สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
ชมสวนพุทธา'32
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 135 เดือนเมษายน 2532 "ชมสวนพุทธาฯ'32"

เมษาหน้าร้อน เมืองไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ไม่ต้องประกันคุณภาพใครๆ ก็ซาบซึ้งกันดีถึงฤทธิ์เดชของดินฟ้าอากาศช่วงนี้ หลายคนหลบร้อนไปเที่ยวทะเล เข้าป่าขึ้นเขา ไปตากอากาศที่นั่นที่นี่ (ที่คิดว่าน่าจะ"เย็น") แต่เชื่อไหม? ถ้าจะบอกว่ายังมีคนอีกนับพันที่อุตส่าห์ลางานลาการ ไปทนร้อนที่ร้อนยิ่งกว่า และ ยินดีในการใช้ชีวิตลำบากลำบนกว่าปกติถึง ๗ วัน ๗ คืน ที่งานพุทธภิเษกฯ ณ ศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์

งานนี้มีความเป็นมาอย่างไร สำคัญแค่ไหนถึงทำให้ผู้คนแห่แหนไป และ คนที่ไปเป็นคนประเภทใด เราไปคุย กับพ่อท่านพระโพธิรักษ์กันนะคะ


งานพุทธาภิเษกมีที่มาอย่างไร?


งานพุทธาภิเษก สืบเนื่องมาจากสมัยอาตมาทำงานศาสนาตอนแรกๆ มีพระทางสายอีสาน ท่านจัดงานปริวาสกรรม "อยู่ปริวาสกรรม" ท่านเรียกว่างั้น อยู่ปริวาส ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ๑๐ วันบ้าง ท่านก็นิมนต์อาตมาไปร่วมเทศน์ด้วย

อาตมาก็เห็นเขาจัด เขามาประชุมกัน บำเพ็ญกัน ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็มีอะไรที่ดูดี แล้วก็อยู่กันอย่างขัดเกลา สงบระงับ อยู่อย่างอยู่ป่า อยู่โคนไม้ รับประทานอาหารน้อยมื้อ ไม่ไปวุ่นวายอะไร

ก็เห็นดี แต่-เอ๊! ทำไมต้องเอาปริวาสกรรมของพระพุทธเจ้ามาใช้เป็นชื่อเรียก อยู่ดีๆ จะไปอยู่ปริวาส โดยที่ท่านไม่ได้มีความผิด ก็ดูประดักประเดิด กับวินัย ไม่ถูกต้องตามธรรมวินัย แต่ว่าพฤตินัยมันดี การกระทำรู้สึกเข้าท่า ก็เลย....นั่นแหละ....เป็นจุดความคิดแรก

อาตมาก็เลยมาลอง กับพวกเรา มีพระมา มีฆราวาสมา เอามาจัดแล้วตั้งชื่อใหม่ ช่วงแรกใช้ชื่อ"การอบรมบำเพ็ญสติปัฏฐาน" แล้วก็ค่อยๆ คิดวิธีการ ค่อยๆ ทำกันมา ทำที่ศีรษะอโศกครั้งแรก มีคนมาร่วมงานสัก ๒๐ กว่าคน ครั้งที่ ๒ มีมากขึ้นมาอีกหน่อย ก็เห็นว่าดูดีนะ ก็ตั้งใจทำให้ดีๆ เป็นการปลุกเสกคน หรือ อภิเษกคนขึ้นมา ก็เลยตั้งชื่อว่า"ปลุกเสกพระแท้ๆ ของพุทธ" เพื่อให้เห็นว่า การปลุกเสกอิฐ หิน ดิน ปูน มันไม่เข้าเรื่องเข้าราว ไม่ถูกต้อง

ก็ค่อยๆ ทำขึ้นมา ปรับปรุงวิธีการ เป็นระเบียบระบบขึ้นมา พร้อมกันนั้นก็มาทำที่ศาลีอโศก เป็น"พุทธาภิเสกสุดยอดปาฏิหาริย์"ในปีเดียวกัน

พุทธาภิเษกก็คือ ทำให้คนเกิดสภาพ "พุทธ" ขึ้นมาให้ได้ มีคุณธรรมของพุทธที่แท้จริง เกิดมรรคเกิดผลนั่นแหละ


วัตถุประสงค์ของงานพุทธาภิเษกคืออะไรคะ?


