สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
ทาสมนุษย์
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 136 เดือนพฤษภาคม 2532
"ทาสมนุษย์"

มนุษย์ และ สัตว์ทุกรูปนาม ต่างก็รักอิสรภาพเหนือสิ่งอื่นใด
ไม่มีใครอยากเป็น "ทาส" เป็น "เบี้ยล่าง" ใคร
หากแต่ความจำเป็น จำยอม จำนน
จนถึง "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ทำให้บางคนต้องตกเป็น "ทาส"
เป็น "มนุษย์ทาส" ที่ต่างก็รอคอยการปลดปล่อย
แต่เชื่อไหม ? หากจะบอกว่า......
กลับมีบุคคลบางประเภท ที่เป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์พร้อม
ถึง กับ ยินดี เต็มใจ ที่จะ "เลือก" เป็น "ทาส" อย่างเป็นสุข
หากมิใช่ "มนุษย์ทาส" ดังนัยะข้างต้น
แต่เป็น "ทาสมนุษย์" อย่างตั้งใจ-จงใจ
ก็แล้ว "ทาสมนุษย์" นั้น คืออย่างไรกันเล่า ?


พ่อท่านคะ ขอทราบความหมาย ของคำว่า "ทาสมนุษย์" ค่ะ


ทาสมนุษย์ หมายความว่า เราเป็นผู้รับใช้มนุษย์โดยความรู้ ไม่ใช่โดยงมงาย ไม่ใช่โดยเป็นผู้ไม่รู้ตัว และ ไม่ใช่ผู้อ่อนแอด้วย

ผู้ที่เป็นทาสมนุษย์นั้น เป็นผู้ที่แข็งแรง มีคุณภาพ มีความประเสริฐ มีคุณสมบัติ มีอริยสมบัติ ที่จะรับใช้มนุษย์ ให้แก่มนุษย์ หรือ แม้วัตถุสมบัติ ก็ไม่ขัดสน เพราะคนที่เจริญพัฒนาแล้ว จะไม่ขัดสนในทุก ๆ ด้าน


แต่ใคร ๆ ก็อยากเป็นไท ไม่ชอบเป็นทาสอะไรทั้งสิ้น


ใช่ ! แต่คนที่จะเป็นทาสมนุษย์นี่ ก็ต้องเป็นไทเสียก่อน ทาสมนุษย์นี่คือเศรษฐีนะ ถ้าคนที่ยากจน จะจนวัตถุสมบัติก็ตาม ยิ่งยากจนด้วยคุณสมบัติ แล้วจะไปรับใช้มนุษย์อะไรได้ มีแต่จะไปเป็นภาระมนุษย์ เป็นตัวฉุดตัวถ่วงมนุษย์อื่น ให้เขาต้องมาช่วยเหลือน่ะซี

ผู้ที่จะเป็นทาสมนุษย์นี่ จะต้องเป็นผู้มีกำลัง มีเรี่ยวแรง มีคุณสมบัติ ดังที่กล่าวมาแล้วจริง ๆ จึงจะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ นอกจากนี้ยังต้องเป็นไทแก่ตัวอย่างแท้จริง ต้องเป็นผู้มีอิสรเสรีภาพ ช่วยตัวเองได้ จึงจะช่วยผู้อื่นได้ รับใช้ผู้อื่นได้


แล้วเราจะเอาคนที่มีคุณสมบัติอย่างนี้ มาจากไหนได้ล่ะคะ ?


