สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
นักทำ
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 140 เดือนมกราคม 2533
"นักทำ"

ฟังๆ ดูไม่น่าจะเข้าใจยากอะไรนักหนา คำว่า "ทำ" คำสั้นๆ นี้ เราก็คุ้นเคย เป็นอันดี เติม "นัก" ประกอบเข้าไปข้างหน้า หมายความว่า "ผู้" ดังนั้น "นักทำ" ก็คือ "ผู้ทำ" นั่นเอง

แต่... "ทำ" อะไรอย่างไรแบบไหนกันเล่า? "ทำ" หมายถึงใช้มือทำ ผลิตสร้างนั่นนี่ออกมาอย่างเดียวหรือ? หรือ "ทำ" โดยใช้สมองความคิด ความตั้งใจ ทั้งหัวใจ ถ่ายทอดออกมา เป็นความรู้บอก สอน พูดเขียนแนะนำ จัดเป็น "นักทำ" หรือเปล่า?

แล้วคนที่ลงมือ "ทำ" ด้วยหัวใจจิตวิญญาณพึงพอใจในสิ่งนั้นๆ ชนิดที่ไม่ต้องคำนึงละว่า จะเป็นประโยชน์ต่อตน ต่อสังคม มากน้อยแค่ไหน แบบนี้จะชื่อว่าเป็น "นักทำ" จริงหรือเปล่า?

ชักยากแล้วสินะ อย่างไรกันจึงจะเรียกว่า "นักทำ"

"นักทำ" ที่เข้าแบบฉบับของพุทธแท้ๆ นั่นนะ

มาขอความกระจ่างจากพ่อท่านโพธิรักษ์ดีกว่าค่ะ

คนที่ทำงาน โดยใช้กำลังมือ ก็คือ กรรมกร

คนที่ทำงาน โดยใช้แต่สมอง ก็คือ กรรมการ หรือนักวิชาการ

คนที่ทำงาน โดยใช้สมองและหัวใจ ก็เป็นได้เพียงผู้ใฝ่ฝันจนถึงขั้นนักเพ้อฝัน

คนที่ทำงาน โดยใช้มือและสมอง ก็เป็น ช่างฝีมือ หรือนักผลิต

คนที่ทำงาน โดยใช้มือและหัวใจ ก็เป็นได้เพียงผู้หลงตนว่าเป็นศิลปิน

คนที่ทำงาน โดยใช้มือ ใช้สมองและหัวใจ ก็เป็นศิลปิน

คนที่ทำงาน โดยใช้มือ และหัวใจพร้อมทั้งสมองและญาณ ก็คือพระอริยะหรืออัจฉริยบุคคล หรือยอดศิลปิน


-กราบรบกวนพ่อท่านช่วยอธิบายคำว่า "นักทำ" กับ "นักธรรม" ค่ะ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร


โดยความเป็นเนื้อหาสาระนัยละเอียดแล้วนี่ ถ้าจะว่าไปแล้ว คำว่า "ธรรม" เป็นคำกลางๆ ธรรมมีทั้งกุศลและอกุศล คำว่า "ธรรม" นี่มันแปลว่าสภาพที่ทรงไว้ ก่อนจะได้สภาพที่ทรงไว้ที่ดี เรียกว่า กุศลธรรม เราก็ต้องอบรม ฝึกหัดกระทำ คือ ทำ ท สระ อำ ทำแบบฝึกหัดจนกระทั่งทรงไว้ไม่ผิดพลาด เป็นอัตโนมัติเลยทีเดียว เป็นการกระทำอันนั้นทรงไว้ในเรา มีพฤติกรรม มีบทบาท กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กรรมคือการกระทำนี่ ทำ ก็คือ กรรม ทำ ท สระอำ ทำ คือกรรม