ก็คืออบรม ฝึกฝนคน มีทั้งปริยัติ มีทั้งปฏิบัติ มีคำสอนคำอธิบาย และ วิธีการที่จะสื่อต่างๆ ให้ได้ขัดเกลาบำเพ็ญ ให้รู้จักการกินอยู่หลับนอนตามกรรมฐานของเรา แม้ แต่สถาพที่มาชุมนุมกัน มาร่วมอภิปราย เหมือน กับงานสัมมนา ก็มีประยุกต์เยอะแยะ จนกระทั่งเป็นงานปลุกเสกฯ พุทธาฯ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


เพียง ๗ วันจะมีผลอะไรมากมายล่ะคะ?


มีผลมากทีเดียว ๗ วันนี่ไม่ใช่น้อยๆ ที่คนเราจะอดทน หรือ ขัดเกลาได้ ได้อดทน ได้ฝึกปรือ ได้รับความเข้าใจ ได้รับคำสอน วิธีการ หลักการต่างๆ นานา มีการสื่อ มีตัวอย่างหลักฐานผู้ที่ทำได้ประกอบ ทั้งหลักการทั้งรายละเอียดมากมาย


แล้วงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไรคะ?


เมื่อคนดี เมื่อขัดเกลาให้ลดละกิเลสความโลภโกรธหลงลงได้ดีๆ มีความเข้าใจในชีวิต ว่าชีวิตควรจะอยู่อย่างไร อย่างมีสัมมาอาชีพ ขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อเกื้อกูล แจกจ่าย อย่าไปโลภ อย่าไปเอาเปรียบ แต่ให้ขยันๆ สร้างสรรเสียสละ มันก็ดีน่ะซี สังคมก็ได้รับประโยชน์ คนดีไม่เอาเปรียบ แล้วก็ขยันสร้างสรร แจกจ่าย เจือจาน เกื้อกูลกัน เห็นใจกัน เห็นแก่ชีวิตกัน และ กัน มันก็ดีน่ะซี ก็เกื้อกูลสังคมไปเรื่อยๆ


งานที่ผ่านมา แต่ละครั้งได้ผลเป็นอย่างไร มีการประเมินผลบ้างไหมค่ะ?


อ๋อ! ประเมินผลทุกปี บันทึกเรื่องราวเอามาสรุปรวม เอามาวิจัยวิเคราะห์ สรุปผลกันทุกปีมา ก็เห็นความเจริญขึ้น ก้าวหน้าขึ้น คนเก่าก็เข้าใจดีขึ้น เป็นหลักให้คนใหม่ คนใหม่ก็มาได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้อบรมประพฤติปฏิบัติ ก็เข้าใจศาสนา รู้จักฤทธิ์เดชของศาสนา บำเพ็ญศีลปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไรๆ ก็เข้าใจดีขึ้น ก็มีเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ


รู้สึกงานที่ผ่านมานี่จะพูดเรื่องเห็ดกันมากนะคะ


เราพยายามที่จะสร้างสัมมาอาชีพให้มันเหมาะ กับชาวเรา ว่าเราเป็นนักมังสวิรัติ และ เห็ดเป็นวัตถุดิบสำคัญ ควรจะเป็นสัมมาอาชีพที่เลี้ยงชีวิตด้วย เลี้ยงสังคมด้วย เพราะถ้าทำได้มากขึ้น ราคาก็จะถูกลง

นอกจากเห็ดก็เน้นการเกษตรด้วย แต่ที่พูดถึงเห็ดมาก เพราะมันใช้เวลาสั้น และ ได้ผลเร็ว


คนมาใหม่ๆ อาจไม่ทราบว่าเห็ดเกี่ยว กับธรรมะอย่างไร?


