแหน่ง "ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ" แต่ก่อนนี้มีความสำคัญมาก ผมเคยเป็นตำแหน่งนั้น สมัยท่าน พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยขึ้นการบังคับบัญชา กับท่าน เลขาธิการ พลเอก พร ธนะภูมิ

ต่อมาสมัยท่านพลเอก เปรม เป็นนายกฯ ผมขอข้าราชการจากบางหน่วยงานไปช่วยผม ทำงานในตำแหน่ง "ประจำสำนัก เลขาธิการ นายกรัฐมนตรี" เช่น จากกองทัพบก ผมขอ พันตรี สุรยุทธ์ จุลานนท์, พันตรีวธวัช เกษอังกูร และ ร้อยเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ (ยศในสมัยนั้น)

คนแรก ต่อมาเป็นนายกฯ ที่ใคร ๆ รู้จัก คนที่สองเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม และคนที่ ๓ เป็นกกต. (กรรมการการเลือกตั้ง)

ดังนั้น การแจกภาพโป๊ จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะคนแจกเป็นข้าราชการการเมืองระดับสูง และปฏิทินที่แจก ผิดกฎหมาย คนแจก จึงต้อง ลาออก จากตำแหน่ง อย่างฉับพลัน เนื่องจากทนต่อ การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ไหว

การตัดสินว่าภาพโป๊หรือไม่นั้น อาจพอเถียงกันได้ แต่ก็มีหลักพิจารณา ถ้าภาพดูแล้ว ก่อให้เกิด อารมณ์ทางเพศ ก็เป็นภาพโป๊ ชัด ๆ ไม่ใช่เป็นศิลปะ

ส่วนการผิดกฎหมายนั้นผิดชัด ๆ กฎหมายควบคุมน้ำเมาหรือพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์ ดังกล่าว ออกมา เป็นกฎหมาย สมัยที่ผมเป็น ส.น.ช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เมื่อประมาณ ๒ ปีกว่า ๆ มาแล้ว

ผมร่วมเป็นกรรมาธิการอยู่ด้วย ได้รับเลือกเพราะเคยไปกินไปนอนกลางถนนวิทยุ สำนักงาน ก.ล.ต. (คณะกรรมการ กำกับตลาดหลักทรัพย์) ชุมนุมคัดค้าน ไม่ให้เบียร์เหล้า เข้าตลาดหลักทรัพย์ คัดค้าน เป็นผลสำเร็จมาแล้ว

ในคณะกรรมาธิการพิจารณาออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาน้ำเมานั้น มีคนของเจ้าพ่อ น้ำเมา ร่วมเป็น กรรมาธิการ ด้วยหลายคน เถียงกัน หน้าดำหน้าแดง แต่ฝ่ายเราที่เห็นประโยชน์ส่วนรวม เป็นฝ่ายชนะ กฎหมายนี้ จึงออกมาได้

โชคดีที่ตอนนั้นมีสภาเดียวทำหน้าที่เป็นทั้ง ส.ส.และ ส.ว. จึงผ่านกฎหมายได้สำเร็จ หากเป็นสมัยนี้ เมื่อผ่านการประชุม ส.ส. แล้ว ต้องไปให้ ส.ว. กลั่นกรอง อนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง ๒ สภา มีคนของเจ้าพ่อน้ำเมา ปนอยู่มาก คงออกกฎหมาย ควบคุม การโฆษณาน้ำเมา ไม่ได้แน่

กฎหมายฉบับดังกล่าวกำลังถูกกระทบ วงการเจ้าพ่อน้ำเมาเริ่มก่อหวอดคัดค้าน ต้องการให้มีการแก้กฎหมาย ให้สามารถ โฆษณาน้ำเมา ได้เสรีมากขึ้น ให้มีคนดื่มน้ำเมามากเข้า ส่วนสังคม จะเสียหายอย่างไร ไม่ต้องคิด ขอให้ได้กำไร มหาศาล ก็แล้วกัน

โรงเรียนผู้นำ นอกจากจะฝึกอบรมผู้นำแล้ว ยังมีงานเสริม คือเปิดค่ายสุขภาพ เป็นครั้งคราว มีทั้งค่ายของ คุณหมอเจค็อบ, หมอเขียว และ พ.อ. ณรงค์ชัย