ธ-ร-ร-ม ธรรมนี่แปลว่าสภาพที่ทรงไว้ ทรงไว้ซึ่งกรรมที่เป็นกุศล ทำสิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ดีก็เลิก ทรงไว้ซึ่งการเลิกแล้วซึ่งสิ่งไม่ดี ทรงไว้ซึ่งการไม่มีอกุศลกรรม ทรงไว้ซึ่งการไม่มีความไม่ดี คือการกระทำไม่ดี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ไม่ดี-ไม่มี

ฉะนั้นทำ กับ ธรรม ถ้าเป็นภาษาบาลีจะเรียกแตกต่างกันว่า กรรมกับธรรม แต่ถ้าพูดภาษาไทยเลย เสียงมันซ้ำมันพ้องกัน "ทำ-ธรรม"ออกเสียงมันเหมือนกัน แต่มันก็เกี่ยวเนื่องกันกรรมกับธรรมนี่

จะบอกว่ามีความหมายต่างกัน ก็มีต่างกันโดยนัย อันหนึ่งทรงสภาพนั้นไว้ "ธรรม"มีความหมายเจาะบอก จำกัดความบอกว่าลักษณะ"ทรงไว้"

ส่วน"กรรม"นั้นเป็นลักษณะกิริยา บอกอาการบทบาท ของการกระทำ ของกิริยากระทำ


-ทำไมตอนนี้ พ่อท่านเน้น"นักทำ" มากกว่า"นักคิด นักวิชาการ"ล่ะคะ


ที่จริงเน้นมานานแล้ว เน้นนักทำ นักลงมือกระทำให้มันมีการกระทำได้ ถ้าคิดดี คิดได้ แต่ยังไม่ได้กระทำ มันก็แค่คิดได้คิดดี พูดดึ พูดได้ มันก็ได้แต่พูด แต่มันก็ยังไม่มีของจริง มันจะมีความจริงก็ต่อเมื่อมันทำได้ ยิ่งทำได้สำเร็จสมบูรณ์ ก็ยิ่งเป็น"ความจริง"ที่เรียกว่า สัจธรรม ทรงสภาพนั้นไว้ มีสภาพนั้นจริงในโลก

ถ้าเราจะบอกว่าคิดเห็นสิ่งนี้ว่าดี พูดได้ว่าสิ่งนี้ว่าดี แล้วความ"เป็น"น่ะ เป็นมั้ยเล่า เป็นได้มั้ยล่ะ? จะเป็นดีเป็นบริสุทธิ์ เป็นวิเศษสูงส่งอะไร ก็ตามใจเถอะ มันทำไม่ได้ แล้วมันก็จะไปได้อะไร มันจะไปมีอะไร มาทรงสภาพนั้นๆขึ้นมา

ทุกวันนี้ที่ต้องเน้นมากก็เพราะว่า คนเอาการรู้ กับเอาการพูดนี่มาข่ม มาทำเป็นเหนือชั้นกว่าผู้ทำได้นี่ มันมีมากเหลือเกิน แล้วสังคมก็จำนนสังคมก็ยอมกับผู้ที่รู้มาก คิดได้มาก แล้วก็พูดได้มาก บรรยาย สาธยาย เขียนออกมาเป็นตำราได้มากๆ เขียนมาก็ได้ชื่อเสียง ได้ลาภ ยศ กันเยอะแยะ แต่กระทำจริงๆ กระทำดีๆให้ได้อย่างซับซ้อนลึกซึ้งอย่างที่ว่านั้น มันทำยังไม่ได้จริงๆก็เลยต้องเน้นๆ

บางคน"ทำได้" แต่ภูมิรู้ปฏิภาณ ฉลาดเฉลียวโวหาร ภาษาสื่อเขาไม่เก่ง เขาอาจจะมองความลึกซึ้งซับซ้อน ในสิ่งที่เขา"ทำได้"ดีๆนั้น โดยเหตุผล หลักวิชา หลักทฤษฎีตามที่ใครๆเล่าเรียนกันนี่ เขาอาจจะไม่รู้ก็ได้ แต่เขาทำได้ และเขาอาจจะแยกแยะวิเคราะห์ บอกแนะนำคนอื่นก็ได้ โดยไม่ใช่ภาษาตามหลักวิชาการ


