สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
โดย ทีม สมอ. ตอน... เกษตรอโศก |
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 141 เดือนเมษายน 2533 "เกษตรอโศก" |
|
|
ชาวไร่ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของประเทศของมวลมนุษยชาติ เป็นผู้ค้ำจุนสังคมประเทศชาติอยู่นะ แล้วมันจะไม่เป็นสิ่ง ที่น่าภาคภูมิได้อย่างไร มันจะไม่น่ายกย่องได้อย่างไร และแล้ว "ชมรมเกษตรอโศก" ก็อุบัติขึ้นในหมู่ชาวอโศก ท่ามกลางความยินดีปรีดาของทุกฝ่าย ไม่แต่เฉพาะผู้มีอาชีพ "เกษตรกร" เท่านั้น ข้าวทุกเมล็ด พืชพันธุ์ธัญญาหารทุกต้น จะงอกขึ้นมาด้วยความอุตสาหะของเกษตรกร ยิ่งนโยบายของประเทศกำลังพุ่งเป้าเข้าสู่ความเป็นนิกส์ เราก็ยิ่งเห็นความสำคัญของการเกษตร (โดยเฉพาะเกษตรธรรมชาติ) กับขอยืนยันว่าจะพัฒนา"น้ำบ่อนี้" ดีกว่าหวัง"น้ำบ่อหน้า" ซึ่งไม่มีใครรับรองว่าจะอุดมสมบูรณ์และไม่เป็นพิษ ในทางตรงข้าม เรายังเชื่อว่า "ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม" แม้กาละนี้ เรา...ชาวอโศกก็ยังขอท้าพิสูจน์ ซึ่งหากใครยังลังเลสงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือ ก็ตามมาคุยกับพ่อท่านกันเลยดีกว่าค่ะ เป็นผู้สร้างผลผลิตขึ้นมาแล้ว เสร็จแล้วก็ฉลาดไม่เท่าทันพวกที่เขาจะมาหลอก....
ธรรมชาติคือความสมดุล คือความที่ยังยืนยงอยู่ อย่างไม่มีทุกข์ ไม่มีร้อน มีความอุดมสมบูรณ์ หรือจะเรียกว่ามัชฌิมา หรือสัมมาอะไรก็กินความได้ทั้งนั้น ตอนนี้เราจะมาเน้นสภาพของธรรมชาติที่เราจะอยู่อาศัย พักพิง เราจะมีชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของดิน น้ำ ลม ไฟ ธรรมชาติของสถานที่อาศัย แม้ที่สุดการสร้างปัจจัยสี่ สร้างพืชพันธุ์ธัญญาหารที่จะต้องกินต้องใช้ ก็ต้องมีความสมดุล มีความลงตัว
เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายามสร้างรากฐาน ต้องมาเรียนรู้ความสมดุล การเกษตรก็ต้องเรียนรู้รากฐานให้จริง
นี่จึงจะเป็นรากฐานของคนที่จะไม่โลภในลาภ จึงไม่ต้องไปเป็นทาสของผู้ที่เขาจะมาปอกลอก มากดขี่ข่มเหง ไม่ใช่เป็นผู้สร้างผลผลิตขึ้นมาแล้ว เสร็จแล้วก็ฉลาดไม่เท่าทันพวกที่เขาจะมาหลอก กดขี่แรงงาน เอาผลผลิตไป หรือแม้จะให้ราคาผลผลิตเรามามากแต่เขาก็มีวิธีดูดเงินคืน กอบโกยเอาคืนไปด้วยลักษณะซับซ้อนอย่างฉลาด หรือวิธีเชิงซ้อนอย่างไรๆ ก็รู้ไม่เท่าทัน เช่นหลอกให้เสพติดอบายมุข เสพติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นต้น เมื่อรู้ไม่เท่าทัน ตัวเองก็ไม่ได้ปลดปล่อยสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จิตใจก็ยังเป็นทาสอยู่ ยังล้างกิเลสออกจากจิตไม่ได้ จะมาทำเกษตรธรรมชาตินี่ไม่สำเร็จหรอก
