ข่าวคนเอ๋ย...นักข่าวเบอร์สาม หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 131 มิถุนายน 2544

 

  ชีวิตก็เหมือนก้อนน้ำเข็ง เป็นรูปเป็นร่าง แวววาว แต่แล้วก็ละลายหายวับ อะไรนักหนากับชีวิต

                 “บพิธ”  ตะโกนด่าลูกอย่างอารมณ์เสีย เมื่อเห็นสมุดพกได้คะแนนแค่สอบผ่าน

                 “ลูกชาย”  คนโตเถียง ที่น้องเล็กสอบก็ได้คะแนนพอๆ กับตัวเอง

                 บพิธ  โกรธมาก หวดลูกไม่ยั้ง

                ปกติแล้ว บพิธ มักจะซื้อของกินของเล่นมาฝากลูกชายคนเล็กเสมอ

                 “น้องมันยังเล็ก ครูก็ไม่ดี ถึงเรียนเป็นอย่างนี้”  บพิธแก้ตัวให้ ทั้งๆ ที่คนโตกับคนเล็กอายุห่างกันแค่ ๒ ปี

                 บพิธ  เมื่ออายุมาก ลูกคนโตกลับต้องรับภาระเลี้ยงดู ส่วนคนเล็กมีฐานะก็จริง แต่บ่ายเบี่ยงไม่รับรู้  บพิธ  ได้แต่ช้ำใจ

                 บพิธ  ตายไปเมื่อถึงเวลา ไปเติบโตในตระกูลชาวบ้าน ชื่อ  บดินทร์

                ชาตินี้ของ  บดินทร์  เจ็บช้ำ ความลำเอียงของคุณแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน จนเป็นความฝังใจไม่ลืมเลือน

                เมื่อ  บดินทร์  ทำงาน เจ้านายก็ลำเอียง แถมยังอคติ

                มีเพื่อนฝูงก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ และแม้บางครั้งเพื่อนฝูงไม่ได้เจตนา แต่  บดินทร์  กลับคิดมาก โยงเหตุการณ์เป็นจริง เป็นจัง เชื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อนที่หวังดี  บดินทร์  ก็มองเป็น  “หวังร้าย” 

                หลวงพ่ออุดม ญาติผู้ใหญ่ของครอบครัว เคยเล่าให้ฟังถึง  “กรรมบัง”  เมื่อวิบากมาถึง หรือกำลังออกฤทธิ์ อะไรจะเกิด ก็เกิดได้ เหมือนผีผลัก เหมือนผีบัง

                หลวงพ่อยกตัวอย่าง คนบางคน ข้ามถนนถูกรถชนตาย ใครๆ ก็เห็นรถแล่นมาอย่างเร็ว แต่เจ้าตัว กลับมองไม่เห็น ถึงเวลาตายจริงๆ

                 บดินทร์  ฟังแล้วไม่เข้าใจ บดินทร์เห็นแต่ว่า คนนั้นคนนี้หวังร้ายกับตัวเขา ไม่มีความจริงใจ

                หลวงพ่อยิ้มเตือนอย่างเมตตา  อย่าเชื่อในอายตนะของตัวเอง อย่าใช้ตามอง อย่าใช้หูฟัง เราจะล้มเหลวผิดพลาด ไปทุกเรื่อง

                จงอดทน จงอภัย ให้มากเข้าไว้ เพื่อใช้หนี้กรรม!

 

(จากหนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๑ มิถุนายน ๒๕๔๔)