สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 138 เดือนสิงหาคม 2532
"ขอทำดีเถิด"

"ธรรมดาคนเขาอยากให้เราดี
แต่เราเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน"

ก่อนอื่น ก็ต้องขอคารวะท่านผู้รจนาบทนี้ขึ้น ด้วยว่าท่านช่างเข้าใจกิเลสคนได้ลึกซึ้ง และสรุปประเด็นความขัดแย้งในแง่นี้ได้ชัดมาก

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยัง (แอบ) หวังว่า คนเราคงไม่เป็นอย่างที่ว่าเสียทั้งหมด คงมีบ้างหรอกที่ " ใจกว้าง" พอที่จะยอมรับคนอื่น หากเขาผู้นั้น "เด่น" เพราะ "ดี" จริง

อย่างไรก็ตาม ความหวังนั้นดูจะเหมือนจะมืดมนเต็มที ในยุคสมัยนี้
ด้วยยุคนี้ คนที่ทำดีถึงกับต้องร้องขอต่อสังคมว่า "ขอเราทำดีเถิด"
ถ้าไม่ได้รู้ได้เห็นกับตา ก็คงนึกไม่ออกว่ามันเป็นอย่างนี้ได้ยังไง
แต่มันก็คงเป็นไปแล้ว...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อกันละนะ


"พ่อท่านคะ ทำไมชาวอโศกยุคนี้ถึงกับต้องพูดว่า "ขอเราทำดีเถิด" ด้วย ในเมื่อความดีก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างอาจหาญไม่ใช่หรือ?


ที่ต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะว่า โอ้โฮ้! เรานี่เกรงใจเขาเหลือเกิน ประชาชนท่านผู้ต้านเราอยู่นี่ เราจะทำดีแท้ๆ ก็มาต้านเราเสียทุกอย่าง ห้ามเราทุกอย่าง มองเราไปในแง่ร้าย แง่ผิด แง่เสียทั้งนั้น เราก็จำเป็นที่สุดที่จะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะรู้ตัวว่าเราเป็นผู้น้อย เรามีพวกน้อย เราก็ต้องทำไปตามประสาผู้น้อย

และอีกอย่าง การอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะขอ มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย มันก็เป็นเรื่องดีงามที่จะ "ขอ" ทำความดี ให้เขาคิดดูบ้างว่าเราไม่ได้ทำเสียทำหายอะไร เราจะทำดี ก็คิดว่ามันน่าจะดีนะ


ถ้างั้นความดีก็ไม่เป็นสากลซีคะ?


ความดีควรเป็นสากล ควรเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมสนับสนุนให้กันและกันทำดี แต่ว่า...มันทำไงได้ สังคมมันเป็นเช่นนี้ เหตุการณ์มันเป็นเช่นนี้ ทั้งที่เราทำดีด้วยความจริงใจ และผู้ที่ต่อต้านเรา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นดี แต่ก็ยังมีสภาพต่อต้าน มันก็ดูเป็นความย้อนแย้ง

ฉะนั้น เมื่อเราแน่ใจว่าเราทำดีแล้ว ถูกต้อง ยังไงๆเราก็ "ขอทำดีเถอะ" เราจะไม่ไปมัวโทษสังคมหรอกว่า ท่านไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เราจะทำต่อไปด้วยความจริงใจ


แสดงว่า ความดีมีหลายระดับใช่ไหม ความดีระดับที่ชาวอโศกทำอยู่ คนทั่วไปจึงเข้าใจไม่ได้


ความดีมีหลายระดับนี่ถูกแล้ว ถ้าพูดในแง่นี้ก็ชัดขึ้น เพราะคนที่ทำดีระดับหนึ่ง ซึ่งยังไม่สูงกว่าอีกระดับหนึ่ง เขายังเข้าใจความดีที่สูงกว่านั้นจริงๆไม่ได้ เพราะมันมีสภาวะตีกลับ มีสภาวะซับซ้อน เลยมองมุมผิดไปว่ามันเป็นความไม่ดี ก็คิดเผินๆ แต่โดยจริงแล้วมันเป็นความดีที่ซ้อนลึกขึ้น เป็นนามธรรม เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ ต้องอาศัยญาณทัศนะที่ลึกซึ้งจริงๆ ถึงจะเข้าใจได้


ในพุทธศาสนามีความดีกี่ระดับคะ?


ในพุทธศาสนามีความดีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับโลกีย์ธรรมดา สูงกว่านั้นขึ้นมาก็เป็นระดับ "กัลยาณชน" หรือสูงขึ้นจนถึง "อริยชน" สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อริยชนก็มีหลายระดับ แม้ที่สุดถึงระดับจะบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ ที่จะไปหาพระพุทธเจ้า นั่นก็ยิ่งเป็นความดีที่พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เกินจะเชื่อถือได้ เพราะมันมีลักษณะวิสามัญยิ่งๆขึ้น จนถึงขั้น " สูงสุดกลับคืนสู่สามัญ" อีกด้วย


สรุปว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ก็มีสาเหตุมาจากความดี ที่ต่างระดับกันใช่ไหม?


ใช่! มันเป็นความดีหลายระดับ ที่มีสภาพลึกซึ้งซับซ้อนเดาไม่ได้ คาดคะเนไม่ได้ ต้องศึกษาจริงๆ ต้องอบรมฝึกฝนจนเกิดจนเป็นจริงให้ได้ ต้องมีญาณทัศนะจริงๆ ถึงจะรู้ได้อย่างที่กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้จริง รู้ชัดจึงจะต้องเป็นผู้ที่ยอมหยุด หรือยอมที่จะปล่อยให้เขาว่า เขาด่า เขาเข้าใจผิดไปก่อน เพราะว่าไม่สามารถ บังคับความฉลาด ของคนได้ หรือไม่สามารถบังคับให้คนรู้ได้เมื่อเขาไม่รู้จริงๆ เราไม่มีความสามารถกว่านี้


หมายความว่า เราก็ต้องผจญกับเรื่องอย่างนี้ไปเรื่อยๆ


ไม่ใช่เราหรอก มีมาแต่ไหนๆ ประวัติศาสตร์เป็นเช่นนี้มานานแล้ว เราไม่ใช่รายแรก และไม่ใช่รายสุดท้าย มันเป็นดั่งนี้-ธรรมดา-ตถตามีมาตลอดกัปกาล


มีคนบอกว่าที่มันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เพราะพ่อท่านทำงานผิดพลาด หรือ "เดินเกมผิด" จริงไหม?


อาตมาก็ตรวจสอบนะ ไม่ได้ประมาท และก็ไม่ได้หลงตัว ก็ยังขอยืนยันว่าอาตมาไม่ได้ผิดพลาดอะไร ไม่ได้เดินเกมผิด

แต่ก็ไม่พูดหรอกว่า เดินเกมถูกต้อง และดีเกินคาด-ไม่พูด


พ่อท่านแน่ใจไหมว่า สิ่งที่ทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้เป็นความดี?


-แน่ใจ!


-แล้วเห็นผลอย่างไรบ้าง?


โอ! ก็มีคนที่มาเป็น มาเปลี่ยนแปลงชีวิตตั้งมากมายก่ายกองนี่ อาตมาไม่ได้บังคับขู่เข็ญอะไรมานี่ แล้วก็ไม่ได้เอาอะไรล่ออะไรอ่อย ใครมาก็บอกว่าจะรวยลาภจะรวยยศจะรวยสรรเสริญรวยโลกียสุขนะ ก็ไม่ได้ว่า ไม่ได้มีอามิสต่อรองอะไร ไม่ได้ไปการันตี สัญญิงสัญญาอะไร ว่าทำแล้วก็จะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขอะไรนี่-ไม่มี! มีแต่บอกตรงๆว่าจะหมดจะน้อยลงด้วยซ้ำ

แล้วก็มาเสียสละกัน มาสร้างสรรกัน จนกระทั่งคนเข้าใจผิดว่าเรามีทุนหนุนหลัง เรามีความไม่ซื่อตรง มีอะไรแอบแฝงต่างๆนานาสารพัด ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เขาคาดคะเนไปเองทั้งนั้น เพราะมันไม่น่าเชื่อจนถึงขั้นมหัศจรรย์อยู่


เพราะรูปรอยมันก็ชวนให้เขาเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ


ใช่! ถ้าเข้าใจแบบโลกๆตื้นๆธรรมดา มันก็เป็นอย่างนั้น สำหรับคนที่ดำเนินเกม หรือดำเนินการกระทำแบบที่มันผิดพลาด หรือที่มันไม่ดีไม่งามแบบที่เขาคิด มันก็จะอยู่ในรอบที่เขาคำนวนคะเนนั่น-ถูกแล้ว

แต่ของเรามันไม่ใช่อย่างนั้น มันเกินรอบนั้น สูงกว่าอันนั้น มันสอดคล้องกับความดีที่จริงขึ้น เพราะฉะนั้นมันเดาไม่ได้ คาดคะเนไม่ได้

