กติกาเมือง ตอน...
ประคอง เตกฉัตร
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง
ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ความก้าวหน้าในการปรับปรุงกรมการศาสนา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้การจัดโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด
โดยใช้ชื่อ กระทรวงใหม่ว่ากระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งให้มีการยุบทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
เข้ามาอยู่ในกระทรวงดังกล่าวนี้ ด้วยให้แล้วเสร็จในวันที่๑๙สิงหาคม ๒๕๔๕
เดิมกรมการศาสนา เป็นกรมหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุง
กรมการศาสนาใหม่ทั้งหมดผู้ที่ดำเนินการ ตามแผนการปฏิรูปการศึกษานี้คือองค์กรใหม่ที่ชื่อว่า สำนักงานปฏิรูปการศึกษา มีชื่อย่อว่า สปศ.
ในหมวดที่ ๕ ว่าด้วยการบริหารและการจัดการศึกษา
ส่วนที่ ๑ การบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ มาตรา ๓๑ บัญญัติให้ กระทรวงมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการศาสนา
สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศาสนา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบและประเมินผล
และการจัดการศาสนาด้วย
ในมาตรา ๓๒ ให้กระทรวงมีองค์กรหลัก
ที่เป็นคณะบุคคลในรูปสภา หรือในรูปคณะกรรมการจำนวน ๔ องค์กร ได้แก่สภา
การศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอุดมศึกษา
และคณะกรรมการ ศาสนา และวัฒนธรรมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี
หรือคณะรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา เสนอนโยบายรัฐบาล ในมาตรา๓๓กำหนดให้สภาการศึกษาศาสนาและ
วัฒนธรรมแห่งชาติ มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษาชาติ
นโยบายและแผนด้านศาสนา ศิลปะและ วัฒนธรรม สนับสนุน ประเมินผลรวมทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายที่ออกตามความ
ในพระราชบัญญัตินี้
คณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรมได้บัญญัติไว้ในมาตรา
๓๔ วรรคสาม ให้มีหน้าที่พิจารณานโยบาย แผนด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
และประเมินผลการดำเนินการด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
หลังจากได้มีการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้ไปได้ในระยะหนึ่ง
มีทั้งเสียงติชม เสียงคัดค้าน และข้อเสนอแนะจากบุคคลหลายฝ่าย รวมทั้งพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่หลายรูปโดยเฉพาะ พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) เลขาธิการ ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ออกมาคัดค้านว่า คณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม จำนวน
๙ คน ที่จะดูแลงาน ในกรมการศาสนาเดิมนั้นมีตัวแทนศาสนาอื่นๆ ด้วย เป็นเหตุให้บุคคลในศาสนาอื่นมาบริหาร
พุทธศาสนา และการบริหารศาสนา ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ต้องบริหารงานศาสนาทุกศาสนาโดยเงินของชาวพุทธ
ท่านเสนอให้เอาเงินของสภาคาทอลิก และสำนักจุฬาราชมนตรีมาบริหารด้วย ท่านและคณะอ้างว่า
การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การอุปถัมภ์ หรือคุ้มครองพระพุทธศาสนา แต่เป็นการทำลายพุทธศาสนา
ท่านอ้างว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าว ดูหมิ่นภูมิปัญญาของพระเถระชั้นผู้ใหญ่
นอกจากนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ
พระศรีปริยัติโมลี รองอธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระอุดมญาณโมลี
เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ พระมหาโชว์ ทสฺสนีโย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริหารสังคม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในการไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้ในการบริหารกิจการของคณะสงฆ์
ตามโครงสร้างใหม่มหาเถรสมาคมภายใต้คณะกรรมการชุดนี้จะถูกลดบทบาทลง
ให้มีฐานะเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ ทางคณะสงฆ์ จึงยื่นข้อเสนอใหม่รวม
๔ ข้อ คือ
๑. ให้กรมการศาสนาอยู่ในกระทรวงใหม่แต่ให้แยกเฉพาะงานศาสนสมบัติออกไปเพราะเป็นสมบัติของสงฆ์
๒. ให้แยกสำนักงานมหาเถรสมาคมกับงานศาสนสมบัติออกเป็นเอกเทศหรือไปขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี
๓. ให้คงกรมการศาสนาไว้ในกระทรวงใหม่แต่มีฐานะเป็นสำนักงานใหญ่เทียบเท่าสำนักงานอื่น
๔. ให้แยกกรมการศาสนาออกไปขึ้นกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง
นายสุรพล นิติไกรพจน์
กรรมการบริหาร สปศ.ชี้แจงว่า โครงสร้างใหม่ จะไม่กระทบอำนาจคณะสงฆ์ และจะไม่แตะต้องในเรื่อง ที่เป็นอำนาจของสงฆ์ เพียงแต่จะทำให้เกิดความชัดเจน ในด้านศาสนสมบัติกลาง เท่านั้น
ต่อมานายไพบูลย์ เสียงก้อง
คณะกรรมการ สปศ. ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการโครงสร้าง
ด้านศาสนานัดพิเศษโดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์
และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษากรรมการมหาเถรสมาคม ร่วมประชุมด้วย
ที่ประชุมได้นำข้อมูลที่หารือ ร่วมกับคณะกรรมการบริหาร สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) มาประกอบการพิจารณา โดยที่ปรึกษามหาเถรสมาคม
ได้เสนอแนะด้านกฎหมาย ให้มหาเถรสมาคม และขอให้มหาเถรสมาคม นำไปประกอบการพิจารณาว่า
จะเลือกแนวทางใด ถ้ามหาเถรสมาคมเลือกแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อให้คณะสงฆ์เป็นอิสระ
จากพระราชบัญญัติดังกล่าว มหาเถรสมาคมต้องพิจารณาด้วยว่า จะแก้ไขประเด็นใด
สำนักงานคณะกรรมการทำงาน ด้านศึกษาโครงสร้างงานด้านศาสนานั้น มีพรหมมุนีเป็นประธานยืนยัน
ให้มหาเถรสมาคม เป็นผู้เลือกแนวทางความเหมาะสม ด้านศาสนา ที่ยังติดขัดอยู่เพื่อให้สอดคล้อง
กับกรอบของ สปศ.
เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว
เรื่องการจัดโครงสร้าง ของกรมการศาสนา สปศ.หรือคณะกรรมการ บริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา
ได้ประชุมและมีมติแก้ไขปรับปรุง บทบัญญัติของกฎหมาย
ตามความต้องการของคณะสงฆ์ใหม่ ดังนี้
๑. ข้อวิตกการก้าวก่ายอำนาจการบริหารคณะสงฆ์
ให้เพิ่มเติมข้อความในวรรค ๖ มาตรา ๑๗ ของพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการ
กระทรวงศึกษาศาสนา และวัฒนธรรมให้อำนาจ หน้าที่คณะกรรมการศาสนา และวัฒนธรรม
และสำนักงานคณะกรรมการศาสนา และวัฒนธรรมไม่กระทบกระเทือน ถึงอำนาจของมหาเถรสมาคม
๒. การจัดการศาสนสมบัติของคณะสงฆ์เพิ่มข้อบัญญัติวรรค
๗ มาตรา ๑๗ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารฯ
ให้การดำเนินการ ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง ศาสนสมบัติของวัด เป็นไปตามหลักเกณฑ์
ที่ได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม
๓. การปรับโครงสร้างหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการสนองงานพุทธศาสนา ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนชื่อ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เป็น สำนักงานสนับสนุนงานมหาเถรสมาคม และ สำนักอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา เปลี่ยนเป็น สำนักงานประสานงานและ
ส่งเสริมศาสนา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า สำนักงานเหล่านี้ มีหน้าที่เฉพาะงานประสานงาน
และส่งเสริมรองรับงานทางศาสนาเท่านั้น
๔. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการศาสนา
และวัฒนธรรม กำหนดองค์ประกอบใหม่คือ ให้คณะกรรมการลำดับที่ ๑๐ถึง๑๒ มาจากพระภิกษุที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย
ให้เป็นผู้แทนจำนวน ๓ รูป จากเดิมที่ให้มีตัวแทน เพียง ๑ รูป และลำดับที่
๑๓ ถึง ๑๖ ให้เป็นผู้แทนองค์กรศาสนา ที่ข้าราชการรับรองในศาสนาคริสต์
อิสลาม ซิกข์ พราหมณ์-ฮินดู ทั้งนี้ในการจัดองค์ประกอบ
คณะกรรมการนี้ เพื่อสอดคล้อง กับการที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้ พุทธศาสนามีความสำคัญสูงสุด
๕. การกำหนดคุณสมบัติ องค์ประกอบของผู้นำศาสนา
ในคณะกรรมการ เขตพื้นที่จะต้อง เป็นพระภิกษุ หรือผู้นำศาสนาอื่น โดยหลักเกณฑ์
และวิธีการคัดเลือกตัวแทนพระพุทธศาสนา ให้เป็นไปตามที่มหาเถรสมาคม กำหนด
เห็นว่า การพยายามแก้ไขการบริหารงาน
ศาสนาตามกรอบดังกล่าว ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงศาสนา
นิกายศาสนา ลัทธิและประเพณีนิยมทางศาสนาที่รัฐยังไม่รับรอง ฉะนั้น การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนี้
ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใดองค์กรศาสนาต่างๆ ที่รัฐยังไม่ได้เข้ามารับรอง
คุ้มครองโดยกรมศาสนาเดิม ก็จะไม่ได้รับการกระทบกระเทือนไปด้วย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
คณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้ คงไม่ร่างกฎระเบียบ หรือแก้ไขกฎหมาย ไปกระทบกระเทือนถึง สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา จนขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่บังคับใช้อยู่ อันจะเป็นปัญหาตามมาอีก
อันจะเป็นการแสดงให้ประจักษ์ว่า การที่รัฐเข้าไปบริหารงานศาสนา กับปล่อยให้บุคลากรในแต่ละศาสนา
แต่ละนิกาย แต่ละความเชื่อเข้าบริหารกันเอง อย่างไหนจะเผยแผ่ได้ดีกว่า
อย่างไหนจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และมนุษยโลกมากกว่า
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งทำให้ทราบว่า
ทาง ราชการกำหนดให้ศาสนาหลักใน ประเทศไทย มี ๕ ศาสนาคือ พุทธ คริสต์ อิสลาม
พราหมณ์-ฮินดู ซิกข์
(จากเราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๒๙)
|
---|