หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
สีสันชีวิต แพทย์ทางเลือก แนะนำ...
นายแพทย์สมนึก ศิริพานทอง
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ปีที่ 7
ฉบับที่ 128 เดือนมีนาคม 2544

แพทย์ทางเลือก
นายแพทย์สมนึก ศิริพานทอง

คำว่าทางเลือก หมายถึงทางเลือกอื่น ที่แตกต่างไปจากกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรทางเลือก การศึกษาทางเลือก คุณหมอสมนึก เป็นคุณหมอทางเลือกที่ใช้วิชาการแพทย์ทางเลือกในการรักษาสุขภาพ

ประวัติ

ชื่อ นายแพทย์สมนึก ศิริพานทอง

เกิด ๔ สิงหาคม ๒๕๐๔ จังหวัด ยโสธร

สมรส ท.ญ. กฤษณา ศิริพานทอง

การศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลรามาธิบดี ๒๕๒๖

ปัจจุบัน จักษุแพทย์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานีหัวหน้าศูนย์ส่งเสริม สุขภาพและการแพทย์แบบพหุลักษณ์

ความหมายของการแพทย์ทางเลือก

ความหมายในทางปฏิบัติ ที่เข้าใจง่ายๆหมายถึงการแพทย์ที่ยังไม่ได้สอนในโรงเรียนแพทย์ อะไรที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ ถือเป็นการแพทย์กระแสหลัก เป็นการแพทย์แบบแผน ถ้าอะไรที่ยังไม่ได้นำมาสอนแสดงว่าเป็นการแพทย์ ทางเลือก

โดยสรุป การแพทย์ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับคือการแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนการแพทย์แบบอื่น เช่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ท้องถิ่น การแพทย์ อินเดีย หรือการแพทย์จีนซึ่งไม่ได้เอามาสอน ในโรงเรียนแพทย์ จึงถือเป็นการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ยาสมุนไพร การนวด การจัดกระดูกสันหลัง การฝึกสมาธิ เป็นต้น

เหตุที่หันมาสนใจเรื่องการแพทย์ทางเลือก

เรามาดูที่ปัญหาสุขภาพของคนไทย โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดคือโรคจากระบบหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคการรักษาใหม่ๆ เช่น การทำบอลลูน แต่คนไข้บางรายก็ยังเสียชีวิต อันดับสองก็คือมะเร็ง ปีหนึ่งๆ มีคนไทยประมาณ ๖๐,๐๐๐ คนที่ป่วยเป็นมะเร็ง และตายไปปีละประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ทั้งที่คนกลุ่มนี้ก็รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าหนทางที่เราคิดว่าดีที่สุด พอถึงจุดจุดหนึ่งกลับแก้ปัญหาได้ไม่หมด ผู้คนไม่มีทางไปก็ต้องพยายามหาทางออกอื่นๆ ว่า จะมีทางเลือกไหนได้อีกบ้าง

เมื่อมีคนไข้บางคนลองรักษาด้วยวิธีอื่น แล้วเกิดรอดก็เหมือนสร้างความมหัศจรรย์ขึ้นมา ทำให้มีคนสนใจการแพทย์ทางเลือกมากขึ้น ผมจึงสนใจว่าการแพทย์ที่เป็นภูมิปัญญาเดิม ที่ไม่มี การเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์นั้นน่าจะเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์

จุดเริ่มต้นของความสนใจเกิดขึ้นจากอะไร

ผมมีโอกาสอ่านหนังสือแมคโครไบโอติก กล่าวถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลในรัฐเพนซิลวาเนีย เป็นมะเร็งระยะที่ ๔ ท่านคิดว่าคงจะไม่รอด แต่ก็ สามารถอยู่มาได้ โดยการใช้หลักแมคโครไบโอติก หลังจากนั้นผมก็สนใจ ติดตามข่าวเรื่องการแพทย์ ทางเลือกมาตั้งแต่ที่ ดร.รสสุคนธ์ นำเข้ามา

เผยแพร่รวมทั้งเรื่องชีวจิตของ ดร.สาทิส โดยเข้าอบรมหลักสูตรนี้ ตลอดจนด้านการแพทย์แผนจีน ซึ่งผมมีโอกาสไปเรียนเรื่องฝังเข็มมา ส่วนดุลยภาพบำบัดก็ไปเรียนที่ รพ.บ้านสวน กับ อ.ลดาวัลย์ เป็นต้น