ต้องสร้าง ต้องทำ ต้องอบรม ฝึกฝน ปฏิบัติ ประพฤติ สร้างอย่างที่พระพุทธเจ้าพาสร้าง คือให้คนเป็นคนพึ่งตนเอง ไม่ต้องไปเบียดเบียนใคร ไม่ต้องไปเป็นภาระใคร มีแรงงาน มีความสามารถ มีผลผลิตที่คุ้มตนเอง มีกรรมการงานที่มีค่าคุ้มตัว จะเกิน-เหลือที่จะไปเผื่อแผ่คนอื่นต่อไป

ที่สำคัญต้องพยายามเป็นคนที่กินน้อย ใช้น้อย ไม่เปลือง ไม่ผลาญ จะต้องประมาณ จะต้องตรวจสอบตนจริง ๆ ว่า เราเอง วัน ๆ เราใช้จ่ายอะไรแค่ไหน ไม่แต่เฉพาะใช้วัตถุสมบัติอย่างเดียวหรอก เราอาศัยเสื้อผ้า อาศัยอาหาร อาศัยดิน น้ำ ลม ไฟ วัน ๆ เท่าไหร่ แล้วเรามีผลผลิตเท่าไหร่ มีคุณค่าที่สร้างที่ก่อในวันหนึ่ง ๆ เป็นแรงงาน เป็นพฤติกรรมอะไรก็ตามแต่ ที่เป็นพฤติกรรมสร้างสรร กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประเมินค่าแล้ว มันได้ค่าได้ราคา พอคุ้ม กับ ที่เราอาศัยใช้ หรือ ไม่

แม้แต่จริง ๆ คิดให้ละเอียดแล้ว เราหายใจเอาลมเข้าไปนี่ ก็ต้องคิดราคานะ นั่งอยู่ตรงนี้นี่ ค่าที่เท่าไหร่ คิดราคานะ เพราะคุณอยู่ตรงนี้ คุณหนักแผ่นดิน คุณต้องกินที่ กินอากาศ กินอาหาร กินวัตถุ ที่อาศัยต่าง ๆ นานา แล้วเมื่อเทียบ กับ คุณทำงานสร้างสรรแล้ว มันมีคุณค่าพอกันมั้ย

ยิ่งสร้างขึ้นมาแล้วยังเอาไปขาย เอาไปแลกเปลี่ยน ยิ่งกลายเป็นลดค่า ไร้ค่า ดีไม่ดีเอามากินด้วย เอาเปรียบด้วย อย่างทฤษฎีกำไร-ขาดทุน ของอารยชน ที่เราพยายามอธิบายอยู่ทุกวันนี้

เพราะไม่เข้าใจจุดนี้ จึงกลายเป็นคนไร้ค่า เป็นคนที่กินเปลือง ผลาญเปลืองอยู่ในสังคม ตัวเองสร้างเป็นก็ตาม สร้างแล้วคิดค่ากลับคืนมาหมด แถมเอามามากกว่าเก่าด้วย ระบบแบบนี้ มันเอาเปรียบสังคมอยู่ตลอดกาลนาน คนชนิดนี้ไม่ใช่ทาสมนุษย์ เป็นมนุษย์ขูดรีด เป็นมนุษย์ประเภทนายทาส ที่กดขี่ข่มเหง กินแรงกินเลือด ของมนุษย์ หรือ แม้แต่กินแรงกินเลือด ของธรรมชาติอยู่ เป็นคนผลาญ เป็นคนเอาเปรียบ


แต่คนส่วนใหญ่ เขาก็พยายามพัฒนาตัวเองไปสู่จุดนั้น


เขาพัฒนาไปสู่จุดนั้นน่ะซี มันถึงไม่มีความเจริญที่สันติสุขแท้ แล้วเขาก็หลงว่า การเป็นผู้เสวยสุขแบบโลกีย์ คือการได้เปรียบ สังคม จึงเดือดร้อน แย่งชิง ต้องต่อสู้กันตลอดกาลนาน ไม่ได้เป็นสังคมที่เกื้อกูล ช่วยเหลือเฟือฟายซึ่งกัน และ กัน แต่เป็นสังคมที่ผิดพลาด เป็นหนี้โลก


หมายความว่า ถ้าเราใช้มากกว่าทำให้แก่โลก เราก็ต้องเป็นหนี้ แต่เราจะทราบได้อย่างไรล่ะคะ ว่าเราควรจะใช้แค่ไหน ?