ผมพูดคุยกับคนไข้ที่ไปเข้าค่ายว่า "ไม่มีหมอวิเศษคนไหนในโลกที่รักษาคนไข้ให้หายเจ็บป่วย ได้ทุกคน หายก็มี ไม่หายก็มี แต่ถ้าหายมากกว่า ไม่หาย และไม่ต้องกินยา, ไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องฉายแสง ก็น่าลอง รับการรักษา

ในระยะหลัง ๆ นี้มีหลายอาการ หลายโรค ที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย จึงเกิด "แพทย์ทางเลือก" ขึ้น เช่น แพทย์ไทยเดิม การนวดแผนโบราณ การฝังเข็ม เป็นต้น

ผมได้รับเอกสารจากท่านอาจารย์หมอเฉก ธนะสิริ เรื่อง "การเปรียบเทียบการแพทย์ผสมผสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ การแพทย์แผนปัจจุบัน" ขอคัดเอาบางตอน ที่ท่านเขียนไว้ มาเผยแพร่ต่อดังนี้

"ผลสำเร็จแพทย์ครบ ๕๕ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาแล้วก็จริง แต่ผมเพิ่งมาศึกษาเรื่องที่กำลังกล่าวถึงนี้ ก็เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ นี้เอง คือ เมื่อผมมารับหน้าที่ "ประธานมูลนิธิ ฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ" จึงได้ศึกษาเรื่องนี้แล้ว ทราบว่า

ทุกประเทศในโลกต่างมีการแพทย์ของตนเอง เช่น ประเทศอินเดียมีอายุรเวท มีโยคะ, สมุนไพรเป็นต้น ประเทศจีน มีฝังเข็ม ซิกง ไทเก๊ก, สมุนไพรจีน ประเทศไทย มียาสมุนไพรไทย คือยาหม้อ ยาเขียว ยาดำ มีการนวด (รวมฤษีดัดตน) การประคบ สมุนไพร การอยู่ไฟ การกดจุดดำจุดแดง (คล้ายฝังเข็มของจีน) ฯลฯ

การแพทย์แผนปัจจุบันเพิ่งถือกำเนิดในยุโรปประมาณ ๒๕๐ ปีมานี้เอง แล้วจึงได้แพร่ความเจริญ อย่างรวดเร็ว ไปทั่วโลก เพราะทันสมัย และมีความหวือหวา ดังนั้นประเทศไทย ในสมัยรัชกาล ที่ ๕ จึงโปรดเกล้าให้สร้าง "โรงศิริราชพยาบาล" ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ อีก ๑ ปี ถัดไปได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง โรงเรียนแพทย์ โดยให้สอน ๓ วิชา คือ แพทย์แผนไทย (แผนโบราณ) เภสัชโบราณ และ แพทย์แผนปัจจุบัน เรียนทั้ง ๓ วิชา ๓ ปี ให้ประกาศนียบัตร ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๖ มูลนิธิ ร็อกกิเฟลเลอร์ สหรัฐอเมริกา เข้ามามีบทบาท ให้ความช่วยเหลือ ทั้งงบประมาณก่อสร้าง, ศึกษาวิจัย, ดูงาน และในที่สุด โรงเรียน แพทย์ศิริราช มีการสอน เฉพาะแพทย์แผนปัจจุบันโดยตัดทิ้ง แผนโบราณของแผนไทย ออกไปทั้งหมด

โปรดสังเกตว่า ในเวลาไล่เลี่ยกันอิทธิพลตะวันตกต่อประเทศอินเดียและจีน ยิ่งหนักหนาสาหัส กว่าประเทศไทย หลายเท่านัก แต่ทั้งสองประเทศ เขาไม่ยอมทิ้งวิชาแพทย์เดิมของเขา แต่ก็ยอมรับ แผนปัจจุบัน ดังนั้นในโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลปักกิ่ง ที่ผม และแพทย์ จากประเทศไทย รวมประมาณ ๑๕ คน ได้เคยไปดูงานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ไปเยี่ยมชม และไปนอนป่วยอยู่ ๑ สัปดาห์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เริ่ม เปิดสัมพันธไมตรี กับจีน ใน พ.ศ. ๒๕๑๘)

โรงพยาบาลปักกิ่ง ไม่ยอมทิ้ง การสอนการแพทย์แผนจีน เช่นเดียวกับอินเดีย ไม่ยอมทิ้ง อายุรเวท, และโยคะ...

............................................................

ระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันนั้นเอง ศ.น.พ.อวย เกตุสิงห์ ปรมาจารย์ของศิริราช ได้ตั้งโรงเรียน อายุรเวท สอนวิชา แพทย์แผนไทย ประยุกต์ โดยอาศัย มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นที่เรียนชั่วคราวโดยได้รับพระกรุณาธิคุณ จากสมเด็จ พระสังฆราช สมเด็จญาณสังวรฯ ดำเนินงานโดย มูลนิธิฟื้นฟู ส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ ซึ่งอาจารย์อวย เป็นประธาน และเป็นครูใหญ่ ของโรงเรียน อายุรเวทด้วย (ปัจจุบัน น.พ.เฉก ธนะสิริ เป็นประธาน)

ต่อมาเมื่อประมาณ ๒๕ ปีมาแล้ว อาจารย์อวย เกตุสิงห์ ได้ขอให้การเรียนการสอน วิชาแพทย์ แผนไทยประยุกต์ ให้ได้เข้าไปเป็น วิชาแพทย์ สาขาหนึ่ง ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ปรากฏว่า ถูกต่อต้าน โดยคณะบดี อย่างน้อย ๓ คน และแพทยสภา ก็ต่อต้าน ไม่เห็นด้วย ติดต่อกันเรื่อยมา จนกระทั่ง คณะบดี คนปัจจุบันใน พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับโอนกิจกรรม การเรียน การสอน แพทย์แผนไทยประยุกต์ ของมูลนิธิฯ เป็นวิชาใหม่ เข้าไปอยู่ใน คณะแพทย์ ศิริราช พร้อม ๆ กันนั้น หลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ บุรีรัมย์ ก็กำลังดำเนินการ ในทำนองเดียวกันอยู่ ในขณะปัจจุบันนี้

จากกระแสของโลกาภิวัตน์กระแสการแพทย์แผนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แผนปัจจุบัน อาทิ การแพทย์แผนไทย การนวดแผนไทย การฝังเข็ม การกดจุด ตลอดจนการใช้ยาสมุนไพร ทั้งไทยและจีน เริ่มอยู่ในกระแส ประชานิยม จนในที่สุด กระทรวง สาธารณสุข ได้จัดตั้ง กรมการแพทย์แผนไทย และ การแพทย์ทางเลือกขึ้น ในกระทรวง สาธารณสุข ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมยิ่ง ณ บัดนี้ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช เปิดหลักสูตร แพทย์แผนไทยประยุกต์ไปแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ นี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มดำเนินการ ติดต่อมาก่อนคณะแพทย์ศิริราช แต่มีข้อขัดข้องทางเทคนิค และ นโยบาย บางประการ เพิ่งจะเริ่มตั้งต้น ติดต่อใหม่ ในปี ๒๕๔๘ ทำนองเดียวกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา กำลังจัดตั้ง ภาควิชานี้อยู่ เช่นเดียวกัน

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งกรมใหม่คือ กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ก็ปรากฏว่า แพทย์แผนจีน มีบทบาทอย่างสูง ในกรมใหม่นี้ ประเทศจีนได้เสนอความช่วยเหลือ ให้แก่รัฐบาลไทย จำนวนมาก เพื่อจัดตั้งสถาบัน การศึกษา การแพทย์แผนจีน, โรงพยาบาล, สถาบันวิจัย และจำหน่ายยาสมุนไพรจีน ฯลฯ มีศูนย์กลาง อยู่ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งมูลนิธิ ปอเต็กตึ้ง สนับสนุน ทางด้านการเงิน โดยตลอด ศูนย์ได้กระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๗ มกราคมนี้ พ.ศ. ๒๕๔๘"

ท่านอาจารย์หมอเฉกได้เขียนรายละเอียด เพิ่มเติมว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริ และสร้าง โรงพยาบาลศิริราชขึ้น แล้ว ประธานคณะกรรมการบริหาร โรงพยาบาล กราบบังคมทูลว่า หมอยังขาดแคลน สมควรตั้ง โรงเรียนแพทย์ การเรียน จะเน้นไปในด้าน แพทย์แผนปัจจุบัน พระองค์ท่าน ไม่ทรงขัดแย้ง แต่ทรงเตือนว่า อย่าทิ้ง "หมอไทย" ควรจะให้มีต่อไป

ท่านสมาชิก "เราคิดอะไร" ซึ่งสนใจ "แพทย์ทางเลือก" เมื่อได้ทราบเรื่องนี้ คงจะมั่นใจว่า ตัดสินใจถูกต้องแล้ว

บ้านป่านาดอย พลตรีจำลอง ศรีเมือง หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๒๓๔ มกราคม ๒๕๕๓