การแพทย์ทางเลือกเริ่มต้นที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

เริ่มที่กระทรวงสาธารณสุขก่อน ไม่ใช่ว่าเราจะเริ่มเองได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการพัฒนา การแพทย์ทางเลือกแบบผสมผสานมีท่านผู้ช่วยปลัดกระทรวง เป็นประธาน ในตอนนั้นมีการพิจารณาคัดเลือกโรงพยาบาลนำร่องเพื่อทดลองการรักษาอื่นๆ ที่ทุกคนกำลังฮือฮาว่าเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องหลอกมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ โดยให้แพทย์แผนปัจจุบันที่มีประสบการณ์จริง เป็นผู้ทดลองปฏิบัติในที่สุด ก็กำหนดให้ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เป็น รพ. นำร่อง เพื่อศึกษาดูว่า แพทย์ทางเลือกนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยพิจารณาว่า

๑.คนไข้ได้รับประโยชน์จากการศึกษาหรือไม่ จะเน้นดูที่ความประหยัดด้วย
๒.มีประสิทธิภาพหรือไม่
๓.ปลอดภัยกับผู้ป่วยหรือไม่ เนื่องจากเราเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน เราจะรู้ว่าวิธีปฏิบัติต่อ
ผู้ป่วยว่าแบบไหนที่เป็นอันตราย

แพทย์แผนปัจจุบันไม่ค่อยยอมรับเรื่องการแพทย์ทางเลือกในโรงพยาบาลนี้ มีปัญหา ความขัดแย้งหรือไม่

กระแสความไม่เข้าใจค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากเราทำอย่างมีเหตุผล มีที่มาที่ไป เป็น รพ. นำร่องที่กระทรวงสาธารณสุขยอมรับ ในการที่จะประยุกต์การแพทย์ทางเลือกมาใช้รักษาคนไข้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ ทำให้เราสามารถทำงานได้ด้วยดี หลังจากทำงานไประยะหนึ่งผู้คนก็ยอมรับมากขึ้นเพราะเมื่อผู้ป่วยได้รับผลดีจากการรักษาก็ไปพูดต่อ ทำให้กระแสการต่อต้านเริ่มเบาบางลง แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้รักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกอย่างเดียว เราถือว่าการรักษาโรคมีหลายๆวิธี วิธีไหนน่าจะเหมาะสมกับคนไข้คนไหน ก็นำวิธีนั้นมาใช้ บางกรณีคนไข้บอกมาเลยว่า อยากจะรักษาด้วยวิธีแพทย์ทางเลือก แต่เมื่อเราดูแล้วเห็นไม่เหมาะสม ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีของแพทย์แผนปัจจุบัน

โรงพยาบาลเราไม่ได้เปิดการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกอย่างเดียว เราเป็นโรงพยาบาลของภาครัฐที่มีวิธีการรักษาหลายแบบ ซึ่งต่อไปถ้าได้ผลดี วงการแพทย์อาจมีการสอนวิธีการรักษาแพทย์ทางเลือกเหล่านี้ในหลักสูตรก็ได้

ทัศนคติของคนไข้

คนไข้ที่มาหาเรา ส่วนใหญ่ไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย จนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว บางคนรักษามา ๑๐-๒๐ ปี จึงมาหาเรา ดังนั้นงานของเราค่อนข้างจะหนัก อย่างคนไข้ที่มาศูนย์ ส่งเสริมสุขภาพและการแพทย์พหุลักษณ์ ของเรา มีจำนวนถึง ๔๐๐-๕๐๐ คนต่อวัน ถ้าเทียบกับ โรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีคนไข้รวมกันถึง ๔ แสนคน คนไข้ที่มาที่นี่ ก็ยังมีสัดส่วนไม่มาก จำนวนไม่น้อย ที่รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่หายอยากหาทางออกอื่นๆ พอเปิดที่นี่เป็นจุดเล็กๆ คนไข้ก็เลย ทะลักมาอยู่ตรงนี้เยอะมาก จนเกิดปัญหาในการให้บริการไม่ทัน แม้แต่คนไข้ที่เป็นมะเร็งทุกวันนี้ ก็ไม่มีเตียงรองรับแล้ว ปัจจุบันคนไข้ที่เข้าอบรมก็แทบไม่มีที่ให้แล้ว ที่รอการฝังเข็มก็เต็มไปหมด จนแพทย์ทำงานไม่ไหว

