หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 

ข่าวคนเอ๋ย...

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 123
หน้า 1/1

ขาว่าข้อมูลที่ดีคือข้อมูลทั้ง ๒ ข้าง คือจากฝ่ายที่ได้ประโยชน์ และฝ่ายที่เสียประโยชน์

คนอยู่เมืองเคยแต่สุขสบาย และเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรง ก็ยากที่ได้ข้อมูลจากคนที่อยู่ในพื้นที่

"กรณีเขื่อนลำน้ำมูล" มติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ "รายงานพิเศษ" ได้แคะคุ้ยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องลงในฉบับที่ ๑๐๔๑ ปีที่ ๒๐ วันจันทร์ที่ ๓๑ ก.ค.๒๕๔๓ ตั้งหัวข้อเรื่องชวนน้ำตาไหล "โศกนาฏกรรมหมู่บ้าน"

ทีมนักข่าวเบอร์สาม ขอตั้งหัวข้อเรื่องซ้อนอีกที "เบื้องหลังแห่งความสุขของเรา คือ เบื้องหลังแห่งความทุกข์ของเขา!"

มูนมัง คือ "มรดกอันบรรพบุรุษอีสานตกทอดไว้แก่ลูกหลาน" เหมือนดังธรรมชาตินาม"ลุ่มน้ำมูล"…! พร้อมๆกับสถาปนาชื่อใหม่ว่า "แม่น้ำมูล" เมื่อเขื่อนเข้ามา เทศกาลทวงคืน"มูนมัง"ของพวกเขาชาวลุ่มน้ำมูลก็เริ่มขึ้นในนามของ"ม็อบ" ทั้งที่สันเขื่อนและข้างทำเนียบ

ฝนโปรยโรยแดดอ่อนย่ำเย็น ควันโขมงโชยจากชายคาเต็นท็ผ้าใบ เรียงรายริมทางเท้าถนนข้างทำเนียบรัฐบาล หลายชีวิตเวียนว่าย กินอยู่หลับนอนตรงนี้มาหลายวัน และหลายคนคุ้นชินกับสถานที่นี้ หลายครั้งหลายครา กับการเรียกร้องให้ปัญหาพวกเขา ได้รับ การใส่ใจแก้ไขจริงจังสักที

"สมเกียรติ พ้นภัย" ชายรุ่นใหญ่ใบหน้าคลุมหนวดเครา เป็นอีกหนึ่งลมหายใจในม็อบคนจน…!

จากจับปลาบนลำน้ำมูลครั้งกระโน้น วันนี้ต้องมาจับไมค์บนเวทีที่ข้างทำเนียบ เป็น "โฆษกจำเป็น"

"ก็ขอขอบคุ้นทางเจ้าหน่าทีที่ให้น่ำให้ใน ครับพี่น่อง ผมสิอ่านสารสันติ๊เกี่ยวข่องกับพี่น่องนั่งอ๊ดเข่าอ๊ดน่ำ ก็ให้พี่น่องทำหน่าที่ไปตาม ป๊กกะติ๊น่ะครับ เฮ็ดหยังอยู่หยังกิน ก็ฟังไปนำบ่ให้ซีเรียส…"

โฆษกจำเป็น เริ่มปฏิบัติภารกิจของเขาในม็อบในวันที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลและโครงการรัฐอื่นๆ เริ่มต้นยุทธวิธี นั่งอดข้าวประท้วงรัฐบาล

จาก"บ้านกุดเรือคำ" ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ถึง "กรุงเทพมหานคร"

ชายรุ่นใหญ่วัย ๔๖ กับนางประชิต ภรรยา มีที่พำนักใหม่ใต้ต้นมะขามใหญ่ เป็นบาทวิถีข้างโรงเรียนพาณิชยการพระนครฝั่งทำเนียบ

"กุดเรือคำ หมายความว่า มันเป็นแม่น้ำใหญ่ที่คดโค้งเวลาน้ำหลากมามันจะลัดตรงโค้ง พอน้ำเซาะมันจะเป็นหนองเป็นบึงใหญ่ แล้วหนองนั่นน้ำจะไม่ขาด มีอารักษ์อยู่ คนโบราณเขาว่าแต่ก่อน มันจะมีเรือเป็นทองคำมาพายเวลาวันพระ"