เพราะฉะนั้น เราต้องสร้าง MODEL จะต้องมีสิ่งจริงออกมาเป็นต้นแบบที่ดีพอสมควรที่จะอธิบายได้ ต้องมีตัวอย่างที่คนสัมผัสแล้วก็จะรับซับซาบได้ เขาจึงจะยอมรับ จึงจะเชื่อถือ ไม่เพียงอดทนลงทุนลงแรง แต่ต้องอดทนตัดกิเลสลดละจริงๆ
จุดที่มันจะขยายได้ ก็เพราะมีความจริงจัง แน่นอน เป็นจริงที่คนเชื่อถือศรัทธาเพียงพอ แล้วก็มีตัวอธิบายโดยตัวของมันเอง ไม่ใช่อธิบายด้วยตรรกศาสตร์เท่านั้น เพราะมันเชื่อยาก แม้แต่เข้าใจก็ยังยาก การคะเนคำนวณ การศรัทธาเลื่อมใสไม่ถึงที่ จะต้องอาศัยความอดทน อาศัยความอุตสาหะวิริยะ ที่จะบากบั่นไปสู่ความลดละกิเลสของเรายิ่งๆขึ้นด้ย แล้วก็สร้างสรรเพื่อเสียสละ ไม่เอาเปรียบ มันทวนกระแสอยู่อย่างมาก และซับซ้อนขึ้นไปสู่ความลึกซึ้งสูงส่งได้ ด้วยการมี"ของจริง"จึงจะสำเร็จสูงยิ่งขึ้นๆจนสูงสุด ตรรกศาสตร์ หรือความรู้เพียงความคิดจะสูงสุดไม่ได้ มันต้องมีของจริง ที่เขาเห็นจริงว่า มันเป็นความสมบูรณ์ เป็นความสุขสงบ เป็นสันติภาพที่ดี เป็นอานิสงส์อันสูงถึงขีดถึงขั้น คุ้มกับที่เขาจะเสียสละ อดทน อุตสาหะวิริยะ เขาจึงจะมาทำเพื่อผลอันนั้น
ทำนานี่ต้องเสียสละ ต้องเหน็ดเหนื่อยหนักหนา แบกขน นั่นแหละเป็นการเสียสละ... แรงงานลงไปมีผลลงมาเลี้ยงมนุษยชาติ
ใครได้ดีก็ดี อันไหนมีจุดบกพร่องของฝ่ายใด เราก็ช่วยกันแก้ไข ช่วยกันมอง ช่วยกันติเตียน จุดใดที่ดีก็ช่วยกันส่งเสริม เอามาใช้ ไม่ต้องมีมานะถือดีว่า นี่ไม่ใช่ของข้า นี่ไม่ใช่ของเอ็งอะไร
การทำนานี่ต้องเสียสละ ต้องเหน็ดเหนื่อยหนักหนา แบกขน ใครไม่เคยทำนาไม่รู้หรอกว่ามันหนักขนาดไหน แต่หนักนั่นแหละมันเป็นการเสียสละของเรา มันเป็นสิ่งจริงของเรา แรงงานลงไปมันมีผลลงมาเลี้ยงมนุษยชาติ ยิ่งเราไม่เอาแลกเปลี่ยนกลับคืนมา เหมือนที่เราได้ศึกษาทฤษฎีกำไรขาดทุนของอารยชน เราก็ยิ่งได้ให้เขา มันก็ยิ่งเป็นบุญคุณของคนที่ได้ลงทุนลงแรงจริงๆคนนั้น คนที่รู้จักบุญ เขาก็ไม่มีปัญหา เขาก็เต็มใจจะทำ เมื่อเขาเต็มใจทำ สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นหลักประกันของสังคมไปได้เรื่อยๆ