-พ่อท่านคะ ทำไมคนที่รู้ดี คิดดี ทำไมเขาถึงไม่ทำดีด้วยล่ะคะ


ก็เขาไม่อบรมตน ไม่ทำน่ะซิ หรือทำแต่ยังทำไม่ได้มั้ง


-ทำไมเขาไม่ทราบหรือคะ


ถ้าถามอาตมาว่าทำไมแบบนี้ ก็ต้องไปถามเขาสิ มาถามอาตมามันก็ผิดตัว อาตมาถึงว่าน่าฉงน อย่างที่คุณว่าก็รู้ดีแล้ว คิดก็ดี พูดก็ดีนะ แล้วทำไมไม่ทำดี อาตมาถึงต้องมาเน้นอย่างที่ทราบนี่ ทำไมไม่ทำ ก็เมื่อมันดี แล้วทำไมไม่ทำ ก็ถามอยู่ทุกวันนี้


-หรืออาจจะเป็นเพราะว่าความรู้ดีนี่ ก็นำเขาไปสู่การรู้มากๆขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วทำให้โอกาสที่จะทำไม่มีหรือเปล่าคะ


อาตมาจะวิเคราะห์นะ เท่าที่อาตมาพอมีภูมิวิเคราะห์วิจารณ์ได้บ้าง ก็เพราะว่าแค่เขารู้ดีนี่ เขาก็อยู่ในสังคมได้แล้ว คนก็ยกย่องเชิดชูบูชาได้แล้ว ความ"รู้ดี"ของ เขามันก็มาก จนคนอื่นก็สู้ไม่ได้ หรือแม้สู้ได้ เขาก็อยู่ในฐานะได้รับยกย่องเพียงพอแล้ว

เขาก็เห็นว่า เขาทำแค่นี้นี่นะ แลกลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ได้มากมายแล้ว ถ้าจะไปปฏิบัติอีกนี่มันยาก เมื่อปฏิบัติยาก ก็ไปทำทำไมล่ะ แค่นี้ก็เหลือกินเหลือใช้ ฉะนั้นจะไปทำให้มันเมื่อยทำไม


-แสดงว่าเขายังเข้าไม่ถึงความดีที่แท้จริงหรือคะ


ใช่ ! ก็อย่างงั้นแหละ


-หมายความว่าเขามาหลงติดอยู่ตรงแค่ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเท่านี้


*ก็ได้อยู่แค่นั้น เขาคงพอใจอยู่แค่"โลกียสุข" หรือ โลกธรรมเท่านั้นจริงๆ จึงไม่พยายามทวนกระแสโลกธรรม ถ้าจะบอกพูดกันอย่างเห็นใจก็คือว่า เขาทำเหมือนกัน ทฤษฎีที่เขารู้นะ เขาก็พยายามพากเพียรปฏิบัติอยู่บ้างเหมือนกัน ถ้ารู้ผิด (มิจฉา) มันก็ไม่ได้ หรือแม้รู้ถูก แต่เขายังทำไปไม่ถึงไหนๆ ทำไปมันก็ยากที่จะทำให้มันได้อย่างดีๆ ลึกซึ้ง สูงส่ง หรือไม่ก็"รู้" ไม่ลึกถึง"ขั้นใน"ที่เรียกว่า ญาณ จนเกิดอินทรีย์เกิดพละเอาจริงเอาจัง มีวิริยินทรีย์ถึงขั้น "ทำ" กระทั่งเป็นมรรค เป็นผล