ก็นั่นแหละ เพราะเขามีอุปาทานว่าการปฏิบัติธรรมไม่เกี่ยว กับ การคิด การพูด การทำงาน ไม่เกี่ยว กับสัมมาอาชีพ ซึ่งมันจะไม่เกี่ยวได้ไง ถ้าเรียนธรรมะมาดีๆ ปฏิบัติศีลจะเกิดธรรม ปฏิบัติศีลข้อ ๑ จะเกิดเมตตาธรรม ปฏิบัติศีลข้อ ๒ จะเกิดสัมมาอาชีพ ก็ตรงๆ อยู่แล้ว


อย่างคนที่เพิ่งมาช่วงนี้ เขาก็ยังไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลางอะไร เหมือนที่พระท่านว่า เขามาช้าไปตั้ง ๑๓ ปีนี่ เรามีวิธีที่จะช่วยให้เขาตามทันอย่างไรคะ?


เราก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจให้เขา ค่อยๆ เอื้อ ใส่ใจดูดีๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไรนี่ "ความรู้อาจเรียนทันกันหมด ยก แต่ชั่วดีกระด้าง ห่อนแก้ฤาไหว" ถ้าเขาไหวก็ไหว ถ้าไม่ไหว เขาก็ถอยไปเอง


ทำไมพ่อท่านเลือกเทศน์"สัจจะแห่งกรรม"ตอนนี้ล่ะคะ?


ก็เห็นมันเหมาะสม ก็เน้นกรรมกัน ก็มีความเข้าใจกรรมกันดี เราก็มีความรู้ขึ้นมาเรื่อยๆ เรื่องราวที่จะเทศน์ อาตมาก็ดูมาเรื่อยๆ ตามควร ตามจังหวะของมัน นึกได้เก็บได้ตอนนี้ก็หยิบมาใช้ตอนนี้


ไม่มีการวางโปรแกรมล่วงหน้า


ไม่มี! เห็นอันวันไหนเหมาะควรก็เอาอันนั้น


รู้สึกว่า เรื่องกรรมจะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากน่ะค่ะ


พิสูจน์ได้ ถ้าศึกษาดีๆ ก็พิสูจน์ได้ว่า วิบากมาจากเหตุ กุศลวิบากก็เป็นกุศล อกุศลวิบากก็เป็นอกุศล แต่มันมีองค์ประกอบเยอะแยะ มีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสิ่งที่ทำไว้แล้ว และ ที่ทำใหม่ ค่าของมันก็เปลี่ยนไปได้ตามเหตุปัจจัยที่แท้จริง


แต่คนที่เขาไม่เชื่อ เขาก็ไม่เชื่อนะคะ


เขาก็ไม่เชื่อได้ ก็คนไม่เชื่อกรรมนี่แหละ มันทำให้สังคมเดือดร้อน ยิ่งไม่เชื่อบาป-บุญ กุศล-อกุศลว่ามีฤทธิ์แรง ทำให้ทุกข์ร้อน เดือดร้อน หรือ ทำให้สบายให้เจริญ เขาก็ยิ่งแย่


แล้วพ่อท่านมีวิธีใดที่จะทำให้เขาเชื่อล่ะคะ?


ก็วิธีที่ทำอยู่นี่แหละ ก็พยายามพิสูจน์ความจริง พยายามที่จะบอกเหตุบอกผลด้วยหลักฐาน ตัวอย่างอะไรก็เอามาใช้ทั้งนั้น ทั้งอดีต-ปัจจุบัน อะไรที่จะยกเปรียบเทียบ ให้ยืนยันความจริงได้ก็ทำ ก็พยายามจริงๆ ให้จำนนทั้งเหตุผลทั้งหลักฐานที่ปรากฏ พยายามขนาดนี้แล้ว ส่วนเขาจะเชื่อ หรือ ไม่ เราก็บังคับไม่ได้หรอก


พ่อท่านพอจะสรุปงานครั้งล่าสุดที่ผ่านมาได้ไหมว่าได้ผลเป็นอย่างไร น่าพอใจไหม?