ต้องเรียนรู้จริง ๆ แล้วก็ต้องลดจริง ๆ ทุกวันนี้คนถูกหลอกล่อ ให้ใช้เกิน กินเกิน ผลาญเกิน ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภค หรือ บริโภค เกินแล้วยังกักตุนกอบโกย เอาเปรียบเอารัดไว้ ให้มันเกินตัวเกินตน จนเศรษฐกิจกลายเป็น ของไร้ค่า

สิ่งอะไรก็แล้วแต่ตามหลักเศรษฐศาสตร์ มันจะมีค่า ก็ต่อเมื่อมันต้องสะพัดออกไปทำหน้าที่ ของมัน ถ้าเอามากอง มากัก มาเก็บไว้เฉย ๆ มันก็จะเสื่อมค่าลงไป หมดค่าลงไป เป็นศูนย์ลงไป พวกที่เอามากักเก็บก็เป็นพวกที่ผลาญสังคม

สมมติง่าย ๆ เขาสร้างวัตถุเครื่องใช้อะไรขึ้นมาสักร้อยชิ้น คุณก็เอาร้อยชิ้นนั้นมากองไว้เฉย ๆ กักตุนไว้เฉย ๆ ไม่ให้ใคร มีด ๑๐๐ อัน แทนที่จะมันจะได้ไปทำประโยชน์ ตามฐานะตามคุณภาพ ของมัน คุณเอากักไว้ มันก็ไม่มีคุณค่าอะไร

ที่ดินผืนนาควรจะได้ปลูกผัก ควรจะเกิดการสะพัดธรรมชาติ ควรจะมีผลผลิตงอกเงยขึ้นมา ก็ไปกว้านซื้อเอามา ไม่ได้มีการเพาะปลูกพัฒนาอะไรทั้งนั้น มันก็สูญค่าอย่างนั้น อะไรอย่างนี้ เป็นต้น

หลาย ๆ อย่างนานา ที่เป็นนัยะอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เขาไม่คิดกัน เป็นลักษณะทุนนิยม เป็นอำนาจทางเอาเปรียบ แล้วก็หลอกล่อให้คนอยากได้ใคร่มี ยอมเอาความเสียเปรียบเข้าแลก จำนนทุกอย่างให้เขากดขี่ข่มเหง กลายเป็นทาสโดยจำนน ไม่ใช่ยอมเป็นทาสด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ผู้รับใช้อย่างพอใจที่จะรับใช้ รับใช้อย่างเป็นผู้ที่ "มี" แต่ไปรับใช้อย่างเป็นผู้ที่ "จน" เป็นผู้ที่ต้องจำนน พ่ายแพ้


ถ้าเช่นนั้น วิธีที่จะไถ่ถอนตัวเองไม่ให้เป็นหนี้ คือ มามีวิถีชีวิตแบบทาสมนุษย์ หรือ คะ ?


ใช่ ผู้ที่จะไถ่ถอนหนี้กรรม ก็ต้องมาเป็นผู้รับใช้มนุษย์ อย่าไปเอาเปรียบ อย่าไปสร้างหนี้ให้แก่ตน จะต้องเป็นผู้เสียสละ รับใช้เขา เกื้อกูลเขา เป็นผู้ขยันหมั่นเพียร เป็นผู้มีความสามารถสร้างสรร กอปรก่อมีน้ำใจ ไม่โลภ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ตระหนี่ สามารถเอื้อเฟื้อผู้อื่นได้ มีปัญญารู้ว่าจะช่วยเหลือเจือจานคนไหน ก็ให้ตามสมควร

แล้วจะสร้างจิตเห็นดีขึ้นมาได้อย่างไรล่ะคะ ในเมื่อจริง ๆ แล้ว เราก็ชอบที่จะสบาย ๆ

ก็ศึกษา คนอยากจะสบายก็จะต้องมีกรรมอันดีให้เราสบาย การขยันก็สบาย ไม่ใช่ขี้เกียจเป็นคนสบาย อยู่เฉย ๆ เป็นความสบาย ไม่ใช่ !