-หันมามองชาวอโศกยุคนี้ พ่อท่านเห็นว่าพวกเราไม่ค่อยเป็นนักทำกันหรือคะ


ก็เห็นว่าพยายามทำอยู่ แต่พวกเรานี่ พอได้ดีมาประมาณหนึ่งแล้วก็เหลิง ติดแป้น ซึ่งหมายความว่า"เสพ" ในส่วนที่ได้แค่นั้น ได้แล้วก็ไม่ทำต่อ ไม่พากเพียรต่อ มันหลงตัว มันระเริง ได้อาศัยฐานที่เราได้แล้ว เราก็สบายทุกข์น้อยลงพอสมควร ฉะนั้นพอมองผู้อื่น เอ้อ! เขาก็ยังไม่ได้เท่าเราเลย เราก็ได้พอประมาณหนึ่งแล้ว รู้เห็นยังไงๆก็อุ่นใจ เหมือนกับคนที่มีทุนพอสมควรแล้ว ไม่กลัวอดหรอก มองออกไป ข้างหน้า คนอดอยากคนด้อยกว่าเรามีอีกเยอะ เขายังไม่ได้เท่าเราเลย เหมือนกระต่ายวิ่งแข่งกับเต่า โอ๊ย... เต่ายังวิ่งไม่ทันเราหรอก เต่ายังคลานอยู่อีกตั้งไกล นอนเสียก่อนเถอะ มันเป็นอย่างนั้นนะ ประมาท


-แล้วมีวิธีอย่างไรที่จะให้เขารู้ว่า ข้างหน้านี่ยังมีอะไรอยู่อีก เราจะมีวิธีกระตุ้นเขาได้ยังไงคะ


ก็บอกความจริงให้รู้ อาตมาบอกอยู่เสมอนะ ว่าข้างหน้านี้ยังมีอะไรอยู่อีก แต่มันไม่ขยันเอง ไม่เพียรเอง เพราะมันติด มันขี้เกียจ มันไม่อยากขวนขวายต่อไปแล้ว


-ถ้าคิดกันอย่างนี้ แล้วก็ทำแบบที่เขาคิดไปเรื่อยๆ อยากทราบว่าอนาคตจะเป็นยังไงคะ


อนาคตก็ไม่ได้ติดอยู่ที่เดิม เพราะความที่ยังได้ไม่ถาวรมั่นคง ก็โดนฉุดรั้งลงไปได้ เพราะทุกอย่างมันไม่เที่ยงมันเสริม มันเติมอยู่ตลอดเวลา สู้ทำให้มันอยู่ในฐานะที่ปลอดภัย จนกระทั่งมันเที่ยงแล้ว มันไม่มีทางเวียนกลับอีกแล้วจะดีกว่า ดังนั้น แต่ละคนยังเอาแน่นอนไม่ได้ ยังไว้ใจไม่ได้ ถ้าประมาทแล้วก็จะยาก โดยเฉพาะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะรู้กันง่ายๆ ทำให้มันถึงจุดจนกระทั่งแน่ชัดเลย ว่ามันถึงแน่ๆ มันจะไม่ดีกว่าหรือ ทำให้ถึงที่สุด จบแล้ว จนไม่มีอะไรศึกษาอีกแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ว่ากันอีกอย่างหนึ่ง แต่นี้ก็รู้ทั้งรู้ว่าจะเดินทางไปต่ออีก แล้วก็ไม่เดินเอง จะให้ทำยังไง พระพุทธเจ้าบอกควรให้ประมาทที่ไหนล่ะ บอกแต่ว่าถ้ายังไม่ถึงขีดก็ยังไม่แน่ ไม่รู้ชัดเจนว่า มันจะถึงขั้นที่ไม่เวียนกลับหรือยัง


-สมมุติว่าเขาอยู่จุดที่ได้โสดาบัน ซึ่งเขามั่นใจว่าเขาได้แน่ในจุดนั้น พ่อท่านว่า เขาจะตกต่ำอีกหรือไม่คะ