โครงการต่อไปในอนาคต

เราเห็นว่าหน้าที่ของแพทย์ต้องมี ๔ ด้านคือ
๑. การรักษาโรค
๒. ส่งเสริมสุขภาพ
๓. ป้องกันโรค
๔. ฟื้นฟูสุขภาพ

งานด้านส่งเสริมสุขภาพนี่แพทย์ทั่วไปมักจะให้ความสนใจน้อย มีแพทย์น้อยรายที่จะมาอธิบาย ให้ผู้ป่วยทราบว่าทำไมเขาถึงป่วย และควรจะดูแลรักษาสุขภาพตนเองอย่างไรถึงจะหาย เพราะงานแบบนี้ไม่มีค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจสำหรับแพทย์ในการทำงาน เราจึงพยายาม สร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความคิดสุขภาพที่ดี ไม่ใช่อยู่ที่โรงพยาบาล ตอนนี้เรากำลัง เผยแพร่ความรู้สู่เด็กชั้นมัธยม ฝึกให้เขามีทักษะในการดูแลสุขภาพของตัวเอง เราได้จัดโครงการ นำร่องไปแล้ว ๑ รุ่น ประมาณปลายเดือนนี้ก็จัดอบรมมีอีก ๑ รุ่น เราใช้เวลาอบรม ๑ วัน มีตัวแทน โรงเรียน ต่างๆ มาร่วมอบรม ๖๐-๗๐ แห่ง เราให้ความรู้ ในเรื่องหลักสุขภาพ ๓ เรื่อง คือ เรื่อง การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพัฒนา ทางจิต

ด้านอาหารที่เหมาะสม ต้องยอมรับว่าไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ประชากรในโลก ๖,๐๐๐ ล้านคน ก็ไม่ได้กินอาหารอย่างเดียวกัน เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมดูรายการทีวีมีลุงคนหนึ่งอยู่ที่บ้านโป่ง อายุ ๘๗ ปี ยังวิ่งมาราธอนได้ อาหารมีข้าวขาหมู เป็นหลัก ซึ่งที่จริงมันไม่น่าจะเป็นอาหารที่เหมาะสมเลย แต่เขา กลับกินได้ เพราะมีการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอและมีครอบครัวที่ดี ทำให้เขาไม่มีโรคเป็นต้น

หรืออย่างคนสมัยโบราณ เขากินหมูก็ไม่เป็นโรค แต่สมัยนี้เรากินหมูแค่ ๕๐% เราจะเป็น โรคแล้ว เพราะมีสารเพิ่มเนื้อแดงปะปน ได้มี การวิเคราะห์เครื่องในสัตว์ เครื่องในไก่ เครื่องในหมู เครื่องในวัว ในตลาดกรุงเทพฯ พบว่าจากตัวอย่าง ที่ตรวจ ๘๐% ใช้ยาปฏิชีวนะ ขณะที่คนโบราณเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ฉะนั้นกินแล้วก็ไม่เป็นโรค แต่คนปัจจุบัน ถ้ากินเข้าไปมาก จะกลับเป็นโรค เพราะมีการปนเปื้อนมาก แม้แต่ผักก็อาจทำให้เป็นมะเร็งเพราะมีสารพิษตกค้าง ที่เราเคยสอนว่าต้องกินอาหารหลัก ๕ หมู่จริงๆ แล้วต้องคำนึงถึงการกินให้เหมาะกับ วัยว่า ไหนควรกินอะไร และต้องดูความปลอดภัย ของอาหารดังกล่าวด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสอน อาจไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป

ปัญหาหนักใจของคนไข้ กรณีแพทย์แผนปัจจุบันไม่ยอมรับวิธีการรักษาแบบอื่น

กระทรวงสาธารณสุขพยายามหาโรงพยาบาล ที่จะทำเป็นโครงการนำร่องขึ้นมาก่อนก็เพราะเหตุนี้ ถ้าเกิดประโยชน์จะได้ขยายการรักษาแบบผสมผสานให้กว้างออกไป ปัจจุบันคนไข้ ที่ไปรับ การรักษาแบบชีวจิต คุณต้องควักเงินเอง เบิกไม่ได้ ถ้าต่อไปรัฐบาลบอกว่าการรักษาแบบชีวจิต เบิกได้ คนไข้ก็จะมีช่องทางเลือกมากขึ้น และเมื่อเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ก็ต้องมีแพทย์มาบริการ เพราะฉะนั้นคำตอบจึงอยู่ที่ พ.ร.บ. สุขภาพฉบับใหม่ที่จะมีขึ้น ว่าจะเปิดกว้าง สำหรับวิธีการรักษา แบบอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน

ในความเห็นของผมน่าจะมีแพทย์ทางเลือก ที่สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ คือ การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน และไคโรแพรคติก เพราะมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่มาตรฐาน

ขณะนี้เมืองไทยกำลังจะพร้อม ทราบว่าสถาบันการแพทย์ไทยกำลังขยายหลักสูตร ๔,๐๐๐-๖,๐๐๐ ช.ม. เรียนจบแล้วได้ปริญญาตรี แพทย์จีนที่ รพ.หัวเฉียวก็กำลังพัฒนาหลักสูตรอยู่ ไคโรแพรคติก มีแล้วในต่างประเทศ แต่เมืองไทยยังไม่มีสถาบันที่เปิดสอน

ส่วนการแพทย์ทางเลือกแบบอื่นๆ ที่ยังไม่มี หลักสูตรการเรียนการสอนถึง ๔,๐๐๐ ช.ม.นี่ อาจจะต้องเอาไปฝากไว้กับ แพทย์แผนปัจจุบันก่อน เรียกว่าเป็นแพทย์ พหุลักษณ์ก็ได้ จนกว่าจะพัฒนาต่อไป ให้เข้มแข็งพอที่จะเปิดหลักสูตร สอนได้จนถึงระดับ ปริญญาตรี

คนไทยพากันซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพทางเลือกที่นำเข้าจากต่างประเทศกินในราคาแพง

สิ่งที่ผมกำลังมอง คือต้องพิจารณาคำว่า คุณประโยชน์ คุณภาพ และราคา สินค้าที่ทำจาก ต่างประเทศเขาบอกว่ามีคุณภาพสูง แต่เมื่อหารด้วยราคาแล้ว จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณประโยชน์ กับคนไทยก็ได้ เพราะหลักการส่งเสริมสุขภาพ ก็คือกินอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการพัฒนาจิต ตรงนี้จะเป็นพื้นฐาน ถ้าคุณทำ ๓ เรื่องนี้แล้ว สุขภาพยังไม่ดีขึ้น ค่อยเอาผลิตภัณฑ์ อื่นๆ มาเสริม แต่ถ้าคุณไม่สร้างรากฐานให้แข็งแรงก่อน ถึงคุณจะกินอาหารเสริมสุขภาพไป ก็เสียเงินเปล่า ผมเคยเจอคนไข้ที่ซื้ออาหารเสริมกินเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อมลูกหมากก็ยังโต เหมือนเดิม ความดันก็ยังสูงเหมือนเดิม เจอคนไข้ที่กินโสมเป็นประจำมา หลายๆ ปีแล้ว เส้นเลือด ในสมองก็ยังตีบเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นผมขอย้ำว่า ให้ตอกเสาเข็มก่อนค่อยมาว่ากันเรื่องอื่น อย่าไปมุงหลังคาโดยที่ยังไม่ได้ตอกเสาเข็ม แล้วจะทับตัวเองตาย

ฝากอะไรถึงรัฐบาลใหม่

จริงๆ อยากฝากถึงประชาชนมากกว่า พ.ร.บ.สุขภาพ คือกฎหมายของทุกคน เพราะฉะนั้น

ช่วยกันจับตาตรงนี้ว่า มันจะออกมาตรงใจหรือเปล่า รัฐบาลมาแล้วก็ไป แต่ประชาชน จะต้องเป็นผู้อยู่รับผลตลอดไป.

สีสันชีวิต แพทย์ทางเลือก นายแพทย์สมนึก ศิริพานทอง (เราคิดอะไร เล่ม ๑๒๘ หน้า ๑๖)