อดีตนักธรรมเอก เริ่มเท้าความถึงความผูกพันชีวิตกับลำน้ำ…เป็นเกือบทั้งชีวิตของชาวบ้านปากมูนทั้งหมดที่ข้างทำเนียบ

"พื้นที่ ๓ อำเภอ คือ โขงเจียม สิรินธร พิบูลมังสาหาร นี่จะมีการทำนาน้อยที่สุด เพราะเป็นภูเขา เป็นหิน เป็นกรวดเป็นทราย เขาจึงยึด อาชีพประมง คือจับปลาตามปกติธรรมชาติของปากน้ำนี่ มันจะมีความอุดมสมบูรณ์มาก ฉะนั้นปลาถึงเยอะอยู่ในปากมูน การจับปลานี่ เป็นการสนุกสนาน และเป็นเศรษฐกิจที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมันจะแปรรูปเป็นอาหารได้หลายอย่าง ขายเป็นปลาสด ปลาแห้ง ปลาเค็ม ปลาร้าปลาป่น ได้ทุกทาง ตัวที่มันเน่าเสียก็เป็นอาหารให้เป็ดไก่ การจับปลาถึงเป็นอาชีพหลักของคน ๓ อำเภอ…"

ความรุ่มรวยด้วยลุ่มน้ำบันดาลสารพันปัจจัย ๔ รวมวิถีทางวัฒนธรรมและความผูกพันทางใจ เป็นอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เป็นแหล่งอาชีพ ประมงน้ำอาบน้ำกินเส้นทางคมนาคม ทั้งยังเกาะแก่งแหล่งธรรมชาติที่พักผ่อน และทุนรอนส่งเสียลูกหลานเข้าโรงเรียน

"วันๆ ตื่นมาก็ลงเรือพายไปดักข่ายใส่เบ็ดทอดแหแต่เช้ามืด สายๆเอาขึ้นมาขาย แล้วหาอีก ถ้าไม่ขยันก็ลงตอน ๒-๓ ทุ่มแล้ว กลับมาพักผ่อน พอสายก็ไปเอาขึ้นขาย ใครขยันก็ได้มาก เฉลี่ยก็วันละ ๕๐๐ บาท เพราะน้อยสุดก็ ๕๐บาท มากสุดบางทีวันละ ๔-๕ พันก็มี ถ้าไม่ขยัน อย่างน้อยก็ไม่อด อย่างขี้เกียจก็ไม่ต่ำกว่าวันละ ๒-๓ ร้อยบาท…

แม่น้ำมูลยังให้ผักไม่รู้กี่ร้อยชนิด ที่พ่อแม่เราพาเก็บกินตลอด เป็นของธรรมชาติที่ไม่ต้องรดน้ำไม่ต้องให้ปุ๋ย ไม่ต้องเสียเงิน แลกเปลี่ยน กันกินได้…"

"ช่วงเทศกาลต่างๆ อย่างสงกรานต์ พี่น้องจะนัดหมู่บ้านใกล้เคียงมาเนา (ชุมนุม) กันที่แก่ง มีการรดน้ำ ถวายอาหาร ฟังพระธรรม ก่อเจดีย์ทรายให้สังคมหมู่บ้านข้างเคียงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข…"

จากปลาเนื้ออ่อน ปลาเศรษฐกิจ ราคาดีกิโลละเป็น ๑๐๐บาท ขึ้นสารพัดปลา อาทิ ปลาเริม ปลาเคิง ปลาคูน ปลากระมัน ปลาพร้าว ปลาสะงั่วปลาโจก กระทั่งขนาดล่ำอย่างปลากะพง ๒๐๐-๓๐๐ กิโล หรือขนาดใหญ่เป็น ๑,๐๐๐กิโล อย่างปลาบึก กลายเป็นปลาจิ๊บจ๊อย ดารดาษที่กรมประมงเอามาปล่อยอย่างนิล ไน อีสก สวาย กิโลกรัมละ ๑๐ บาท ๒๐ บาท ที่มาพร้อมกับบันไดปลาโจน สำหรับปลาโอลิมปิก ของกฟผ. พร้อมๆ กับ "เขื่อนปากมูล"…

"สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดมันหายไปจากชีวิตเราแล้ว อาชีพประมง วัฒนธรรมผักหญ้าสมุนไพรริมน้ำ ระบบนิเวศวิทยาเสียหาย ชุมชนแตกแยก วัฒนธรรมเสื่อมสูญ จิตใจพี่น้องเรายังแตกสลาย แต่ก่อนพี่น้องเราเคยอยู่รวมกันเป็นครอบครัว ตื่นเช้าขึ้นมา ๒-๓ โมง ลูกไปโรงเรียน ค่ำมาพบปะพ่อแม่ กินข้าวกินปลา ช่วยบอกการบ้านลูกออกไปหาปูปลาในแม่น้ำ มีความสุข เมื่อมีเขื่อนขึ้นมา ลูกหลานมาขายแรงงาน ในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดกันหมด บางทีก็ไปติดยาเสพติด บางทีก็ไปขายตัว…"

โฆษกม็อบ บอกว่าครอบครัวเขาเองนั้น ๘ ชีวิตพ่อแม่ลูก ก็แตกฉานซ่านเซ็นไม่เป็นสุข ไม่ได้พบหน้า ไม่เหมือนเดิม…"

ลูกสาวคนโต คนรอง คนต่อมา ไปค้าแรงงานเป็นสาวโรงงานเมืองกรุง คนที่สามก็ตามรอย ออกโรงเรียนปีกลาย ส่วนสองคนเล็กชาย-หญิง ทิ้งไว้ในหมู่บ้านฝาก วานเพื่อนๆ ช่วยดูแลให้ข้าวน้ำ

"เพราะไม่มีเงินส่ง หาปลาก็ไม่ได้ ความรู้ผมก็แค่ป.๔ มาทำงานอย่างดีก็แค่กรรมกรก่อสร้าง เราก็แก่แล้วไม่มีแรงที่จะไปทำ… ลูกก็ร้องไห้ ว่าทำไมไม่ให้หนูไปโรงเรียน หนูจะอ่านหนังสือได้ไหม แล้วครูจะว่าไหม เราก็ร้องไห้เหมือนกัน บอกว่าทำอย่างไรลูก ถ้าลูกไปโรงเรียน พ่อกับแม่ก็ไม่มีเงินให้ นี่เป็นเรื่องที่ทรมานใจมาก"

๑๕ เดือนที่หมู่บ้านสันเขื่อน และ ๖ ปีกับผลกระทบเขื่อนปากมูล คือ บทเรียนที่ชื่อว่า "รู้จักรัฐบาลไทย"…!

"แต่ก่อนผมไม่คิดว่าเขื่อนจะทำลายเราขนาดนี้ ผมฟังวิทยุ ฟังข่าว ส่วนราชการ เขาให้ข้อมูลมาว่า ถ้ามีเขื่อนจะดีอย่างโน้น จะดีอย่างนี้ จะมีไฟฟ้าใช้ จะมีถนน จะมีการช่วยเหลือชีวิตชุมชนให้ดีกว่าเดิม พอมาเจอกับตัว ถึงรู้ว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวง"

เขาบอกไม่คิดอยากจะรู้จักกรุงเทพฯ ไม่คิดว่าที่พบหน้าค่าตาครอบครัว ครอบครัวคือเมื่อลูกสาวกรรมกรมาเยี่ยมที่ม็อบ ยามหยุด เสาร์-อาทิตย์แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อมีเขื่อน

"เขื่อนปากมูล" ที่เปลี่ยนชีวิตบน "ลำน้ำมูน"

ชายกลางคนมองผู้เฒ่า-แม่แก่ ที่จดจ่อสาละวนถัก-ซ่อม แห อวน อยู่กลางม็อบ พลางหวนอาลัยถึงแห มอง อวนลาก เบ็ดราว เบ็ดตก ลอบ ไซจั่นสวิง หลากวิธีหาปลา และบรรดาเครื่องมือประมง กว่าร้อยชนิด ที่เกิดจากปัญญาบรรพบุรุษแม่น้ำ ตกทอดมาเป็นมูนมังของพวกเขา

เขาหวังว่าจะได้กลับไปใช้มันอีก…!