โสดาบันก็มีนัยที่ลึกซึ้งทางปรมัตถ์อีกตั้งแยะ แต่คุณจะแน่ใจหรือว่า คุณเองมีญาณพอ จะหยั่งอ่านในปรมัตถ์ในจิต เจตสิก กิเลสของคุณว่า โอ้เรานี่ได้ปรมัตถ์ ได้ลดละเข้าไปถึงแกนแก่น มีอรหัตผล หรือว่ามีอนาคามิผล ซ้อนอยู่ในโสดาพอแล้วหรือยัง ถึงขั้นอนาคามิผลใช่ไหม ไม่เวียนกลับแน่ อยู่ฐานของสังโยชน์ชั้นสูงแน่ ส่วนสังโยชน์ชั้นต่ำนี่ หมดไปแล้วแน่ พ้นสังโยชน์ ๕ ไม่เวียนกลับไม่ตกต่ำ คุณแน่ใจหรือว่ามีเท่านี้ รู้ถึงคุณภาพของมันว่าซ้อนอยู่ในเรื่องปรมัตถ์พวกนี้เพียงพอ ถึงแม้เพียงพอนะ และคุณทำซ้อนขึ้นไปได้อีก คุณจะประมาทอยู่ทำไม ก็รู้อยู่ว่ามีทางเดินต่อ ยังไม่หมด เรายังมีเวลาเหลือ ก็เอาไว้ทำอะไรเล่า ก็เอาให้หมดเสียซิ ให้มันแน่ใจว่ามันสุดอย่างที่อาตมาบอก


-อยากให้พ่อท่านอธิบายค่ะว่า "นักทำ" แบบไหน ที่เป็นนักทำที่แท้ ถูกต้องตรงความหมายที่สุด


ก็รู้จักทฤษฎี"อริยมรรค"ที่มีองค์แปด แล้วก็ทำทุกอย่างแหละ ทั้งพูด ทั้งคิด ทั้งการงาน ทั้งอาชีพ แล้วก็ปฏิบัติธรรมอยู่ในนี้แหละ ตัดกิเลสในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะคิด พูด ทำการงาน ทำอาชีพอะไรประจำวันนี่ก็ตาม ก็ให้มันมีการตัดกิเลสนั่นแหละ เป็น"นักทำ"ถูกต้องที่สุด และคุณจะเป็น"นักธรรม"ที่ทรงไว้ซึ่งความไม่มีกิเลสเป็นอริยเจ้าชั้นสูงสุด


-ถ้างั้น"นักทำ" ที่ทำได้จริงแล้ว ก็จะเป็น"นักธรรม"ไปด้วยในตัวหรือคะ


ใช่! อั้ยมัวแต่คิด เอาแต่รู้ผกผัน แต่ไม่ได้สังวรระวัง มีศีล มีข้อวัตรกำหนดปฏิบัติสำหรับตนอะไรเลย ไม่มีทางที่จะเป็นนักธรรมะ เพราะไม่ได้อบรม ไม่ได้ทำ ไม่ได้ฝึกฝนให้มันเกิด ให้มันเป็น ให้มันมี ให้มันรู้เห็นหน้าตากิเลส-ตัณหา-อุปาทานที่เป็นสภาวะจริง แล้วก็ใช้วิธีทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ลดมันจนได้จริงๆ มันก็ได้แต่คิด รู้ เสร็จแล้วไปพูด เขียน แลกลาภยศสรรเสริญมา ก็เท่านั้น


-รวมความแล้ว"นักธรรมะ" ก็ต้องเป็น"นักทำ"ด้วยนะคะ คือเป็นนักทำ ทำในเรื่องตัดกิเลสตัวเอง


เรื่องตัวเองนี่แหละ มันก็จะไปสัมพันธ์กับคนอื่นๆเอง คุณทำตัวเองให้ลดโกรธ คุณก็ไม่โกรธ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณไม่โกรธนะ คนอื่นเขาก็ไม่ต้องรับอะไรจากความโกรธ ที่เป็นความทำลายหรือทำร้ายจากอำนาจของความโกรธมันพาเป็น ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดีไม่งามที่จะเกิดจากคุณก็ไม่มี หรือถ้าคุณลดความโลภ มีการไม่เห็นแก่ตัว ไม่ต้องการอะไรมาเป็นของตัว ที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นมาแล้วก็ให้เขาไป คนอื่นเขาก็ได้จากคุณเห็นมั้ยว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นไปสอดคล้องกัน