คนที่ถูกหลอกให้ไปเต้นไปดีดน่ะ เหงื่อออกด้วยนะ ไปวิ่งไล่เตะฟุตบอลงี้ ชกมวยงี้ เจ็บด้วยนะ แต่เขาก็สบาย ก็อร่อย ก็เพลิดเพลินเป็นสุข นั่นเขายังหลอกกันได้ หลอกนะ อาตมายืนยันว่าเป็นความหลอก


แต่มันมีความ "มัน" น่ะค่ะ


นั่นแหละหลอก หลอกให้ "มัน" ทั้ง ๆ ที่มันต้องจ่ายพลังงานเหน็ดเหนื่อย แถมยังเจ็บปวดด้วย เสร็จแล้วได้อะไรล่ะ เอาชนะคะคานกันเฉย ๆ ก็คุณมาสร้างแข่งกันสิ สร้างสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ถึงแม้จะเหนื่อยจะจ่ายพลังงาน บางทีมันก็ยังไม่เหนื่อยเท่าไปชกมวยหรอก แต่มันมีผลพลอยได้ มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ได้อาศัย อาศัยกิน อาศัยอยู่ อาศัยใช้ เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติที่แท้จริง ค่านิยมอย่างนี้สิ ที่น่าสร้าง น่ามีในสังคม น่าสนับสนุนส่งเสริม


พ่อท่านพูดเสมอว่า "ผู้นำคือผู้รับใช้" อันนี้ก็เป็นลักษณะ ของทาสมนุษย์ด้วย หรือ เปล่าคะ ?


ใช่ ! ผู้นำคือผู้รับใช้สังคมมนุษยชาติ ไม่ใช่ผู้นำคือผู้กดขี่ ข่มเหงมนุษยชาติ เผด็จการมนุษยชาติ - ไม่ใช่ !

ผู้นำจะต้องรับฟังความจริง ความจำเป็น หรือ ความสำคัญ ของผู้อื่นเขา แล้วก็ต้องมีปัญญาแยกแยะความจริง หรือ ความหลอก เพื่อที่จะดำเนินความจริงนั้นให้แก่มนุษยชาติ อย่างที่ไม่ใช่ตามใจเขา เอาใจเขา ในสิ่งที่มันผิด มันไม่ถูกต้องตรงธรรม แม้แต่จะต้องฝืน ต้องต้าน ไม่ให้เขาพลัดไปในความหลงผิด ก็จะต้องทำ

มนุษย์ขาดแคลนคุณธรรม ขาดแคลนความรู้ในความจริง ผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง ต้องพาทำ เมื่อเขาเห็นจริงตาม เห็นดีตาม เขาก็เอาไปทำจริง ๆ แก้ไขปรับปรุงตัว ของเขาขึ้นมา อย่างเต็มใจ อย่างเป็นเสรีนิยม ไม่ใช่ทำเพราะถูกบังคับ เหมือนวิธีการปกครอง ของบางประเทศ ซึ่งมันล้มเหลว


หมายถึงต้องเห็นดีก่อน


ขนาดเห็นดีแล้วจะแก้ไข มันยังต้องฝืนกิเลส ของตัวเองหนักหนาสาหัส เพราะคนมีกิเลสเป็นหลัก แล้วยิ่งไม่เห็นดีด้วยน่ะนะ ป่วยการ! อย่าไปบังคับข่มเขาโคขืนเลย ทุกวันนี้โลกมันเดือดร้อน กดดัน ก็เพราะเขาไม่เห็นดี ไม่เห็นด้วย แล้วก็ไปบังคับกดขี่ เป็นเผด็จการนั่นแหละ