โอ... ครั้งล่าสุดนี่ อาตมาพอใจมากเลยนะ มันเกิดพัฒนาการขึ้นมามากทีเดียว ได้สัดได้ส่วน เข้ารูปเข้ารอย มีระบบเรียบร้อย คนพวกเราก็พัฒนาขึ้นมาเข้าใจ แล้วก็ช่วยเหลือเฟือฟาย มีน้ำใจจริงๆ รู้จักส่วนขาดตกบกพร่อง แล้วก็พยายามอุดรูรั่ว ทำงานกันกระชับ มันก็ไม่เหนื่อยมาก ทำได้ราบรื่น ไล่เรียงกันดี ต่างก็ช่วยกันคนละไม้ละมือ ทั้งเรื่องงาน และ เงินก็ช่วยกันมามาก


การที่คนมามากขึ้นๆ นี่ ถือเป็นความสำเร็จไหมคะ?

ถ้ามันมากเกินไป มันก็เสียหายเหมือนกันนะ มากเกินไป ถ้าเราควบคุมดูแลไม่ได้ มันก็ฟ่าม มันเกิดมีการหลวมๆ เกิดความบกพร่องได้เหมือนกัน เพราะงั้นเราก็ระวังอยู่ ก็พยายามให้มีการเข้มงวดกวดขันให้ตบะมันสูงขึ้น มันก็เป็นการคัดคนโง ไม่บำรุงบำเรอ ไม่ประโลมอะไรมาก คนที่ทนไม่ได้ เขามาวันเดียว สองวัน เขาก็กลับไป หรือ คนที่รู้ตัวว่าทนไม่ได้เขาก็ไม่มา

แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นทำกันได้ดี เพราะว่าเราดีขึ้น เราเคร่งขึ้นแทนที่คนจะถอยกลับเพิ่ม แล้วมันก็ได้ขัดเกลากันสูงขึ้น ปริมาณคนที่ทนอยู่ได้จนถึง ๗ วัน ก็มากขึ้นด้วย


พ่อท่านคิดว่าจะมีงานพุทธาฯไปอีกนานแค่ไหนคะ?


โอ๊...ตอบไม่ได้หรอกว่า จะมีอีกนานแค่ไหน มันอาจจะเป็นจารีตประเพณีไปอีกนานนิรันดร์ก็ได้ มันมีประโยชน์มาก ทุกวันนี้ก็ยังเห็นประโยชน์มันมากทีเดียว ยังไม่เห็นว่าน่าจะเลิกทำ มี แต่เห็นว่าน่าจะทำต่อไป เพราะคนส่วนใหญ่ก็ตั้งอกตั้งใจพยายามที่จะฝึกฝน ให้ขัดให้เกลา ก็เข้าระบบของมันดีอยู่นี่ มันมีการได้ทุกปีแหละ ถ้าคนตั้งใจจะฝึกหัดกันจริงๆ


คำถามสุดท้าย เป็นเรื่องที่เกิดในระหว่างงานพุทธาฯ แต่ไม่เกี่ยว กับงานนะคะ คือเรื่องที่มีนักข่าวหนังสือพิมพ์ไปสัมภาษณ์พ่อท่าน เรื่องการ แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช อยากให้พ่อท่านกรุณาเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง เพราะอ่านจากข่าวน.ส.พ.แล้วรู้สึกชอบกลอยู่ค่ะ ข่าวที่ปรากฏออกมานั้นไม่ทราบว่าตรงความจริง หรือ ไม่?