-แล้วอย่างนักปฏิบัติธรรมบางคน ที่ทำงานนอกเก่ง ขยันมาก แต่ว่าไม่ค่อยลดละกิเลสตัวเอง สังเกตจากว่าแม้ทำงานได้มาก ก็หงุดหงิดเก่งน่ะค่ะ เราเรียกพวกนี้ว่าอย่างไร


ก็เรียกว่า พวกละเลย น่ะซี หรือ ถ้าไม่ละเลยแต่ทำยังไม่ถูกบ้าง ยังทำได้ไม่ถึงขีดถึงขั้นบ้าง เรียกว่ายังไม่เป็น "นักทำ" ที่ดี คือทำยังไม่ถึงขั้น "นักธรรม" เอาแต่ทำนาผู้อื่น ไม่ทำนาตน หรือทำนาตนไม่เป็นไม่ถูกต้อง ทำนาตนเหยาะๆ แหยะๆ ไม่อุตสาหะ ทำเพียงเสริมฐานะพอได้ชื่อว่าปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็เตือนว่า อย่าพร่าประโยชน์ตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก


-เรื่องทำประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน บางทีก็สับสน บางคนก็ว่า ถ้าทำประโยชน์ท่าน ก็จะลืมทำประโยชน์ตน


ไม่จริง นั่นคุณตกหล่นของคุณเอง คุณปฏิบัติ"ยังไม่เป็น"น่ะซิ ถ้าคุณปฏิบัติธรรมเป็นแล้ว มันก็อยู่ด้วยกันพร้อมกัน ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้านี่ มันอยู่พร้อมกันกับการคิดการพูด พร้อมกันไปในการกระทำทุกๆอย่าง ทางกาย วาจา ใจ พร้อมกันกับที่ประกอบอาชีพ ในชีวิตประจำวันไปทั้งนั้นแหละ ก็คือการปฏิบัติธรรมทั้งหมด เมื่อคุณศึกษาดีๆ เข้าใจได้อย่างถูกต้องในทฤษฎีสัมมาอริยมรรค แล้วฝึกหัดอบรมจริงๆ


-พ่อท่านคะ สรุปอย่างนี้ไม่ทราบว่าถูกหรือเปล่านะคะ คือทำงานใน หรือประโยชน์ตนลดละกิเลสนี่ ที่แท้ก็สามารถทำได้ แม้อยู่ในระหว่างทำประโยชน์ท่าน ทำงานสร้างสรรเพื่อผู้อื่น


ใช่ ! ถ้าทำถูกลักษณะของมันจริงๆ


-มีข้อควรระวังยังไงไหมคะ ในขณะที่เราทำงานนอก ทำประโยชน์ท่าน แล้วเราจะไม่ได้ประโยชน์ตน


ทำงานนอก มันมีอำนาจของอามิสเยอะ มีลาภ ยศ สรรเสริญ ยกยอปอปั้นมาก แล้วมันก็เลยไม่รู้รายละเอียดของตัวเอง ไปทำเพื่อคนอื่นไปเสียหมด โดยที่มันไปหลง มันก็เลยยิ่งย่ามใจ ระเริงใจ มันก็เลยยิ่งไม่รู้ว่า กิเลสของเราฟูฟองขึ้นไปอย่างไรๆ

ฟังพ่อท่านโพธิรักษ์ไขความ "นักทำ" แล้ว คงหายสงสัยนะคะ "นักทำ" ที่ถูกต้องแท้แล้ว จะคิด พูด ทำ ก็ต้องให้มีการได้ตัดกิเลสไปด้วยในตัวเสมอๆ

"ทำ" ได้แค่ไหนแล้วคะ?

end of column
     

๑๕ นาทีกับพ่อท่าน (อันดับ ๑๔๐ สารอโศก ม.ค. ก.พ. มีค. ๒๕๓๓)