เสรีนิยมที่ถูกต้อง ก็ต้องมีความเก่ง ความฉลาด มีเหตุผลความจริง ที่จะชี้ ยืนยันให้เขาเข้าใจความจริงให้มากที่สุด เมื่อเขาจำนนต่อความจริง เห็นว่ามันดี เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรทำ เขาก็จะพยายาม พากเพียรทำมันขึ้นมา เมื่อทำได้มากขึ้น มันก็มีมวล มีปริมาณที่จะฉุดดึง แล้วก็จะชี้สิ่งที่มันดีนี้ว่า มันดีทั้งตัวเอง ดีทั้งสังคม ดีที่จริงมันเป็นยังไง ไม่ใช่ดีอย่างลวงดีอย่างหลอก แล้วก็เป็นภัยต่อตัวเองต่อสังคมต่อโลก แล้วก็สั่งสมแต่วิบากเลวเป็นมรดกกรรมให้แก่ตัวเอง

สรุปแล้ว การมาเป็นทาสมนุษย์ ก็คือเป็น "ผู้ให้" แต่คนส่วนที่เขาได้เปรียบสังคมอยู่ เขาก็บอกว่าเขา "ให้" เหมือนกัน แล้วเราจะแยกแยะได้อย่างไร ว่าอันไหนเป็นความถูกต้อง ?

ก็ต้องตรวจดูความจริง ตามความเป็นจริงไปให้ลึกซึ้งละเอียด ว่าเขาเอาจากโลก เอาจากสังคมมาก หรือ ให้แก่โลก ให้แก่สังคมมาก

การให้แก่สังคม แต่ให้เพื่อจะได้ตอบแทน หรือ เพื่อจะสะพัดกลับมาสู่ตน เป็นแบบ "บูมเมอแรง" นั้น มีมากเหลือเกิน กลวิธีที่จะให้เพื่อได้คืนกลับมาอย่างมากมายนั้น มีมากเกินไปแล้ว เป็นการให้อย่างไม่บริสุทธิ์ใจ


แล้วคำพูดที่ว่า "ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา" ล่ะคะ ?


อันนั้นเป็นสัจจะ เป็นการให้ที่ไม่ได้หวังว่าจะได้คืนมา จะได้คืน หรือ ไม่ได้คืน เราก็กินน้อย ใช้น้อยอยู่แล้ว ถึงคืนมา เราก็สะพัดสู่มนุษย์อื่นมากขึ้นอีก

เพราะฉะนั้น ตัวจบมันอยู่ที่เราเอาไว้มาก หรือ เอาไว้น้อย ตามไปให้ถึงที่สุดว่า ตัวจบน่ะ มันกองอยู่ที่เขามาก หรือ เขาสะพัดออกไปมากนั่นแหละ ตัวสุดท้าย

ถ้าเขาสะพัดออกไปมาก เขาไม่ได้สะสม กักตุน กอบโกยอะไรอยู่ที่ตัวเขา - ชัดนะ

แต่ถ้าตามไปแล้ว อ้อ ! มากองอยู่ที่คุณ คุณว่าให้เขาไป แต่สะพัดกลับมากองอยู่ที่คุณนี่มาก แม้คุณจะบอกว่าให้เขาไปมาก แต่ไอ้ที่กองอยู่ที่คุณมีมากกว่า มันก็ชัดอีกนั่นแหละว่าคุณหลอก

คนที่มั่นใจในกรรมดี ของตน เขาจะไม่กลัวว่าจะไม่มีกิน ไม่มีใช้ เมื่อไม่กลัวก็ไม่ต้องสะสม เขารู้ว่าเขาพึ่งสมรรถภาพ ของเขาได้ พึ่งกรรม ของเขาได้ แต่คนเจตนาแอบแฝงเขาย่อมต้องสะสม กักตุน กอบโกยไว้ให้มากที่สุด