มันตรง ตรงความจริง แต่ว่าคำพูดเขาตัดๆ ไง คำพูดที่มันต้องมีที่มา อย่างคำพูดที่ว่า"อาตมาตก็ใหญ่อะไร อาตมาก็ใหญ่ในซอยเท่านั้นแหละ" อะไรอย่างนี้ เราพูดเรามีที่มา แต่ทีนี้เมื่อตัดบอกว่า"ตนเองใหญ่ในซอย" ตัดเอาไปใส่ความที่เป็นสรุปข่าว หรือ รวบรวมข่าว ไม่มีที่มาเลยว่า ทำไมถึงพูดคำนี้ มันก็คล้ายๆ กับว่า เขาถามเรื่องตั้งสมเด็จพระสังฆราช แล้วเราเองน้อยใจ ไปพูดว่าตัวเองใหญ่ แต่ในซอยเท่านั้นแหละ จะไปออกความเห็นอะไร มันเหมือนริษยาเขา เหมือนประชด กระแทกแดกดันอะไรอย่างนี้ ดูแล้วเอ๊...มันไม่ค่อยเข้าที การตัดลัดความอย่างนี้ มันทำให้คนอ่านที่เขาไม่รู้บรรยากาศ ไม่รู้รายละเอียดอาจเข้าใจผิดได้


แล้วจริงๆ ที่มามันคืออะไรล่ะคะ พ่อท่านพอจะจำได้ไหม?


จำได้ ที่มามันก็ เขามาสัมภาษณ์อาตมา อาตมาก็บอกว่า อาตมาไม่มีความเห็นอะไรจะให้หรอก เพราะอาตมาก็อยู่อย่างของพวกอาตมา ทางโน้นท่านก็ทำของท่าน ท่านก็ทำดีแล้วนี่ ทางมหาเถรสมาคม หรือ คณะท่าน ท่านก็ต้องทำอย่างนี้ ส่วนอาตมาไม่ได้ทำอย่างนั้น มันก็ไม่เกี่ยวไม่ข้อง อาตมาออกความเห็นอะไรไม่ได้หรอก คุณเองคงจะเสียเวลาเปล่าๆ อาตมามันไม่มีความสำคัญอะไร จะมาเสียเวลาสัมภาษณ์อาตมาทำไม อาตมาก็พูดในเชิงนี้


เขาก็ว่าสำคัญครับสำคัญ ท่านใหญ่นะครับ ในประเทศตอนนี้ คนกำลังคอยดูท่าทีลีลาสังเกตท่านอยู่ ท่านมีบทบาท มีความสำคัญทางศาสนามากนะครับ


อาตมาก็ว่า อาตมาไม่ใหญ่อะไร ใหญ่!เขาก็ย้ำ โถ! ใหญ่ก็ใหญ่ในซอยนั่นแหละ อาตมาก็ว่าอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องพูดเชิงเล่นๆ ด้วยซ้ำ แต่พอตัดตอนออกไปอย่างนั้น มันเหมือนเรื่องจริงเรื่องจัง เหมือนเราพูดแบบนักเลง นักประชดประชัน ฟังดูแล้วมันก็ไม่เข้าที

ความจริงอาตมาก็เข้าใจเขานะว่า เขาก็ไม่มีเจตนาร้ายอะไร บางทีมันมีเนื้อที่อยู่นิดเดียว มันก็ต้องตัดๆ ลัดๆ แต่มันก็ควรจะระวังบ้างว่า ความสำคัญอันนี้ ถ้าพูดไปอย่างนี้แล้ว มันจะเสียหายมั้ย หรือ มันจะมีผลดีผลเสียอย่างไร

ค่ะ, เนื้อที่ของเราก็มีน้อยเหมือนกัน ความจริงแล้วคุย กับพ่อท่านมากกว่านี้ แต่ก็ต้องคัดบางส่วนออกบ้าง ถึงกระนั้น ก็รับรองว่าได้พยายามตัดต่ออย่างระมัดระวังทุกตัวอักษรเลยทีเดียว ก็ได้ แต่ฝากคุณๆ ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนทั้งหลาย ขอได้โปรดช่วยกันระวังการเสนอข่าว ที่จะทำให้มวลชนเกิดความเข้าใจเพี้ยนๆ โธ่!ก็ลงว่าเพี้ยนเสียแล้ว อะไรๆ มันจะตรงได้อย่างไรล่ะคะ

end of column
 

๑๕ นาที กับพ่อท่าน (สารอโศก อันดับ ๑๓๕ เมษายน ๒๕๓๒ ชมสวนพุทธาฯ’๓๒)