ก็เห็นใจเขาอยู่นะที่เขาเข้าใจไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ได้แต่เตือนให้เขาศึกษา ให้พยายามฝึกฝนอบรมตน ยังไงก็ยับยั้งชั่งใจบ้าง ซึ่งก็คงยับยั้งไม่ได้หรอก เพราะเขาคิดว่าเขาจริงใจ และคิดว่าเราหลงตัวหลงตนด้วยซ้ำ ยิ่งกับบางคนที่เขายอมรับนับถือกัน ยกย่องกันว่าเป็นผู้รู้หลายๆท่านมารวมๆกัน คิดเห็นสอดคล้องกันลงมติกัน เขาก็คิดว่า อันนั้นมันเป็นความจริงกว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ตัดสินได้แล้ว เป็นข้อวินิจฉัยที่สมบูรณ์แล้ว


พ่อท่านคิดว่าคุ้มกันไหม กับการทำความดีแล้วผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างนี้?


อุ๊ย..คุ้ม! อาตมาไม่ได้เสียอะไรนี่ แม้จะถูกด่าถูกว่าอะไร ก็เป็นการด่าว่าเพราะเข้าใจผิด เพราะความไม่รู้ ไม่ฉลาดของเขาเมื่อเขารู้ผิดๆ เขาไม่ฉลาดพอ มันไม่ใช่ความผิดของเรา ทำไมจะต้องไปมีปัญหา ทำไมจะต้องไปหลงตามภาษาพูด

คนที่ถูกเขาว่าอะไรก็รู้สึกเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี เสียเกียรติยศ นั่นแหละคนที่หลงติดอัตตามานะ ถ้าเราไม่ได้ผิดตามที่เขาว่า เราก็จบแล้วนี่ ไม่มีอะไรมาทำให้เราเสียได้ ไม่มีอะไรจะทำให้เราผิดได้ ถ้าเราไม่ผิด


แต่การที่เขาพูดผิด ก็ทำให้คนอื่นๆที่ไม่รู้เรื่อง พลอยเข้าใจผิดไปด้วย


จริง! คนที่ยังไม่ฉลาดก็อาจเข้าใจตามอันนั้น มันก็ช่วยไม่ได้นี่ มันก็เท่ากับคัดเลือกคนให้แก่เรา

แต่คนที่ไม่งมงาย ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ คนมีปัญญาเขาก็จะศึกษา เขาก็จะเข้ามาตรวจสอบ เขามีปัญญาที่จะค้นคว้า พิสูจน์ แล้วเขาก็จะเข้ามาคบคุ้น


ที่พ่อท่านว่าเป็นการคัดเลือกคนนั้น จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงต่างๆ ก็มักเกิดจากกลุ่มคนจำพวกที่ไม่ค่อยรู้ แล้วก็หลงเฮๆกันไปนั่นแหละนะคะ


ก็เกิดก็เกิดไป แต่ผู้ที่จะทำงานแบบนี้ก็ต้องมีปัญญา มีความเฉลียวฉลาดพอเพียง ที่จะสามารถหาทางให้ตัวเองทำงานต่อไปได้ โดยไม่ให้เกิดความรุนแรงเลวร้ายอะไร เท่าที่สามารถจะเลี่ยงได้ แต่ไม่ใช่กลัว

คนเลวจะพยายามทำเลวตลอดเวลานั้นจริ๊ง-จริง และเขาก็ทำเลวได้ร้ายกาจด้วย เมื่อเขาไม่ชอบใจ เมื่อเขาต้องการจะทำลาย จะโค่นล้ม จะฆ่าเข่นอะไร เขาก็ทำจริงด้วย

ทีนี้ผู้ที่จะทำดีก็ต้องฉลาด มียุทธศาสตร์ที่จะทำงานได้ดีที่สุด ได้มากที่สุด โดยไม่พยายามให้เป็นตัวเหตุปัจจัย ที่จะก่อเกิดความเลวร้ายต่อสังคม รับผิดชอบสังคม และพยายามไม่ให้ใครๆเสียหายให้ได้ นอกจากจะหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆสุดวิสัยก็จำนน