เรากำลังมาอธิบายความจริงให้ฟังอยู่ว่า ชาวไร่ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของ ประเทศ ของมวลมนุษยชาติ เป็นผู้ค้ำจุนสังคมประเทศชาติอยู่นะ แล้วมันจะไม่เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิได้อย่างไร มันจะไม่น่ายกย่องได้อย่างไร แต่ที่ทำๆ กันอยู่เหมือนไปหลอกลวงเขาว่าเป็นกระดูกสันหลัง แต่เสร็จแล้ว ก็ดูถูกเหยียดหยาม สารพัดจะหมิ่นข่ม ไม่จริงใจทั้งทางรูปทางนาม ก็กดขี่ข่มเหงไปทั้งนั้น กดแม้แต่ราคาตลอดเวลา รัฐบาลก็กดราคา ซึ่งอันนี้อาตมาก็ไม่เห็นเป็นความผิดของรัฐบาลนะ กดราคาข้าวไว้น่ะถูกแล้ว เพราะราคาข้าวแพง คนมีเงินมันไม่ตายหรอก แต่คนจนมันจะตาย แล้วคนจนมันเป็นพื้นของสังคม มันต้องกิน ไม่มีเพชรไม่มีทองไม่ตาย แต่ไม่มีข้าวกิน ไม่ได้
สงบคือการเสียสละกิเลสขยันสร้างสรรด้วยจิตเบิกบานตื่นรู้อยู่ชัดแจ้ง
แต่ถ้าเมื่อเขารู้ว่าสงบคือการเสียสละกิเลส ไม่เห็นแก่ตัวมาสร้างสรร เขาก็จะมาทำสงบ คือ มาทำลายความเห็นแก่ตัว จะมาทำเกษตร หรือทำงานสร้างสรรอะไรก็แล้วแต่ ก็มาเรียนรู้กิเลส ความเห็นแก่ตัว ความโลภ มาเอาชนะความไม่สมใจต่างๆ มาทำให้มันลดลงๆจนจิตสงบจากกิเลส ว่าง สบาย สร้างสรร ขยัน เพียร เป็นคนสร้างสรรที่มีคุณค่าอยู่ในโลก แล้วไม่เห็นแก่ตัวจริงๆ ขยันสร้างสรรเสียสละ ด้วยจิตเบิกบานตื่นรู้อยู่ชัดแจ้ง นี่แหละเป็นความสงบที่จะต้องเข้าใจให้ถึงให้ลึกซึ้ง ถ้าเข้าใจสงบอย่างนี้ไม่ได้ ก็ทำงานไม่ได้ซิ ต้องเข้าใจอย่างจริงจังเลยว่า อะไรคือคุณค่า อะไรคือประโยชน์ อะไรคือคุณงามความดีความประเสริฐ อะไรคือเสียเปรียบ อะไรคือเสียสละ ควรยอมแค่ใด ควรค้านแค่ใด ชัดเจนแล้วก็ทำอยู่อย่างสบายๆใจ ไม่เดือดร้อน ใครจะลบหลู่ดูถูก ใครจะว่าโง่ ว่าควาย เป็นทาสแรงงาน เสียเปรียบเขาอยู่อย่างไร โอ๊! ถูกเขาหลอก เราก็เข้าใจอยู่ว่า เราไม่ได้ถูกหลอก เรามีประโยชน์ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ให้ เป็นใจบริสุทธิ์ ก็เป็นความสงบที่เบิกบานแจ่มใส และมีปัญญาอย่างแท้จริง
อยากให้พ่อท่านช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับการที่คนไทยออกไปขายแรงงานต่างประเทศว่า มันมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร
เมื่อไปอยู่ต่างประเทศแล้วนี่ ยิ่งไม่มีเพื่อน ไม่มีมิตรสหาย ไม่มีญาติ ไม่มีที่พึ่ง แล้วก็มีแต่นายทุนที่เอาเขาไปนั่นน่ะเป็นผู้กำหนด เป็นที่พึ่ง นั่นคือความเป็นทาสที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการมี "ของจริง" จึงจะสำเร็จสูงยิ่งขึ้นๆจนสูงสุด ตรรกศาสตร์หรือความรู้เพียงความคิด จะสูงสุดไม่ได้ พวกคนฉลาด เมื่อเอาพวกนี้ไปขายแรงงาน เขาก็จะกอบโกย รีดแรงงานจากคนพวกนี้ แม้ที่สุดจะเป็นจะตายอย่างที่มีข่าวคราวนั่น หรือเอาละ ถึงแม้จะได้ค่าแรงที่สูงขึ้นบ้าง มันก็เท่านั้น แล้วนึกหรือว่า คนที่เขาเป็นผู้ดำเนินการ เป็นผู้ควบคุมที่เหนือชั้นกว่านั้น เขาจะไม่กินแรง รีดเอาผลประโยชน์ที่อาศัยจากแรงงานพวกเรานี้ไปอีกตั้งเท่าไหร่ มองเผินๆ ก็เหมือนเราไปทำงานได้เงินเข้าประเทศ เหมือนเรากำไร แต่โดยแท้จริงแล้วนี่นะ เรามีแรงงาน เราก็ควรได้สร้างผลผลิตของเรา พึ่งตนให้ได้ก่อน สร้างฐาน ของตน ในประเทศของเรา ให้ได้แล้ว จึงค่อยไปช่วย คนอื่น เราไปสร้างที่โน่น มันเป็นของเราแค่ไหนล่ะ มันเป็นผลผลิตของที่ประเทศเขา เขาให้ค่าจ้างแรงงานนั้นไม่ได้หมายความว่า ผลผลิตเป็นของผู้รับจ้างนี่ นั่นก็คือ เจ้าของแรงงานหรือผู้จ้าง เขาก็ได้ผลประโยชน์มากกว่าตลอดเวลา ถ้าเราทำให้เขาคุ้มในอัตราของเขา ในหลักเกณฑ์ของเขา เขาก็ยังยินดีที่จะซื้อแรงงานเรา ยิ่งกว่านั้น เขาก็สามารถที่จะใช้อำนาจต่อรองที่จะกดขี่แรงงาน เอาเปรียบเอารัดได้โดยที่เราต้องยอมจำนน อย่างดิ้นไม่หลุด ทั้งหมดนี่วิเคราะห์คร่าวๆ ก็เห็นแล้วว่ามันเป็นความสูญเสียมากกว่า สูญเสียไม่รู้กี่ขั้น เพราะเป็นทาสที่ขึ้นอยู่กับอำนาจเงิน และความเสพติดที่เรายังจะต้องเสียเงินคืนกลับไปให้เขาตามระบบเครือข่ายของเขาเสียอีก เพราะฉะนั้น ที่เรามาเรียนรู้ทุกวันนี้นี่ เรามาเลิกความเสพติด เมื่อเราหมดความเสพติด นี่แหละเป็นตัวหลัก อำนาจของเงินก็ลดลงเรื่อยๆ จนสุดท้าย ไม่เป็นทาสของเงินหรอก เล็กๆน้อยๆแค่พออาศัยก็อยู่ได้ จนสุดท้าย ไม่ต้องมีเงินเลย เรามีแรงงาน มีการสร้างสรร มีสมรรถภาพก็อยู่ได้แล้ว เรากินอยู่ก็น้อย ไม่เป็นทาสอะไรต่างๆแล้ว ชีวิตมันง่ายจะตาย นั่นน่ะสินะคะ ชีวิตมันง่ายจะตาย ชีวิตช่างง่ายดาย (ถ้าถึงจุดลดละจนจางคลายว่างเบาจากกิเลสแล้ว) ปัญหามันอยู่ตรงที่เมื่อยังไม่ถึงจุดนั้น ยังไงๆมันก็ยังยากไปหมดอยู่นั่นเอง ยากขนาดไหน ก็ยากจนเรื่องง่ายๆ อย่างเกษตรธรรมชาติก็คิดไม่ออกว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรนี่ยังไงล่ะคะ |
|
๑๕ นาทีกับพ่อท่าน (สารอโศก อันดับ ๑๔๑ เม.ย. พ.ค. ๒๕๓๓ ฉบับ พุทธา๓๓ เกษตรอโศก) |