คืออำพรางว่า เป็นการให้เหมือนกัน แต่เจตนาต่างกัน


ใช่ ! และ คนละวิธีการ คนละลักษณะด้วย ลักษณะที่ให้เพื่อตัวเองจะได้มามาก ๆ เล่ห์กลแบบนี้ ถ้าเรามีความรู้ ความเข้าใจ เราก็จะไม่ถูกหลอก ยิ่งถ้าเราไม่หลงกินเปลือง ใช้เปลืองแล้ว เราก็จะไม่เดือดร้อนอะไรเลย ใครเขาจะหลอกกันอย่างไร เราก็สบาย

แล้วทำอย่างไร เรา จึงจะเป็นทาสมนุษย์อย่างเป็นสุขด้วย เพราะตราบที่เรายังพัฒนาตัวเองไม่ถึงขั้น เราก็ยังต้องทำอย่างฝืนใจ

ถ้าฝืนใจแล้วรู้ว่า การฝืนใจนั้นเป็นการฆ่ากิเลส แล้วก็เป็นการสร้างสรรที่มีคุณค่าประโยชน์ จงฝืนใจ จงอดทน จงอดกลั้น มีทมะ มีขันติ ทมะ ก็คือการข่มฝืน ขันติก็คือการอดทน กระทำให้แน่ชัดว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องแล้ว มันก็ต้องฝืนใจ ต้องกดข่มกันอยู่ทั้งนั้นแหละ


แม้บางทีจะทำอย่างทุกข์น่ะ หรือ คะ ?


แม้อย่าว่าแต่บางทีเลย หลายทีก็ต้องทำ มีทุกข์เราก็รู้ว่า ทุกข์เพื่อที่จะล้างสิ่งไม่ดีออกไป ล้างเหตุแห่งทุกข์ออกไป ถึงบอกว่าต้องตั้งตนอยู่บนทุกข์ "ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ" กุศลธรรมก็จะเจริญยิ่ง ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้


พ่อท่านว่าจำเป็นต้องทำทุกคนไหมคะ ?


จำเป็นต้องทำทุกคน ! คนที่ไม่ทำ คือคนไม่ทำความเจริญให้แก่ตัวเองเท่านั้นแหละ แล้วก็ไปทำความเสื่อม ไปทำให้ตัวเองตกต่ำ เป็นภาระแก่สังคม ทำให้ตัวเองมีบาปอยู่ในโลก ได้เปรียบแล้วก็ไปหลงว่าน่าได้ หลงดีใจ แท้จริงเป็นบาป ไปเอาเปรียบเขามาตลอดกาลนาน แล้วก็คิดว่าตัวเองได้ดิบได้ดี ที่จริงได้เวรได้ภัย ได้เป็นหนี้ ได้อกุศลอยู่แท้ ๆ เพราะไม่เข้าใจบาป-บุญที่แท้จริง

ค่ะ..เป็นอันว่าคนที่หวังความเจริญให้แก่ตัวเองจริง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาเรียนรู้ และ ปฏิบัติตนตามวิถีทาง ของ "ทาสมนุษย์" ทั้งนี้ไม่ใช่ประโยชน์ ของใครที่ไหน แต่เป็นประโยชน์ กับ ตัวคุณเอง ในอันที่จะไม่เป็นหนี้บาปหนี้เวรหนี้โลก

เขียนมาถึงตรงนี้ ก็ออกจะเห็นรูปรอยที่คล้าย ๆ กัน อย่างเช่น พวกที่ใช้ ATM หรือ เครดิตการ์ด นั่นไง ถึงเวลาก็เซ็น ถึงเวลาก็กด (ดูโก้เสียด้วย) พอเขาทวงหนี้ขึ้นมา โอ้โฮ ! ทำไมมันมากมายมหาศาลอะไรขนาดนั้น - ลมจะใส่ !

ที่ยิ่งกว่านั้น หนี้เงินหนี้วัตถุยังพอชดใช้ แต่หนี้กรรมเล่า คุณเตรียมใจไว้แล้ว หรือ ยัง ?!?

end of column
     

๑๕ นาที กับ พ่อท่าน (สารอโศก อันดับ ๑๓๖ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ทาสมนุษย์)