ถ้างั้นการทำดีในยุคนี้ก็ยิ่งยากใหญ่ ตรงที่ต้องเข้มแข็งมั่นคง และอดทนมากๆด้วย


แน่นอน! การทำความดีทุกวันนี้ยากกว่าสมัยก่อนที่ยังไม่เลวร้ายเท่ายุคนี้ เพราะนับวันโลกมันยิ่งใกล้กลียุคเข้าไปทุกที ยิ่งต้องใจเย็นยืนหยัด ต้องอดทนขวนขวาย อุตสาหะ แล้วก็ต้องเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาตรวจสอบวัดค่าวัดคุณต่างๆนานา เพื่อที่จะทำได้ละเอียดลออประณีตยิ่งๆขึ้น


ในเมื่อความดีระดับที่เราทำอยู่นี่เขาเข้าใจไม่ได้ เขาไม่ต้องการทำไมเราจะต้องไป "ขอ" ทำอยู่อีก สู้เราทำในระดับแค่ที่เขาเข้าใจ เพื่อยุติความขัดแย้งจะไม่ดีกว่าหรือ?


ก็ที่เขาเข้าใจมันเพี้ยน มันผิดเขาเข้าใจยังไม่ได้ และเข้าใจยังไม่ถูก ยังเข้าไม่ถึง คือมันมีสภาพความนึกคิด กับมีสภาพ ความเป็นจริง ถ้าไม่ละเอียดลออพอนี่มันจะหลง ความนึกคิดอาจจะพอเข้าเค้าถูกต้องบ้าง แต่ในสภาพที่เป็นจริงมันไม่ใช่เลย เป็นต้น มันเลยย้อนแย้ง

มันก็เลยพูดกันไม่ได้เรื่องใหญ่ ก็ลำบากที่จะทำความเข้าใจ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ เพราะไม่ได้มีคนคนเดียว แต่ยังมีคนอีกมากมายที่รอความช่วยเหลือ คนรู้ย่อมมีไม่ใช่จะโง่ไปเสียทั้งหมด คนลึกซึ้งจริง ฉลาดแท้ก็จะได้เพิ่มขึ้นๆ อย่าท้อแท้สิมันเหมือนคนใจดำนะ และเราจะไม่ได้ทำดีต่อไปได้ไง? แม้จะต้อง "ขอ" เขาทำ ก็ต้องทำดีให้ยิ่งๆขึ้น ดีอยู่เท่าเก่าหรือลดดีลง พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงสอนไว้


แต่เมื่อแรงต้านมีมากและไม่เป็นธรรม พ่อท่านมีวิธีให้พวกเราคลายใจอย่างไร?


เราก็ต้องพยายามเห็นความจริงให้ได้ว่า เราก็ทำดีแล้วอย่างที่พูดไปข้างต้น เขาเข้าใจไม่ได้เราจะไปบังคับเขาได้ไง ข้อสำคัญ เราต้องตรวจสอบของเราซิว่าเราดีจริงมั้ย ถูกต้องมั้ย

ถ้าตรวจสอบแล้วสรุปผลได้ว่าเราถูกต้อง เราก็ควรจะวางใจได้แล้ว เราต้องรู้ที่จบ ผู้รู้ชัดแล้วก็วางใจมันก็จบ เขาจะว่าเรายังไง จะทำยังไง มันก็เรื่องของเขา เราก็ทำงานในส่วนของเราต่อไป

ทุกวันนี้นี่ เขาว่าอะไรอาตมา อาตมาก็ยังทำงานได้อยู่ ยังพัฒนาสร้างสรรอะไรได้อยู่ แล้วอาตมาจะไปหาเรื่องรบรา หรือทะเลาะเบาะแว้งกับเขาทำไม ทุกวันนี้อาตมาก็ยังมีทางทำงาน ยังขยันไม่พอด้วยซ้ำป ยังเหนื่อยจนกระทั่งจะไม่ไหวอยู่แล้วด้วยซ้ำ แล้วจะไปจนทางอะไร


ก็ทางใครทางมัน


ก็ควรจะไปด้วยกันไปทางที่ดี ถ้าสามารถนำพากันได้ ทำไมใจดำนักเล่า แหม-จะไล่คนนั้นคนนี้ไปจากทางที่ดีอยู่เรื่อย


ก็มันขัดแย้งกัน


ไม่นะ ไม่ขัดแย้ง อาตมาเคยยกตัวอย่างว่าคนโลกียะนี่นะ เขาเองเขาต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ โล

กียสุข เขาก็ต้อง"เอา" ส่วนเรานี่ เราไม่แย่งลาภ แย่งยศอะไรกับเขา ไม่แย่งแล้วยังสร้างยังขยันยัง"ให้"ด้วยซ้ำ แล้วมันจะขัดแย้งกันได้ยังไง มันยิ่งน่าจะอยู่ด้วยกันได้ มันสอดคล้องกันอยู่แล้ว

แต่เขาเข้าใจไม่ได้ ซ้ำยังหาว่าเราจะไปขัดขวางเขา เปล่า-เราไม่ได้ขัดขวางเขา ก็เขาจะ"เอา"แล้วเรา BYE ออกมา มันจะขัดขวางกันยังไง ถ้าจะขัด ก็คือขัดใจเขา ที่คิดเห็นไม่ตรงกับเขา ไม่เหมือนเขา แต่พฤติกรรมและความเป็นอยู่ มันก็ไม่ได้ไปต้านอะไรกันนี่ คนหนึ่ง"เอา" อีกคนหนึ่ง"ให้" ลักษณะมันต่างกันจริง แต่มันรวมกันได้

จริง-มันดูเหมือนจะอยู่คนละฟากฝั่ง มันเหมือนเป็นคนละตระกูล อีกฝ่ายตระกูล "เอา" อีกฝ่ายตระกูล "ไม่เอา" หรือ "ให้" มันก็ไม่แย่งกันแล้ว แต่คิดตื้นๆมันแย้งกัน มันก็ดีแล้วนี่ จะไปทะเลาะกันทำไม มันยิ่งต้องอยู่กันได้ดีอย่างที่ว่า นี่-เขาไม่เข้าใจอย่างนี้ ไม่ฉลาดพอที่จะรู้อย่างนี้เท่านั้น หรือถึงรู้ก็ไม่ลึกซึ้งจึงเข้าใจไม่ได้


แถมหมั่นไส้อีกต่างหาก


แล้วคนหมั่นไส้คนอื่นนี่ เขาทุกข์หรือเขาสุขล่ะคุณว่า แหมอาตมาก็สมเพชเวทนานะ คนที่ทำทุกข์ให้ตัวเองนี่น่ะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าโง่ทุกคน แล้วจะให้ใครช่วยอะไรได้ล่ะ ก็ทุกข์เอง โง่เอง อวิชชาเอง


ก็เราหยุดเสียไม่ได้หรือ จะต้องทำดีอะไรกันหนักหนา?


เราจะหยุดอย่างเดียวเท่านั้นแหละ หยุกกิเลสให้มันได้ หยุดกุศล หยุดทุจริต หยุดให้เด็ดขาด จะหยุดได้อย่างเดียวแนวเดียวทางเดียวนี้เท่านั้น

ส่วนการทำความดีหยุดไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้หยุดอยู่ในกุศลธรรมหรือ? ใครเขาจะทำไม่ดีมายังไง เราต้องพยายามทำให้มันดี ให้มันจบที่เรา เขาไม่จบเราก็ทำดีต่อไป ทำให้มันดีต่อไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นทุกวันนี้นี่ เราไม่มีสิทธิ์หยุดในการทำความดี หยุดไม่ได้เด็ดขาด จะมาขาดมาเด็ดยังไงก็ไม่มีวันหยุด


ถ้างั้นก็คงต้องขอกรรมฐาน ที่จะเป็นกำลังใจให้ทำดีต่อไป โดยไม่หวั่นไหวค่ะ


ก็มีโศลกที่เคยพูดไว้ว่า "คนเราเกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ อย่าตายเสียชาติเกิด "นั้น" ๑
๒ "เราทำดียังไม่ได้ดี หรือคนยังไม่เห็นดี เพราะเรายังทำดีไม่มากพอ"
เพราะฉะนั้น ๓ "เราต้องทำดี จนคนตาบอดเห็นได้"

ค่ะ-ก็สรุปจบด้วยโศลกตั้งสามบท ใครอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วยังท้อแท้สิ้นหวังอยู่ ก็ช่วยไม่ได้นะคะ

ที่แน่ๆจบสัมภาษณ์คราวนี้ ประโยชน์ตนที่ได้ชัดๆคือ หายจากอาการมึนโดยสิ้นเชิง จะมีติดขัดอยู่อีกนิด ก็ตรงลืมถามพ่อท่านอีกคำว่า...

การทำดีจนคนตาบอดเห็นได้ ก็ยังพอเห็นหนทางอยู่ แต่กับคน "ใจบอด" นี่สิ พ่อท่านจะให้ทำอย่างไร ???

end of column
     

๑๕ นาทีกับพ่อท่าน (สารอโศก อันดับ ๑๓๘ สิงหา กันยา ตุลา ๒๕๓๒ ขอทำดีเถิด)